หากคุณเกาะติดเทรนด์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่เสมอ ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ คุณน่าจะเห็นเทรนด์การแชร์ภาพผลงานศิลปะจำนวนมากบนไทม์ไลน์ของคุณ ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะว่าในปัจจุบันนี้มี เทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้คนธรรมดาที่วาดรูปไม่เป็น สามารถสร้างผลงานศิลปะได้เองอย่างง่าย ๆ ด้วยการพิมพ์ข้อความบรรยายลักษณะภาพที่ต้องการ จากนั้นก็ปล่อยให้ AI รังสรรค์ภาพให้คุณภายในเวลาไม่กี่วินาที
อย่างภาพด้านล่างนี้ ผู้เขียนเองก็ใช้ AI Midjourney วาดให้ โดยบอกว่า "อยากได้ท้องฟ้าที่มีความแฟนตาซี และความลึกลับ" ผลงานที่ได้ถือว่าไม่เลวเลยใช่ไหมล่ะครับ
ความจริงแล้ว การพัฒนาให้ AI สามารถสร้างผลงานศิลปะนั้น เป็นความพยายามของมนุษย์ที่ทำกันมาเกือบ 50 ปีแล้ว โดยนักพัฒนาต้องการให้คอมพิวเตอร์สามารถสร้างภาพขึ้นมา จากคำอธิบายที่ผู้ใช้งานพิมพ์ป้อนคำสั่งเข้าไป แล้วคอมพิวเตอร์จะทำความเข้าใจเพื่อสร้างภาพออกมาได้ โดยจะเรียกขั้นตอนการเปลี่ยนข้อความให้เป็นภาพนี้ว่า "Algorithmic Art"
จุดเริ่มต้นของการให้คอมพิวเตอร์สร้างงานศิลปะนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) โดย Harold Cohen ผู้เป็นศิลปินได้เขียน โปรแกรม AARON ขึ้นมา โดยตัวโปรแกรมสามารถวาดภาพตามหลักเกณฑ์ที่เขาวางกฏเอาไว้ได้ ซึ่งตัวเขาเองได้พยายามพัฒนามันอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี จนกระทั่งหยุดพัฒนาลงในที่สุดหลังจากที่ตัว Cohen ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)
อย่างไรก็ตาม การทำงานของ AARON นั้นเหมือนเครื่องมือช่วยสร้างภาพของศิลปินมากกว่า เพราะแนวคิดการออกแบบผลงาน ต้องอาศัยตัวผู้ใช้ในการวางแผนอยู่ดี แตกต่างจากการทำงานของวิธีสร้างศิลปะด้วยโปรแกรมในปัจจุบันนี้ ที่ใช้พลังของ AI และ Machine learning ในการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสร้างผลงานศิลปะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ตามโจทย์ของผู้ใช้
ในการเขียนให้ AI สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมาได้ ตรรกะของ AI จะต้องไม่คิดตามกฏข้อใดข้อหนึ่ง แต่จะต้องเรียนรู้หลักสุนทรียศาสตร์ จากภาพศิลปะจำนวนมหาศาล แล้วนำตรรกะที่ได้เรียนรู้มานานมาสร้างภาพใหม่ขึ้นมาโดยอิงจากหลักสุนทรียศาสตร์ที่มันได้เรียนรู้มา
AI สร้างศิลปะส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะใช้เทคนิคการพัฒนาที่เรียกว่า Generative adversarial networks (GANs) ที่ถูกริเริ่มโดย Ian Goodfellow นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันคิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) โดยจะอาศัยหลักอัลกอริทึมแบบปฏิปักษ์ (Adversarial) ด้วยการแบ่ง AI ออกเป็น 2 ฝ่าย ฝั่งหนึ่งจะสร้างภาพแบบสุ่ม ส่วนอีกฝั่งจะเรียนรู้การประเมินว่าภาพดังกล่าวถูกต้องตรงกับคำสั่งที่ได้รับหรือไม่ ?
ตัวอย่างเช่น ศิลปินทำการใส่ตัวอย่างภาพแนวบุคคล (Portraits) ที่ถูกวาดขึ้นมาในช่วงเวลา 500 ปี ที่ผ่านมาให้ AI ได้เรียนรู้ว่าภาพแนวบุคคลเป็นอย่างไร ? แล้วก็ให้มันสร้างภาพศิลปะใหม่ขึ้นมา จากนั้นศิลปินก็จะทำการประเมินว่ามีรูปไหนบ้าง ? ที่ AI สามารถสร้างได้ถูกต้องตามคำสั่ง เราเรียกขั้นตอนนี้ว่าการ "Post-curation"
ในขั้นตอนดังกล่าว ตัวศิลปินจะต้องคอยตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วง Pre และ Pro-curation เพื่อปรับแต่งการทำงานของอัลกอริทึม ให้สามารถทำงานได้แม่นยำขึ้น
หัวใจสำคัญของการออกแบบ "Algorithmic art" คือตัวอัลกอริทึมจะต้องไม่ดำเนินตามกฏเกณฑ์ตายตัว แต่เรียนรู้ว่าความสุนทรียศาสตร์มันเป็นอย่างไรจากการวิเคราะห์ภาพจำนวนมหาศาล เพื่อนำข้อมูลความสุนทรียศาสตร์ที่มันเรียนรู้ได้มาสร้างเป็นผลงานชิ้นใหม่
ในมุมมองของผู้ใช้งาน ผลงานศิลปะที่สร้างด้วย AI ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการพิมพ์คำสั่งง่าย ๆ ลงไป เช่น "Girl in gothic dress eat sushi in the tokyo night" (สาวในชุดโกธิคทานซูชิในโตเกียวยามค่ำคืน) จากนั้นก็ปล่อยให้ AI คิด และสร้างภาพออกมา ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าสวยงาม และตรงกับคอนเซปส์ที่วางเอาไว้ให้
Girl in gothic dress eat sushi in the tokyo night วาดด้วย Midjourney
มันก็ดูเป็นเรื่องสนุกดี ที่คนธรรมดาก็สามารถสร้างผลงานศิลปะเจ๋ง ๆ ออกมาได้ แต่ว่าเบื้องหลังความสวยงาม ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นการนำภาพศิลปะที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ ยำรวมมิตรคิดออกมาเป็นภาพใหม่ตามโจทย์ที่ผู้ใช้สั่ง ซึ่งในตอนนี้ AI ก็มีความฉลาดถึงขนาดสามารถสร้างงานใหม่ ที่เลียนแบบเอกลักษณ์ของศิลปินต่าง ๆ ได้แล้วด้วยซ้ำ
แน่นอนว่างานนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไป มีศิลปินที่เห็นด้วย และไม่พอใจ มุมมองจากทนาย และนักพัฒนา ที่แนวคิดขัดแย้งกัน แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะคิดเห็นอย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับทางศาล
ในการฝึกฝน AI จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งข้อมูลที่มีประโยชน์ส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ก็ล้วนแต่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ ทางผู้พัฒนา AI เชื่อว่า พลังของ AI จะมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ มันเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตของเราทุกคนดีขึ้นได้ ผู้พัฒนาบางส่วนมองว่า กฏหมายลิขสิทธิ์ และกฏหมายเครื่องหมายการค้า จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี AI ที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้วย ซึ่งตอนนี้กฏหมายยังไม่เปลี่ยน ดังนั้น เราจะมาวิเคราะห์ตามหลักกฏหมายในปัจจุบันกันไปก่อน
ถ้าถามว่าเราสามารถนำผลงานศิลปะที่สร้างด้วย AI ไปจดลิขสิทธิ์ได้ไหม ? คำตอบคือ "ไม่ได้ ❌"
เรามาเริ่มกันที่เหตุผลว่า ทำไมเราถึงอยากปกป้องการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปะของคุณกันก่อน
ข้อแรกนั้น ในทางทฤษฎีเป็นเรื่องที่พิสูจน์ค่อนข้างง่าย หากมีคนมากล่าวหาว่าคุณลอกเลียนแบบงานของเขาไป คุณไม่จำเป็นต้องจ้างทนายราคาแพงมาสู้คดี คุณสามารถยื่นหลักฐานข้อนตอนการการสร้างผลงานของตัวคุณเองเพื่อพิสูจน์ความจริงได้เลย แต่มันเป็นเรื่องยากถ้าคุณสั่งให้ AI วาดให้ เพราะขั้นตอนของคุณมีแค่การพิมพ์โจทย์ไม่กี่ประโยคเท่านั้น
ส่วนข้อสองนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานศิลปะที่ใช้ AI ในการสร้างขึ้น โดยถ้ามีใครคนหนึ่งสามารถใช้ AI สร้างสรรค์ผลงานที่ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นขึ้นมา มันก็จะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ยากด้วย เพราะ งานที่ AI สร้างขึ้นมาได้ มันก็จะมาจากแนวทาง และโทนของภาพ ที่นำแนวทางมาจากภาพดั้งเดิมที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ 2022 (พ.ศ. 2565) สำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ “ปฏิเสธที่จะจดลิขสิทธิ์” สำหรับงานศิลปะที่ทำโดย AI โดยกล่าวว่า "ฝีมือการออกแบบของมนุษย์เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นในการคุ้มครองลิขสิทธิ์" อย่างไรก็ตาม คดีนี้กำลังถูกยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐบาลกลาง เนื่องจากผู้สร้าง AI ให้เหตุผลว่าเมื่อเขาเป็นผู้พัฒนาโปรแกรมแล้ว เขาก็ควรจะสามารถเรียกร้องลิขสิทธิ์จากผลงานที่ผลิตได้ แม้ว่าในที่สุดแล้ว การตัดสินใจในกรณีนี้ ทางศาลจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างยาวนาน และอาจต้องให้มีกรณีเช่นนี้อีกหลายคดีมากขึ้นมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดฉันทามติทางกฎหมายที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้
สิ่งที่ผู้ใช้ AI สร้างงานศิลปะทำได้ในตอนนี้คือ การใช้ Creative Commons ที่อนุญาตให้ผู้ใช้เผยแพร่งานได้ โดยที่ต้องให้เครดิตที่มาของภาพอยู่ ว่าใครเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |