URL น่าจะเป็นอีกหนึ่งคำที่หลาย ๆ คนรู้จักและใช้งานกันอยู่เป็นประจำแทบทุกวัน เพราะจะต้องใช้ URL เพื่อเข้าเว็บไซต์ ผ่าน โปรแกรมเปิดเว็บ หรือว่า เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) นั่นเอง
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าจริง ๆ แล้ว URL ของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันนั้นคืออะไรกันนะ ? ย่อมาจากคำว่าอะไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? แล้วสัญลักษณ์ต่าง ๆ ใน URL คืออะไร ? มันมีความเกี่ยวข้องอะไรกับ "ชื่อโดเมน" (DNS - Domain Name Service) ? มาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย
ภาพจาก : https://amasty.com/blog/wp-content/uploads/2021/05/why-url-structure-matters-in-seo.jpg
คำว่า "URL" ย่อมาจากคำว่า "Uniform Resource Locator" หมายถึงตัวระบุที่อยู่ (Address) ของข้อมูลต่าง ๆ ภายในอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงไฟล์ (File) หรือหน้าเว็บไซต์ (Webpage) ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง (คล้ายกับ "เลขที่บ้าน" ที่ทำให้พนักงานส่งของหาบ้านเราเจอเวลาสั่งซื้อของออนไลน์) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรามักคุ้นเคยกับ URL ของเว็บไซต์มากกว่า จึงทำให้บางคนนิยมเรียก URL ว่า "Web Address" (ที่อยู่เว็บไซต์) นั่นเอง
ตัวอย่าง URL ของเว็บไซต์ Thaiware คือ https://www.thaiware.com/
ภายใน URL นั้นประกอบไปด้วย 2 องค์ประหลัก ๆ ได้แก่ Protocol Identifier (Scheme) และ Resource Name (Authority) ดังนี้
ภาพจาก : https://tipsmake.com/data/images/learn-about-URL-picture-1-vjCqtK8nk.jpg
Protocol Identifier หรือ Scheme จะอยู่บริเวณ "ด้านหน้า" ของ URL เป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถเข้าถึง "ข้อมูล" ต่าง ๆ ผ่าน DNS (Domain Name System) โดย Protocol Identifier (Scheme) ที่คาดทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีก็ได้แค่ http, https และ ftps เป็นต้น
Protocol Identifier ของเว็บไซต์ Thaiware คือ "https"
Resource Name หรือ Authority เป็นส่วนท้ายของ URL ที่อยู่หลัง "://" มีองค์ประกอบย่อยภายในอีกหลายส่วน โดยมี "DNS (Domain Name System)" เป็นหลัก และส่วนย่อยอื่น ๆ อาจมีหรือไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ (ขึ้นอยู่กับหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ด้วย)
สำหรับ DNS (Domain Name System) หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า ชื่อโฮสต์ (Host Name) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ URL ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง (คล้ายกับ "ชื่อผู้รับ" ที่ช่วยให้พนักงานส่งของสามารถส่งมอบของได้ถูกคน) ซึ่ง DNS ของเว็บไซต์แต่ละเว็บจะมีความ "แตกต่าง" กันออกไปตามที่ผู้พัฒนากำหนด แต่ "ส่วนท้าย (นามสกุล)" ของ DNS จะมีการกำกับตามประเภทของเว็บไซต์นั้น ๆ เช่น
DNS (Domain Name System) ของเว็บไซต์ Thaiware มีทั้ง .com (หน้าเว็บที่ลงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับ IT) และ .co.th (หน้าเว็บที่ลงข่าวสารของ "บริษัท" โดยเฉพาะ)
นอกจากนี้ DNS ก็อาจมี "Subdomain" หรือโดเมนย่อยภายในที่นำทางไปยังหน้าต่าง ๆ ของเว็บไซต์นั้น ๆ ได้ตามที่เราต้องการ โดยโดเมนย่อยนั้นจะอยู่ "ด้านหน้า" ของ DNS และคั่นด้วยจุด (.) เสมอ
บทความทิปส์ของเว็บไซต์ Thaiware มี Subdomain ว่า "tips.thaiware.com"
สำหรับ Port Name นั้นมัก "ไม่ปรากฏ" บนลิงก์ URL หากเว็บไซต์นั้น ๆ มีการใช้งานพอร์ตมาตรฐานของ Protocol โดย http จะใช้ port "80" ส่วน https จะใช้ port "443" เป็นหลัก
"เส้นทาง" ที่นำไปสู่ไฟล์หรือตำแหน่งต่าง ๆ ของข้อมูลบน Web Server อยู่ด้านหลังของ DNS โดยมีเครื่องหมาย "/" คั่น เช่น /main, /s, หรือ /search และส่วนท้ายของ Path อาจจบด้วย / หรือ .php, .html (ขึ้นอยู่กับภาษาที่ใช้เขียนเว็บไซต์นั้น ๆ) หรืออาจปล่อยว่างไว้ก็ได้
Path ของบทความนี้คือ https://tips.thaiware.com "/1941.html"
ข้อมูลที่ส่งผ่านไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ มักปรากฎเครื่องหมาย "?" ตามด้วยค่า Parameter ซึ่งหากมี Parameter มากกว่า 1 ค่าจะแสดงค่าเป็นคู่ที่ใช้เครื่องหมาย "&" คั่นระหว่างค่า และแบ่งคู่ด้วยเครื่องหมาย "="
ส่วนของ URL ที่ระบุจุดที่ปักหมุดเอาไว้ภายในหน้าเว็บไซต์ ขึ้นต้นด้วย "#" เสมอ โดยบนวิดีโอก็จะกระโดดไปยัง "วินาที" ที่มาร์คจุดเอาไว้ ส่วนในหน้าเว็บไซต์ก็จะข้ามไปที่ "หัวข้อ" ที่ผู้ใช้ต้องการ
Anchor "ความหมายของ URL" ในบทความนี้ได้แก่
https://tips.thaiware.com/1941.html#what-is-a-url
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า URL ไม่ได้ใช้เพื่อการเข้าถึง "เว็บไซต์" (www.) ต่าง ๆ เท่านั้น แต่เรายังอาจพบ URL คำสั่ง ที่ใช้เพื่อเข้าถึงหรือระบุที่อยู่ของข้อมูลอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น
mailto: เป็นคำสั่ง URL สำหรับการ "ส่งอีเมล" โดยหากกดไปในช่อง URL ของ Web Browser ต่าง ๆ แล้วพิมพ์ข้อความว่า mailto: ตามด้วย Email ของผู้รับปลายทางและกด "ปุ่ม Enter" ก็จะเป็นการเรียกใช้คำสั่งการ "เขียนอีเมล" หาบุคคลนั้น ๆ ได้ในทันที (จากที่ลองใช้บน ระบบปฏิบัติการ Windows 11 พบว่ามันจะเด้งไปหาแอปพลิเคชัน Mail ของ Microsoft โดยตรง ซึ่งถ้าใครเข้าสู่ระบบ (Login) และใช้งาน Mail เป็นประจำอยู่แล้ว การใช้ mailto: ก็สะดวกดีเหมือนกันนะ)
คำสั่ง URL สำหรับการ "โทรออก" ที่เมื่อผู้ใช้กรอกข้อความว่า tel: แล้วตามด้วยเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการโทรหาในช่อง URL แล้วกด "ปุ่ม Enter" ก็จะมีหน้าต่างเด้ง (Pop-up Windows) ขึ้นมาให้กด "โทรออก" ผ่านแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่รองรับการโทรได้เลยทันทีเช่นกัน
สำหรับคำสั่งการ "เปิดไฟล์" นั้นจะพิเศษกว่า URL ประเภทอื่น ๆ โดยเมื่อพิมพ์ URL คำสั่งการเปิดไฟล์ จะต้องขึ้นต้นด้วย "file:///" (มีเครื่องหมาย / 3 อันเสมอ) และตามด้วย Drive ที่เก็บไฟล์ : คั่นด้วย / แล้วพิมพ์ชื่อไฟล์ที่ต้องการเปิด จากนั้นกด Enter ก็จะสามารถเข้าถึงไฟล์ได้คล้ายการเปิดใช้งาน File Explorer
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |
ความคิดเห็นที่ 2
28 สิงหาคม 2566 11:21:24
|
||
GUEST |
QQ
ทำไมเข้าเว็บไซต์ไม่ได
|
|
ความคิดเห็นที่ 1
20 มิถุนายน 2566 03:53:24
|
||
GUEST |
Sakda Sringernwichia
ดีมากๆมีสิ่งใหม่ๆใด้เรีบนนรู้เข้าใจง่าย
|
|