ถ้าเราพูดถึงสื่อบันทึกข้อมูลสำหรับสื่อบันเทิงต่าง ๆ ที่เป็น แผ่นจานแสง (Optical Disc) ไม่ว่าจะเป็นแผ่นภาพยนตร์, แผ่นเพลง หรือแผ่นเกมส์ก็ตาม เป็นเทคโนโลยีที่เรามีใช้กันมานมนาน ถ้าให้ย้อนอดีตไป มันถูกสร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกก็โน่นเลย ปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) จากฝีมือของ James T. Russell นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน แต่ตอนนั้นหน้าตาแผ่นก็ยังไม่ใช่แผ่นกลม ๆ เหมือนกับแผ่นจานแสง ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้หรอกนะ ส่วนตอนนี้แผ่นจานแสง ที่แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็น แผ่น DVD และ แผ่น Blu-Ray นั่นเอง
แต่อย่างที่เราเห็นกัน ว่าขนาดของสื่อในปัจจุบันนี้มันใหญ่โตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเกมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือภาพยนตร์ความละเอียดสูงที่ทำให้ดูเหมือนว่า แม้แต่แผ่น Blu-Ray ที่มีความจุ 25 GB. - 50 GB. และเวอร์ชันล่าสุดที่วางจำหน่ายอย่าง แผ่น BDXL ที่จุได้ถึง 128 GB. ต่อแผ่น ก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ
ลองมองไปที่ขนาดเกมสมัยนี้ Destiny 2: Shadowkeep มีขนาดไฟล์ 165 GB., Call Of Duty: Black Ops Cold War มีขนาดไฟล์ 250 GB. หรือภาพยนตร์ ความละเอียด 8K ความยาว 180 นาที ก็ไฟล์ใหญ่ถึง 162 GB. ทำให้เริ่มมีการมองหาความเป็นไปได้ของแผ่น Optical disc ความจุสูงที่จะมาสืบทอดต่อจากแผ่น Blu-Ray ซึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีคำตอบออกมาแล้ว ซึ่งคุณอาจจะแปลกใจ หากเราบอกว่ามันก็ยังคงเป็นแผ่น... Blu-Ray อยู่ดี
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เราจะมาเล่าให้อ่านในบทความนี้
ก่อนจะไปถึงคำตอบว่าทำไม แผ่นจานแสง (Optical Disc) รุ่นถัดไป ถึงน่าจะยังเป็นแผ่น Blu-Ray อยู่ ลองมาทำความเข้าใจกับแผ่นจานแสง ในรุ่น หรือเจนเนอเรชันที่ผ่าน ๆ มากันก่อนสักเล็กน้อย โดยตอนนี้แผ่นจานแสง มีมาแล้ว 4 เจนเนอเรชัน แผ่น Blu-Ray ที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นแผ่นที่อยู่ในเจนเนอเรชันที่ 3
แผ่นจานแสง เจนเนอเรชัน 1 เป็นแผ่นที่นิยมใช้ในการบันทึกวิดีโอไฟล์ดิจิทัลอย่างเพลง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ความจุของแผ่น CD อยู่ที่ 700 MB. แต่ตอนหลังก็มีแผ่นขนาด 900 MB. ออกมาบ้างแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก อ่านแผ่นด้วยการใช้แสงอินฟราเรด (Infrared Laser)
แผ่นจานแสง เจนเนอเรชัน 2 เป็นแผ่นที่ถูกอัปเดตให้มีความจุมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากเทคโนโลยีลำแสงที่ใช้อ่านเป็นที่เปลี่ยนจากแสง Infrared laser มาเป็นแสง Visible-light laser (ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง) ซึ่งเป็นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าเดิม ทำให้อ่านข้อมูลได้ละเอียดมากขึ้น สำหรับความจุแผ่น DVD แบบมาตรฐานจะมีความจุอยู่ที่ 4.7 GB.
สำหรับแผ่นจานแสง เจนเนอเรชัน 3 เป็นแผ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกับขนาดของเนื้อหาที่มีความใหญ่โตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือวิดีโอความละเอียดสูง ในช่วงเริ่มต้นมีการแข่งขันระหว่างแผ่น Blu-Ray และ HD DVD แต่ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น Blu-Ray เป็นผู้คว้าชัย ส่วน HD DVD ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา
การทำงานของแผ่นเจนเนอเรชัน 3 จะใช้แสงคลื่นความยาวสั้น Blue-violet lasers และระบบเลนส์คุณภาพสูงทำให้อ่านข้อมูลได้ละเอียดขึ้นกว่าแผ่นรุ่นก่อน
ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=-HKMm4fUZWM
ประกาศเปิดตัวแล้ว แต่ยังไม่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์
แผ่น Blu-Ray ที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้จุได้ 128 GB. มันอาจจะพอต่อเกมธรรมดาทั่วไป และภาพยนตร์ ความละเอียดระดับ 4K แต่อย่างที่เราเห็นกัน ว่าดูเหมือนมันก็จะไม่เพียงพอเสียแล้ว ก็เลยมีการพัฒนาเทคโนโลยี แผ่นจานแสงใหม่ขึ้นมา
ประกาศเปิดตัวแล้ว แต่ยังไม่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์
ชนิด | ความจุ | ความจุ (ทางทฤษฏี) | ปี ค.ศ. |
---|---|---|---|
LaserDisc (LD) | 0.3 GB. | 1971 - 2001 | |
Write Once Read Many Disk (WORM) | 0.2-6.0 GB. | 1979 - 1984 | |
Compact Disc (CD) | 0.7-0.9 GB. | 1982 - ปัจจุบัน | |
Electron Trapping Optical Memory (ETOM) | 6.0-12.0 GB. | 1987 - 1996 | |
MiniDisc (MD) | 0.14-1.0 GB. | 1989 - ปัจจุบัน | |
Magneto Optical Disc (MOD) | 0.1-16.7 GB. | 1990- ปัจจุบัน | |
Digital Versatile Disc (DVD) | 4.7-17 GB. | 1995 - ปัจจุบัน | |
LIMDOW | 2.6 GB. | 10 GB. | 1996 - ปัจจุบัน |
GD-ROM | 1.2 GB. | 1997 - 2006 | |
Fluorescent Multilayer Disc | 50-140 GB. | 1998 - 2003 | |
Versatile Multilayer Disc (VMD) | 5-20 GB. | 100 GB. | 1999 - 2010 |
Hyper CD-ROM | 1 PB | 100 EB | 1999 - ปัจจุบัน |
DataPlay | 500 MB. | 1999 - 2006 | |
Ultra Density Optical (UDO) | 30-60 GB. | 2000 - ปัจจุบัน | |
FVD (FVD) | 5.4-15 GB. | 2001 - ปัจจุบัน | |
Enhanced Versatile Disc (EVD) | DVD | 2002 - 2004 | |
HD DVD | 15-51 GB. | 1 TB. | 2002 - 2008 |
Blu-Ray Disc (BD) | 25 GB. | 1 TB. | 2002 - ปัจจุบัน 2010 - ปัจจุบัน (BDXL) |
Professional Disc for Data (PDD) | 23 GB. | 2003 - 2006 | |
Professional Disc | 23-128 GB. | 2003 - ปัจจุบัน | |
Digital Multilayer Disk | 22-32 GB. | 2004 - 2007 | |
Multiplexed Optical Data Storage (MODS-Disc) | 250 GB.-1 TB. | 2004 - ปัจจุบัน | |
Universal Media Disc (UMD) | 0.9-1.8 GB. | 2004 - 2014 | |
Holographic Versatile Disc (HVD) | 6.0 TB. | 2004 - 2012 | |
Protein-coated disc(PCD) | 50 TB. | 2005 - 2006 | |
M-DISC | 4.7 GB. (DVD format) | 2009 - ปัจจุบัน | |
Archival Disc | 0.3-1 TB. | 2014 - ปัจจุบัน | |
Ultra HD Blu-Ray | 50 GB. | 2015 - ปัจจุบัน |
ถ้าอ่านบทความนี้มาตั้งแต่แต่ต้น ก็น่าจะเห็นแล้วว่า แผ่น Blu-Ray ในตอนนี้มีความจุสูงสุดแค่ 128 GB. ไม่เพียงพอต่อการใส่เกมในยุคนี้ด้วยซ้ำ แล้วในเมื่อตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่อย่าง แผ่น AD หรือ Archival Disc และ Holographic Versatile Disc ออกมาแล้ว แต่ทำไมเราถึงบอกว่าแผ่น Blu-Ray ถึงยังเป็นอนาคตได้อยู่ ?
คำตอบนั้นง่ายมาก เป็นเรื่องของราคานั่นเอง
ราคาของแผ่น Blu-Ray ขนาด 25 GB. ในตอนนี้ ราคาเพียงแผ่นละประมาณ 30 บาท เท่านั้น ส่วนแผ่นขนาด 100 GB. ราคาประมาณแผ่นละ 300 บาท
ทีนี้ลองมาดูราคาของแผ่นจานแสง เจนเนอเรชัน 4 กันบ้าง
โดยแผ่น Archival Disc ความจุ 1.2 TB. ตอนนี้ราคาประมาณแผ่นละ 3,400 บาท นี่ราคาแผ่นเปล่า ถ้าใส่ภาพยนตร์ หรือเกมลงไปด้วย ราคาก็ต้องแพงกว่านี้อีก มันจึงยังไม่ใช่แผ่นจานแสง ที่จะสามารถมาแทนที่แผ่น Blu-Ray ได้ในเร็ว ๆ นี้ อย่างแน่นอน
เทคนิคที่ใช้เพิ่มความจุให้กับแผ่นจานแสง คือการเพิ่มชั้น (Layer) ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลลงไปในแผ่น อย่างแผ่น Blu-Ray แบบ 128 GB. ก็จะมีอยู่ 4 ชั้น ดังนั้นตามทฤษฎีแล้ว หากเราสามารถเพิ่มชั้นเข้าไปมากขึ้น ตัวแผ่นก็จะมีความจุเพิ่มขึ้นได้
ภาพจาก https://www.manifest-tech.com/media_dvd/dvd_hd_multi_layer.htm
ตอนนี้บริษัท Folio Photonics ได้เผยความสำเร็จในการพัฒนาชั้นเลเยอร์แบบใหม่เรียกว่า DataFilm Disk (DFD) ซึ่งสามารถซ้อนกันได้มาก 8-16 ชั้น แถมยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมากด้วย โดยประเมินราคาอยู่ที่ประมาณ $3 (ประมาณ 110 บาท) ต่อ TB. เท่านั้น ถูกกว่าแผ่น Archival Disc หลายเท่าตัว
ภาพจาก https://foliophotonics.com/technology
Folio Photonics เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่เพิ่งประกาศความสำเร็จในการพัฒนา DataFilm Disk (DFD) ซึ่งเป็นฟิล์มโพลิเมอร์ ที่เป็นชั้นเลเยอร์สำหรับเก็บข้อมูลชนิดใหม่ที่มีความบางมากกว่า ช่วยให้แผ่นจานแสง (Optical Disc) สามารถบรรจุข้อมูลได้สูงสุดถึง 1 TB. และมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะทำให้ได้ถึง 10 TB. ต่อแผ่นเลยทีเดียว ด้วยความจุระดับนี้ มันจึงเพียงพอต่อการใช้เป็นสื่อกลางของแผ่นเกมส์ และแผ่นภาพยนตร์ขนาดใหญ่ได้อย่างสบาย ต่อให้เป็นภาพยนตร์ระดับ 8K HDR ก็ยังมีที่พอที่จะใส่มันลงในแผ่นได้
แม้ว่าเทคโนโลยีที่ Folio Photonics ใช้ในตอนนี้จะออกแบบมาเพื่อใช้กับพื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Mass storage) และฮาร์ดไดร์ฟ แต่มันสามารถนำมาปรับใช้กับแผ่น Blu-Ray ที่นิยมใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ปัญหามีเพียงอย่างเดียวคือ แผ่น Blu-Ray ชนิดใหม่นี้ ไม่สามารถเปิดอ่านได้ด้วยเครื่องเล่นในปัจจุบัน เครื่องเล่นแผ่น หรือหัวอ่านจะต้องถูกอัปเกรดใหม่ให้รองรับด้วย
ในความเป็นจริง มีหลายบริษัทที่ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาแผ่นจานแสง ความจุสูงระดับ TB. ออกมาหลายบริษัทแล้ว แต่ที่ทำให้ Folio Photonics น่าสนใจคือ มันไม่ได้เป็นการพัฒนาแผ่นชนิดใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการสร้างเทคโนโลยีทีที่ทำให้แผ่น Blu-Ray ที่มีอยู่แล้วเก็บข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาในการเติบโตของเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้เร็วกว่า แถมยังเป็นเทคโนโลยีที่ราคาถูกมากด้วย
ที่น่าสนใจคือ เหมือนเราจะไม่ต้องรอนาน เพราะบริษัท Folio Photonics ประกาศว่าเครื่องอ่าน และแผ่น Blu-Ray แบบใหม่นี้ จะพร้อมเข้าสู่ตลาดในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) นี้แล้ว อีกเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ในตอนนั้นเราน่าจะได้เห็นการวางจำหน่ายคอนเทนท์ระดับ 8K กันมากขึ้นอย่างแน่นอน
ปัญหาเรื่องแผ่นมีความจุไม่พอเก็บไฟล์อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก สำหรับยุคที่ อินเทอร์เน็ต (Internet) มีความเร็วสูงมากขนาดนี้ ยกตัวอย่างเช่นเกม Call of Duty: Modern Warfare 2 ที่มีวางจำหน่ายแบบแผ่น ก็เลือกที่จะใส่ไฟล์มาแค่ 72.23 MB. เท่านั้น พอผู้เล่นใส่แผ่นเกมเข้าไปในเครื่อง ระบบก็จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อโหลดไฟล์เพิ่มเติมอีก 150 GB. หรือจริง ๆ ก็ไม่ต้องมีแผ่นเลย กดซื้อเกมส์จากร้านค้าออนไลน์ แล้วดาวน์โหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ได้โดยตรง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มีหลายคนไม่ชอบระบบร้านค้าออนไลน์สักเท่าไหร่นัก ด้วยหลายเหตุผลที่ว่า ...
กรณีที่เป็นแผ่น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นหนังภาพยนตร์ หรือแผ่นเกมส์ก็ตาม หากเราดูมัน หรือเล่นจนจบแล้ว เราสามารถที่จะขายต่อเป็นสินค้ามือสองได้ หรืออยากเก็บเป็นของสะสมก็ตามแต่ ในขณะที่ระบบออนไลน์ เราไม่สามารถขายเป็นของมือสองได้ นอกจากว่าจะขายไอดีไปเลย
อีกปัญหาหนึ่งคือ หากร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวเกิดปิดตัวลง คุณก็จะไม่สามารถดาวน์โหลดเกมที่คุณเคยซื้อไว้แล้วได้อีกต่อไป ส่วนเรื่องการดาวน์โหลดมาเก็บก่อนที่เซิร์ฟเวอร์จะปิดตัวลง ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจะติดปัญหาเรื่อง การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล (Digital Rights Management - DRM) ที่จะต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน สามารถกล่าวอีกนัยหนึ่งได้เลยว่า เวลาคุณซื้อเกม หรือภาพยนตร์ออนไลน์มา คุณไม่ได้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ คุณเหมือนได้สิทธิ์ในการเข้าใช้งานเท่านั้น คล้ายกับการเช่าใช้งานสินค้าในระยะยาวจนกว่าร้านค้าจะปิดตัวลงนั่นแหละ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |