ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Fair Use คืออะไร ? กฏหมายลิขสิทธิ์ ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ควรรู้ไว้ พร้อมวิธีใช้ Fair Use ที่ถูกวิธี

Fair Use คืออะไร ? กฏหมายลิขสิทธิ์ ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ควรรู้ไว้ พร้อมวิธีใช้ Fair Use ที่ถูกวิธี

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 21,876
เขียนโดย :
0 Fair+Use+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89+Fair+Use+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Fair Use คืออะไร ? กฏหมายลิขสิทธิ์ ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ควรรู้

หากคุณเป็นผู้ที่ผลิตเนื้อหา หรือผู้ผลิตคอนเทนท์ (Content Creator) ที่ชอบทำสื่อต่าง ๆ ออกมาเผยแพร่ สิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือการนำเนื้อหาของผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่มาใช้งานโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต เพราะโทษของมันนั้นอย่างเบา ๆ คุณอาจจะแค่ไม่สามารถสร้างรายได้จากคลิปดังกล่าวได้ หรือถูกลบคลิปดังกล่าวทิ้งไป แต่ถ้าโทษหนักบัญชีของคุณมีสิทธิ์ที่จะโดนแบนจากแพลตฟอร์มที่คุณใช้งานได้เลย อย่าง แพลตฟอร์ม YouTube ก็จะมีระบบลงโทษอย่าง Copyright Strike ไว้จัดการกับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม การนำสิ่งที่มีลิขสิทธิ์มาใช้งานโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป เพราะมันมีกฏหมาย "Fair Use" (การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ หรือการใช้ที่เป็นธรรม)

เนื้อหาภายในบทความ

Fair Use คืออะไร ?

Fair Use เป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายลิขสิทธิ์ ที่อนุญาตให้เราสามารถนำงานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์  และประโยชน์ด้านสาธารณะในการใช้งานสร้างสรรค์ได้ โดยไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

กฏหมาย Fair Use นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มันถูกร่างขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1710 (พ.ศ. 2253) เดิมทีเรียกว่า "Fair Abridgement" ตัวกฏหมายมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และแพร่หลายไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และนิยมเรียกว่ากฏหมาย Fair Use

กฏหมาย Fair Use ของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ก็มีกฏหมาย Fair Use เช่นกัน โดยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใน มาตรา 4 เรื่องลิขสิทธิ์ ได้ระบุเอาไว้ว่า (อ้างอิงจาก https://ipthailand.go.th/images/2562/Suppress/lesson2.pdf)

การกระทำใดแม้เข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เข้าข้อยกเว้นดังต่อไปนี้ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

  1. การใช้งานลิขสิทธิ์นั้น ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติ ของเจ้าของลิขสิทธิ์
  2. การใช้งานลิขสิทธิ์นั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
  3. การใช้งานลิขสิทธิ์นั้น มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
    1. วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
    2. ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเอง และบุคคลอื่นในครอบครัว หรือญาติสนิท
    3. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
    4. เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
    5. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาล หรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
    6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอน ของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
    7. ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบัน ศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
    8. นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถาม และตอบในการสอบ
    9. ทำซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อัน เนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ทั้งนี้ รูปแบบของการทำซ้ำ หรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการ และองค์กรผู้จัดทำรวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
    10. การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
    11. การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุด ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไรดังต่อไปนี้คือ การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น และการทำซ้ำงาน บางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัย หรือการศึกษา

หลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าเป็น Fair Use
(Criteria for judging Fair Use)

การที่มี Fair Use อยู่ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะสามารถนำงานที่มีลิขสิทธิ์มาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แล้วอ้างว่าเป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้กฏ Fair Use เพื่อเอาตัวรอดได้เสมอไป 

โดยทั่วไปแล้ว ทางศาลจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ Fair Use หรือไม่ ? อยู่ 4 ประการ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ และลักษณะการใช้งาน

ตามปกติแล้ว ศาลจะพิจารณาโดยให้น้ำหนักกับ "ความเปลี่ยนแปลง" ที่เกิดขึ้น โดยจะพิจารณาว่ามันมีการเพิ่มความหมาย, ใส่ความคิดเห็น ฯลฯ ให้เนื้อหามีความต่างไปจากเดิมหรือไม่ ?

ตัวอย่างเช่น

สมมติคุณทำช่อง YouTube เพื่อรีวิวภาพยนตร์ แล้วคุณนำคลิปสั้นจากหนังมาใส่ประกอบเพื่อให้คนดูเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อได้ง่ายขึ้น อย่างนี้ก็จะอยู่ภายใต้เงื่อนไข Fair Use อยู่ เพราะคุณนำงานเดิมมาสร้างเป็นผลงานใหม่

2. ลักษณะของงานที่มีลิขสิทธิ์

หลักเกณฑ์ข้อนี้จะพิจารณาว่า งานต้นฉบับที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่เป็น "งานสมมติ" หรือ "ข้อเท็จจริง" เนื่องจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจะมีประโยชน์ต่อผู้รับสารมากกว่างานสมมติ มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะพิจารณาให้เป็นการใช้งานแบบ Fair Use หากเป็นข้อมูลที่ถูกนำมาจากข่าว, บทความ หรือชีวประวัติ

สถานะของตัวงานต้นฉบับก็มีน้ำหนักในการตัดสินใจของศาลเช่นกัน โดยงานที่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการจะมีโอกาสนับเป็น Fair Use แต่สำหรับงานที่เผยแพร่แล้วจะค่อนข้างยาก เพราะตามข้อกฏหมายแล้ว ผู้แต่งมีอำนาจในการควบคุมการเผยแพร่ผลงานของตนเองอยู่เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น

การอ้างอิงประโยคบางส่วนมาจากหนังสือชีวประวัติของบุคคลสำคัญมาใช้ในงานเขียนของคุณ จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นการใช้งานแบบ Fair Use อย่างไรก็ตาม หากเอาเพลงที่มีลิขสิทธิ์แบบเต็มเพลงมาใส่ในวิดีโอเกมที่คุณพัฒนาเองจะไม่ถือว่าเป็น Fair Use

3. ปริมาณ และสัดส่วนของงานที่นำมาใช้

แม้จะไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ว่าการนำผลงานลิขสิทธิ์มาใช้จะต้องมีขนาดไม่เกินเท่าไหร่ ตามปกติแล้ว ตราบใดที่มันมีปริมาณน้อยกว่าเนื้อหาที่คุณสรรสร้างด้วยตนเองมันก็ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของเนื้อหาก็มีผลนะ ต่อให้เนื้อหาที่คุณเพิ่มเข้าไปมีความยาว แต่ถ้ามีแต่น้ำ แล้วใจความสำคัญยังอยู่ที่ส่วนที่คุณหยิบยืมมาใช้ มันก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการใช้แบบ Fair Use ได้

ตัวอย่าง

ตัดฉากจากภาพยนตร์มาสัก 3 วินาที เพื่อมาใช้เล่นมุกบน YouTube อย่างนี้ ถือว่าเป็นการใช้งานแบบ Fair Use แต่ถ้าคุณนำฉากจากภาพยนตร์มาใช้งาน โดยใช้ฉากนั้นเป็นหัวใจสำคัญของคลิปวิดีโอของคุณเลย มันก็จะไม่ถือว่าเป็นการใช้งานแบบ Fair Use

ภาพถ่าย และงานศิลปะจะมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ เนื่องจากงานพวกนี้ จำเป็นต้องมองเห็นอย่างชัดเจน การจะใช้งานมันแบบ Fair Use ส่วนใหญ่จึงต้องลดขนาด และความละเอียดของภาพให้ต่ำลง จนไม่สามารถนำภาพดังกล่าวไปใช้งานต่อแทนภาพต้นฉบับได้

4. ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนำมาใช้

กฏเกณฑ์ข้อสุดท้ายที่ใช้ในการพิจารณา คือผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากคุณนำมาใช้ หากมันส่งผลต่อรายได้ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะโดนผลงานของคุณมาแย่งลูกค้าไป ก็มีแนวโน้มสูงว่าการใช้งานของคุณจะไม่ใช่แบบ Fair Use

ตัวอย่างเช่น

หากคุณตัดท่อนโซโลของเพลงมาใช้ประกอบคลิปแนะนำท่อนโซโลที่น่าสนใจ มันก็ยังถือว่าเป็น Fair Use อยู่ เพราะผู้ฟังที่ต้องการฟังแบบเต็มเพลงยังต้องไปฟังเพลงเต็มที่ศิลปินอยู่ ในขณะเดียวกัน คุณไปลอกบทกวีจาก Blog ของนักเขียนท่านหนึ่งมาโพสต์ลงใน Blog ของคุณเอง ทำให้คนอ่านสามารถอ่านบทกวีดังกล่าวได้โดยไม่ต้องไปเยี่ยมชม Blog ของผู้แต่ง แบบนี้ก็ไม่นับว่าเป็น Fair Use

ถ้ามีรายการทีวีชื่อดังไม่ได้ทำเสื้อขาย แล้วคุณเอามาสคอตของรายการมาทำเสื้อยืด แม้ว่าทางรายการจะไม่ได้ผลิตเสื้อขึ้นมาขายก็ตาม แต่แบบนี้ก็ไม่นับว่าเป็นการใช้งานแบบ Fair Use เช่นกัน

วิธีการใช้ Fair Use
(How to use Fair Use ?)

เราทำความรู้จักกับพื้นฐานของ Fair Use และหลักเกณฑ์ที่ศาลใช้ในการพิจารณากันไปแล้ว มาต่อกันที่แนวทางการใช้งาน Fair Use ที่แม้จะไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฏหมาย แต่มันก็มีผลต่อการตัดสินของศาลด้วยเช่นกัน ว่าการใช้ผลงานลิขสิทธิ์ของคุณเป็นการละเมิด หรือว่ายังอยู่ในขอบเขตของ Fair Use

เจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะฟ้องร้องคุณได้ หากคุณนำงานของพวกเขามาใช้ในทางที่เสื่อมเสียชื่อเสียง อย่างการ เอางานเดิมมาดัดแปลงในทางที่เสื่อมเสีย จนทำให้ผลงานเดิมเสียชื่อเสียง ภาพลักษณ์เสียหาย มูลค่าทางการตลาดลดลง

จะเห็นได้ว่าแม้จะมี Fair Use คุ้มครองอยู่ แต่หากเราล้ำเส้น เราก็มีสิทธิ์ผิดเช่นกัน แล้วเราจะรู้อย่างไร ว่าการใช้ของเราจัดว่าเป็น Fair Use หรือเปล่า ? ตามปกติแล้ว หากงานของเราทำตามเงื่อนไขต่อไปนี้อย่างครบถ้วน ก็สามารถมั่นใจได้ว่าเป็นการใช้งานแบบ Fair Use อย่างแน่นอน

  • คุณเปลี่ยนแปลงงานเดิมให้เป็นงานใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก ด้วยการเพิ่มแนวคิด, ความเห็น หรือสิ่งอื่น ๆ เข้าไป
  • ผลงานที่นำมาใช้ไม่ใช่เรื่องแต่ง (Non-Fictional) และเป็นของที่ต้องเสียเงินซื้อมา
  • คุณหยิบยกมาใช้ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับส่วนที่คุณสรรสร้างขึ้นมาเอง และส่วนที่ยกมาจะต้องไม่ใช่หัวใจหลักในงานของคุณด้วย
  • ไม่ได้เป็นการนำไอเดียจากเจ้าของลิขสิทธิ์มาใช้ในการแสดงหาผลกำไร

บน YouTube คุณมักจะเห็นในช่องรายละเอียดที่เจ้าของคลิประบุเอาไว้ประมาณว่า "ไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์", "วิดีโอนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าของลิขสิทธิ์" หรืออะไรประมาณนี้ แม้การระบุข้อความเช่นนี้จะมีผลต่อการพิจารณาของศาลบ้างเล็กน้อย แต่เอาจริง ๆ มันก็ไม่สามารถปกป้องให้คุณรอดได้ ถ้าหากศาลพิจารณาแล้วยืนยันว่าคุณละเมิดลิขสิทธิ์จริงๆ 

ทางเลือกที่ดีที่สุดจริง ๆ คือการหลีกเลี่ยงการนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาใส่ในผลงานของตัวคุณเอง และหากมีการหยิบมาใส่ก็ให้ตรวจสอบให้ดีว่าตรงตามหลักเกณฑ์การใช้ Fair Use หรือไม่ ? หากไม่มั่นใจก็อาจจะปรึกษากับทนายความเพื่อความชัดเจน


Fair Use เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในกฏหมายลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอินเทอร์เน็ตที่การหาข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้เป็นเรื่องง่าย เราไม่สามารถคลิกขวาเซฟทุกไฟล์จากอินเทอร์เน็ตมาใช้งานได้อย่างอิสระ มันมีข้อจำกัดทางด้านกฏหมายคุ้มครองผลงานอยู่ แต่เนื่องจาก Fair Use เป็นสิ่งที่ไม่มีการกำหนดข้อตกลงที่ตายตัว หากเราจะนำของที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาใช้งาน ก็ต้องพิจารณามันให้ละเอียดถี่ถ้วน

ถ้าไม่มั่นใจ เราแนะนำว่าควรนำงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์พวก Creative Commons หรือ Public domain มาใช้งานจะดีกว่า และมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน


ที่มา : support.google.com , guides.mtholyoke.edu , fairuse.stanford.edu , copyrightalliance.org , www.makeuseof.com , ipthailand.go.th , en.wikipedia.org

0 Fair+Use+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89+Fair+Use+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น