ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 54,101
เขียนโดย :
0 %E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87+%E0%B9%86+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน

"ลิขสิทธิ์ฟอนต์" เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญอย่างมากในการทำงานกับตัวอักษร นักออกแบบส่วนใหญ่น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าการเลือกใช้งานฟอนต์สามารถส่งผลต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวได้เลยล่ะ หากคุณสงสัยว่ามันจะขนาดนั้นเลยเหรอ ? ลองจินตนาการว่าคุณพาญาติไปโรงพยาบาลแล้ว เมื่อไปถึงหน้าห้องฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลดังกล่าวออกแบบป้ายห้องฉุกเฉินด้วยฟอนต์แนวสยองขวัญ เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกไม่สบายใจเท่าไหร่นัก หรือในป้ายประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เลือกใช้ฟอนต์ลายมือสุดน่ารัก มันก็ดูขาดความน่าเชื่อถือได้ใช่ไหมล่ะ ?

บทความเกี่ยวกับ Font อื่นๆ

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ลองคิดว่าถ้าแคมเปญที่คุณออกแบบประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีหลังจากเปิดตัวออกไป แต่ลูกค้าโทรมาบอกว่าโดนแจ้งข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ฟอนต์มันก็คงไม่ใช่เรื่องตลกอย่างแน่นอน แถมยังทำให้คุณเสียชื่อเสียงที่สั่งสมมาอีกต่างหาก

ลิขสิทธิ์ฟอนต์นั้นมีอยู่หลายประเภทมาก ๆ แม้ว่าคุณจะซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว แต่ถ้าคุณนำมันมาใช้งานผิดประเภท ก็อาจจะเกิดปัญหาได้เช่นกัน ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายให้เข้าใจถึงลิขสิทธิ์ฟอนต์ประเภทต่าง ๆ ว่าแบบไหน ใช้ทำอะไรได้บ้าง ? จะได้ซื้อลิขสิทธิ์มาได้ตรงโจทย์การทำงานของเรากัน

เนื้อหาภายในบทความ

ลิขสิทธิ์ฟอนต์ คืออะไร ?
(What is Font Licensing ?)

ฟอนต์เป็นสิ่งที่เราต้องติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์ก่อนถึงจะสามารถใช้งานได้ ดังนั้น เราสามารถมองว่าฟอนต์ก็เป็นซอฟต์แวร์รูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราซื้อฟอนต์มาใช้งาน มันก็ไม่ต่างจากการซื้อลิขสิทธิ์ในการใช้มาจากผู้พัฒนา ซึ่งก็จะมีเงื่อนไข และข้อกำหนดแล้วแต่ว่าเราซื้อลิขสิทธิ์ประเภทไหนมาใช้งาน

ประโยชน์ของมันก็เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ถูกขโมยความคิดไปแสวงหาผลประโยชน์ฟรี ๆ นั่นเอง แม้ว่าตัวกฏหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศจะมีร่างที่แตกต่างกัน แต่ลิขสิทธิ์ฟอนต์ถูกสร้างขึ้นมาในแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกประเทศ แม้ว่าทางผู้ออกแบบอาจจะมีรายละเอียดข้อตกลงในการใช้ฟอนต์ที่อาจจะต่างกันไปบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในภาพรวมแล้วก็คล้ายคลึงกัน

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน
ฟอนต์ Guzzo ที่มีหลายลิขสิทธิ์ให้เลือกซื้อ
ภาพจาก : https://www.fontshop.com/families/guzzo/buy

ทำไมถึงมีลิขสิทธิ์ฟอนต์หลายประเภท ?
(Why there are a lot of Font Licensing ?)

