ถ้าหากพูดถึง ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันยอดนิยมอันดับหนึ่งแล้วละก็ แน่นอนว่า ฟรีแวร์ (Freeware) หรือซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้งานกันได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นก็จะต้องขึ้นแท่นซอฟต์แวร์ที่กวาดยอดดาวน์โหลดสูงสุดทั่วโลกไปได้แบบไม่ต้องสงสัย รวมไปถึงแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่าง ๆ ด้วย เพราะเมื่อดูจากสถิติของ App Store และ Google Play Store แล้วก็จะเห็นได้ว่า “ฟรีแอปพลิเคชัน (Free App)” นั้นมียอดการดาวน์โหลดและใช้งานนำโด่งแซงแอปพลิเคชันที่ต้องเสียเงินซื้อ (Paid App) ไปกว่า 95% เลยเช่นกัน เพราะใคร ๆ ก็ชอบ “ของฟรี” กันทั้งนั้น
ภาพจาก : https://www.statista.com/statistics/263797/number-of-applications-for-mobile-phones/
แต่เคยสงสัยไหมว่าพวก Developer ที่พัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เปิดให้เราสามารถดาวน์โหลด โปรแกรมและแอปพลิเคชันเหล่านี้มาใช้งานได้แบบฟรี ๆ นั้นมี รายได้ จากไหนกันบ้างนะ ?
หนึ่งในตัวทำรายได้อันดับต้น ๆ ของเหล่าบรรดาผู้พัฒนาสาย Freeware ก็คงหนีไม่พ้น "การโฆษณา" อย่างแน่นอน เพราะในทุก ๆ ครั้งที่ดาวน์โหลดโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเหล่านี้มาใช้งานแล้วเราก็จะต้องเจอกับการโฆษณาแฝงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แบนเนอร์, ป๊อปอัพ (Pop-up), คลิปวิดีโอ หรือล่าสุดก็มีโฆษณาเกมแบบที่ผู้ใช้สามารถ “ทดลองเล่นเกม” ในโฆษณาได้ก่อนดาวน์โหลดมาเล่นจริง ๆ
ซึ่งโฆษณาเกมประเภทนี้จะมีคลิปวิดีโอสอนวิธีการเล่นที่ทำให้คนดูรู้สึกหงุดหงิดกับการสาธิตการเล่นแบบงง ๆ ที่ไม่น่าจะทำให้ผ่านด่านได้จนทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกหัวร้อนกับความ “ไม่ได้เรื่อง” ของโฆษณาเกมและหลงกดเข้าไปดาวน์โหลดเกมนั้น ๆ มาเล่นเองให้หายโมโห ซึ่งการที่เราดูคลิปโฆษณาจนครบเวลาหรือแตะไปที่แบนเนอร์โฆษณาต่าง ๆ นั้นเองที่เป็นการ “ทำเงิน” ให้กับแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่เราทำการดาวน์โหลดมาใช้งาน
เพราะบริษัทเกมหรือโปรแกรมอื่น ๆ ที่เช่าพื้นที่การโฆษณานี้จะต้อง “จ่ายเงิน” ซื้อแบนเนอร์หรือเวลาลงคลิปโฆษณาบนแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมนั้น ๆ ให้กับผู้พัฒนา ที่พัฒนาโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันนั้นขึ้นมาเพื่อ “กระจายฐานลูกค้า” ให้มาดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมของตนเองบ้าง โดยส่วนแบ่งจากรายได้การโฆษณาที่จะเข้ากระเป๋าของผู้พัฒนา หรือ เจ้าของแอปพลิเคนั้นนั้น ๆ ก็จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงในการซื้อโฆษณา (โดยส่วนมากแล้วโฆษณาที่เป็นคลิปจะต้องจ่ายเงินเยอะกว่าโฆษณาที่เป็นรูปภาพหรือแบนเนอร์)
ภาพจาก : https://onix-systems.com/blog/how-mobile-developers-make-money-from-free-apps
และแน่นอนว่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันและโปรแกรมต่าง ๆ ก็ทราบดีว่ามีผู้ใช้ไม่น้อยที่รู้สึก “รำคาญ” และไม่ต้องการเห็นโฆษณารบกวนสายตา (หรือเสียงรบกวน) ขณะใช้งานโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันนั้น ๆ อยู่ ดังนั้นส่วนมากจึงออกฟีเจอร์ “Ads Removal” หรือการกำจัดโฆษณามาควบคู่กับการโฆษณาซะเลย ซึ่งหากใครรำคาญโฆษณาที่ขยันขึ้นมาบ่อย ๆ จนกวนสมาธิการใช้งานก็สามารถจ่ายเงินให้กับผู้พัฒนาโดยตรง เพื่อเอาโฆษณาออกไปและใช้งานกันได้อย่างเป็นสุข (ตลอดระยะเวลาที่จ่ายค่า Ads Removal)
หลักการของการสร้างรายได้ในโมเดลแบบ CPA (Cost Per Action) นั้นจะมีลักษณะคล้ายกับรายได้จากการโฆษณาและมีความเกี่ยวโยงกันค่อนข้างมาก เพราะแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่ซื้อโฆษณาบนแพลทฟอร์มอื่น ๆ นั้นก็สามารถที่จะสร้างรายได้จากการที่ผู้ใช้กระทำการ (Action) ต่าง ๆ บนแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมนั้น ๆ โดย CPA นั้นสามารถแบ่งประเภทย่อยได้ ดังนี้
เป็นรายได้ที่เกี่ยวกับการโฆษณาโดยตรง โดยทางบริษัทจะได้รับเงินค่าตอบแทนเมื่อมีผู้ชมโฆษณาครบทุก ๆ 1 พันครั้ง (คำว่า Mille ในภาษาละตินแปลว่า 1 พัน)
รายได้จากการที่ผู้ใช้คลิกหรือกดเข้าไปยังตัวแอปพลิเคชัน (หรือโฆษณาของแอปพลิเคชัน)
เป็นรายได้ที่ได้รับจาก “ยอดวิว” หรือยอดการเข้าชมวิดีโอ โดยในส่วนนี้อาจเป็นวิดีโอบนแพลทฟอร์มใหญ่อย่าง YouTube หรือวิดีโอโฆษณาที่ปรากฏคั่นระหว่างใช้งานแอปพลิเคชันอื่นก็ได้เช่นกัน
รายได้จากการติดตั้ง (Install) แอปพลิเคชันหรือโปรแกรมผ่านโฆษณาบนแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมอื่น ๆ โดยเมื่อผู้ใช้คลิกเข้าไปที่โฆษณาแอปพลิเคชันและกดติดตั้ง ทางผู้พัฒนา ก็จะได้รับค่าตอบแทนจากการติดตั้งแอปพลิเคชันนั้น ๆ (ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันขายของที่แสดงโฆษณาสินค้าที่ผู้ใช้สนใจขึ้นมาบนแอปพลิเคชันอื่น ๆ เมื่อผู้ใช้รู้สึกถูกใจสินค้าชิ้นนั้นและต้องการสั่งซื้อก็กดไปที่โฆษณาสินค้าตัวนั้น จากนั้นระบบจะลิงก์ไปยังหน้าการติดตั้งแอปพลิเคชันซื้อของ และเมื่อผู้ใช้กดติดตั้งแอปพลิเคชันนั้นก็จะทำรายได้ให้กับแอปพลิเคชันขายของนั้น ๆ รวมทั้งอาจสร้างรายได้จาก CPC และ CPM ได้อีกด้วย)
ส่วนมากรายได้ประเภทนี้จะเป็นรายได้ของแอปพลิเคชันช้อปปิ้งต่าง ๆ ที่เปิดให้คนนอกสามารถสมัครสมาชิกเข้ามาตั้งร้านค้าภายในแอปพลิเคชันนั้น ๆ ได้และหักส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการขายแต่ละครั้ง ซึ่งเมื่อผู้ใช้ทำการซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันนั้น ๆ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันนั้น ก็จะได้รับเงินตามเปอร์เซ็นต์ตามเงื่อนไขที่วางเอาไว้
ภาพจาก : https://onix-systems.com/blog/how-mobile-developers-make-money-from-free-apps
อีกหนึ่งช่องทางการทำมาหากินของผู้พัฒนาสายแจกของฟรี (Freeware) ก็ได้แก่การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมแบบ “Freemium” หรือของฟรี (ไม่) จริงที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันมาใช้งานได้แบบมีฟังก์ชันหรือฟีเจอร์ภายในที่ “จำกัด” และจะต้องชำระเงินเพิ่มเติมเพื่อปลดล็อกฟีเจอร์อื่น ๆ ภายในแอปพลิเคชัน หรือที่เห็นได้บ่อย ๆ ก็จะเป็นฟีเจอร์การ “เติมเกม” ที่ให้ผู้ใช้กดชำระเงินผ่านเกมเพื่อแลกเหรียญไปเพิ่มโอกาสการหมุนกาชาหรือซื้อชีวิตเพิ่มถ้าไม่อยากจะรอนาน ๆ รวมทั้งบางเกมก็อาจมี “สกินเฉพาะ” ให้ผู้ที่เติมเงินสามารถเลือกซื้อได้ตามใจชอบอีกด้วย
ซึ่ง In-app Purchase นี้ก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้พัฒนาเหล่านี้ ไปจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะการใช้งานแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์จำกัดจนทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มที่หรือการสุ่มกาชาเกมออกมาเกลืออยู่บ่อย ๆ ก็ชวนให้หงุดหงิดไม่น้อยจนหลาย ๆ คนยอมจ่ายเงินซื้อความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น หรือหากเป็นสกินเฉพาะก็สามารถเอาไปขิงผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้อีกต่างหาก
ภาพจาก : https://www.spaceotechnologies.com/how-do-free-apps-make-money/
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับบริการดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้งานบริการ Steaming Music อยู่บ่อย ๆ ที่จะมีโฆษณาคั่นเชิญชวนให้ทำการ “สมัครสมาชิก” เพื่อรับฟังเพลงแบบไม่ต้องกังวลกับโฆษณาและสามารถ “ดาวน์โหลด” เพลงโปรดเก็บไว้บนสตรีมมิงเพื่อฟังแบบออฟไลน์ในตอนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือล็อกหน้าจอและใช้งานแอปพลิเคชันอื่น ๆ ขณะฟังเพลงได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเพลงจะสะดุดแต่อย่างใด แต่นอกเหนือไปจากบริการสตรีมมิงแบบมีโฆษณาคั่นให้หงุดหงิดใจเล่นแล้วก็ยังมีบริการสตรีมมิงที่ให้ “ทดลองใช้ฟรี” ในระยะเวลาที่กำหนด หรือแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์ล็อกเอาไว้สำหรับผู้ใช้ที่สมัครสมาชิกแบบ Premium อีกด้วย
ภาพจาก : https://www.theverge.com/2021/8/3/22607203/spotify-plus-ad-supported-tier-unlimited-skips-on-demand-listening
แม้ว่าการสมัครสมาชิกนี้มีความคล้ายคลึงกันกับรายได้แบบ In-app Purchase แต่ส่วนมากแล้ว In-app Purchase จะเป็นการชำระเงินแบบจ่ายครั้งเดียวจบ (ปลดล็อกฟีเจอร์แบบ Premium) หรือจ่ายเป็นรายครั้ง (การเติมเกม) ในขณะที่การสมัครสมาชิกของบริการต่าง ๆ มักจะมีสัญญาเป็น “รายเดือน หรือรายปี” ที่ผูกมัดให้ผู้ใช้ต้องชำระเงินให้กับผู้พัฒนา ในทุก ๆ รอบบิลที่กำหนด และสามารถยกเลิกการเป็นสมาชิกได้ตามต้องการ
บางครั้งทางผ้พัฒนา ก็จะปล่อยแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมที่เป็นเพียงแค่ "ส่วนหนึ่ง" ของแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมนั้น ๆ ออกมาให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดมาทดลองใช้งานกันได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
โดยแอปพลิเคชัน และโปรแกรมนี้จะต่างจากการสมัครสมาชิก และ In-app Purchase ตรงที่มันจะเป็นตัวโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน "แยก" ออกมาจากโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันตัวเต็มอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้งานโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันในเวอร์ชันเต็มนั้น จะต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะ "ซื้อแอปพลิเคชันตัวเต็ม" มาใช้งานอีกทีหนึ่ง
การเติบโตของตลาด E-commerce นั้นเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของพวกเราค่อนข้างมาก และสิ่งที่จะมาช่วยให้การจับจ่ายซื้อของออนไลน์ของเราเป็นไปได้อย่างราบรื่นและง่ายดายก็คงหนีไม่พ้นแอปพลิเคชันช้อปปิ้งต่าง ๆ ที่นอกจากจะใช้งานง่ายแล้วยังมีโปรโมชันรายเดือนที่หลอกล่อให้เราเสียเงินกันเกือบทุกเดือนอีกต่างหาก และแน่นอนว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็สามารถสร้างรายได้จากการเก็บเปอร์เซ็นต์การลงขายสินค้าของร้านค้าต่าง ๆ ได้ (CPS) หรือบางครั้งก็มีผลิตภัณฑ์เฉพาะแบรนด์นั้น ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเจ้าของบริษัทได้อีกด้วย
ภาพจาก : https://www.avsolutions.in/images/services/eCommerce-website.jpg
รายได้อีกทางของผู้พัฒนาสายแจกของฟรี นั้นก็มาจากสปอนเซอร์กระเป๋าหนักที่ลงทุน “ทุ่มเงิน” ไปให้กับเหล่า Developer ทำการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมนั้น ๆ ต่อไป
โดยส่วนมากแล้วแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่มีรายได้จากสปอนเซอร์มักจะมี “ฐานผู้ใช้” จำนวนหนึ่งอยู่ก่อนแล้วทำให้บริษัทที่สนใจจะสนับสนุนติดต่อขอทำข้อตกลงร่วมกัน (หรือทาง ผู้พัฒนา อาจเป็นผู้ยื่นเรื่องขอสปอนเซอร์ด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน) และรายได้จากสปอนเซอร์มักเป็นรายได้ที่คงที่ที่แยกส่วนออกมาจากรายได้อื่น ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งทางผู้พัฒนา ก็อาจนำเอาโลโก้สินค้าหรือบริการที่เป็นสปอนเซอร์ในการสนับสนุนการพัฒนามาไว้ในเกมเพื่อช่วยโปรโมตอีกทางหนึ่งก็เป็นได้
ตัวอย่างเช่น ทางบริษัท Snapchat ได้รับการสปอนเซอร์จากบริษัท Taco Bell ให้เพิ่มฟิลเตอร์ “ทาโก้” ขึ้นมาบนแอปพลิเคชัน ซึ่งเมื่อโฆษณานี้ปล่อยออกไปก็ทำให้ผู้ที่สนใจใช้งานฟิลเตอร์นี้ทำการ “ดาวน์โหลด Snapchat” มาเล่น และทาง Taco Bell เองก็น่าจะได้ลูกค้าเพิ่มจากการซื้อสปอนเซอร์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://appetiser.com.au/blog/how-do-free-apps-make-money/
นอกจากนี้ยังมีการหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ อย่างการเปิดรับบริจาค (Donation) หรือการเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปขายให้กับบริษัทต่าง ๆ ในการยิงโฆษณาออกมาให้ตรงใจผู้ใช้อีกด้วย ซึ่งถ้าใครไม่อยากโดนเก็บข้อมูลไปขายก็แนะนำให้ใช้งาน Private หรือ Incognito Mode ตอนหาของที่อยากได้น่าจะปลอดภัยต่อกระเป๋าเงินมากกว่า เพราะหลายครั้งเราก็หาข้อมูลของสินค้าที่อยากได้รอไว้ก่อนและว่าจะพิจารณาตัดสินใจอีกทีหนึ่ง แต่เมื่อเห็นขึ้นโฆษณาบ่อย ๆ ก็อดใจไม่ไหวจนกดตัดบัตรไปอีกจนได้
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |