เมื่อก่อนเมื่อต้องการซื้อคีย์บอร์ดคุณภาพดีสักตัวมาใช้งาน จุดสำคัญหลักจะอยู่ที่การเปลี่ยนจากคีย์บอร์ดแบบ Rubber Dome เป็น Mechanical Switch แต่ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตคีย์บอร์ดได้แนะนำเทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ตลาด นั่นก็คือ Optical Switch ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า เจ้า Optical Switch มันดีหรือเปล่า ? ถ้าหากเทียบกับ Mechanical Switch แบบไหนดีกว่ากัน ?
ในบทความนี้ เราก็จะมาเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละด้านของ Mechanical Switch และ Optical Switch ให้ได้อ่านกัน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจเลือกซื้อคีย์บอร์ดตัวใหม่ได้ง่าย และตรงกับความต้องการมากขึ้น
Optical Switch นั้นก็ตามชื่อของมันเลย (Optical หมายถึง "วิทยาศาสตร์แห่งแสง") คือ ใช้การเหนี่ยวนำแสงในการลั่นไกของสวิตช์ (Switch) โดยใช้กลไกเชิงกล (Mechanical) ในการปิดกั้นลำแสง เมื่อเรากดปุ่มบนคีย์บอร์ด ก้านของสวิตช์จะถูกดันลงด้านล่างเพื่อเปิดช่องให้ลำแสงตกกระทบบนเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงที่อยู่บนแผ่นวงจร (Print Circuit Board - PCB) ทันทีที่ตรวจพบว่ามีแสง ก็จะเป็นการบ่งชี้ว่าปุ่มถูกสั่งงานแล้ว
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Optical Switch จึงทำงานได้เร็วกว่าสวิตช์แบบดั้งเดิมที่เคยมีมา เนื่องจากมันไม่ต้องใช้การกระทบแบบกายภาพเพื่อสั่งให้ส่งสัญญาณไฟฟ้า ขจัดความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของกลไกให้หมดไป
ภาพจาก : https://www.razer.com/razer-optical-switch
ความเป็นมาของ Mechanical Switch นั้นย้อนอดีตไปได้ถึงยุคเริ่มต้นของคีย์บอร์ดเลยล่ะ IBM Model M คีย์บอร์ดที่ถือว่าเป็นต้นแบบของคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ก็จัดว่าเป็น Mechanical Keyboard นะ แม้ว่ากลไกในการทำงานของมันจะมีความแตกต่างไปจากสวิตช์ในคีย์บอร์ดของยุคนี้ก็ตาม
Mechanical Switch หากมองอย่างผิวเผินแล้ว การออกแบบก็คล้ายคลึงกับ Optical Switch ต่างกันแค่ในการลั่นไกให้ปุ่มทำงาน จำเป็นต้องมีการสัมผัสทางกายภาพเกิดขึ้น โดยใต้ปุ่มก็จะมีก้านกั้นการสัมผัสของวงจรเอาไว้อยู่ เมื่อกดปุ่มก้านก็จะถูกดันลงเปิดช่องให้แผ่นวงจรสัมผัสกันได้ เป็นการบ่งชี้ว่าปุ่มถูกสั่งงานแล้ว ซึ่งก็จะมีแบ่งย่อยรูปแบบการกดออกเป็น 3 รูปแบบ คือแบบ Linear, Tactile และ Clicky
ภาพจาก : https://www.noirgear.com/blogs/news/why-mechanical-keyboard
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าทั้งสองสวิตช์นี้มันแตกต่างกันอย่างไร ? แต่การจะตอบคำถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน เราจำเป็นต้องพิจารณาจากเหตุผลด้านอื่น ๆ มาประกอบด้วย ดังต่อไปนี้
อายุขัยที่สามารถใช้งานได้ของคีย์บอร์ดนั้น ถือเป็นเรื่องยาก ที่จะฟันธงช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน เพราะสวิตช์แต่ละรุ่น จากผู้ผลิตต่างค่ายก็มีการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่ต่างกัน ทำให้คุณภาพของสินค้ามีความลดหลั่นกันไป อย่างไรก็ตาม มันก็มีค่าเฉลี่ยอายุขัยที่ได้รับการยอมรับอยู่
สำหรับในเรื่องความทนทานแล้ว Optical Switch จะรองรับการกดได้ประมาณ 100,000,000 ครั้ง ส่วน Mechanical Switch นั้น หากอ้างอิงจากอายุขัยของ Cherry MX (ผู้ผลิตสวิตช์รายแรกของโลกจากประเทศเยอรมนี (สวิตช์ของ Gateron, Kailh, Outemu และ Razer เป็นของเลียนแบบ Cherry MX เพื่อลดต้นทุนการผลิต) ก็ระบุว่ารองรับการกดได้ประมาณ 100,000,000 ครั้ง เช่นกัน ก่อนที่กลไกจะเริ่มเสื่อมสภาพอัตราการตอบสนองจะเริ่มเปลี่ยนไป ส่วนสวิตช์ของค่ายอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะระบุว่ารองรับการกดได้ประมาณ 50,000,000 - 60,000,000 ครั้ง
ในแง่ของหลักฟิสิกส์แล้ว Optical Switch มีความทนทานกว่ามาก เพราะมีชิ้นส่วนที่ได้รับแรงกระแทกน้อยกว่า Mechanical Switch ทั้งนี้ สำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้ต้องพิมพ์งานทั้งวันเป็นประจำ 50,000,000 ครั้ง น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 - 15 ปี ถึงจะกดครบ ซึ่งเรามองว่ามันก็นานพอที่คุณจะเปลี่ยนคีย์บอร์ดได้แล้วล่ะ อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงความทนทาน จากกฏฟิสิกส์ สุดท้ายแล้ว Optical Switch ก็ทนทานกว่าอย่างแน่นอน
ผู้ชนะ : Optical Switch
ความเร็วในการตอบสนองของสวิตช์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงกดของนิ้ว, ระยะทางของปุ่มที่ใช้ในการเดินทางเพื่อถึงจุดตอบสนอง ฯลฯ
ในทางทฤษฎีแล้ว โดยเฉลี่ย Mechanical Switch จะมีค่าหน่วงสัญญาณ Debounce Delay (การปฏิเสธสัญญาณที่เกิดขึ้นจากการกดปุ่มในแต่ละครั้ง เป็นเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบว่าแผ่นวงจรในสวิตช์สัมผัสกันโดยสมบูรณ์) ประมาณ 5 มิลลิวินาที (1 วินาที = 1,000 มิลลิวินาที) ในขณะที่ Optical Switch ใช้แสงในการจับสัญญาณ จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำ Debounce นั่นหมายความว่า โดยทั่วไปแล้ว Optical Switch จะตอบสนองได้เร็วกว่าประมาณ 5 มิลลิวินาที
ภาพจาก : https://www.razer.com/razer-optical-switch
หากอ้างอิงจากตารางข้อมูลคุณสมบัติของ Mechanical Switch รุ่น CHERRY MX RED จะมีค่า Bounce Time ประมาณ < 5 มิลลิวินาที ส่วน Optical Switch ที่เร็วที่สุดในตอนนี้ คือ Razer Optical Purple Switch ที่มีค่า Bounce Time ประมาณ 0.2 มิลลิวินาที จะต่างกันถึง 25 เท่า
อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบใช้งานจริง โดยเฉลี่ยแล้ว Optical Switch จะตอบสนองได้ไวกว่า Mechanical Switch ประมาณ 30 มิลลิวินาที
แม้ 30 มิลลิวินาที จะเป็นค่าเวลาที่น้อยมาก เพียงแค่เสี้ยววินาที จนยากที่จะรู้สึกถึงความแตกต่าง แต่เกมเมอร์บางคนก็เคลมว่ามันเป็นค่าเวลาที่สามารถส่งผลกระทบต่อการเล่นเกมได้
ผู้ชนะ : Optical Switch
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนใจเปลี่ยนใจจาก คีย์บอร์ดแบบ Rubber Dome มาใช้ Mechanical Switch ก็มาจากสัมผัสในการใช้งานที่ให้ความรู้สึกที่ดีกว่ามาก ซึ่ง Mechanical Switch ก็มีอยู่หลายรูปแบบ แต่ละแบบก็ให้ความรู้สึกในการกดที่แตกต่างกัน Linear, Tactile และ Clicky ซึ่งสวิตช์นี้ แม้จะเป็นสวิตช์สีเดียวกัน แต่ถ้าคนละยี่ห้อ ก็อาจจะให้สัมผัสในการกดที่ต่างกันได้อีกต่างหาก
ในจุดนี้ Mechanical Switch ด้วยความที่มันพัฒนามาอย่างยาวนาน ทำให้มีตัวเลือกในการใช้งานที่เยอะกว่า Optical Switch มาก
ในช่วงตั้งไข่ของ Optical Switch คุณไม่มีตัวเลือกมากนัก มายังไงก็ต้องใช้อย่างนั้น คุณไม่มีสิทธิ์เลือกว่าอยากได้สัมผัสแบบ Linear, Tactile หรือ Clicky
แต่ปัจจุบันนี้ ก็มีตัวเลือกเพิ่มเข้ามามากขึ้นแล้วนะ อย่างค่าย Razer มีสวิตช์ Razer Optical Red ที่ทำงานแบบ Linear และ Razer Optical Purple ที่ทำงานแบบ Clicky หรือค่าย Gateron นี่ก็ทำออกมาหลากหลายเลย มีให้เลือกทั้ง Gateron Optical Black, Blue, Brown และ Red ที่มีคุณลักษณะเหมือนกับ สวิตช์ของ Cherry MX เลย
ภาพจาก : https://www.gateron.co/products/gateron-optical-switch
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนให้ความเห็นว่า เสียง และความรู้สึกตอนสัมผัสของ Optical Switch มันยังดีได้ไม่เท่ากับความรู้สึกที่ได้จาก Mechanical Switch เหมือนมันมีสิ่งที่ต่างกันอยู่ แต่ยากที่จะบอกว่าสิ่งนั้นคืออะไร
ผู้ชนะ : Mechanical Switch
ด้วยความที่ Mechanical Switch มีมาเป็นสิบปีแล้ว คีย์บอร์ดที่ใช้ Mechanical Switch จึงมีตัวเลือกมากมาย หลายร้อยรุ่น ในขณะที่ Optical Switch ยังมีให้เลือกอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ และยังมีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น
นอกจากนี้ Mechanical Switch ยังมีตัวเลือกที่เป็น Niche Market ให้เลือกหลากหลาย เช่น คีย์บอร์ด Low-Profile หรือแม้แต่ TKL (Tenkeyless Keyboard) ฯลฯ ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้หาได้ยากมากในคีย์บอร์ดแบบ Optical Switch
ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีการเลือกคีย์บอร์ดเลย์เอาท์ (Keyboard Layout) และฟอร์มแฟคเตอร์ (Keyboard Form Factors)
ภาพจาก : https://hhkeyboard.us/
ในส่วนของราคา Mechanical Switch ก็มีตัวเลือกราคาหลากหลาย โดยราคาเริ่มต้นเพียงแค่ไม่กี่ร้อย คุณก็สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้แล้ว ในขณะที่ Optical Switch ที่มีคุณภาพ ยังคงมีราคาค่อนข้างสูงอยู่
ผู้ชนะ : Mechanical Switch
สำหรับผู้ที่ลังเลอยู่ว่า จะตัดสินใจซื้อคีย์บอร์ด Mechanical Switch หรือ Optical Switch มาใช้งานดี เราคิดว่า ณ เวลานี้ Mechanical Switch เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า จากเหตุผลเรื่องตัวเลือกที่มีอยู่มากมาย จึงน่าจะหาคีย์บอร์ดแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว คุณควรไปลองสัมผัสกับคีย์บอร์ดของจริงด้วยนิ้วตนเองก่อนจะดีที่สุด ลองใช้งาน ลองพิมพ์ ชอบรุ่นไหนก็เลือกรุ่นนั้นแหละ ไม่จำเป็นต้องสนหรอกว่ามันเป็นสวิตช์แบบไหน เพราะมันแทบไม่ต่างกัน นอกเสียจากว่า คุณเป็นเกมเมอร์มืออาชีพที่สามารถใช้ประโยชน์จากความไวในการตอบสนองที่รวดเร็วกว่าของ Optical Switch ได้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |