หลายคนน่าจะทราบกันดีว่า ซอฟต์แวร์ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ มีให้เลือกมากมาย แต่เกณฑ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซอฟต์แวร์แต่ละครั้งก็คือ 'ราคา' เพราะใคร ๆ ก็สนใจตัวเลือกราคาประหยัดหรือฟรีเป็นอันดับแรก ซึ่งทางไทยแวร์จะพามาแนะนำ ซอฟต์แวร์เสรี (Freeware) เพื่อการใช้งานซอฟต์แวร์ โปรแกรมที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและถูกลิขสิทธิ์
Freeware (ฟรีแวร์) หรือ ซอฟต์แวร์เสรี มันคือ ซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดไปติดตั้ง ใช้งานแบบฟรี ๆ อย่างถูกลิขสิทธิ์ สำหรับใช้งานส่วนบุคคลโดยไม่อนุญาตให้ใช้งานใดๆ ในเชิงพาณิชย์ (Commercial Use) ซึ่งซอฟต์แวร์ Freeware มีทั้งโปรแกรมที่เปิดให้ใช้งานฟรีอย่างเต็มรูปแบบ กับ โปรแกรมที่เป็นเวอร์ชันแจกฟรี (Free Version) ควบคู่ไปกับเวอร์ชันเต็ม (Full Version) ที่มีฟังก์ชันเพิ่มเติม
ในกรณีนี้ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม ACDSee ที่มีทั้งเวอร์ชันฟรีสำหรับดูรูปภาพ และ ACDSee เวอร์ชันอื่น ๆ สำหรับปรับแต่ง แก้ไขภาพ เช่น โปรแกรม ACDSee Photo Studio Ultimate 2021) นับว่าเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ฟรี
ภาพจาก : https://pixabay.com/th/illustrations/freeware-ซอฟแวร์-อนุญาต-ฟรี-2265044/
แต่ถ้ามาไล่กันดี ๆ จะเห็นได้ว่า ซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ใช้งานฟรีจริงๆ แล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเภท เช่น ซอฟต์แวร์ Demo, ซอฟต์แวร์เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open Source) และถ้าดูกันลึกๆ ใน Open Source นั้นยังมีประเภทยิบย่อยอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ถ้าต้องการเลือกซอฟต์แวร์เพื่อมาใช้งานส่วนตัว หรือทำงานทั่ว ๆ ไป ขอแนะนำให้เลือกโปรแกรมที่ถูกจัดให้เป็น Freeware เสียก่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมที่มีฟีเจอร์ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป ระบุเงื่อนไขชัดเจนว่านำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง หรือไม่อนุญาตให้นำโปรแกรมไปทำอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม คำว่า Freeware ไม่ได้มีที่มาจากคำว่า ซอฟต์แวร์แจกฟรี (Free Software) แต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองคำนี้มีนิยามที่แตกต่างกัน โดยคำว่า Free Software จะมีนิยามที่กว้างกว่า Freeware ปกติ ซึ่งที่สหรัฐอเมริกายังมี "มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี" (Free Software Foundation) จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ แก้ไขซอฟต์แวร์โดยไม่มีกฎหรือข้อจำกัดใด ๆ
ขึ้นชื่อว่าเป็น Freeware แน่นอนว่าฟรีตั้งแต่ขณะกด "ปุ่มดาวน์โหลดโปรแกรม" ลงเครื่อง ติดตั้ง ใช้งาน และอัปเดตโปรแกรมตลอดอายุการใช้งาน (หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอนาคต) แต่มีสิ่งหนึ่งที่ Freeware ทำไม่ได้ก็คือ การที่เรานำแก้ไข ดัดแปลงโปรแกรม หรือนำโปรแกรมไปจำหน่ายต่อ อนุญาตให้นำมาใช้งานตามหน้าที่ของโปรแกรมเท่านั้น หากต้องการดัดแปลงหรือแก้ไขใด ๆ จำเป็นต้องใช้โปรแกรมประเภท Open Source แทน
อย่างไรก็ตาม โปรแกรม Freeware ทุกโปรแกรมย่อมมี สัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ (Software License) ระบุเงื่อนไขการใช้งานมาด้วยเสมอ จึงขอให้อ่านข้อมูลในไฟล์ End User License Agreement ในขณะติดตั้งโปรแกรมเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Adobe Reader ที่ระบุในว่าอนุญาตให้ผู้ใช้งาน 1 คน สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์หรือแหล่งต้นทาง 1 เว็บไซต์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำไฟล์โปรแกรมไปวางบนเครื่องแม่ข่าย (Server) แล้วเปิดให้ผู้ใช้งานจำนวนมากเข้ามาดาวน์โหลด เพราะถือว่าเป็นวิธีการส่งต่อซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎใน License นั่นเอง
เนื่องจากโปรแกรมประเภทต่าง ๆ มีนิยามแบ่งไว้มากมาย จึงขอเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง โปรแกรม Freeware กับโปรแกรม Open Source ซึ่งหลัก ๆ ก็คือการนำโปรแกรมไปใช้ในลักษณะที่แตกต่างกันนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ซอฟต์แวร์ที่เป็น Freeware ก็ยังแตกต่างจากซอฟต์แวร์ทดลองใช้ (Demo) ในเรื่องของระยะเวลาการใช้งาน ขณะที่ Freeware ใช้งานฟรีตลอดอายุการใช้งาน แต่ Demo จะมีระยะเวลาการใช้งานจำกัด และมีการบังคับกลาย ๆ ให้ต่ออายุใช้งานด้วยการจ่ายค่าซอฟต์แวร์เพิ่มเติม สังเกตได้จากโปรแกรมหลาย ๆ โปรแกรมที่มีช่วงเวลา Free Trial 7 วัน, 15 วันหรือ 30 วัน (1 เดือน) งานนี้จะเลือกโปรแกรมทั้งทีก็ต้องดูให้ดี ๆ ด้วยนะ
แน่นอนว่าทุกคนย่อมไม่อยากเสียเงินซื้อโปรแกรม ซอฟต์แวร์ หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ซอฟต์แวร์ Freeware จึงเป็นทางเลือกอันดับแรก ๆ สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป หรือที่กำลังมองหาโปรแกรมฟรี ถูกลิขสิทธิ์ ใช้งานสะดวก ลองมาดูรายชื่อโปรแกรมเหล่านี้กัน เพราะหลาย ๆ โปรแกรมก็คุ้นหูคุ้นตาอยู่ไม่ใช่น้อย
จะเห็นได้ว่า ซอฟต์แวร์ Freeware ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนไว้วางใจ ในเรื่องของค่าใช้จ่าย ประกอบกับซอฟต์แวร์ Freeware ส่วนใหญ่ครอบคลุมชีวิตการทำงาน ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว จึงทำให้ Freeware เป็นที่นิยมได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องแลกมากับเงื่อนไขบางประการใน Software License ของแต่ละโปรแกรม ซึ่งผู้ใช้งาน Freeware ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นำโปรแกรมมาดัดแปลงอะไรอยู่แล้ว ขอแค่อย่าละเมิดเงื่อนไขของแต่ละโปรแกรมก็เพียงพอแล้ว
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |