ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

โดรนการเกษตร คืออะไร ? มีหน้าที่อะไร ? และต่างจากโดรนถ่ายวิดีโอทั่วไปอย่างไร ?

โดรนการเกษตร คืออะไร ? มีหน้าที่อะไร ? และต่างจากโดรนถ่ายวิดีโอทั่วไปอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 17,039
เขียนโดย :
0 %E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

โดรนการเกษตร คืออะไร ? มีหน้าที่อะไร ?
และต่างจากโดรนถ่ายวิดีโอทั่วไปอย่างไร ?

ปกติเรามักได้เห็นประโยชน์หลัก ๆ ของ โดรน (Drone) คือการใช้บินถ่ายภาพ หรือการถ่ายวิดีโอ จากมุมสูง หรือ ใช้เพื่อการสังเกตการณ์ (Observation) เท่านั้น แต่ในด้านของเกษตรกรรมโดรนก็มีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด ซึ่งบทความนี้ เราจะไปศึกษาเรื่องของโดรนการเกษตรกันว่ามันถูกนำมาใช้ทำหน้าที่อะไร และมันต่างกับโดรนถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอทั่วไปอย่างไร ?

 

เนื้อหาภายในบทความ

 

โดรนการเกษตร (Agricultural Drone) คืออะไร ?

โดรนการเกษตร (Agricultural Drones) คืออะไร ?

สมัยนี้เกษตรกรเริ่มมีการใช้โดรนเข้ามาช่วยงานมากขึ้น ซึ่งมันก็จะถูกเรียกว่า "โดรนการเกษตร" หรือ "Agricultural Drone" เป็นโดรนที่มีลักษณะพิเศษที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรต่าง ๆ เช่นมีซอฟต์แวร์ช่วยทำแผนที่ ระบบจัดตารางบินสำรวจพื้นที่ เซนเซอร์ตรวจจับโรคหรือสุขภาพของพืชผล ไปจนถึงระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนให้กับเกษตรกร และงานทั่วไปอย่างการฉีดยา ให้ปุ๋ย หรือพ่นน้ำตามตารางเวลามันก็สามารถทำได้

โดรนการเกษตร มีหน้าที่ และ ประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

ในอดีตการทำฟาร์มเกษตร เป็นเรื่องของประสบการณ์และการคาดเดา ทำให้ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ยาก เมื่อเกิดผลกระทบเลยแก้ไม่ถูกจุด แต่พักนี้หลายคนอาจเคยได้ยินการทำฟาร์มเกษตรยุคใหม่ หรือ "ฟาร์มเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)" มันคือแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

โดย ฟาร์มเกษตรแม่นยำ ในที่นี้ มีหลักการง่าย ๆ ว่าการทำเกษตรต้องวางแผนรวบรวมข้อมูล ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อปรับปรุงพัฒนาฟาร์มเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ทรัพยากรอย่างมีค่าที่สุด เช่น วิเคราะห์ในเรื่องของปริมาณน้ำหรือระบบชลประทาน การจัดการปริมาณปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชผล การใช้สารกำจัดศัตรูพืช จนถึงการสำรวจสภาวะอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสมก่อนทำการเพาะปลูก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีการรวบรวมข้อมูลอย่างแม่นยำ

นี่คือจุดที่โดรนถูกนำมาใช้งานเพื่อความสะดวก เพราะมันเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย และแม่นยำ ปัจจุบันในหลายประเทศ มีการผลิตและวางขายโดรนสำหรับการเกษตร บ้างก็อาจมีขายเทคโนโลยีเป็นโซลูชั่นสำหรับการเกษตรเลยทีเดียว โดยประโยชน์ของโดรนสามารถแบ่งได้ดังนี้

การสำรวจ และ รวบรวมข้อมูลทางอากาศ 

คุณสมบัติการบินและการถ่ายภาพทางอากาศ ทำให้โดรนมีประโยชน์ต่อการเกษตรในด้านของการสำรวจภูมิประเทศ หรือ มอนิเตอร์การเติบโตของพืชผลได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แคบ หรือ ทุ่งโล่งกว้างใหญ่แค่ไหน เกษตรกรสามารถให้โดรนช่วยสำรวจพื้นที่เพื่อถ่ายภาพหรือวิดีโอแบบเรียลไทม์โดยไม่ต้องเข้าไปยังพื้นที่ให้เสียเวลา 

และไม่ได้หมดแค่นั้น โดรนการเกษตร มักจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ทำแผนที่ ทำให้มันสามารถกำหนดเส้นทางบินสำรวจได้เลยเกษตรกรแทบจะไม่ต้องทำอะไร และหากล้ำขึ้นไปอีกหน่อย ก็อาจจะมีระบบถ่ายวิดีโอแบบ Time-Lapse ด้วยตัวกล้องที่ติด GPS ซึ่งทำให้มันรู้ว่าควรจะถ่ายจุดใดเมื่อไหร่ทุกครั้งที่มันออกสำรวจ ทำให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบและคาดการณ์การเติบโตของพืชผลได้อย่างแม่นยำและวิเคราะห์ถึงผลผลิตสำหรับอนาคตที่จะต้องเก็บเกี่ยว

การสำรวจ และ รวบรวมข้อมูลทางอากาศ 
ภาพจาก Shutterstock

มอนิเตอร์สุขภาพของพืชผลทางการเกษตร

โดรนการเกษตร จะมีการประยุกต์นำกล้อง ที่เรียกว่า "Multispectrum Camera Drone" ซึ่งมีความสามารถใช้การใช้อินฟราเรดเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพไปจนถึงตรวจหาความผิดปกติของพืชได้ด้วย เช่น การเกิดโรค หรือ แมลงศัตรูพืช ไปจนถึงมีวัชพืช เพราะแสงอินฟราเรดสามารถช่วยแยกแยะสุขภาพจากสีของใบในขณะที่สายตาคนอาจมองไม่เห็น

ซึ่งโดรนก็จะประมวลผลออกมาเป็นค่าดัชนีความต่างพืชพรรณ NDVI (Normalized Difference Vegetation Index) มาที่จอภาพมอนิเตอร์ของเกษตรกร จากนั้นข้อมูลที่ได้ก็จะถูกใช้ประโยชน์เพื่อวางแผนสำหรับการพ่นยา หรือ การปริมาณปุ๋ยเพื่อแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญสำหรับพืชผลทางการเกษตรอย่าง "น้ำ" โดรนการเกษตรบางรุ่นมีการประยุกต์ใช้กล้องจับความร้อน (Thermal Camera) มาวัดอุณหภูมิหน้าดินหรือช่วยระบุได้ว่าพื้นที่ส่วนใดมีความชื้นหรือมากเกินไปและตรงไหนมีความร้อนและความหนาแน่นของพืชสูง ทำให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับระบบชลประทานเพื่อให้มีการระบายน้ำอย่างเหมาะ หรือ ลดความหนาแน่นลงในช่วงผลผลิตฤดูกาลถัดไป ทำให้พืชเติบโตได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์กว่าเดิม

มอนิเตอร์สุขภาพของพืชผลทางการเกษตร

ลดระยะเวลาในการกำจัดศัตรูพืช หรือ ให้ปุ๋ย 

ก่อนจะมีการใช้โดรนเพื่อใส่ปุ๋ยหรือพ่นยากำจัดศัตรูพืช ย้อนไปอดีตเกษตรกรมักจะใช้เครื่องพ่นด้วยมือแทน ซึ่งถ้าเป็นรายใหญ่หน่อยมีพื้นที่กว้าง ๆ และมีต้นทุน ก็จะใช้เครื่องบินขนาดเล็ก (แต่หน้าตาเหมือนเฮลิคอปเตอร์) ที่ต้องมีคนบังคับอยู่ด้านล่าง ซึ่งก็จะมีราคาที่แพงกว่า นอกจากนี้ยังอาจเกิดอันตรายต่อคนที่อยู่ข้างล่างด้วย เพราะมันต้องบินต่ำ

