Windows Subsystem for Linux (WSL) เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ Microsoft ได้ใส่เพิ่มเข้ามาใน ระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งมันได้เข้ามาพลิกโฉมการใช้งานระบบ Windows เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ที่หลงใหลในโลกของ ลีนุกซ์ (Linux)
ถึงแม้ว่า ระบบปฏิบัติการ Windows จะเป็นที่นิยมในผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากใช้งานง่าย และมีความยืดหยุ่นสูง แต่ระบบปฏิบัติการ Linux ก็ครองส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในกลุ่มมืออาชีพ ถ้าหากคุณต้องการทดลองใช้ Linux การใช้ WSL ก็มีคุณสมบัติที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้อย่างแน่นอน
ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายเหตุผล 6 ข้อ ที่ทำให้ WSL มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกที่ช่วยให้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows แต่มีความสนใจใน Linux สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ง่าย ๆ กัน ...
Windows Subsystem for Linux (WSL) ช่วยให้เราสามารถเริ่มต้นทดลองใช้งานระบบปฏิบัติการ Linux ได้อย่างง่ายดาย และปลอดภัย
โดยในการติดตั้ง Linux Distribution หรือ Linux Distro ตัวแรก และ WSL สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเปิด Windows Terminal ในโหมดผู้ดูแลระบบ (Administrator) ขึ้นมา จากนั้นพิมพ์คำสั่ง "wsl --install" ลงไป แล้วกด "ปุ่ม Enter"
เครื่องคอมพิวเตอร์จะรีสตาร์ท และเริ่มติดตั้ง Windows Subsystem for Linux (หรือ WSL2) พร้อมกับ Ubuntu ในทันที
ในช่วงแรกของการเริ่มต้นใช้งาน Linux ครั้งแรก เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ใช้มือใหม่จะทำอะไรที่ผิดพลาด แต่ WSL ช่วยให้เราเริ่มต้นเรียนรู้ Linux ได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงว่าจะทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง ? ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ WSL ช่วยให้เราเริ่มต้นเรียนรู้ Linux ได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงว่าจะทำให้ระบบหลักของคอมพิวเตอร์เกิดปัญหา
Linux เป็นทางเลือกทดแทนระบบปฏิบัติการ Windows ได้ดีในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเราต้องการยืดอายุการใช้งาน คอมพิวเตอร์ (PC) เครื่องเก่าของเรา ที่อาจจะมีสเปคเก่าจนไม่สามารถผ่านข้อกำหนดด้านฮาร์ดแวร์ที่เข้มงวดของ Windows 11 ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเรามักจะได้ยินผู้คร่ำหวอดในแวดวงไอทีมักจะบอกว่า "เปลี่ยนไปใช้ลีนุกซ์สิ"
อย่างไรก็ตาม คำพูดที่ว่า "เปลี่ยนไปใช้ลีนุกซ์" เพียงอย่างเดียวนั้น มันก็ดูจะง่ายไปหน่อย แม้ว่า Linux Distro ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะพัฒนาไปอย่างมากเพื่อให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น แต่ความจริงก็คือ การเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการที่ไม่เคยใช้งานมาก่อนเลยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ Linux Distro ที่ออกแบบ ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้แบบกราฟิก (GUI) มาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด ก็ยังต้องมีการใช้งานคำสั่งแบบ พิมพ์ส่งคำสั่งเอง (Command Line) มากกว่า Windows หรือ macOS อยู่ดี
ซึ่ง Windows Subsystem for Linux (WSL) ช่วยให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำความคุ้นเคยกับ Linux ได้ โดยไม่ต้องลงลึกในทันที เพราะการติดตั้ง Linux Distro ลงบน Windows ทำได้ง่ายมาก ผู้ใช้จึงสามารถทดลองใช้ Distro ใหม่ ๆ เพียงเพื่อความสนุกก็ยังได้ โดยค่าเริ่มต้น WSL จะติดตั้งเป็น Ubuntu แต่ว่ายังมีตัวเลือกอื่น ๆ อีกกว่า 12 ตัวให้เลือก ในการดูตัวเลือกทั้งหมด ผู้ใช้สามารถเปิด PowerShell แล้วพิมพ์คำสั่ง "wsl --list --online" แล้วก็ใช้คำสั่ง " wsl --install <ชื่อ Distro>"
Dual Boot หมายถึง กระบวนการติดตั้ง และใช้งาน ระบบปฏิบัติการ 2 ระบบ บนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ซึ่งช่วยให้ตอนเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานระบบปฏิบัติการที่ต้องการได้
อย่างไรก็ตาม การตั้งค่า Dual Boot ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่ชำนาญก็มักเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการตั้งค่าได้ และเมื่อมีปัญหาการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จะลบแล้วตั้งค่าใหม่เลยง่ายกว่า
Windows Subsystem for Linux ช่วยให้ผู้ใช้ติดตั้งใช้งาน Linux ได้ง่าย, ไม่มีความเสี่ยง และไม่ยุ่งยาก
ภาพจาก : https://www.thestack.technology/windows-subsystem-for-linux-is-ga-for-windows-10-11-in-the-windows-store/
หากกล่าวถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจ ซอฟต์แวร์ที่แจกฟรี (Freeware) และ โอเพ่นซอร์ส (Open-Source) คงไม่มีใครจะมีความกระตือรือร้นไปมากกว่าผู้ใช้งานลีนุกซ์อีกแล้ว มันมีซอฟต์แวร์ดี ๆ ให้เลือกใช้งานอยู่มากมาย แต่ว่าข้อจำกัดคือมันมีให้ใช้งานได้เฉพาะบนลีนุกซ์เท่านั้น
แต่ Windows Subsystem for Linux (WSL) ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเครื่องมือทั้งหมดเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องออกจากระบบปฏิบัติการ Windows และยังสามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้นร่วมกับไฟล์ที่อยู่ในระบบปฏิบัติการ Windows ได้โดยใช้เครื่องมือของ Linux อีกด้วย
อีกทั้ง ในการเปิดตัว WSL เวอร์ชันสองออกมาในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) มันได้อัปเดตให้สามารถรองรับแอปพลิเคชันที่อยู่ในรูปแบบ GUI เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย
มี เซิร์ฟเวอร์ (Server), เว็บเซิร์ฟเวอร์, คลัสเตอร์ (Cluster), เซิร์ฟเวอร์เกม ฯลฯ อยู่จำนวนมากมายที่ใช้ Linux ในการพัฒนา นอกจากนี้ ใน อุปกรณ์ IoT หรือแม้แต่ คอมพิวเตอร์บอร์ดเดี่ยว (SBC) ก็มักจะนิยมใช้ระบบปฏิบัติการ Linux เช่นกัน เนื่องจากมันเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ทรัพยากรต่ำ เหมาะกับระบบที่มีทรัพยากรจำกัด
ด้วยความนิยมของลีนุกซ์ จึงมีคลังความรู้ ที่คอยให้การสนับสนุนผู้ที่สนใจ ซึ่งแน่นอนว่าการเขียนโค้ดสำหรับแพลตฟอร์มลีนุกซ์ จะดีที่สุดก็ต้องเขียนบนแพลตฟอร์มลีนุกซ์ เพราะการเขียนโค้ดบน Windows ทดสอบมันบน Windows หลังจากนั้นค่อยย้ายไปทดสอบที่ Linux มักจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เป็นบ่อเหตุของความหงุดหงิด แต่ด้วย WSL เราจะสามารถพัฒนาโค้ด Linux บน Windows ได้เลย ทำให้การทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
ภาพจาก : https://code.visualstudio.com/docs/remote/wsl
โดยพื้นฐานแล้ว Linux มีความเป็นมิตรกับนักพัฒนามากกว่า Windows อยู่เล็กน้อย ลองพิจารณาได้จากการติดตั้ง GNU Compiler Collection (GCC) บน Linux Distro ที่ใช้ Debian ผู้ใช้เพียงแค่รันคำสั่ง "sudo apt install build-essential" ใน Terminal แต่ถ้าเป็นบนระบบปฏิบัติการ Windows เราจะต้องติดตั้ง "MSYS2" และ "mingw-w64" หลังจากนั้น ผู้ใช้อาจต้องปรับแต่งตัวแปร สภาพแวดล้อมของระบบด้วยตนเองต่ออีก
หากคุณเป็นผู้ที่ต้องการใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการ Windows และ Linux ควบคู่กัน การใช้งาน Windows Subsystem for Linux (WSL) เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการทำงานของ Linux บน Windows นั้นง่ายกว่าการใช้ Wine หรือ Proton เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการทำงานของระบบปฏิบัติการ Windows บน Linux
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อย่างการเล่นเกม แม้ว่า การใช้ Steam ผ่าน Proton ซึ่งก็ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ช่วยให้การเล่นเกมบน Linux มีความเป็นไปได้ แต่ระบบ Anti-Cheat ยังทำงานไม่ดีนักกับ Linux ทำให้ยังมีเกมจำนวนมากไม่สามารถเล่นได้
นอกเหนือจากกลุ่มผู้เล่นเกม การใช้งานแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำงาน เช่น ซอฟต์แวร์ของ Adobe อย่าง Photoshop บน Linux ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังต้องผ่านขั้นตอนมากมาย
เมื่อเทียบกับการใช้ WSL บนระบบปฏิบัติการ Windows ทุกอย่างจะง่ายกว่ามาก
WSL ช่วยให้ผู้ที่สนใจลีนุกซ์สามารถเริ่มต้นเรียนรู้ในส่วนที่ยากที่สุดของ Linux ได้ก่อน นั่นคือ การใช้คำสั่ง Command-Line ถ้าหากในอนาคต เราตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ Linux แบบจริงจังเรา เราก็จะเกิดความคุ้นเคยกับ WSL แล้ว ทำให้เราสามารถเปลี่ยนไปใช้ Linux ได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |