ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 521
เขียนโดย :
0 7+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%87
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง

โลกออนไลน์ของเครื่องเสียงเต็มไปด้วยความเชื่อแปลก ๆ หลายอย่าง บางเรื่องเป็นความเชื่อผิด ๆ บางเรื่องก็แปลกประหลาดจนน่าสงสัย หลายคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตาเรื่องพวกนี้มาบ้าง เช่น เราเตอร์แบบ Audio Grade ที่ทำให้เสียงเพลงที่สตรีมผ่านเราเตอร์ฟังแล้วเพราะขึ้น !, สาย LAN ที่ช่วยให้สัญญาณเสียงคมชัดกว่าเดิม หรือหูฟังต้องเบิร์นอินก่อนเพื่อให้เสียงดีขึ้น

บทความเกี่ยวกับ Audio อื่นๆ

ความเชื่อพวกนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอันตรายอะไร ? อย่างมากก็ทำให้คุณเสียเงินมากเกินความจำเป็นโดยที่ไม่ได้อะไร มาลองดูกันว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่ไม่ใช่เรื่องจริง ...

 

เนื้อหาภายในบทความ

  1. หูฟังใหม่ต้องเบิร์นให้เสียงเข้าที่
    (You need to burn in your Headphones)
  2. เครื่องเสียงชั้นยอด จะช่วยทำให้เสียงดีขึ้น
    (Good Speakers always mean Better Sound)
  3. สายเคลือบทองให้เสียงที่ดีกว่า
    (Gold-Plated Cables are Better)
  4. เสียงดิจิทัล หรือแอนะล็อก ต่างก็ว่าไพเราะกว่ากัน
    (Digital or Analog Audio is better than The Other)
  5. มีบลูทูธที่ไม่มีการหน่วง
    (No Latency Bluetooth Exists)
  6. การตอบสนองความถี่ยิ่งกว้างยิ่งดี
    (Wide Frequency Response is Better)
  7. สายสัญญาณเสียงดิจิทัลแบบ ออดิโอไฟล์
    (Audiophile Digital Cable)

1. หูฟังใหม่ต้องเบิร์นให้เสียงเข้าที่ (You need to burn in your Headphones)

เปิดด้วยประเด็นแรกซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานเสียงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตลอดกาล ทุกวันนี้ก็ยังมีคนแนะนำให้ทำกันอยู่เรื่อย ๆ ถึงขั้นมีการทำไฟล์เสียงสำหรับใช้เบิร์น (Burn) ออกมาแจกจ่ายโดยเฉพาะ โดยเชื่อกันว่าจะช่วยให้หูฟังมีความเข้าที่ เสียงดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบโดยเว็บไซต์รีวิวเครื่องเสียงหลายแห่ง ยังไม่พบข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าโครงสร้างภายในของหูฟังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปหลังจากหูฟังผ่านการเบิร์น

ความเชื่อที่ว่าเราจำเป็นต้อง "Burn-in" หูฟัง หรือลำโพง ด้วยเสียงบางประเภท เช่น Pink Noise (เสียงรบกวนที่มีลักษณะเสียงที่สมดุล) เป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุด นั้นเป็นเพียงความเชื่อที่อ้างเหตุผลว่า เพื่อช่วยให้ไดร์เวอร์ของหูฟัง หรือลำโพง มีความยืดหยุ่นอ่อนนุ่มเข้าที่มากขึ้น เพราะเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือน การเบิร์นจะทำให้แหล่งกำเนิดเสียงขยับได้ดีกว่าเดิม ส่งผลให้เสียงดีขึ้น

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://sell.gearsupply.com/blog/speaker-magnet-guide/

มันก็มีความจริงซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง เพราะโครงสร้างต่าง ๆ ภายในหูฟัง หรือลำโพง จะเสื่อมสภาพ สูญเสียความแข็งแรงเมื่อเวลาผ่านไป แต่มันไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับที่สามารถทำให้เสียงที่เราได้ยินเกิดความเปลี่ยนแปลงไปได้ จากหลักฐานเชิงวัตถุหลายอย่างที่ผ่านการตรวจวัดพบว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระดับเพียง 1 เดซิเบล หรือน้อยกว่า ซึ่งเป็นระดับความแตกต่างที่หูของมนุษย์แยกไม่ออก

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
Phase Response

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง  Frequency Response
ภาพจาก : https://www.rtings.com/headphones/learn/break-in

แนวคิดการ "Burn-in" หูฟัง หรือลำโพง มีที่มาจากการทดสอบคุณภาพที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะต้องทำกันอยู่แล้ว โดยจะทดสอบใช้งานตัวอุปกรณ์เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อดูว่ามันจะสามารถทนต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ ? หลักการคือ ถ้าประสิทธิภาพการทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วงเวลานั้น แสดงว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการปรับปรุง ซึ่งก็สมเหตุสมผล อุปกรณ์หลายอย่างก็มีการทดสอบ เช่นนี้ ไม่ว่าจะสมาร์ทโฟน, รถยนต์, กล้อง ฯลฯ ซึ่งหูฟังก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น ต่อให้การเบิร์นมีผลจริง มันก็ถูกเบิร์นมาจากโรงงานแล้ว การที่เรามาเบิร์นต่อก็ไม่มีผลต่อเสียงแต่อย่างใด

แต่บางคนยืนยันว่าเสียงมันเปลี่ยนไปจริง ๆ หลังจากใช้งานหูฟังไปได้สักพัก อันนี้ก็มีคำอธิบายได้เช่นกัน จุกยาง หรือที่ครอบหูทำจากวัสดุที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงได้หลังจากผ่านการใช้งานไปสักพัก สุดท้ายมันจะเริ่มปรับรูปร่างจนเข้ากับทรงหูของผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ ทำให้มันกระชับกับหูแน่นขึ้น ลดการเข้าของอากาศภายนอกที่เป็นพาหะของเสียง ทำให้เสียงที่ได้ยินมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าเสียงมันดีขึ้นนั่นเอง

2. เครื่องเสียงชั้นยอด จะช่วยทำให้เสียงดีขึ้น (Good Speakers always mean Better Sound)

หูฟัง หรือลำโพงที่ผลิตมาไม่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพต่ำ เสียงของมันมักจะไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าไฟล์เสียงที่คุณนำมาเล่นไม่ดีตั้งแต่แรก เช่น ใช้ไฟล์ MP3 ที่บีบอัดมาแบบคุณภาพต่ำ ต่อให้ใช้เครื่องเสียงหลักล้าน เสียงที่ได้ยินมันก็แย่อยู่ดี 

ดังนั้น หากรู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินมันแย่มาก ก่อนคิดจะอัปเกรดเครื่องเสียงใหม่ ลองเปลี่ยนไฟล์ที่ใช้เล่นก่อน หากเล่นผ่านสตรีมก็ปรับเป็นคุณภาพสูงสุด หรือถ้าเล่นจากไฟล์ ก็หาไฟล์แบบ Lossless เช่น ไฟล์ตระกูล FLAC มาลองเปิดฟังดูก่อน หากพบว่าคุณภาพดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่พึงพอใจ จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องเสียงใหม่

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://www.cambridgeaudio.com/row/en/blog/what-is-high-resolution-audio

3. สายเคลือบทองให้เสียงที่ดีกว่า (Gold-Plated Cables are Better)

สายเคลือบทองมักได้ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่เหนือกว่า หรือพรีเมียม เมื่อเทียบกับสายปกติ แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลต่อคุณภาพเสียง การเคลือบทองมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ทองแดงที่อยู่ด้านล่างหมอง และมันยังช่วยด้านความสวยงามอีกด้วย เนื่องจากทองแดงเป็นวัสดุที่หมองง่าย และสามารถสูญเสียพื้นที่สัมผัสเมื่อเกิดคราบหมองได้ มันจึงต้องเคลือบมีการเคลือบด้วยวัสดุบางอย่าง ซึ่งทองไม่เกิดสนิม หรือคราบหมองเหมือนทองแดง ดังนั้น จึงเป็นการเคลือบที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สายสามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน

แต่การที่สายเคลือบทองไม่ได้แปลว่ามันจะทำให้เสียงดีกว่าการเคลือบนิกเกิลที่พบได้ในสายส่วนใหญ่ นิกเกิลมีราคาถูกกว่ามาก และการเคลือบทองบริสุทธิ์ก็ไม่ทนทานเท่านิกเกิลด้วย มันจะสึกหรอเมื่อมีการเสียบ และถอดสายเป็นประจำ

การเคลือบทองผสมช่วยด้านความสวยงาม แต่จะไม่ส่งผลต่อคุณภาพเสียง หรือดีกว่านิกเกิลธรรมดา แม้ว่าทองจะมีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าสูงกว่านิกเกิล แต่ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก เนื่องจากสัญญาณไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงผ่านสายทองแดงอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ในสายที่มีคุณภาพสูงทางผู้ผลิตก็นิยมเคลือบทองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สินค้าดูมีความพรีเมียมสมราคามากยิ่งขึ้น

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://kineraaudio.com/products/kinera-mia?srsltid=AfmBOooTVS3MJirEjan2xc80rokJYXQ6P7SoeK3R79YqMvXab5o3-Ku4

4. เสียงดิจิทัล หรือแอนะล็อก ต่างก็ว่าไพเราะกว่ากัน (Digital or Analog Audio is better than The Other)

เมื่อพูดถึงเสียง อาจมีแง่มุมทางเทคนิคที่ละเอียดอ่อน ที่ทำให้สิ่งหนึ่ง "ดีกว่า" อีกสิ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว ประสบการณ์ในการฟังเพลง ก็เป็นความชอบส่วนบุคคล คนเราไม่เหมือนกัน แต่ละคนย่อมมีความชอบที่แตกต่างกัน

ในกรณีนี้ เรื่องเสียงแอนะล็อก (Analog Sound) กับเสียงดิจิทัล (Digital Sound) ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน บางคนชอบไฟล์ดิจิทัลเพราะมันมีความคมชัด สามารถควบคุมคุณภาพเสียงได้เต็มที่ ในขณะบางคนอาจชอบสื่อที่ยังเป็นแอนาล็อก เช่น แผ่นไวนิล เพราะโทนเสียงที่ให้ความรู้สึก "อบอุ่น" อันมีเอกลักษณ์ เสียงมีความใกล้เคียงต้นฉบับ และความแตกต่างในขั้นตอนการมิกซ์เสียงระหว่างแผ่นไวนิล กับไฟล์ดิจิทัล

แม้จะมีความเห็นต่างกัน แต่ละฝ่ายก็มีข้อโต้แย้งในฝ่ายของตน แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเถียงว่าแบบไหนดีกว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://victrola.com/blogs/articles/does-music-really-sound-better-on-vinyl

5. มีบลูทูธที่ไม่มีการหน่วง (No Latency Bluetooth Exists)

ธรรมชาติการทำงานของเทคโนโลยี บลูทูธ (Bluetooth) นั้น จะมี ความหน่วง (Latency) ระหว่างแหล่งกำเนิดเสียง กับหูฟัง หรือลำโพงเสมอ เนื่องจากบลูทูธจะต้องมีการเข้ารหัส และถอดรหัสในระหว่างที่ข้อมูลมีการรับส่ง ถึงแม้มันจะใช้เวลาสั้น ๆ ก็ตาม

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไมเวลาดูวิดีโอ หรือภาพยนตร์ในขณะที่ใส่หูฟังบลูทูธ จะสังเกตเห็นว่าเสียงมักจะล่าช้ากว่าภาพเล็กน้อย หรือปากไม่ตรงกับเสียง อย่างไรก็ตาม บลูทูธเวอร์ชันใหม่ ๆ ก็รองรับ โปรโตคอล (Protocol) ที่ช่วยให้เวลาหน่วงลดลงกว่าเดิม เช่น aptX Low Latency ซึ่งมีความล่าประมาณ 40 มิลลิวินาที ซึ่งก็ยังคงเป็นความล่าที่รู้สึกได้

หากคุณต้องการตัวเลือกไร้สายที่มีความหน่วงต่ำกว่า แนะนำว่าควรใช้หูฟัง หรือลำโพงที่ใช้การเชื่อมต่อ 2.4GHz หรือ ไวไฟ (Wi-Fi) แม้ว่าทั้งสองวิธีนี้ในทางเทคนิคยังคงมีความหน่วงอยู่บ้าง แต่ก็ต่ำจนคนส่วนใหญ่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหูฟังสำหรับเล่นเกมนิยมใช้ตัวรับสัญญาณ USB Dongle 2.4GHz ในการเชื่อมต่อ

Wireless Audio Codec

Audio Delay

aptX HD

~ 250 ms

aptX Low Latency

~ 40 ms

aptX

~ 70 ms
FastStream

~ 40 ms

SBC (มาตรฐานพื้นฐานที่หูฟังบลูทูธส่วนใหญ่รองรับ)

~ 220 ms
Wi-Fi 2.4 GHz

~ 19 ms

6. การตอบสนองความถี่ยิ่งกว้างยิ่งดี (Wide Frequency Response is Better)

สเปคของหูฟัง ผู้ผลิตมักจะระบุช่วงการตอบสนองความถี่ที่มันทำได้เอาไว้ด้วย โดยทั่วไปมักจะอยู่ในช่วงประมาณ 20 ถึง 20,000Hz ซึ่งเป็นช่วงการได้ยินของมนุษย์ทั่วไป ดังนั้น หูฟังส่วนใหญ่จึงทำออกมาครอบคลุมย่านความถี่ดังกล่าว

ทั้งนี้ หูฟังบางรุ่นรองรับความถี่ที่กว้างกว่านั้น เช่น Sennheiser HD 800 S ที่ทำขอบเขตเสียงได้กว้างถึง 4 - 51,000 Hz แต่ช่วงที่กว้างกว่านั้นไม่ได้หมายความว่าหูฟังเหล่านั้นจะให้เสียงที่ดีกว่าเดิมเสมอไป เพราะการได้ยินของมนุษย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 20 ถึง 20,000Hz เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่หูฟังของคุณจะต้องสามารถเล่นเสียงที่สูงกว่า หรือต่ำกว่านั้นได้ เพราะเราไม่สามารถได้ยินเสียงที่อยู่ในช่วงนั้นได้อยู่ดี

7. สายสัญญาณเสียงดิจิทัลแบบ ออดิโอไฟล์ (Audiophile Digital Cable)

ขออธิบายสำหรับคนที่ไม่อยู่ในวงการเครื่องเสียงก่อนว่า สายสัญญาณเสียงนั้น มีผลกระทบต่อเสียงที่ได้ยินได้จริง ๆ ถึงมีการทำสายคัสตอม (Custom) ออกมาตอบสนองความต้องการของนักฟังระดับ Audiophile อยู่มากมายหลายแบรนด์ อย่างไรก็ตาม มันมีผลเฉพาะกับสายที่ใช้รับส่งสัญญาณแบบแอนาล็อก (Analog Connectors Cable) เท่านั้น

มาเข้าใจหลักการทำงานพื้นฐานของสายแบบแอนาล็อกกันก่อน เสียงจะถูกแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าด้วยไมโครโฟน โดยไดอะแฟรมที่แนบกับแม่เหล็กภายในขดลวด ไดอะแฟรมจะสั่นเมื่อคลื่นเสียงกระทบมัน ซึ่งจะทำให้แม่เหล็กสั่นด้วย เนื่องจากแม่เหล็กอยู่ภายในขดลวด การสั่นจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงในกระแสไฟฟ้านี้จะตรงกับคลื่นเสียง ดังนั้น เมื่อเครื่องเล่นรับกระแสไฟฟ้า มันจะสร้างเสียงที่ตรงกับสิ่งที่ไมโครโฟนรับได้

กระแสไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านสายสัญญาณ ซึ่งตัวสัญญาณนี้สามารถได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, ความต้านทาน, อุณหภูมิ ฯลฯ ตัวสายสัญญาณแบบแอนาล็อกที่มีคุณภาพดี จะสามารถปกป้องสัญญาณจากการถูกรบกวนได้ ทำให้สัญญาณยังมีคุณภาพที่ดีดังเดิม ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพเสียงโดยตรง

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://charliegerard.dev/blog/ultrasonic-payments/

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://audiosolace.com/how-to-test-speaker-polarity/

แต่ในกรณีของสายแบบดิจิทัล (Digital Connectors Cable) มันไม่ได้ทำงานแบบนั้น สัญญาณเสียงจะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบ ไบนารี (Binary) ส่งผ่านสาย และเมื่อถึงปลายทางจึงค่อยถูกแปลงกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ลำโพง หรือหูฟังสามารถแปลงเป็นเสียงที่เราได้ยินได้

ซึ่งการที่สัญญาณเสียงดิจิทัลถูกส่งเป็นข้อมูลแบบไบนารี (0 และ 1) ดังนั้น ตราบใดที่สายสามารถส่งข้อมูลได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด คุณภาพเสียงจะยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าสายที่ใช้จะเป็นสายอะไร ซึ่งในการทำงานของมันก็มีระบบตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลว่าต้นทาง กับปลายทางนั้นตรงกันด้วย ดังนั้น ยังไงเสียงก็เหมือนเดิมแน่นอน แตกต่างจากสัญญาณแอนาล็อกที่คุณภาพของสายสามารถส่งผลต่อเสียงได้อย่างมีนัยสำคัญ

7 ความเชื่อที่ไม่จริง เกี่ยวกับหูฟัง และลำโพง
ภาพจาก : https://www.analog.com/en/lp/001/beginners-guide-to-dsp.html


หวังว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ จะมีประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านบ้าง ไม่มาก ก็น้อยนะครับ


ที่มา : www.howtogeek.com , www.soundguys.com , forum.loopypro.com , forum.loopypro.com , www.rtings.com , emastered.com , www.elandcables.com , www.quora.com

0 7+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%87
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น