เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงเรียกฟอนต์ในภาษาอังกฤษแบบตัวพิมพ์ใหญ่ (Capital Letters) ว่า "Uppercase" และเรียกตัวพิมพ์เล็ก (Small Letter) ว่า "Lowercase" ? ทำไมถึงไม่เรียกตามชื่อตัวอักษร (พิมพ์เล็ก-พิมพ์ใหญ่) ไปเลย มันมีที่มาจากอะไรกันแน่ ? มาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย
ในสมัยก่อนที่จะมีเครื่องพรินเตอร์ (Printer) ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์หรือหนังสือประเภทต่าง ๆ นั้นจะต้องใช้ "แท่นพิมพ์" ที่มีขนาดใหญ่มาก โดยหลักการทำงานของแท่นพิมพ์นี้นอกจากจะต้องพึ่งพาแรงงานของช่างพิมพ์ในการกดน้ำหนักผ่านแท่นหมึกประทับลงบนแผ่นกระดาษให้ปรากฎตัวอักษร และช่างเติมหมึกแล้ว อีกคนที่ขาดไม่ไปได้เลยก็ได้แค่ คนจัดอักษร (Typesetter) ที่จะเป็นคนคอยจัดวางเรียงและสลับเปลี่ยนตัวอักษรบนแท่นพิมพ์ก่อนที่ช่างพิมพ์จะกดหมึกลงบนกระดาษ
ภาพจาก : https://mymodernmet.com/uppercase-lowercase-letters/
ซึ่งแบบแม่พิมพ์ของตัวอักษร, ตัวเลข รวมไปถึง เครื่องหมายต่าง ๆ ก็จะถูกจัดเก็บเอาไว้ในลิ้นชักไม้แบ่งช่อง (Cases) ของ Typesetter แต่ละคน โดยภายในลิ้นชัก ก็จะมีการจัดแบ่งช่องการวางพิมพ์ตัวอักษรเอาไว้อย่างเป็นสัดส่วนตามความชื่นชอบของ Typesetter แต่ละคน
แต่ทว่าส่วนมากแล้ว Typesetter มักจะทำการจัดวางตัวอักษรพิมพ์เล็กที่หยิบใช้งานบ่อยไว้ที่ช่อง "ด้านล่าง (Lower)" ที่ใกล้มือและหยิบใช้ได้อย่างสะดวก ในขณะที่ตัวอักษรที่ใช้งานน้อยกว่าอย่างตัวพิมพ์ใหญ่ถูกจัดวางเอาไว้ในช่อง "ด้านบน (Higher / Upper)"
และเมื่อ Typesetter ต้องการใช้งานตัวอักษรใดก็มักจะเรียกชื่อตาม "ตำแหน่ง" การวางของตัวอักษรนั้น ๆ เช่น เมื่อต้องการตัวอักษร "a" (พิมพ์เล็ก) ก็มักจะมีคำถามตามมาว่า "Which One ?" (ตัวไหน ?) จึงเรียกย่อ ๆ ว่า "Lower A" (ตัว a ด้านล่าง) เพื่อประหยัดเวลาในการสื่อสาร จึงเกิดเป็นคำว่า "Uppercase" และ "Lowercase " ขึ้นมานั่นเอง
ภาพจาก : https://mymodernmet.com/uppercase-lowercase-letters/
ต่อมาได้มีการพัฒนามาตรฐานการจัดเรียงตัวอักษรใหม่ตามความถี่ในการใช้งาน โดยจัดให้ช่องที่เป็นสระ (a, e, i, o, u) มีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ๆ และแยกตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เอาไว้ที่ริมฝั่งขวามือแทนการแบ่งครึ่งบน - ล่างให้โรงพิมพ์ทั่วโลก (ที่ใช้งานภาษาอังกฤษ) ใช้งานมาตรฐานการพิมพ์เดียวกันเพื่อป้องกันความสับสน
โดยลิ้นชักตัวอักษร (Case) ยอดนิยม (ในประเทศสหรัฐอเมริกา) ก็ได้แก่ "California Job Case" ที่มีการแบ่งช่องตัวอักษรพิมพ์ใหญ่อย่างสมดุลและมีจำนวนช่องพอดีกับตัวอักษร ต่างจากลิ้นชักแบบทั่วไป (Regular Job Cases) ที่แบ่งออกเป็นช่องเล็ก ๆ ทำให้มีช่องว่างสองแถวบนของลิ้นชักฝั่งตัวอักษรพิมพ์ใหญ่
ภาพจาก : https://hobancards.com/blogs/thoughts-and-curiosities/difference-between-font-and-typeface
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานการจัดเรียงอักษรใหม่ออกมาเป็นที่เรียบร้อย แต่ Typesetter ส่วนมากก็ยังเคยชินกับการเรียกแทนตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ว่า "Uppercase" เหมือนก่อนหน้านี้แทนที่จะเรียกตัวพิมพ์ใหญ่ว่า "Capital Letter / Majuscule" อยู่ดี และจากคำเรียกติดปากนี้เองก็ทำให้มันกลายเป็นคำเรียกแทนฟอนต์ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ (Uppercase) และพิมพ์เล็ก (Lowercase)
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |