ในตอนที่เราทำบทความอธิบายเรื่องการทำ Disk Cloning และ Disk Imaging ได้มีเพื่อนทักมาถามว่า "ไฟล์อิมเมจ" มันคืออะไร ไฟล์รูปเหรอ ? ก็ต้องอธิบายกันไปว่ามันคือไฟล์ดิสก์อิมเมจ ซึ่งก็มีอยู่หลายนามสกุลอีก ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้
ดิสก์อิมเมจ (Disk Image) เป็นไฟล์ชนิดหนึ่ง ที่รวบรวมเนื้อหาข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ใน "อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล" อย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD), อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD, แผ่น DVD, แผ่น CD, แผ่น Blu-Ray, แฟลชไดร์ฟ (Flash Drive) ฯลฯ มาบันทึกเอาไว้เป็นไฟล์เดียว ความพิเศษคือ จะมีการคงโครงสร้างเดิมของข้อมูลเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเข้าถึงไฟล์, ชื่อไดร์ฟ, รูปแบบพาร์ทิชัน (ลองดูภาพตัวอย่างด้านล่าง) ฯลฯ หรือถ้าเป็นดิสก์อิมเมจที่สร้างจากฮาร์ดไดร์ฟ เราสามารถนำมันไปใช้งานในรูปแบบของฮาร์ดไดร์ฟเสมือน (Virtual Hard Disk - VHD) ได้ด้วย
ไฟล์ดิสก์อิมเมจมีประโยชน์ในการใช้งานได้หลายอย่าง หลายคนอาจจะคิดว่ามันทำได้แค่การสำรองข้อมูลจากฮาร์ดไดร์ฟเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันถูกนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายด้าน เช่น
สมมติว่าเราซื้อแผ่น CD เพลง หรือแผ่น DVD/ Blu-Ray หนังมา แล้วไม่อยากใช้งานแผ่นบ่อย เพราะกลัวเป็นรอย เราก็นำแผ่นมาบันทึกเป็นไฟล์ดิสก์อิมเมจ เวลาต้องการฟังเพลง หรือรับชมภาพยนตร์ก็เล่นจากไฟล์ดิสก์อิมเมจแทน ส่วนแผ่นก็เก็บลงกล่องไว้เป็นของสะสม
ไฟล์ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows 11 ในรูปแบบไฟล์ดิสก์อิมเมจ
หากต้องการเปลี่ยนฮาร์ดไดร์ฟใหม่ แทนที่เราจะต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่, ลงโปรแกรม, ตั้งค่า ฯลฯ เราสามารถเลือกใช้วิธี Disk Cloning แทน ซึ่งนอกเหนือจากการโคลนจากฮาร์ดไดร์ฟโดยตรงแล้ว เราสามารถโคลนไดร์ฟจากไฟล์ดิสก์อิมเมจได้เช่นกัน
การสำรองข้อมูลภายในไดร์ฟ ถ้ามีไฟล์อยู่หลายโฟลเดอร์ การคัดลอกไฟล์ทีละโฟลเดอร์ค่อนข้างเสียเวลา การกู้คืนก็ต้องจดจำตำแหน่งไฟล์ด้วย การทำไฟล์อิมเมจทั้งพาร์ทิชันทำให้การสำรอง และกู้คืน สะดวก และรวดเร็วกว่ามาก
การใช้งานไฟล์ดิสก์อิมเมจ ผู้ใช้สามารถเปิดไฟล์ได้โดยตรงเลย ไม่ว่าจะเป็น ระบบปฏิบัติการ Windows, macOS หรือว่า Linux ก็ตาม ตัวระบบจะจำลองไดร์ฟขึ้นมาให้เหมือนกับการใช้งานแผ่น CD/ DVD
อย่างไรก็ตาม หากตัวไฟล์ดิสก์อิมเมจสร้างขึ้นในระบบปฏิบัติการอื่น เช่น มีพาร์ทิชันที่สร้างขึ้นด้วย Linux แต่เรามาเปิดไฟล์อิมเมจดังกล่าวบนระบบปฏิบัติการ Windows มันอาจจะไม่สามารถจำลองไดร์ฟได้โดยตรง กรณีนี้ก็อาจจะต้องใช้ โปรแกรมบุคคลที่สาม (3rd-Party Software) เข้ามาช่วยในการเปิดดูไฟล์
ไฟล์ดิสก์อิมเมจมีอยู่หลายชนิด โดยมี นามสกุลไฟล์ (File Extension) มากกว่า 160 ประเภท เราจะกล่าวถึงเฉพาะนามสกุลที่นิยมใช้งาน มีโอกาสพบเจอบ่อย ๆ ละกันนะ
ไฟล์ดิสก์อิมเมจประเภทนี้ ที่นิยมใช้ในการเก็บข้อมูลจากแผ่นดิสก์เก็บข้อมูล เช่นแผ่น CD, DVD หรือ Blu-ray ที่ใช้ระบบไฟล์แบบ ISO 9660
ไม่ต่างอะไรจากไฟล์ ISO เดิมทีใช้ในการสำรองไฟล์ของ แผ่นฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk) หรือ แผ่นดิสเกตต์ (Diskette) แต่ปัจจุบันนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการทำไฟล์ดิสก์อิมเมจแทน เนื่องจากมีโครงสร้างการทำงานเหมือนกัน เราสามารถเปลี่ยนเป็น ISO ได้ง่าย ๆ ด้วยการแก้ไขชื่อไฟล์โดยตรง
เป็นไฟล์ดิสก์อิมเมจของ Apple ที่ใช้ในเผยแพร่ซอฟต์แวร์ของ Mac
เป็นไฟล์ดิสก์อิมเมจแบบ RAW ที่มีนามสกุลประกอบด้วยตัวเลข และไฟล์ Configuration (.DIM) ที่กำหนดค่าพาร์ทิชัน
เป็นมาตรฐานไฟล์แบบ กรรมสิทธิ์ (Proprietary) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Nero AG สำหรับการเข้ารหัสไฟล์ในโปรแกรม Nero Burning Rom โปรแกรมอื่น ๆ อย่างเช่น โปรแกรม Daemon Tools และ โปรแกรม Alcohol 120% ก็สามารถนำไฟล์ .NRG มาจำลองไดร์ฟได้เช่นกัน
ย่อมาจาก Media Descriptor File เป็นมาตรฐานไฟล์แบบ Proprietary อีกชนิดหนึ่ง ที่พัฒนาขึ้นมาโดยโปรแกรม Alcohol 120% รองรับการแยกแทรค Audio, Multi-layered Media, CDs
เป็นไฟล์ดิสก์อิมเมจที่บันทึกข้อมูลแบบ ระบบเลขฐานสอง (Binary Number System) ทั้งหมดของดิสก์ หรือไดร์ฟไว้เป็นไฟล์เดียว พร้อมกับไฟล์ข้อมูลจำเพาะ (Metadata)
สำหรับคนที่ต้องการสร้างไฟล์อิมเมจ แนะนำให้ลอง อ่านบทความด้านล่างนี้ ดูเรามีแนะนำโปรแกรมที่สามารถสร้างไฟล์ดิสก์อิมเมจให้เลือกใช้งานเพียบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : แนะนำ โปรแกรมสำหรับทำ Disk Cloning ให้การเปลี่ยนฮาร์ดไดร์ฟใหม่ และสำรองข้อมูลเป็นเรื่องง่าย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |