สำหรับเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI), แชทบอท (Chatbot) หรือ Generative AI ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT หรือ Gemini จาก Google ล้วนเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในหลายกลุ่มคน และการใช้ AI ให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ต้องเริ่มต้นจากการรู้วิธีการที่จะ "สื่อสาร" กับมัน ซึ่งหลาย ๆ โมเดลภาษา AI ถูกออกแบบมาให้โต้ตอบแบบภาษามนุษย์ได้อย่างธรรมชาติ แต่การที่เราเขียน "คำสั่ง (Prompt)" หรือคำถามอย่างมีกลยุทธ์จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการมากขึ้น
และในบทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้ 6 เคล็ดลับพื้นฐาน และวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการสั่งการ AI สำหรับงานประเภทต่าง ๆ ทั้งงานเขียน, งานภาพ และงานวิดีโอ เพื่อให้ทุกคนได้ผลลัพธ์จาก AI ที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ...
การสื่อสารที่ชัดเจนตรงประเด็น เป็นกุญแจสำคัญ ทั้งกับการสื่อสารระหว่างคน และกับ AI ซึ่งเราควรสั่งงานให้ตรงไปตรงมา ไม่ต้องใช้ประโยคซับซ้อน หรือคำศัพท์ที่ยากเกินไป เช่น หากต้องการให้ โมเดล Dall-E 3 สร้างภาพพระอาทิตย์ตกที่ชายหาด ควรสั่งว่า "สร้างภาพพระอาทิตย์ตกที่ชายหาด" แทนที่จะใช้ประโยคยาว ๆ อย่าง "สร้างภาพดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดินพร้อมท้องฟ้าสีชมพูน้ำเงินเข้มบนขอบฟ้า"
(AI Generated Image)
หรือถ้าเราต้องการให้ AI สรุปเนื้อหาสั้น ๆ ก็แจ้งให้ชัดเจน เช่น "ขอสรุปสั้น ๆ" หรือถ้าอยากได้บทความยาว ก็ระบุจำนวนย่อหน้าที่ต้องการ เช่น หากอยากรู้เรื่องการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา แต่ไม่อยากอ่านหนังสือเล่มยาว เราก็สามารถสั่งว่า
ขอบทความ 6 ย่อหน้า เกี่ยวกับสาเหตุ และการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา
อะไรแบบนี้เป็นต้น
แม้ว่า AI ในปัจจุบันจะมีความสามารถมาก แต่ก็ยังไม่สามารถเดาใจเราได้ทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการก็จะต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากให้ AI สร้างภาพบรรยากาศชนบทในภาคเหนือของไทย, ที่มีทุ่งนากว้าง ๆ, บ้านไม้หลังเล็ก และวิวภูเขาไกล ๆ เราจำเป็นต้องบอกทุกรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น
อยากให้บ้านอยู่ตรงกลางภาพ, มีทุ่งนาอยู่ด้านหน้า และภูเขาอยู่ฉากหลัง บางทีอาจบอกเพิ่มด้วยว่ามีควาย หรือชาวบ้านกำลังทำงานอยู่
เพื่อให้ภาพสมบูรณ์ และตรงกับที่จินตนาการไว้ ยิ่งเราระบุชัดเจนเท่าไร AI ก็จะยิ่งสร้างงานออกมาใกล้เคียงกับที่เราต้องการ
(AI Generated Image)
AI จะทำงานได้ดียิ่งขึ้นเมื่อได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถ้าเราอยากให้ AI ช่วยวางแผนเที่ยวกรุงเทพฯ แบบ Perfect การสั่งแค่ "ขอแผนเที่ยวกรุงเทพฯ 3 วัน" อาจไม่เพียงพอ โดยการระบุข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เดินทางช่วงไหน, ชอบทำกิจกรรมแบบไหน หรือเน้นการเดินทางแบบใด จะทำให้ AI วางแผนได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่นเราอาจบอกว่า
ช่วยจัดแผนเที่ยวกรุงเทพฯ 3 วันให้หน่อย ไปช่วงต้นธันวาคม อยากชมวัดสำคัญ ๆ แวะตลาดนัดกลางคืน ชอบเดินทางด้วย BTS ช่วยระบุสถานีที่ใกล้แต่ละสถานที่ให้ด้วย
การให้ข้อมูลครบถ้วนแบบนี้จะทำให้ได้แผนการเดินทางที่ตอบโจทย์มากที่สุด
ภาพจาก : https://blog.bangkokair.com/en/bangkok-travel-guide-thailand-capital/
ถึงแม้ว่า เทคโนโลยี AI จะมีศักยภาพสูง และสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างรวดเร็ว แต่การเชื่อถือผลลัพธ์จาก AI ทั้งหมดอาจไม่ใช่เรื่องปลอดภัยเสมอไป AI ก็อาจสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกมาได้ ซึ่งทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านจริยธรรมที่ควรพิจารณา เช่น แหล่งข้อมูลที่ AI ใช้ในการฝึกฝน และประเด็นเรื่องผู้สร้างเนื้อหาต้นฉบับนั้นยินยอมให้ใช้งาน หรือไม่ ?
ภาพจาก : https://www.freepik.com
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะสร้างงานใดๆ ผ่าน AI ควรพิจารณาผลลัพธ์อย่างรอบคอบ หมั่นตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และตั้งคำถามต่อเนื้อหาที่ AI สร้างเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับหลักจริยธรรม
หากเราต้องการที่จะให้ AI ช่วยเขียนข้อความได้ตรงใจ ก็ควรพัฒนาทักษะการสั่งงาน หรือการให้ข้อมูลให้ชัดเจน และมีรายละเอียด AI ก็จะทำงานได้ดีขึ้น หนึ่งในวิธีที่ช่วยได้มากคือการกำหนดมุมมองให้ AI ทำหน้าที่เป็น "บุคคลสมมติ" เช่น ขอให้ AI ตอบคำถามในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือในมุมมองของนักวิเคราะห์ ให้ AI จินตนาการตามบทบาทที่เราต้องการ เพื่อให้คำตอบสอดคล้องกับบริบท และโทนของเนื้อหาที่ต้องการ
อีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพคือ การระบุรูปแบบการจัดวางคำตอบ เช่น ต้องการให้ AI เขียนออกมาเป็นหัวข้อย่อย, เป็นย่อหน้าสั้น ๆ หรือเป็นตารางข้อมูล การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงสร้างก่อนจะช่วยให้ AI จัดรูปแบบคำตอบได้เหมาะสมยิ่งขึ้น หรือเราอาจจะแนบตัวอย่างผลลัพธ์ที่ต้องการไปด้วยก็ได้ เพื่อให้ AI เข้าใจรูปแบบ และโทนของคำตอบที่เราต้องการได้ดียิ่งขึ้น
และสุดท้าย ถ้าอยากให้เนื้อหาฟังดูเป็นธรรมชาติ เหมือนเขียนโดยคน ก็ควรปรับแต่ง และผสมผสานภาษาของเราเองลงไปบ้าง ซึ่งการใช้ AI เพื่อช่วยเขียนนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะนำข้อความที่ AI ให้มาตอบแบบตรง ๆ ทันที แต่เป็นการใช้ AI เพื่อช่วยสร้างแนวคิด หรือโครงเรื่อง ซึ่งเราสามารถเพิ่มเติมเอกลักษณ์ และสไตล์เฉพาะตัวของเราเข้าไปนั่นเอง
การใช้ AI ช่วยในการสร้างภาพ และวิดีโอให้ตรงตามที่เราจินตนาการนั้น ต้องอาศัยการสื่อสารที่แม่นยำและการเลือกใช้คำที่เหมาะสม คล้ายกับการมีทักษะการถ่ายภาพที่ดี ซึ่งต้องฝึกฝนผ่านการมองภาพรวมและรายละเอียด ซึ่งการเขียน Prompt ที่ชัดเจนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ
เริ่มต้นจากการแบ่งองค์ประกอบหลัก ๆ ในภาพที่เราต้องการ เช่น หากเป็น "ทุ่งดอกไม้สีสันสดใส" ให้ใช้คำนามที่ตรงไปตรงมา และคำคุณศัพท์ที่เจาะจง เช่น "ทุ่งดอกบัว" ควบคู่กับคำอธิบายสี หรือความรู้สึกที่ภาพจะสื่อ ซึ่งช่วยให้ AI เข้าใจภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
(AI Generated Image)
หากต้องการให้ภาพมีลักษณะคล้ายกับศิลปิน หรือสไตล์ศิลปะบางแนว ให้ค้นคว้าหาข้อมูล และระบุลงในคำสั่ง เช่น สไตล์อาร์ตเดคโค หรืออิมเพรสชั่นนิสม์ หรืออาจใส่เทคนิคที่ใช้ เช่น "ภาพสีน้ำบนกระดาษ" หรือ "ฟิล์มภาพขนาดกว้าง" เพื่อให้ AI สร้างงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสไตล์ที่เราต้องการ
(AI Generated Image)
รายละเอียดอย่างการจัดแสง การใส่ฟิลเตอร์ และมุมกล้องเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ AI สร้างภาพได้ตรงใจ หากต้องการภาพที่ดูอบอุ่น สบายตา ให้ลองเพิ่มคำอธิบายเกี่ยวกับแสง เช่น "แสงอ่อนๆ จากพระอาทิตย์ตกดิน" หรือหากต้องการความดราม่าอาจระบุเป็น "แสงจากด้านหลังที่คมชัด" เพื่อให้ AI เข้าใจ และสื่ออารมณ์ตามที่เราต้องการ
(AI Generated Image)
AI แชทบอท ได้กลายเป็นเครื่องมือยอดนิยมที่หลายคนใช้ในการสร้างสรรค์ทั้งงานเขียน, ภาพ และวิดีโอ การสั่งการ AI ให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการนั้น ต้องอาศัยการใช้ภาษาที่ชัดเจน, ระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน และต้องเข้าใจข้อจำกัดของ AI ดังนั้นหากเราต้องการให้ AI ช่วยในการสร้างเนื้อหา หรือภาพที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของตนเอง ก็ควรที่จะใช้วิธีปรับแต่งคำตอบด้วยภาษาส่วนของตน และสร้างโครงเรื่องที่สะท้อนถึงสไตล์เฉพาะที่มีเอกลักษณ์ก็จะช่วยให้เราได้คำตอบจาก AI ที่ตรงใจมากที่สุด
|