ลดระยะเวลาในการกำจัดศัตรูพืช หรือ ให้ปุ๋ย 

ซึ่งการใช้โดรนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับเกษตรกรไทย เดี๋ยวนี้คนมีไร่พื้นที่ใหญ่ ๆ ก็เริ่มที่จะหันมาใช้โดรนกันมากขึ้น เพราะมันคุ้มค่ากว่า เร็วกว่า และปลอดภัยมากกว่า แถมยังควบคุมการฉีดพ่นได้อย่างแม่นยำทำให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม 

ช่วยลดระยะเวลาในการหว่านเมล็ด

หลายบริษัทเริ่มที่จะพัฒนาและทดสอบโดรนสำหรับช่วยยิงเมล็ดพืชและสารอาหารลงไปในดินโดยตรง แต่ยังอยู่ในช่วงของการทดลอง หากมันสำเร็จและนำออกมาใช้ได้จริง อาจทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนหรือขับเครื่องจักรแบบเดิม ๆ อีกต่อไป เราใช้แรงงานโดรนอัตโนมัติอย่างเดียว

ช่วยลดระยะเวลาในการหว่านเมล็ด

โดรนการเกษตร และ โดรนถ่ายวิดีโอ แตกต่างกันอย่างไร ?

บางคนอาจมีข้อสงสัยว่าโดรนถ่ายวิดีโอหรือถ่ายภาพ และ โดรนการเกษตร มันต่างกันไหม ? หรือใช้เหมือนกันได้หรือเปล่า เช่นจะเอา DJI Phantom 4 Pro ซึ่งเป็นโดรนถ่ายภาพระดับมือโปร มาติดตั้งถังปุ๋ยและต่อท่อขึ้นบินสาดปุ๋ยตามท้องนาแบบนี้จะได้ไหม หรือจะเอาโดรนที่เขาไว้ใส่ปุ๋ยมาถ่ายภาพได้เปล่า จริง ๆ มันก็ได้แค่มันผิดวัตถุสงค์เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าดูจากคุณสมบัติต่าง ๆ ของโดรนการเกษตรที่กล่าวมา มันจำเป็นที่จะต้องมีซอฟต์แวร์ และ ฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมด้วย

โดรนการเกษตร และ โดรนถ่ายวิดีโอ แตกต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก DJI AGRAS T16 / https://www.dji.com/t16?site=ag&from=nav

ตัวอย่างเช่นรุ่น DJI AGRAS T16 ก็เป็นแบรนด์จากเจ้าเดียวกัน ที่ออกแบบมาสำหรับใช้เพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ ทำให้มันมีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้นมา เช่น มีกำลังไฟสูงขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้รองรับน้ำหนักได้มากและติดตั้งถังน้ำได้ หรือมีสายฉีดพ่นเปรย์ มีการนำเอา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับวาดภาพแผนที่เมื่อบินสำรวจ มีแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานหนัก ๆ และระบบอื่น ๆ รวมถึงมีราคาที่สูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

ส่วนโดรนถ่ายภาพ ก็อาจจะเน้นในเรื่องของขนาดที่ต้องมีความคล่องตัว มีคุณภาพกล้องที่สูง เช่น ความนิ่ง หรือ ความละเอียดคมชัด ต่าง ๆ นานา เป็นต้น ดังนั้นถ้าเกิดจะนำมาใช้ร่วมกันเนี่ยคงเป็นไปได้ยาก 

โดรนการเกษตร และ โดรนถ่ายวิดีโอ แตกต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก DJI Phantom 4 Pro /  https://www.dji.com/phantom-4-pro-v2?site=brandsite&from=nav

สุดท้ายนี้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ Global Market Insights คาดการณ์ว่าขนาดของตลาดโดรนเพื่อการเกษตรจะเติบโตเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตนวัตกรรมโดรนอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งและก้าวหน้าไปพร้อมกับวงการเกษตรกรรม และทำให้กระบวนการทำฟาร์มมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อีกนัยก็อาจหมายถึงความต้องการของแรงงานคนที่น้อยลงด้วยเช่นกัน


ที่มา : www.uavtrainingaustralia.com.au , www.businessinsider.com , easternpeak.com , www.udel.edu , www.dji.com , www.dji.com

0 %E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น