คีย์บอร์ดราคาถูก หรือคีย์บอร์ดที่แถมฟรีมากับคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันนี้ มักจะเป็นคีย์บอร์ดแบบเมมเบรน (Membrane Keyboard) ที่ใช้แผ่นยางทรงโดมประกบอยู่เหนือแผ่นวงจรพิมพ์ หรือ แผ่น PCB (Printed Circuit Board) โดยมันเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ต้นทุนการผลิตคีย์บอร์ดมีราคาถูกลงกว่าเดิมหลายเท่า แต่นั่นก็ทำให้ คีย์บอร์ดแบบกลไก (Mechanical Keyboard) ที่มีคุณภาพดี สัมผัสในการใช้งานเยี่ยม และมีเสียงตอนพิมพ์ที่ไพเราะกลายเป็นของที่ผู้ที่ต้องการใช้งาน ต้องเสียเงินซื้อเองในราคาที่ไม่ถูกเท่าไหร่นัก
โดย Mechanical Keyboard ในแต่ละปุ่มจะมีสวิตช์แยกเป็นอิสระออกจากกัน ซึ่งตัวสวิตช์นี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ หลายยี่ห้อ ซึ่งยี่ห้อที่ได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบันนี้ ก็คงต้องยกให้กับสวิตช์ Cherry MX จากประเทศเยอรมนีนั่นเอง
ว่ากันตามตรง ก็มีผู้ใช้งานหลายคนโดยเฉพาะผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์รุ่นเก๋าที่เคยใช้ Mechanical Keyboard ในยุคก่อน มักจะคิดว่าสวิตช์ Cherry MX ไม่ได้ดีขนาดนั้น เมื่อเทียบกับสวิตช์แบบ Buckling Spring ของ IBM แต่ด้วยความเรียบง่าย และมีความเสถียรภาพที่สูง ทำให้มันเป็นสวิตช์เพียงหนึ่งเดียวที่รอดเหลือจากการมาของคีย์บอร์ดแบบ Membrane ได้
ปัจจุบันนี้ Cherry MX มีการผลิตสวิตช์ออกมาอยู่หลายรูปแบบ และก็มีผู้ผลิตรายอื่นที่ออกแบบกลไกการทำงานที่คล้ายคลึงกันออกมาแข่งขันด้วย แต่มาตรฐานการทำงานก็จะคล้ายคลึงกัน เช่น ถ้ามีคีย์บอร์ดบอกว่าเป็น Blue สวิตช์ แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นสวิตช์ของ Cherry MX แต่ตัวสวิตช์ก็จะมีรูปแบบการทำงานเหมือน Cherry MX Blue แน่นอน
ในบทความนี้ ก็จะมาแนะนำรูปแบบสวิตช์ของ Cherry MX ว่ามีกี่แบบ และแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร ? เวลาที่เลือกซื้อ Mechanical Keyboard มาใช้งาน จะได้เลือกของที่ถูกจริตง่ายขึ้นนั่นเอง
โดยสวิตช์ Cherry MX นั้นถูกออกแบบ และผลิตขึ้นที่ประเทศเยอรมนี แม้แต่ละแบบจะมีโครงสร้างการทำงานที่แตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนประกอบของสวิตช์ก็จะเหมือนกัน เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาในหัวข้อถัดไปได้ง่ายขึ้น คิดว่าเราควรเข้าใจกับโครงสร้างของสวิตช์กันก่อนสักเล็กน้อย ว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ? โดยสวิตช์สามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้
ด้านบนสุดของสวิตช์จะเป็นฝาครอบด้านบน ที่จะยึดติดอยู่กับฝาครอบด้านล่าง ซึ่งเรียกรวมกันว่า "Housing Base" ฝาครอบด้านบน จะถูกผลิตขึ้นจากพลาสติกแบบพอลิเมอร์ โดยมันเป็นส่วนประกอบที่ถูกผลิตขึ้นมาด้วยความแม่นยำสูง โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ หรือที่เรียกว่า CAD (Computer-Aided Design) มีขนาดคลาดเคลื่อนจากแม่พิมพ์ได้ไม่เกิน 0.01 มิลลิเมตร เพื่อให้มันรองรับแรงกดในขณะที่พิมพ์ได้อย่างแม่นยำ
สำหรับ Stem เป็นส่วนที่อยู่ภายใต้ Keycap ที่จะเคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งเมื่อเรากดสวิตช์ ระยะที่มันเคลื่อนที่นี้จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า "Key Travel" ขึ้นมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สวิตช์แต่ละแบบแตกต่างกัน
โดยถ้า Key Travel สั้น เราจะรู้สึกว่ากดปุ่มลงไปเพียงนิดเดียวมันก็ทำงานแล้ว แต่ถ้ายาว เวลาพิมพ์เราก็จะต้องกดให้ปุ่มจมลงไปลึกหน่อย นอกจากนี้สวิตช์บางรูปแบบจะออกแบบมาให้มีเสียง "คลิก" เวลาที่กดปุ่มด้วย
เมื่อ Stem เริ่มเคลื่อนที่ มันจะถูกดันลงมาสัมผัสกับตัว Gold Crosspoint Contact ที่จะมีขาอยู่ด้านล่างอยู่ 2 ขา โดยขานี้จะถูกบัดกรีเข้ากับ แผ่น PCB เพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณการกดแป้นพิมพ์จากสวิตช์เป็นแรงกระตุ้นไฟฟ้า เข้าสู่วงจรอย่างแม่นยำ
ซึ่งหน้าสัมผัสของ Gold Crosspoint Contact นี้มีบทบาทที่สำคัญมาก เพราะมันต้องคอยทำหน้าที่ส่งสัญญาณการกดปุ่มอย่างถูกต้อง ซึ่งความแม่นยำนี้ได้กลายเป็นรากฐานที่ทำให้สวิตช์ของ Cherry MX มีความทนทาน และไว้วางใจได้ กลไกการทำงานของมันสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ และไม่เป็นสนิม รองรับการกดได้มากกว่า 100,000,000 ครั้งกันเลยทีเดียว
ตัวสปริง (Spring) จะคอยสร้างแรงต้านเวลาที่ปุ่มถูกกด และยังทำให้ปุ่มเด้งกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมด้วย ตัวสปริงนี้มีการออกแบบที่หลากหลายมาก ทั้งจำนวนรอบของสปริง, วัสดุ, จำนวนสปริง ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะสร้างแรงต้าน แรงตอบสนองเวลาที่กดปุ่มที่แตกต่างกันออกไป
เป็นฐานด้านล่างของตัวสวิตช์ ถือเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายของสวิตช์ โดยฐานนี้จะเป็นส่วนที่ถูกยึดติดเข้ากับแผ่น PCB
ก่อนที่เราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับสวิตช์ Cherry แบบต่าง ๆ อยากให้รู้จักกับรูปแบบของสวิตช์กันก่อน โดยรูปแบบของสวิตช์นั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ Linear, Tactile และ Clicky
Linear, Tactile และ Clicky ตามลำดับ
ภาพจาก : https://thegamingsetup.com/guides/cherry-red-vs-brown
สวิตช์แบบ Linear เป็นสวิตช์ที่เรียบง่ายที่สุด ออกแบบมาโดยเน้นให้การกดมีความลื่นไหล และต่อเนื่อง โดยไม่มีแรงต้าน หรือเสียงรบกวนเกิดขึ้น รูปแบบของ Key Travel จะเดินทางไปถึง PCB โดยตรงอย่างรวดเร็ว สวิตช์รูปแบบนี้เหมาะกับผู้ที่ชอบพิมพ์แบบเงียบ ๆ ไม่มีเสียงรบกวน และมีความลื่นไหลในการกดปุ่ม เกมเมอร์ส่วนใหญ่ก็ชอบสวิตช์แบบ Linear เช่นกัน เนื่องจากสวิตช์รูปแบบนี่จะมีการตอบสนองต่อการกดได้รวดเร็วมากกว่าสวิตช์แบบ Tactile
สวิตช์แบบ Tactile จะมีแรงต้านตอนกดในขณะที่ Key Travel เดินทางไปได้ครึ่งหนึ่งเล็กน้อย ทำให้การกดปุ่มมีเสียงคลิกเกิดขึ้นแค่เพียงเล็กน้อยให้พอสัมผัสได้ แต่ไม่ดังจนน่ารำคาญ ถือเป็นอีกหนึ่งสวิตช์ที่พิมพ์ได้สนุก
และเนื่องจากมีระดับการกด 2 จังหวะตอนกดลงไปครึ่งทาง ทำให้ผู้ใช้สามารถป้องกันการพิมพ์ผิด หรือ การพิมพ์เกินได้ในระดับหนึ่ง
สวิตช์แบบ Clicky เป็นสวิตช์ที่มีแรงกระแทก และเสียงคลิก ในทุกครั้งที่ผู้ใช้กดปุ่ม และมี Key Travel เกิดขึ้น ในการใช้งาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มลงให้สุดเพื่อให้สัญญาณถูกบันทึกลงในระบบ กดเพียงครึ่งเดียวก็เพียงพอ สามารถยกนิ้วออกได้ทันทีหลังเกิดเสียงคลิก หากฝึกฝนจนชำนาญแล้วจะสามารถพิมพ์ได้โดยใช้แรงไม่มาก แต่ก็อาจจะมีเรื่องเสียงที่อาจจะรบกวนคนที่อยู่ใกล้เคียง
สวิตช์ | ประเภท | ความทนทาน | เหมาะสำหรับ | |
Cherry MX Red | Linear (ราบรื่น, ไม่มีเสียงคลิก) | กดได้ > 100,000,000 ครั้ง | การเล่นเกม | |
Cherry MX Speed Silver | Linear (ราบรื่น, ไม่มีเสียงคลิก) | กดได้ > 100,000,000 ครั้ง | ต้องการความเร็ว | |
| Linear (ราบรื่น, ไม่มีเสียงคลิก) | กดได้ > 100,000,000 ครั้ง | เกมเมอร์ที่ต้องการปุ่มหนักใช้แรงกดเยอะกว่าปกติ | |
Cherry MX Brown | Tactile (มีแรงกระแทกเล็กน้อย,ไม่มีเสียงคลิก) | กดได้ > 100,000,000 ครั้ง | การใช้งานทุกประเภท | |
Cherry MX Blue | Clicky (มีแรงกระแทกเล็กน้อย, มีเสียงคลิก) | กดได้ > 50,000,000 ครั้ง | การพิมพ์ | |
| Clicky (มีแรงกระแทกเล็กน้อย, มีเสียงคลิก) | กดได้ > 50,000,000 ครั้ง | การพิมพ์ที่ต้องการปุ่มหนักใช้แรงกดเยอะกว่าปกติ | |
Cherry MX Silent Red | Linear (ราบรื่น, ไม่มีเสียงคลิก) | กดได้ > 50,000,000 ครั้ง | การเล่นเกมที่ต้องการความเงียบเป็นพิเศษ | |
Cherry MX Low Profile Speed | Linear (ราบรื่น, ไม่มีเสียงคลิก) | กดได้ > 100,000,000 ครั้ง | ผู้เล่นเกมที่ต้องการคีย์บอร์ดแบบ Low Profile | |
Cherry MX Ultra Low Profile | Clicky (มีแรงกระแทกเล็กน้อย, มีเสียงคลิก) | กดได้ > 15,000,000 ครั้ง | โน้ตบุ๊กสำหรับเล่นเกม |
ทีนี้ก็น่าจะเข้าใจความแตกต่างของสวิตช์ของแมคคานิคอลคีย์บอร์ดแต่ละแบบกันแล้ว ต่อไปจะเลือกซื้อมาใช้งานก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากแล้วล่ะ ขอให้มีความสุขกับการพิมพ์นะครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |