ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

สูตรโกงเกมทำงานอย่างไร ? พร้อมรู้จักเครื่องมือโกงเกมในรูปแบบต่างๆ และใช้สูตรโกงเกมผิดหรือไม่ ?

สูตรโกงเกมทำงานอย่างไร ? พร้อมรู้จักเครื่องมือโกงเกมในรูปแบบต่างๆ และใช้สูตรโกงเกมผิดหรือไม่ ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 16,961
เขียนโดย :
0 %E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

สูตรโกงเกมทำงานอย่างไร ? และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ?

สูตรโกงเกม (Cheat Code) เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนเคียงข้างกับวงการ เกม (Game) มาอย่างยาวนาน เกมเมอร์รุ่นเก๋าน่าจะรู้จักกับสูตรเกมชื่อดังอย่าง Konami Code ที่ผู้เล่นต้องกดปุ่ม "↑ ↑ ↓ ↓ ← → ← → B A" ตามลำดับ โค้ดนี้โด่งดังในฐานะสูตร 30 ชีวิตของเกม Contra แต่อันที่จริง มันถูกใช้เป็นครั้งแรกในเกม Gradius นะ ส่วนเกมเมอร์รุ่นใหม่ ๆ ก็น่าจะรู้จักกับโค้ดของ Game Shark โค้ด Action Replay

บทความเกี่ยวกับ Game อื่นๆ

เคยสงสัยไหมว่าสูตรเกมเหล่านี้มีมีความเป็นมาอย่างไร ? แล้วไปหาสูตรเหล่านี้มาจากไหนกัน มาลองหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้ครับ

เนื้อหาภายในบทความ

สูตรโกงเกม คืออะไร ?
(What is a Cheat Code ?)

โดยพื้นฐานแล้ว Cheat Code มีอยู่เพื่อแก้ไขค่าพารามิเตอร์ (Parameter) ที่ส่งต่อการเล่นเกม หรืออีกนัยหนึ่ง คือการแก้ไขสิ่งที่ผู้เล่นทำได้ และสิ่งที่ผู้เล่นทำไม่ได้ในการเล่นเกมแบบปกติ

ส่วนใหญ่แล้ว สูตรโกงเกมจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมดังกล่าวได้ง่ายขึ้น เช่น ทำให้มีเงินไม่จำกัด, กระสุนปืนไม่จำกัด, อมตะเลือดไม่ลด ฯลฯ แต่ก็มีบางคนที่นำสูตรมาใช้ปรับให้เกมยากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มประสบการณ์ความท้าทาย

ประเภทของสูตรโกงเกม (Cheat Code)

ก่อนที่เราจะเข้าเนื้อหาว่า สูตรโกงเกมมันมาจากไหน ? คิดว่าเราควรจะมาทำความเข้าใจกับประเภทของสูตรเกมกันก่อน ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นสูตรโกงเกมเหมือนกัน แต่ที่มาของสูตรก็แตกต่างกันอยู่นะ ซึ่งเราสามารถจำแนกมันออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

  1. สูตรโกงเกม ที่ผู้พัฒนาใส่เข้ามา โดยมีเจตนาให้ผู้เล่นใช้มันได้อยู่แล้ว
    เช่น Konami Code ที่เราได้เอ่ยไปในตอนต้นของบทความ
  2. สูตรโกงเกม ที่ผู้พัฒนาทำขึ้นมาเพื่อใช้เองในขั้นตอนทดสอบเกม แต่ผู้เล่นก็สามารถเข้าถึงได้ เช่น โหมด Debug console
    เช่น การใส่สูตร impulse 101 ลงในช่องคอนโซลของเกม Counter Stike เพื่อเพิ่มเงิน
  3. สูตรโกงเกม ที่ผู้พัฒนาทำขึ้นมาเพื่อใช้เองในขั้นตอนทดสอบเกม ซึ่งผู้เล่นไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ด้วยการแก้ไขไฟล์เกม ทำให้สามารถเข้าถึงได้
    เช่น การเปิด Debug Mode ในเกม Super Mario RPG ด้วยการใช้พวกโค้ดจาก Action Replay, Game Genie ฯลฯ
  4. สูตรโกงเกม ที่ผู้เล่นสร้างขึ้นมาเอง สามารถทำได้หลายวิธี
    เช่น การแก้ไขข้อมูลในแรม (RAM), การแก้ไขเซฟของเกม, การใช้ Mod, Trainers, Aimbots ฯลฯ
  5. สูตรโกงเกมที่ไม่ได้เจตนาให้มีอยู่ตั้งแต่แรก แต่เกิดจากการใช้ข้อบกพร่อง (หรือที่เรียกว่า Glitches) ของเกม
    เช่น สูตรกระโดดทะลุกำแพงในเกม Super Mario Bros ของเครื่อง NES

 การกระโดดทะลุกำแพงในเกม Super Mario Bros
 การกระโดดทะลุกำแพงในเกม Super Mario Bros
ภาพจาก : https://www.mariowiki.com/List_of_Super_Mario_Bros._glitches

จุดเริ่มต้นของสูตรโกงเกม
(The Beginning of Cheat Code)

เชื่อหรือไม่ว่า ? เดิมทีแล้ว Cheat Code เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้นักพัฒนาเกมเป็นผู้ใช้ ! ในการพัฒนาเกมขึ้นมาสักตัวหนึ่ง นอกเหนือจากการดีไซน์ตัวเกม การเขียนโค้ดแล้ว ตัวนักพัฒนาเองก็ต้องทดสอบการเล่นเกมด้วยตนเองด้วย เพื่อดูว่าตัวเกมสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ มันมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นที่จุดไหน ภายในเกมบ้างหรือเปล่า ?

อย่างไรก็ตาม การที่คุณเป็นนักพัฒนาเกม ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นนักเล่นเกมที่ฝีมือฉกาจตามไปด้วย หากคุณต้องทดสอบด้วยการเล่นเกมจนจบ กว่าจะทดสอบเกมเสร็จก็ต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือนักพัฒนาอาจจะต้องการทดสอบว่า ถ้าปรับค่าบางอย่างภายในเกม แล้วมันจะส่งผลต่อการตัวเกมมากขนาดไหน ค่าเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม

เพื่อให้ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นไปอย่างราบรื่น นักพัฒนาเกมจึงมีการสร้าง Cheat Code ขึ้นมา เพื่อใช้ในระหว่างการทดสอบเกม อาจจะเพื่อใช้ในการข้ามด้าน หรือช่วยให้ผู้ทดสอบเกมข้ามไปยังจุดที่ต้องการทดสอบได้อย่างรวดเร็ว โดยวิธีการเปิดใช้สูตรเหล่านี้ จะเป็นข้อมูลภายในที่มีแต่ผู้พัฒนาเกมเท่านั้นที่รู้ มันอาจจะต้องใส่โค้ด หรือกดคอมโบปุ่มตามลำดับบางอย่างซับซ้อน ซึ่งผู้เล่นไม่น่าจะบังเอิญเปิดได้

หรือมีระบบคอนโซลสำหรับใช้ในการ Debug อยู่ในตัวเกม ซึ่งระบบโกงเกมที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ถูกลบทิ้งไปในตอนที่เกมวางจำหน่าย เพราะว่ามันต้องเสียเวลาลบ และเขียนโค้ดขึ้นมาใหม่ มันแค่ถูกซ่อนเอาไว้จากผู้เล่นเท่านั้น ตัวเกมก็จะถูกวางจำหน่ายไปทั้งอย่างนั้นแหละ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่างในเกม Sonic 2 เจ้าเม่นสายฟ้าจากค่าย SEGA ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ผู้เล่นสามารถเปิดโหมด Debug ได้ด้วยการ เข้าไปที่ Options แล้วเล่นเพลงใน Sound test ตามลำดับดังนี้ 19, 65, 09 และ 17


โหมด Debug ที่ถูกซ่อนเอาไว้ในเกม Sonic 2
วิดีโอจาก https://www.youtube.com/watch?v=zV3TpaC1FzE

ในเมื่อมันถูกซ่อนไว้ แล้วผู้เล่นรู้สูตรโกงเหล่านี้ได้อย่างไร ?

อย่างที่เราได้บอกไปในหัวข้อที่แล้วว่า Cheat Code จะเป็นข้อมูลที่ใช้งานกันแค่วงในของผู้พัฒนาเกมเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วความลับมันก็ต้องหลุดออกมาอยู่ดี

โดยอาจจะหลุดออกมาจากผู้ทดสอบเกม หรือนักพัฒนาเกมเอง บ้างก็ถูกมือดีเข้าไปตรวจสอบไฟล์เกมเพื่อหาสิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ จนค้นพบความลับที่อยู่ในนั้น บางครั้งผู้พัฒนาเกมก็เปิดเผยให้ผู้เล่นทราบด้วยตนเองเป็นรางวัลที่ได้หลังจากเล่นเกมจบแล้ว

สูตรโกงเกม สูตรแรกของโลก
(The first Cheat Code in the World)

แม้การแยกความแตกต่างระหว่าง Cheat Code กับเครื่องมือพัฒนาเกม (Game Developer Tool) อาจจะเป็นเรื่องยากในบางครั้ง แต่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิดีโอเกมก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสูตรโกงเกม "6031769" ของเกม Manic Miner ที่วางจำหน่ายบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ZX Spectrum ในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) เป็นสูตรเกมสูตรแรกของโลก โดยชุดตัวเลขดังกล่าวเป็นหมายเลขใบขับขี่ของ Matthew Smith ผู้พัฒนาเกมดังกล่าว

เมื่อผู้เล่นใส่สูตรโกงเกม "6031769" มันจะอนุญาตให้ผู้เล่นเทเลพอร์ตไปยังถ้ำที่ต้องการได้ทันที

เกม Manic Miner
เกม Manic Miner
ภาพจาก : https://www.indieretronews.com/2016/05/hot-news-manic-miner-released-for-atari.html

สูตรโกงเกม ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
(The most famous Cheat Code in the World)

หากพูดถึง Cheat Code ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ก็คงจะหนีไม่พ้น Konami Code สูตรนี้หลายคนเข้าใจผิดว่ามันเป็นสูตรที่มากับเกม Contra เป็นเกมแรก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่นะ

สูตร Konami Code สูตรโกงเกม ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
สูตร Konami Code สูตรโกงเกม ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Kazuhisa_Hashimoto

ย้อนกลับไปใน ปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) คุณ Kazuhisa Hashimoto ได้รับมอบหมายให้นำเกม Gradius ที่อยู่บนเครื่องอาเขต (Arcade) มาพอร์ตลงเครื่อง NES เขาได้เปิดเผยว่า

เกม Gradius เวอร์ชันอาเขตนั้นยากมากใช่ไหมล่ะ ? ผมไม่ได้เล่นเกมนี้บ่อยมากนัก มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะเล่นมันผ่านเพื่อทดสอบตัวเกม ดังนั้นผมก็เลยใส่สูตรโกงเข้าไปในตัวเกม (ที่ภายหลังถูกเรียกว่าสูตร Konami Code)

สูตรที่คุณ Kazuhisa Hashimoto ใส่เข้าไป จะทำให้ผู้เล่นมีจำนวนชีวิตเพิ่มขึ้น 30 ชีวิต เพื่อให้ตัวเขาสามารถทดสอบเล่นเกมนี้ได้ผ่านง่ายขึ้น ซึ่งในภายหลังจากที่เกมนี้ได้วางจำหน่ายไป ตัวเขาก็ไม่ได้ลบสูตรเกมนี้ออก

ต่อมาเมื่อทีมนักพัฒนาของ Konami ได้ทราบเรื่องนี้ ก็ชอบไอเดียของคุณ Kazuhisa Hashimoto มาก ทำให้หลาย ๆ เกมของค่าย Konami ในเวลานั้น มีการใส่สูตร Konami Code เข้ามาด้วย

สูตร Konami Code ถูกค้นพบได้อย่างไร ?

สูตร Konami Code อาจจะดูเป็นสูตรที่กดง่าย ๆ และรอวันที่จะมีผู้เล่นค้นพบ แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครค้นพบสูตรดังกล่าว จนกระทั่งเกม Contra ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากบนเครื่อง NES แต่ตัวเกมก็ได้เสียงบ่นจากผู้เล่นเป็นจำนวนมากเช่นกันว่า "มันยากเกินไป"

ทาง Nintendo ก็เลยนำสูตรนี้มาเปิดเผยผ่านนิตยสาร "Nintendo Power" ในคอลัมน์ "Classified Information" โดยระบุว่าด้วย "Contra Code" นี้ ผู้เล่นจะเริ่มเกม Contra ได้ด้วยจำนวนชีวิตจาก 3 เป็น 30 ชีวิต ช่วยให้คุณเพิ่มโอกาสที่จะเล่นเกมนี้จบได้มากขึ้น

นิตยสาร Nintedo Power
นิตยสาร Nintedo Power
ภาพจาก : https://airentertainment.biz/what-is-the-konami-code/#The_Discovery_of_the_Konami_Code

สูตรเกมในยุคแรก เกิดขึ้นจากฝีมือของผู้เล่น
(An early Cheat Code was born from the skillful players)

ไม่เหมือนกับในปัจจุบันนี้ ที่คอมพิวเตอร์ และเครื่องเกมคอนโซลมีระบบการทำงานที่ซับซ้อน เกมในยุค 80' (ปี ค.ศ. 1980 หรือ พ.ศ. 2523) นั้นทำงานด้วยชิปประมวลผลแบบ 8 บิต ที่เรียบง่าย และมีช่องให้ผู้ใช้เข้าไปซุกซนมากมาย นักเล่นเกมจำนวนมากจึงอาศัยช่องโหว่นี้พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า PEEK และ POKE ขึ้นมา โดย PEEK หมายถึงการเข้าส่องข้อมูลที่ถูกเขียนอยู่บนหน่วยความจำ ส่วน POKE จะเป็นการแก้ไขข้อมูลบนหน่วยความจำ

ผู้เล่นจะเข้าไปดูข้อมูลบนหน่วยความจำของเกม หรือโปรแกรมก่อนที่มันจะเริ่มต้นทำงาน แล้วทำการแก้ไขค่าข้อมูลบางส่วน ซึ่งหากทำได้อย่างถูกต้อง ผู้เล่นจะสามารถเริ่มต้นระบบด้วยค่าสถานะ หรือคะแนนที่ต้องการได้ทันที ซึ่งการแก้ไขข้อมูลบนหน่วยความจำนี้ เกิดจากความร่วมมือของนักเล่นเกมเป็นจำนวนมาก ที่ร่วมกันแบ่งปันข้อมูลการค้นพบ เกิดเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาสูตรเกม

ในยุค 90 สูตรเกมถูกนำมาใช้เพราะข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์
(90's Cheat Book were introduced because of hardware limitations)

ในอดีตสูตรเกมไม่ได้มีไว้เพื่อช่วยให้เล่นเกมง่ายขึ้นเท่านั้น มีบางเกมที่นำสูตรเกมมาใช้ประโยชน์เพื่อทำลายข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ด้วย

เกมในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะไม่มีระบบเซฟ คือต้องเล่นทีเดียวจบ หากปิดเครื่องไปแล้ว เปิดใหม่ก็ต้องเริ่มเล่นใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้การจะเล่นเกมที่มีความยาวสูงจบเป็นเรื่องยาก จะทำให้เกมสามารถเซฟได้ก็ไม่มีพื้นที่หน่วยความจำเหลือมากพอให้เก็บข้อมูล

บางเกมอย่างเช่น Mega Man II จึงมีการให้สูตรแก่ผู้เล่นทุกครั้งที่เล่นจบด่าน เพื่อนำสูตรดังกล่าวมาใส่ก่อนเริ่มเกม เพื่อเริ่มเล่นต่อจากจุดเดิมที่เล่นค้างเอาไว้

หน้าใส่สูตรของเกม Mega Man II
หน้าใส่สูตรของเกม Mega Man II
ภาพจาก : https://www.codingblocks.net/podcast/design-patterns-adapter-facade-memento/

เกมที่มีสูตรเกม เตรียมเอาไว้ให้
(A game with a Cheat Code provided)

ในอดีตการใช้สูตรโกงเกมเป็นเรื่องปกติ ไม่มีกระแสต่อต้านเท่าไหร่นัก เนื่องจากยุคนั้นเป็นเกมเล่นคนเดียว โกงเกมไปก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ต่างจากสมัยนี้ที่เรามักจะเล่นเกมกับผู้เล่นคนอื่น การโกงจึงเป็นการเอาเปรียบ และทำให้เกมหมดความสนุกได้

มีหลายเกมดังในอดีตที่ใส่สูตรเกมมาให้เลย ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันในบ้านเราก็อย่างเช่น สูตร Operation cwal ในเกม Starcraft ที่ทำให้เราสามารถสร้างยูนิต สร้างฐานได้ด้วยความเร็วสูง โดยสูตรนี้เกิดจากการที่ตัวเกมมีความล่าช้าในการผลิตเป็นอย่างมาก กลุ่มแฟนเกมที่รอคอยก็มีการเรียกร้องว่านี่มันเป็น "Operation: Can't Wait Any Longer" (มันเป็นปฏิบัติการที่รอช้าไม่ได้แล้ว) ซึ่งทาง Blizzard ก็ได้นำชื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มาใส่เป็นสูตรภายในเกมด้วย

เกม Starcraft
เกม Starcraft
ภาพจาก : https://gfycat.com/abandonedselfishcob-realtimestrategy-broodwar

รู้จักอุปกรณ์สำหรับโกงเกมโดยเฉพาะ
(Know a specific game cheating device)

Game Genie

ในช่วงปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) บริษัท Galoob ได้คิดค้นอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Game Genie ขึ้นมา มันได้เปลี่ยนวิธีการโกงเกมไปอย่างสิ้นเชิง โดยมันเป็นอุปกรณ์เสริมที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการโกงเกมโดยเฉพาะ โดยมีทั้ง Game Genie สำหรับเครื่อง NES, SNES, Game Boy, Sega Genesis และ Game Gear

อุปกรณ์โกงเกม Game Genie สำหรับเครื่อง SNES
อุปกรณ์โกงเกม Game Genie สำหรับเครื่อง SNES
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Game_Genie

Game Genie เป็นอุปกรณ์เสริมที่เราจะต้องเสียบมันเข้ากับเครื่องเล่นเกมที่มีอยู่ แล้วนำตลับเกมที่ต้องการเล่นมาเสียบเล่นผ่านช่องที่มีอยู่ในตัวของ Game Genie แทน จากนั้นมันจะอ่านข้อมูลจาก ROM ของเกม แล้วทำการแก้ไขค่าก่อนจะส่งไปให้ตัวเครื่อง

ยกตัวอย่างเช่น เกม Super Mario Bros จะเริ่มเกมที่จำนวนชีวิต 3 ชีวิต มันจะสแกนหาค่าดังกล่าว แล้วทำการเปลี่ยนค่าดังกล่าวเป็น 99 ก่อนจะส่งข้อมูลไปยังเครื่องเกม ทำให้เมื่อเกมเปิดขึ้นมาเล่น เราก็จะสามารถเริ่มเล่นเกมได้ที่จำนวน 99 ชีวิตแล้ว

ซึ่งการใช้งาน Game Genie ผู้เล่นจะต้องรู้สูตรเกมด้วย โดยจะเป็นสูตรสำหรับแก้ไขข้อมูลในหน่วยความจำ ส่วนหลักการทำงานของสูตร เราขออนุญาตยกไปอธิบายในอีกหัวข้อหนึ่ง โดยจะมีหนังสือคู่มือรวมสูตรขายแยกด้วย

อุปกรณ์โกงเกม Game Genie

สูตรของ Genie Code จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ตัวอย่างเช่น

  • PEXVAALA
  • TEXVAALA
  • PEXVAALE

ซึ่งตัวอุปกรณ์จะนำไปถอดรหัสเพื่อแก้ไขข้อมูลบนหน่วยความจำอีกที ซึ่งเราขออนุญาตไม่อธิบายถึงขั้นตอนการถอดรหัสนะ เพราะมันจะยาวมาก ลองดูภาพประกอบด้านล่างแล้วนึกภาพตามแทนละกัน

หลักการทำงานของ Game Genie Code
หลักการทำงานของ Game Genie Code
ภาพจาก : https://youtu.be/C86OsYRACTM

GameShark

หลังจาก Game Genie เปิดตัวไปก่อนนานถึง 6 ปี ก็มีผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับโกงเกมหน้าใหม่ปรากฏตัวขึ้น นั่นคือ GameShark แม้หลักการทำงานจะคล้ายคลึงกับ Game Genie แต่สูตรโกงของมันจะเป็นมาตรฐานที่ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบันนี้ และมีลูกเล่นเยอะกว่าด้วย

อุปกรณ์โกงเกม GameShark
อุปกรณ์โกงเกม GameShark
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:GameShark-PlayStation.jpg

ความพิเศษของ GameShark คือนอกจากจะมีหน่วยความจำภายในตัวเพื่อบันทึกสูตรเอาไว้ให้ผู้เล่นล่วงหน้าแล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถสร้างสูตรเอง และเก็บไว้ใช้งานในอนาคต หรือนำไปแชร์ให้คนอื่นใช้ตามได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นในการเปิดดูไฟล์ที่อยู่ภายในแผ่น เช่น เปิดไฟล์วิดีโอเพื่อดู Cinematic ของเกม

การสร้างสูตรเองของ GameShark ก็จะอาศัยการสแกนหาค่าบนหน่วยความจำ (ใครเคยใช้ Cheat Engine น่าจะเข้าใจขั้นตอนนี้ดี) ตัวอย่างเช่น

  1. เรามีเงินในเกมอยู่ 2,000 G เราก็จะสั่งให้ GameShark สแกนหน่วยความจำหาข้อมูลที่มีค่า 2,000
  2. เราจะได้ตำแหน่งที่มีค่าเท่ากับ 2,000 มาจำนวนหนึ่ง อาจจะมี 76 ตำแหน่ง 10 ตำแหน่ง แล้วแต่ดวงเลย
  3. ทำการเปลี่ยนค่า ด้วยการหาเงินเพิ่ม หรือนำเงินไปซื้อของ สมมติว่า ค่าเงินในเกมได้เปลี่ยนไปเป็น 2,200 G
  4. ทำการสแกนซ้ำ โดยเลือกสแกนหาค่า 2,200 แทน
  5. ผลลัพธ์ที่ได้จะมีจำนวนลดลง
  6. เมื่อจำนวนผลลัพธ์เหลือน้อยแล้ว อาจจะเหลือผลลัพธ์แค่ 1 ค่า ก็แปลว่าตำแหน่งนั้น คือข้อมูลเงิน ก็สามารถเปลี่ยนค่าเพื่อเพิ่มจำนวนเงินได้ตามต้องการ แล้วบันทึกตำแหน่งข้อมูลนั้นเก็บไว้ใช้งานในอนาคต
  7. หากมีผลลัพธ์มากกว่านั้น ก็ทยอยไล่เปลี่ยนค่าไปทีละตำแหน่ง

ในยุคนั้นมีอุปกรณ์อีกหลายตัวที่ทำงานเหมือนกับ GameShark ออกมาขาย เช่น Action Replay (จริง ๆ คือ ชื่อเก่าของ GameShark), Code Breaker ฯลฯ

สูตรของ GameShark จะเป็นภาษาอังกฤษ ผสมกับตัวเลขอารบิค ตัวอย่างเช่น
*รูปแบบโค้ดอาจจะแตกต่างกันแล้วแต่เวอร์ชันของอุปกรณ์ เนื่องจากมันอาจจะใช้วิธีเข้ารหัสข้อมูลคนละแบบ

  • D00A897C 1821
    800A899A 2400
  • 8008B7B0 FFFF
  • 39584B19 D80CC66A
    CE71B3D3 1F6A85FB

สูตรเกมทำงานอย่างไร ?
(How does Cheat Code work ?)

ในหัวข้อนี้เราจะมาพูดถึงการทำงานของสูตรเกมกันสักหน่อย โดยจะเป็นเรื่องสูตรของ Game Shark, Action Replay ฯลฯ นะ เพราะสูตรอย่าง Konami Code หรือ Operation Cwal เป็นสูตรที่ผู้พัฒนาเกมเขาใส่ไว้ให้พร้อมทำงานตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

สงสัยไหมว่า โค้ดอย่าง C051CCF6 975E8DA1 (สูตรเงิน 999,999 ของเกม  Pokemon Emerald) มันโกงเกมเพื่อเพิ่มเงินให้เราได้อย่างไร ?

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับ สิ่งที่เรียกว่า Memory Mapped IO กันก่อน ...

เวลาที่เราใส่ตลับเกม หรือแผ่นเกมเข้าไปในเครื่องเกม ตัว หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ก็จะอ่านข้อมูลในแผ่น และเขียนโค้ดข้อมูลลงบนหน่วยความจำเพื่อประมวลผลต่อ อย่างระบบของเครื่อง Gameboy Advanced เมื่อเราใส่ตลับเกมเข้าไปในเครื่อง มันจะมีการตำแหน่งข้อมูลเอาไว้ตั้งแต่ 0x8000000 ถึง 0x9000000 ซึ่งพื้นที่ในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลที่อ่านได้อย่างเดียว หรือข้อมูล ROM (Read-only Memory)

ซึ่งถ้าหาก CPU พยายามที่จะอ่านข้อมูลในส่วนนี้ มันจะไม่สามารถเขียนข้อมูลลงไปได้ ทำได้แค่อ่านข้อมูลในตำแหน่งดังกล่าว แล้วรันข้อมูลในนั้นได้เพียงอย่างเดียว

ตัวอย่าง Memory Mapped IO
ตัวอย่าง Memory Mapped IO

ซึ่งจุดนี้เองที่ GameShark, Action Replay ฯลฯ หรืออุปกรณ์โกงเกมยี่ห้อไหนก็ตามเข้ามามีบทบาท มันจะมาแทรกกลางระหว่างที่ CPU กำลังจะอ่านข้อมูลที่อยู่ภายใน ROM โดยมันจะมองหาตำแหน่งข้อมูลที่อยู่บนหน่วยความจำดังกล่าว แล้วทำการเปลี่ยนค่าข้อมูลให้เป็นค่าใหม่ที่ต้องการ ทำให้ CPU ได้รับข้อมูลที่ถูกแก้ไข (ข้อมูลที่ถูกโกง) ไปประมวลต่อ

คำถามถัดมา แล้ว GameShark, Action Replay ฯลฯ หรืออุปกรณ์โกงอื่น ๆ รู้ได้อย่างไรว่าต้องเข้าไปแก้ข้อมูลส่วนไหนบนหน่วยความจำ คำตอบก็คือโค้ด หรือสูตรโกงที่เราใส่เข้าไปนั่นเอง โดยทุกเกมที่ต้องการจะใช้สูตร จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "Master code(M)" (โค้ดควบคุม) หรือ "Must Be On" (จำเป็นต้องเปิด) อยู่ เพื่อเป็นตัวกำหนดให้สูตรถัดไปสามารถทำงานได้ นั่นเป็นเหตุผลให้แต่ละเกม ถึงจะเป็นสูตรเพิ่มเงินเหมือนกัน แต่สูตรที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน

มาเริ่มต้นกันที่โค้ด "Must Be On" กันก่อน ตัวอย่างโค้ดของ Action Replay จะมีลักษณะดังนี้

  • D8BAE4D9 4864DCE5
    A86CDBA5 19BA49B3

โค้ดของ Action Replay จะประกอบไปด้วยชุดข้อมูล 32-bit integers จำนวน 2 ชุด อยู่ในรูปแบบ

  • xxxxxxxx xxxxxxxx

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสูตรโกงเกมส่วนใหญ่ ถึงมีรูปแบบเป็น 2 คอลัมน์ ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ สูตรเหล่านี้จะมีการเข้ารหัส (Encrypted) เอาไว้ด้วย ถ้าถามว่าทำไม ? เหตุผลน่าจะเพื่อเพิ่มกรรมสิทธิ์ให้กับตัวสินค้าเอง เพราะมีคู่แข่งอีกหลายราย ที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับโกงเกมออกมาแข่งขันด้วย 

การถอดรหัสโค้ด Action Replay
การถอดรหัสโค้ด Action Replay
ภาพจาก : https://wunkolo.tumblr.com/post/144418662792

หลังจากที่สูตรโกงได้รับการถอดรหัสแล้ว ระบบก็จะเห็นโค้ดเป็น

  • C40005EC 00008401
  • 45455042 001DC0DE

"C40005EC 00008401" เป็น "Master Code" หรือโค้ดที่ "Must Be On" ฟอร์แมทของมันจะอยู่ในรูปแบบ "C4aaaaaa 0000bbbb" มันเป็นโค้ดที่ตัวอุปกรณ์โกงเกมใช้ในการระบุว่าตลับเกมเริ่มต้นข้อมูลที่ตำแหน่งไหน C4 จะบอกตำแหน่งเริ่มต้นที่จะ "แทรกโค้ด" เข้าไป ส่วน aaaaa คือตำแหน่งที่มันมองหา และ bbbb จะเป็นตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น จำนวนโค้ดที่จะทำงานหลังจากที่มันค้นหาตำแหน่งดังกล่าวพบ และรูปแบบการทำงาน

ย้อนกลับไปที่เราบอกว่าตัว ROM ของเกมจะยึดครองตำแหน่งตั้งแต่ 0x8000000 ถึง 0x9000000 เอาไว้ ดังนั้น

C40005EC ก็จะหมายถึงตำแหน่ง 080005EC ส่วนวิธีค้นหาว่าต้องเริ่มค้นหาข้อมูลที่ตำแหน่งไหนนั้นค่อนข้างซับซ้อน เพราะมันจะลึกเกินไป

มาดูในโค้ดบรรทัดถัดมา "45455042 001DC0DE" โค้ดตัวนี้เป็นขั้นตอนที่ใช้ในการระบุเกมที่ตัวโค้ดจะทำงานด้วย ตัว GameShark หรือ Action Replay จะใช้โค้ดตัวนี้ในการยืนยันว่ามีตลับเกมที่โค้ดทำงานได้ใส่เอาไว้อยู่ 

โดยฟอร์แมทของมันจะอยู่ในรูปแบบ "xxxxxxxx 001DC0DE" โดยค่า 001DC0DE นี้เป็นค่าตายตัวของเกมบนเครื่อง Gameboy Advanced แต่ค่า "xxxxxxxx" จะเป็นค่าเฉพาะ ที่แต่ละเกมจะไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งค่า "45455042" นั้น จะเป็นค่าของเกม Pokemon ภาค Emerald

สูตรเกมทำงานอย่างไร ? (How does Cheat Code work ?)

แต่จากภาพจะสังเกตเห็นว่าตัวเลขที่แสดงในหน่วยความจำ แสดงผลเป็น

  • 42 50 45 45 แทนที่จะเป็น
    45 45 50 42

สาเหตุก็เพราะว่าชิปประมวลผลของ Gameboy Advanced นั้นใช้ชิป ARM7TMI ที่เป็น Little endian (Endian หมายถึงลำดับไบต์ของคำ หรือข้อมูลดิจิตอลที่ถูกเขียนลงในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์)

 เปรียบเทียบ Little-Endian กับ Big-Endian
เปรียบเทียบ Little-Endian กับ Big-Endian
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/File:Big-little_endian.png

หลังจากที่ "Master code(M)" (โค้ดควบคุม) เริ่มทำงานแล้ว เราจะสามารถสั่งให้สูตรโกงทำงานได้ทันที เรามาลองวิเคราะห์สูตรโกงเงินของเกม Pokemon ภาค Emerald กัน สูตรของมันจะเป็น

  • C051CCF6 975E8DA1 หลังจากถอดรหัสแล้ว จะได้เป็น
    04225E90 000F423F

นี่เป็นการสั่งเขียนข้อมูลลงบนหน่วยความจำในรูปแบบ 04aaaaaa bbbbbbbb นั่นก็คือ ข้อมูล bbbbbbbb จะถูกเขียนลงไปในตำแหน่ง a0aaaaa จากสูตรโกงก็จะเป็นการเขียนข้อมูล 000F423F ลงในตำแหน่ง 02025E90 นั่นเอง

ซึ่ง "000F423F"  ก็เป็นเลขฐาน 16 ของตัวเลข 999,999 เท่ากับจำนวนเงินในเกมที่คุณจะได้รับนั่นเอง

รู้จักเครื่องมือโกงเกม ?

xxx

รู้จักเครื่องมือโกงเกม ในรูปแบบของซอฟต์แวร์
(Know the game cheat tool in form of software)

Game Trainer (ซอฟต์แวร์โกงเกม)

หากคุณเป็นเกมเมอร์สาย PC ที่เคย "โกงเกมส์" มาบ้าง น่าจะเคยได้ยิน หรือเคยใช้งาน Game Trainer กันมาบ้าง มันเป็นโปรแกรมตัวหนึ่งที่มีคนสร้างขึ้นมาสำหรับโกงเกมส์โดยเฉพาะ

หลักการทำงานของ Game Trainer ก็เป็นวิธีการเดียวกันกับสูตรเกมที่เรากล่าวไปในหัวข้อที่แล้วนี่แหละ เป็นการเข้าไปแก้ไขข้อมูลในหน่วยความจำของระบบโดยตรง 

ต่างกันแค่มันไม่ได้เป็นอุปกรณ์เสริม แต่เป็นซอฟต์แวร์ หรือ แอปพลิเคชัน ตัวหนึ่งบน ระบบปฏิบัติการ Windows เลย

เทรนเนอร์ของเกม Monster Hunter Stories 2: Wings of Ruin
เทรนเนอร์ของเกม Monster Hunter Stories 2: Wings of Ruin
ภาพจาก : https://flingtrainer.com/trainer/monster-hunter-stories-2-wings-of-ruin-trainer/

Saved Editor (เครื่องมือแก้ไขเซฟของเกม)

Saved Editor เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการแก้ไขไฟล์เซฟเกมของเรา เป็นการโกงเกมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถทำได้กับเกมที่มีการบันทึกเซฟไฟล์แบบออฟไลน์ 

การโกงเกมด้วย Saved editors นั้น จะเป็นการเอาเซฟไฟล์มาเปิดดูข้อมูล แล้วทำการแก้ไขข้อมูลของมันโดยตรง โดยใช้โปรแกรมประเภท Hex Editors ในการแก้ไข 

โปรแกรม HxD เครื่องมือแก้ไขเซฟของเกม
โปรแกรม HxD
ภาพจาก : https://mh-nexus.de/en/hxd/

แต่หากเกมไหนได้รับความนิยมจากผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะมีคนสร้างโปรแกรมสำหรับใช้แก้ไขเซฟไฟล์ของเกมนั้นขึ้นมาให้ผู้เล่นสามารถปรับแต่งเซฟไฟล์ของตนเองได้ง่าย ๆ

บางเกมที่มีระบบอัปสกิล หรืออัปสเตตัส แต่ไม่มีระบบรีเซ็ตมาให้ ผู้เล่นที่อัปสกิลผิดก็สามารถอาศัยเครื่องมือ Saved Editor ในการแก้ไขข้อผิดพลาด แทนที่จะเริ่มต้นสร้างตัวละครใหม่

โปรแกรม Hero Editor ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขเซฟตัวละครของเกม Diablo II
โปรแกรม Hero Editor ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขเซฟตัวละครของเกม Diablo II
ภาพจาก : https://gamebanana.com/tools/6289

ใช้สูตรโกงเกม ผิดหรือไม่ ?

สำหรับคำถามนี้ ขอตอบเป็น 2 ส่วน คือ ด้านจริยธรรม กับด้านกฏหมาย

ด้านจริยธรรม

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า การใช้สูตรโกงเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมอะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นเกมที่เล่นคนเดียวแบบออฟไลน์ ที่ไม่ว่าคุณจะโกงแบบจัดเต็มขนาดไหน ผู้เล่นคนอื่นก็ไม่ได้รับผลกระทบ อยากโกงก็โกงไปเถอะ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเกมเล่นคนเดียว แต่ถ้าเกมนั้นมีระบบเก็บเหรียญตรา (Achievement badge) เราก็ไม่ควรโกงเพื่อให้ตัวเองติดอันดับสูง

แต่ถ้าเป็นเกมออนไลน์ เราไม่ควรโกงในทุกกรณี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เพราะนั่นเป็นการเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่น ไม่ว่าจะโกงมาก (เช่น Aimbot เล็งเป้าอัตโนมัติ, Wall hack มองทะลุกำแพง, One hit kill ตีทีเดียวตาย) หรือโกงน้อย (เช่น แสดงเลือดมอนสเตอร์ในเกมที่ปกติจะไม่บอกให้ผู้เล่นรับรู้) การโกงในเกมออนไลน์จะทำให้ผู้เล่นเกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบเป็นอย่างมาก 

ด้านกฏหมาย

การโกงเกมผิดกฏหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับของการโกง และประเทศที่คุณอยู่ การโกงเกมที่เป็นเกมแบบออฟไลน์เล่นอยู่คนเดียว คุณสามารถโกงได้อย่างสบายใจ ไม่มีใครมาเอาผิดคุณอย่างแน่นอน แต่ถ้าคุณโกงเกมออนไลน์นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในโซนอเมริกา และยุโรป ยังไม่มีบทลงโทษทางกฏหมายในการโกงเกมออนไลน์ ผู้เล่นที่ใช้เครื่องมือโกง เต็มที่ก็แค่โดนแบนบัญชีจากผู้ให้บริการเกม แต่ในบางประเทศอย่างเช่นเกาหลีใต้ หรืออสเตรเลีย คุณมีสิทธิ์ที่จะถูกลงโทษทั้งจำ และปรับ เคยมีเกมเมอร์ชาวเกาหลีที่แฮกเกม Overwatch แล้วโดนปรับเงินสูงถึง $10,000 (ประมาณ 367,000 บาท) และจำคุกอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่พัฒนา และแจกจ่าย เครื่องมือแฮกเกม โกงเกม นั้นเป็นอีกประเด็นนะ มีโทษหนัก และมีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องจากผู้พัฒนาเกมในข้อหาละเมิดทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้


ที่มา : gaming.stackexchange.com , www.looper.com , www.reddit.com , www.cheatengine.org , en.wikipedia.org , blackshellmedia.com , www.ranker.com , www.ask.com , www.popularmechanics.com , en.wikipedia.org , airentertainment.biz , www.techopedia.com , wunkolo.tumblr.com , en.wikipedia.org , win.gg

0 %E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
14 กันยายน 2565 02:11:24 (IP 190.2.138.xxx)
Profile Pictureสมาชิก : Member
Comment Bubble Triangle
รูปประกอบ
ชอบบทความนี้มากๆเลยครับ