ราคาของลิขสิทธิ์ฟอนต์นั้นมีอยู่หลายระดับ ฟอนต์ชนิดเดียวกัน ผู้ออกแบบคนเดียวกัน ก็มักจะมีราคาลิขสิทธิ์ตั้งแพงไปยันสูงมาก ถ้าเราตัดเรื่องราคาที่เกิดจากความยากในการพัฒนา หรือชื่อเสียงของตัวผู้ออกแบบทิ้งไป ตามปกติแล้ว 

ราคาของลิขสิทธิ์ฟอนต์จะขึ้นแปรผันไปตามจำนวนการมองเห็น เช่น การอนุญาตให้เอาไปพิมพ์เสื้อยืดได้ อาจจะตกลงกันไว้ที่พิมพ์ได้ 100 ตัว กับฟอนต์ที่อนุญาตให้นำไปใช้ในงานโทรทัศน์, วีดีโอ, วิดีโอเกม ที่โอกาสที่คนจะมองเห็นอาจจะอยู่ที่ระดับล้านคน ราคาของลิขสิทธิ์ในการใช้งานอย่างหลังย่อมแพงกว่าอย่างแรก

ต่อไปจะเป็นลิขสิทธิ์ฟอนต์ประเภทต่าง ๆ ที่เรามักจะได้เจอเป็นประจำ เวลาที่เลือกดาวน์โหลด หรือเลือกซื้อฟอนต์ จะมีอะไรบ้าง มาอ่านกัน

1. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Desktop
(Desktop Font Licensing)

ถ้าถามว่าลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบไหนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คงต้องยกตำแหน่งนี้ให้กับลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Desktop (Desktop font licenses) ใบอนุญาตชนิดนี้จะยินยอมให้ผู้ซื้อสามารถติดตั้งฟอนต์ดังกล่าวลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานบนอุปกรณ์ที่คุณต้องการ และยินยอมให้ใช้ฟอนต์ดังกล่าวร่วมกับโปรแกรมอื่นเพื่อใช้สร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ได้

ตัวอย่างเช่น ใช้ออกแบบลายเสื้อใน Photoshop, ออกแบบเอกสารใน InDesign, สร้างโลโก้ใน Illustrator ฯลฯ กล่าวได้ว่าคุณสามารถใช้มันในงานพิมพ์ได้ทุกประเภทเลยล่ะ จะเอกสาร, เสื้อยืด หรือแม้แต่แก้วมัค 

อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบเงื่อนไขด้วยว่า มันอนุญาตให้ติดตั้งใช้งานได้กับคอมพิวเตอร์จำนวนกี่เครื่อง และสามารถนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ถึงระดับไหน ? ซึ่งอาจจะไม่มีข้อจำกัดเลย หรืออาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมบางอย่าง

2. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Commercial
(Commercial Use Font Licensing)

แม้ว่า "ส่วนใหญ่" แล้ว ในปัจจุบันนี้ ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Desktop จะยินยอมให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่บางฟอนต์ก็ไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ซึ่งในบางประเทศก็จะมีกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ในด้านนี้โดยเฉพาะเลย

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา (บางรัฐ) จะคุ้มครองแค่ ฟอนต์ (Font) แต่ไม่รวมไปถึง ไทป์เฟซ (Typeface) ซึ่งฟอนต์นั้นเราได้บอกไปตั้งแต่แรกแล้วว่ามันเหมือนซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่งบนคอมพิวเตอร์ ที่ประกอบไปด้วยไทป์เฟซหลายแบบ ซึ่งไทป์เฟซคือ หน้าตาของตัวอักษร ดังนั้น ฟอนต์บนคอมพิวเตอร์จะได้รับการคุ้มครองการใช้งานภายใต้กฏหมายลิขสิทธิ์ แต่ผลงานที่ถูกตีพิมพ์ออกมาแล้ว เช่น เสื้อยืดที่มีข้อความออกแบบด้วยฟอนต์ลิขสิทธิ์ ตัวอักษรบนเสื้อเป็นเพียงไทป์เฟซเท่านั้น จึงไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อีกต่อไป ในขณะที่ประเทศอังกฤษ และเยอรมนี ตัวลิขสิทธิ์จะคุ้มครองทั้งฟอนต์ และไทป์เฟซเลย

ส่วนประเทศไทยนั้น เท่าที่ผู้เขียนค้นหาข้อมูล (หากผิดพลาดขออภัย) เหมือนจะมีการคุ้มครองตัวฟอนต์ ส่วนไทป์เฟซจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลเป็นกรณีไป อย่างถ้ามีการลอกเลียนแบบไทป์เฟซแล้วอ้างว่าเป็นฟอนต์ที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ หากศาลพิจารณาแล้วมันเหมือนต้นฉบับเดิมมากเกินไป ก็อาจจะพิจารณาว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน

ดังนั้น ตอนที่ซื้อฟอนต์ก็ตรวจสอบกับทางผู้ขายให้ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะมีลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Desktop ให้เลือกซื้ออยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นว่ามีขายลิขสิทธิ์แบบ Commercial แยกออกมา ก็ควรสอบถามเงื่อนไขเพิ่มเติมกับทางผู้ออกแบบ หรือร้านค้าที่วางจำหน่ายฟอนต์ดังกล่าวให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

3. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Webfont
(Webfont Licensing)

เมื่อเรานำฟอนต์มาใช้บนหน้าเว็บไซต์ มันจะต้องมีการฝังตัวฟอนต์เข้าไปยังซอร์สโค้ดของตัวเว็บไซต์ด้วย เพื่อให้มันสามารถแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ของผู้เยี่ยมชมได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ฟอนต์จะอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ และมีการเผยแพร่ฟอนต์ไปยังเครื่องผู้เข้าชมทุกครั้งที่มีการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรในทางเทคนิค แต่ในแง่ของการใช้งานลิขสิทธิ์แล้ว มันก็เลยต้องการใบอนุญาตลิขสิทธิ์การใช้ฟอนต์ที่แตกต่างไปจากเดิม

การคิดราคาของลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Webfont ก็มีหลายรูปแบบ อาจจะคิดตามจำนวนหน้าเว็บไซต์ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะนิยมคิดราคาตามจำนวนผู้เข้าชมหน้าเว็บไซต์ แน่นอนว่า ยิ่งมีผู้เข้าชมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคิดราคาแพงขึ้นเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้งานฟอนต์ฟรีกันเป็นส่วนมาก

ฟอนต์ La Luxes ที่คิดราคาตามจำนวนยอดผู้เข้าชมหน้าเว็บไซต์
ฟอนต์ La Luxes ที่คิดราคาตามจำนวนยอดผู้เข้าชมหน้าเว็บไซต์
ภาพจาก : https://creativemarket.com/SamParrett/4319678-La-Luxes-Font-Duo-Logos-%28Updated%21%29

4. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Adobe (Adobe Font Licensing)

หากคุณเป็นสาวกของ ค่าย Adobe คุณก็น่าจะสมัครสมาชิก ชุดโปรแกรมกราฟิก Creative Cloud กันอยู่แล้ว ซึ่งนอกจาก ชุดโปรแกรมทำกราฟิกที่ทาง Adobe เตรียมไว้ให้แล้ว มันยังมาพร้อมกับฟอนต์มากกว่า 1,800 แบบ ที่มาพร้อมกับลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Desktop (Desktop Font Licensing) หรือแม้แต่ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Webfont (Webfont Licensing) ให้ใช้งานด้วย แค่เข้าสู่ระบบ แล้วค้นหาฟอนต์ที่อยากได้งานได้ทันที

อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้อควรระวังอยู่เล็กน้อย เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งของ ชุดโปรแกรมกราฟิก Creative Cloud ดังนั้น ลิขสิทธิ์ที่คุณได้รับจึงมีอายุการใช้งานจำกัด โดยหากคุณไม่ได้จ่ายเงินต่ออายุสมาชิก ลิขสิทธิ์ฟอนต์ที่คุณมีก็จะหมดตามไปด้วย

และนอกจากนี้แล้ว ลิขสิทธิ์ฟอนต์ของ Adobe ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการใช้งานบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server) บนแอปพลิเคชันบนมือถือ (Mobile Application) อีกด้วยเช่นกัน

รูปแบบของฟอนต์ จากค่ายอะโดบี (Adobe Font)
รูปแบบของฟอนต์ จากค่ายอะโดบี (Adobe Font)
ภาพจาก : https://fonts.adobe.com/

5. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Server
(Server Font Licensing)

รูปแบบลิขสิทธิ์ชนิดนี้ ผู้ใช้งานทั่วไปอาจจะไม่มีโอกาสได้พบเจอเท่าไหร่นัก โดยลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Server นั้นจะใช้ในแอปพลิเคชันที่มีการทำ "ระบบ Print on Demand" เช่น คุณมีเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้เข้ามาออกแบบนามบัตร, ทำลายเสื้อ ฯลฯ แล้วสามารถสั่งพิมพ์สินค้าออกมาได้เลย 

เงื่อนไขของลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Server มักจะมีการจำกัดระยะเวลา และอาจจะต้องจ่ายเงินตามจำนวนซีพียูที่ใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์ด้วย

ฟอนต์ Wild Loops ที่คิดราคาเป็นรายปี และจ่ายตามจำนวนคอร์ของ CPU
ฟอนต์ Wild Loops ที่คิดราคาเป็นรายปี และจ่ายตามจำนวนคอร์ของ CPU
ภาพจาก : https://www.fontshop.com/families/wild-loops/buy

6. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Application
(Application Font Licensing)

หากต้องการนำฟอนต์ไปใช้ในแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการ iOS, Android, Windows, Linux ฯลฯ ก็จะต้องใช้ลิขสิทธิ์ฟอนต์เพื่อการใช้งานบนแอปพลิเคชัน (Application Font Licensing)

ตามปกติแล้ว การคิดค่าราคาของลิขสิทธิ์ประเภทนี้ จะไม่ได้รับตามจำนวนยอดดาวน์โหลด แต่จะขึ้นอยู่กับจำนวนแอปพลิเคชันที่ต้องการนำฟอนต์ไปใช้

แต่ก็มีข้อสังเกตที่ควรระวังอยู่เช่นกัน ในกรณีที่แอปพลิเคชันของคุณอนุญาตให้ใช้ฟอนต์ในการออกแบบอะไรสักอย่างได้ มันจะเป็นการใช้งานที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงของลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Application จะต้องมีการปรับแต่ง (Custom) ตัวลิขสิทธิ์การใช้ฟอนต์เพิ่มเติม หรือหากที่คุณทำเป็นแอปพลิเคชันแบบ Web-based ที่ตัวฟอนต์ไม่ได้มีการฝังเอาไว้ในแอปพลิเคชัน ก็ต้องเลือกใช้งานลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Webfont ถึงจะถูกต้อง

ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Application (Application Font Licensing)
ฟอนต์ Qiblat Sans
ภาพจาก : https://www.fontshop.com/families/qiblat-sans/buy

7. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ E-Book
(E-book Font Licensing)

ลิขสิทธิ์ฟอนต์สำหรับการใช้งานในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book Font Licensing) จะถูกใช้ต่อเมื่อเราต้องการนำฟอนต์ไปฝังไว้ในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่นใน Kindle, Meb ฯลฯ ทั้งนี้ การใช้งานฟอนต์จะไม่รวมไปถึงการใช้ฟอนต์ดังกล่าวที่หน้าปกหนังสือ หรือในภาพประกอบ

สำหรับการคิดค่าใช้จ่ายมักจะคิดราคาตามฉบับ หากจะนำไปใช้กับหนังสือเรื่องใหม่ หรือนิตยสารฉบับใหม่ก็จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใหม่อีกครั้ง

8. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Digital Ads
(Digital Ads Font Licensing)

ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Digital Ads จะอนุญาตให้ใช้ฟอนต์ในแบนเนอร์โฆษณาที่แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ (Web Advertising) หรือสมาร์ทโฟน เมื่อเราซื้อลิขสิทธิ์ จะต้องระบุยอดการมองเห็นของแคมเปญด้วย หากไม่แน่ใจว่ายอดการมองเห็นอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ? ก็สามารถซื้อแบบขั้นต่อไปก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินเพิ่มในภายหลังก็ได้

ซึ่งตามปกติแล้ว หลังจากที่ซื้อลิขสิทธิ์เสร็จแล้ว ผู้ใช้จะสามารถดาวน์โหลดชุด Ad Kit ที่มี Web Font ของ Typeface ที่คุณซื้ออยู่ สามารถนำตัว ​Ad Kit ไปอัปโหลดเข้าระบบ Ad network หรือฝังเข้าในตัว Ads โดยตรงเลยก็ได้

9. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Video & Broadcasting
(Video & Broadcasting Font Licensing)

ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบวิดีโอ และการแพร่ภาพ (Video and Broadcasting Font Licensing) นี้มีไว้เพื่ออนุญาตให้ใช้ฟอนต์ในงานวิดีโอได้ ไม่ว่าจะเป็นใน Blog, YouTube, ทีวี ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ตาม โดยการคิดราคาจะคิดตามจำนวนของรายการที่มีการนำฟอนต์ไปใช้งาน หรืออาจจะเหมาจ่าย เช่น ใช้ได้ใน 5 รายการต่อหนึ่งลิขสิทธิ์ โดยสามารถใช้ได้เฉพาะในงานที่สามารถรับชมผ่านหน้าจอเท่านั้น ไม่สามารถฝังฟอนต์ไปกับสื่ออย่าง แผ่น CD, แผ่น DVD, แผ่น Blu-Ray ฯลฯ ได้ เพราะจะเป็นลิขสิทธิ์คนละประเภทกัน

การใช้งานฟอนต์ก็ใช้ได้ในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ชื่อเรื่อง, เครดิต หรือข้อความใด ๆ ก็ตามที่ปรากฏบนหน้าจอ นอกจากนี้ ผู้ซื้อฟอนต์ยังสามารถส่งฟอนต์ไปให้ทีมตัดต่อ หรือทีมกราฟิกใช้ทำงานตัดต่อวิดีโอได้ด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องลบฟอนต์ดังกล่าวทิ้ง หลังจากที่ทำงานเสร็จสิ้นแล้ว 

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ เราไม่สามารถนำลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Video & Broadcasting ไปใช้งานอื่นได้ แม้จะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอก็ตาม เช่น โปสเตอร์โปรโมท หนังภาพยนตร์ (Movie), สินค้าที่ระลึก (Merchandise) ฯลฯ พวกนี้จะต้องซื้อลิขสิทธิ์ฟอนต์อีกประเภทเพิ่มเติม 

ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Video & Broadcasting (Video & Broadcasting Font Licensing)
ภาพจาก : https://klim.co.nz/buy/founders-grotesk/

10. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Open-Source
(Open-Source Font Licensing)

ฟอนต์แบบโอเพ่นซอร์ส (Open-Source Font Licensing) ก็ถือได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักออกแบบงานดิจิทัล เพราะว่ามันสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี และสามารถแบ่งปันต่อได้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือแม้แต่นำฟอนต์มาแก้ไขดัดแปลงก็ได้เช่นกัน ข้อจำกัดมีเพียงแค่ห้ามนำมันไปขายต่อ และหากนำไปดัดแปลงก็ต้องระบุที่มาของต้นฉบับเอาไว้ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม : Open-Source Software คืออะไร ? โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ ต่างจาก ซอฟต์แวร์ ชนิดอื่นๆ อย่างไร ?

แหล่งดาวน์โหลดฟอนต์ประเภทนี้ที่ใหญ่ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็อย่างเช่น Google Fonts เป็นต้น

ตัวอย่างฟอนต์จากทางกูเกิล (Google Fonts) ที่เป็นลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Open-Source
ตัวอย่างฟอนต์จากทางกูเกิล (Google Fonts) ที่เป็นลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Open-Source
ภาพจาก : https://fonts.google.com/

11. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Corporate
(Corporate Font Licensing)

นี่เป็นรูปแบบลิขสิทธิ์ที่ทรงพลัง และให้อำนาจในการใช้กับผู้ซื้อสูงมาก เมื่อคุณซื้อลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Corporate มา คุณจะได้สิทธิ์ในการติดตั้งฟอนต์เพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์กี่เครื่องก็ได้ที่คุณต้องการ และคุณยังสามารถใช้มันทำงานอะไรก็ได้ ตั้งแต่เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, E-book ฯลฯ บางครั้งลิขสิทธิ์ชนิดนี้ เลยถูกเรียกว่า "Unlimited Font Licensing" หรือการใช้งานแบบไม่จำกัดนั่นเอง

มีสองอย่างที่ที่คุณไม่ได้มา คือสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของฟอนต์เท่านั้นเอง และไม่สามารถนำฟอนต์ไปเผยแพร่ต่อได้เท่านั้นเอง

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน
 ฟอนต์ Wild Mango
 ภาพจาก : https://fontbundles.net/ka-designs/1363051-wild-mango-a-modern-serif-font

12. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Video Games
(Video Games Font Licensing)

ในการพัฒนาวิดีโอเกม (Video Games Development) ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในเกมจะมีข้อความ ตั้งแต่ชื่อไอเทม ไปจนถึงบทสนทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของตัวละครภายในเกม ซึ่งก็ต้องมีการฝังฟอนต์เข้าไปในไฟล์ของเกมด้วย เพื่อให้มันสามารถแสดงผลได้ ถ้าคุณต้องการใช้งานฟอนต์แบบลิขสิทธิ์ภายในเกมด้วย ก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบวิดีโอเกม มาใช้

13. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Trial
(Trial Font Licensing)

ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบทดลองใช้ (Trial Font Licensing) นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบการจัดวางฟอนต์หลาย ๆ แบบลงบนชิ้นงาน เพื่อนำเสนอให้ลูกค้าเลือกก่อน ว่าต้องการใช้งานแบบไหน ลิขสิทธิ์ชนิดนี้มีไว้เพื่อใช้ในการนำเสนอข้อมูลเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ใข้ในเชิงพาณิชย์ได้

14. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Custom
(Custom Font Licensing)

 ร้านค้าฟอนต์ และนักพัฒนาฟอนต์ บางรายจะนำเสนอการมอบลิขสิทธิ์ให้แบบเพื่อการปรับแต่ง (Custom Font Licensing) เพื่อให้ตรงโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยนำรูปแบบลิขสิทธิ์แบบมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว มาแก้ไขเพิ่มเติมตามเงื่อนไข ส่วนราคาก็น่าจะสูงอยู่พอสมควร

15. ลิขสิทธิ์ฟอนต์แบบ Exclusive
(Exclusive Font Licensing)

สำหรับผู้ที่ต้องการฟอนต์แบบพิเศษที่หน้าตาไม่ซ้ำใคร เพื่อใช้กับงานของคุณแต่เพียงผู้เดียว ก็สามารถติดต่อไปยังสตูดิโอที่รับออกแบบฟอนต์ แล้วขอให้เขาออกแบบให้ภายใต้เงื่อนไขแบบ Exclusive ได้ อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างของงานประเภทนี้จะมีราคาค่อนข้างแพงมากทีเดียว

มาทำความเข้าใจกับ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ ประเภทต่าง ๆ กัน
Lush Handwritten ออกแบบโดย Dalton Maag ให้กับแบรนด์ Lush โดยเฉพาะ
ภาพจาก : https://www.daltonmaag.com/work


ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับฟอนต์ การเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์นั้นค่อนข้างมีความจำเป็น เพราะงานแต่ละรูปแบบ ก็ต้องการลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ควรศึกษาเอาไว้สักหน่อย


ที่มา : www.creativebloq.com , www.dstype.com , typetype.org , designshack.net , typodermicfonts.com , www.crowdspring.com , www.fonts.com , www.fonts.com , typenetwork.com

0 %E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87+%E0%B9%86+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น