บทความนี้เราจะมาว่าด้วยเรื่องการเชื่อมต่อ ลำโพง (Speaker) หรือซาวด์บาร์ (Soundbar) เข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งอ่านแล้วอาจสงสัยว่ามันจะมีอะไรยาก คือถ้าลำโพงมันไม่ได้ให้ทางเลือกเรามาเยอะ มันก็ไม่มีอะไรต้องคิดมาก โดยส่วนใหญ่ลำโพงคอมพิวเตอร์แบบทั่วไปก็จะนิยมใช้หัว AUX, RCA หรือไม่ก็ พอร์ต USB ในการรับสัญญาณเสียง ผู้ผลิตให้อะไรมา ก็ใช้อันนั่นแหละ
แต่ถ้าลำโพงที่คุณซื้อมามีตัวเลือกให้เชื่อมต่อได้หลายรูปแบบล่ะ เพราะสายสัญญาณเสียง (Audio Cable) นั้นก็มีอยู่หลายชนิด มี S/PDIF → USB → AUX → HDMI → Optic และ RCA เราควรจะเลือกต่อผ่านหัวชนิดไหนดี ? มาหาคำตอบกัน
อนึ่ง ถ้าขี้เกียจอ่าน คุณภาพเสียงจะเรียงจากดีสุดไปแย่สุดได้ดังต่อไปนี้
HDMI eARC → TOSLINK (Optical) → S/PDIF → USB → RCA → Aux
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่รองรับการต่อลำโพงด้วยสาย HDMI eARC นอกเสียจากว่า คุณจะใช้จอทีวีเป็นจอคอมพิวเตอร์ แล้วต่อลำโพงเข้ากับทีวีแทน ดังนั้น ตัวเลือกสำหรับคนทั่วไป จึงจะเป็นสาย TOSLINK (Optical) หรือไม่ก็ S/PDIF
ลำโพง Klipsch The Fives ที่สามารถเลือกการเชื่อมต่อได้หลายรูปแบบ
ภาพจาก : https://www.amazon.com/Klipsch-Fives-Powered-Speaker-System/dp/B08KYPGC1D?th=1
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสายสัญญาณเสียง หรือ Audio Cables กันก่อน ซึ่งก็มีอยู่หลายมาตรฐาน แต่ที่ส่วนใหญ่นิยมใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็จะมีสาย AUX, S/PDIF, RCA, USB, Optic และ HDMI
สาย AUX ของ UGREEN
ภาพจาก : https://www.ugreen.co.th/product/444/ugreen-aux-3-5mm-cable-90-degrees-stylish-auxiliary-audio-flat-design
สาย AUX มีชื่อแบบเต็มยศว่า Auxiliary connector แต่หลายคนก็นิยมเรียกว่าสายแบบ 3.5 มม. คุณอาจจะแปลกใจหากได้รู้ว่ามันเป็นพอร์ตที่ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 (พ.ศ. 2420)
รูปแบบสัญญาณที่ใช้ในสาย AUX จะเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ถูกส่งแบบแอนะล็อก (Analog) ผ่านสายทองแดงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากมันเป็นมาตรฐานที่มีร้อยกว่าปีแล้ว เราจึงสามารถเห็นมันได้ในอุปกรณ์หลากหลายประเภททั้งในวิทยุ, ลำโพง, เครื่องเสียงรถยนต์, สมาร์ทโฟน, เครื่องเล่นเพลง, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
สาย RCA
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/RCA_connector
สาย RCA เป็นมาตรฐานสายที่บริษัท Radio Corporation of America สร้างขึ้นมาในปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) มันเป็นสายที่ส่งสัญญาณได้ทั้งวิดีโอ และเสียง โดย สายสีเหลืองจะเป็นสายสัญญาณวิดีโอ ส่วนสายสีแดง และสีขาวจะเป็นสายสัญญาณเสียงแบบสเตอริโอ
การทำงานของสาย RCA จะเป็นสัญญาณเสียงแบบแอนะล็อก สามารถใช้งานกับระบบเสียงรอบทิศทางได้ด้วยการใช้ช่อง RCA หลายช่องทำงานร่วมกัน ด้วยความที่มันออกแบบมาอย่างเรียบง่าย ทำให้ลำโพงหลาย ๆ รุ่นก็ยังคงให้ช่องนี้มาอยู่
ระบบเสียงรอบทิศทางที่ใช้สาย RCA ในการทำงาน
ภาพจาก : https://www.the-home-cinema-guide.com/rca-surround-sound.html
สาย S/PDIF ของ Pro Co
ภาพจาก : https://www.amazon.com/Pro-Co-Premium-Canare-Cable/dp/B00863URTM
S/PDIF หรือ SPDIF ย่อมาจาก Sony/Philips Digital Interface ดังนั้นเดาไม่ยากเลย ว่ามันเป็นมาตรฐานที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัท Sony และ Philips นั้นเอง มันเปิดตัวในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการส่งสัญญาณเสียงแบบดิจิทัลไปยังอุปกรณ์อื่นในระยะทางสั้น ๆ เช่น ระหว่างเครื่องเล่น Blu-ray กับลำโพง
ชื่อ S/PDIF ไม่ใช่ชื่อสาย แต่เป็นมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่ใช้โปรโตคอลแบบ 16 บิต รองรับการส่งสัญญาณ DTS multi-channel และ Dolby Digital ได้ รูปแบบสายจะมี 2 ชนิด คือสาย Coaxial และสาย Optic สามารถส่งสัญญาณเสียงรอบทิศทางได้โดยใช้สายเพียงเส้นเดียว
ทั้งนี้ สาย Coaxial กับสาย RCA ถึงแม้หน้าตาจะเหมือนกัน แต่มันแตกต่างกันนะ โดย Coaxial นั้นเป็นมาตรฐานของสาย ส่วน RCA เป็นมาตรฐานของหัวเชื่อมต่อ ปัจจุบันนี้ สาย RCA ถือว่าเป็นเทคโนโลยีล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่ Coaxial ยังคงมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
สาย USB Audio ของ Clicktronic
ภาพจาก : https://www.av-connection.com/?PGr=6012
สาย Universal Serial Bus (USB) เป็นสายแบบดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ใช้งานได้แบบครอบจักรวาล และการส่งสัญญาณเสียงก็เป็นหนึ่งในความสามารถที่สาย USB ทำได้ เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าสาย S/PDIF หรือสาย USB มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่ากัน แม้จากการทดสอบจะพบว่าค่าความบิดเบือน (Distortion) และสัญญาณรบกวนของสาย USB จะต่ำกว่าสาย S/PDIF แต่ก็ต่างกันเพียงเล็กน้อย จนแยกไม่ออก สะดวกช่องไหน ก็สามารถใช้งานช่องนั้นได้เลย
การส่งสัญญาณผ่านสาย USB จะมีมาตรฐานที่เรียกว่า USB Audio Class ปัจจุบันมีออกมาแล้ว 3 เวอร์ชัน สามารถส่งสัญญาณเสียงได้สูงสุด 24 บิต 96 kHz ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 132 Mbps
สาย TOSLINK หรือ Optical Audio Cable ของ WARRKY
ภาพจาก : https://www.amazon.com/Optical-Braided-Digital-Toslink-Compatible/dp/B091GNS8ML
สาย TOSLINK หรือสาย Optical Audio เป็นอีกหนึ่งสายสัญญาณแบบดิจิทัลที่นิยมใช้งานกัน เป็นสายที่บริษัท Toshiba พัฒนาขึ้นมาในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อลำโพงเข้ากับเครื่องเล่น CD โดยใช้สายใยแก้วนำแสง (Fiber optic) ในการทำงาน
จุดแข็งของสาย TOSLINK คือการที่มันใช้สายใยแก้วนำแสง ทำให้สัญญาณไม่ถูกรบกวนจากสัญญาณไฟฟ้าได้ง่ายเหมือนกับสายชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในลำโพง หรือหูฟังคุณภาพสูง จะมีชิปที่สามารถกรองสัญญาณรบกวนในตัวอยู่แล้ว ทำให้ในการใช้งานจริง คุณภาพเสียงก็ไม่แตกต่างกันมากนัก
แม้ TOSLINK จะเป็นสายที่มีมานานแล้ว และความนิยมก็ไม่สูงมากนัก เนื่องจากอุปกรณ์ที่รองรับมีน้อยเมื่อเทียบกับสายชนิดอื่น ๆ แต่มันได้รับการปรับปรุงคุณสมบัติในการทำงานให้รองรับการใช้งานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Hi-Res Audio, Dolby TrueHD, DTS HD Master Audio และ Spatial Audio ได้ด้วย ทำให้มีมีคนหันมาสนใจใช้งานสาย TOSLINK กันมากขึ้น เพราะสาย TOSLINK สามารถรับสัญญาณเสียงระดับ 24-bit 192khz ได้อย่างสบาย ๆ
ถ้าถามว่าสายแบบไหนดีที่สุดในตอนนี้ สามารถตอบได้ทันทีเลยว่า ณ ตอนนี้ คือสาย HDMI หรือถ้าจะให้เจาะจงลงไปยิ่งกว่านั้นคือ HDMI eARC
คำว่า "HDMI" นั้นย่อมาจากคำว่า "High-Definition Multimedia Interface" เป็นอินเทอร์เฟซที่ออกแบบมาสำหรับส่งสัญญาณวิดีโอ และเสียงแบบดิจิทัล มีแบนด์วิธขนาดใหญ่พอที่จะรองรับสัญญาณแบบบีบอัด (Compressed) และไม่บีบอัด (Uncompressed) ได้อย่างสบาย ๆ
ในเรื่องของเสียง สาย HDMI จะมีอยู่ 2 ระบบ คือ HDMI ARC (Audio Return Channel) และ HDMI eARC (Enhanced Audio Return Channel)
โดย HDMI ARC เปิดตัวมาพร้อมกับ HDMI เวอร์ชัน 1.4 ที่ช่วยให้สัญญาณเสียงสามารถส่งผ่านสาย HDMI ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้สาย Audio อีกต่อไป ซึ่งอุปกรณ์ที่มี HDMI ส่วนใหญ่เกือบ 100% จะรองรับคุณสมบัตินี้อยู่แล้ว
ในขณะที่ HDMI eARC เป็นการอัปเกรดต่อจาก HDMI ARC ประโยชน์หลักของมันคือการเพิ่มแบนด์วิธ และความเร็วเข้าไปทำให้การส่งสัญญาณเสียงมีคุณภาพสูงขึ้น โดยมีช่องส่งสัญญาณเสียงมากถึง 32 ชาแนล รองรับสัญญาณความละเอียดสูงสุดถึง 24bit/192kHz และส่งสัญญาณเสียงแบบยังไม่ได้บีบอีดได้เร็วถึง 38 Mbps
นั่นหมายความว่า HDMI eARC รองรับได้ทั้ง Dolby TrueHD, DTS-HD Master Audio, Dolby Atmos และ DTS:X อย่างไรก็ตาม แม้ว่า eARC จะเป็นส่วนหนึ่งของ HDMI เวอร์ชัน 2.1 แต่มันอาจจะอยู่ในอุปกรณ์ที่มี HDMI เวอร์ชันต่ำกว่าก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าทางผู้ผลิตจะใส่มาให้หรือไม่ เพียงแต่ถ้ามี HDMI เวอร์ชัน 2.1 จะเป็นการรับประกันว่ามันรองรับ eARC อย่างแน่นอน เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ไม่มีระบบ HDMI eARC ให้ใช้งาน
ลองมาอ่านการเปรียบเทียบสายสัญญาณแบบดิจิทัลที่ลำโพง หรือซาวด์บาร์ในปัจจุบันนิยมใช้กันสักหน่อย อย่างไรก็ตาม
คุณสมบัติ | TOSLINK | HDMI ARC | HDMI eARC |
ประเภทสาย | Optic/S/PDIF | HDMI | HDMI with Ethernet |
รองรับ Stereo | ได้ | ได้ | ได้ |
Compressed 5.1 | ได้ | ได้ | ได้ |
Uncompressed 5.1 | ไม่ได้ | ไม่ได้ | ได้ |
Uncompressed 7.1 | ไม่ได้ | ไม่ได้ | ได้ |
High Bitrate & Object Based 24 บิต/192 kHz เช่น Dolby Atmos, DTS:X | ไม่ได้ | ไม่ได้ | ได้ |
Audio bandwidth สูงสุด | ~384 Kbits/sec | ~1 Mbits/sec | ~37 Mbits/sec |
การค้นพบ | ไม่ | Consumer Electronics Control (CEC) | eARC data channel |
รองรับ eARC (Audio EDID ฯลฯ) | ไม่ | Consumer Electronics Control (CEC) | eARC data channel |
Lip Sync Correction | ไม่ | แล้วแต่ผู้ผลิต | บังคับให้มี |
ปิดเสียงทีวี และควบคุมเสียง | ไม่ | ได้ (CEC) | ได้ (CEC) |
จ่ายไฟให้เครื่องเสียง | ไม่ | ได้ (CEC) | ได้ (CEC) |
ARC Fallback | ไม่ได้ | - | ได้ |
ถ้าเป็นทีวีก็ง่าย เพราะสาย HDMI กับทีวีเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่สำหรับคอมพิวเตอร์เราไม่สามารถต่อสัญญาณด้วยสาย HDMI ได้โดยตรง เพราะคอมพิวเตอร์ใช้มันในการส่งสัญญาณภาพ หน้าจอบางรุ่นที่มีลำโพงในตัว เสียงก็จะถูกปล่อยออกมาที่จอได้ก็จริง แต่ลำโพงที่มากับจอก็ค่อนข้างแย่ คุณภาพสู้กับลำโพงแยกไม่ได้อย่างแน่นอน นอกเสียจากว่าคุณจะใช้ทีวีเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วเอาลำโพงไปต่อเข้ากับทีวี ซึ่งไม่ใช่ตัวเลือกคนส่วนใหญ่
ถ้าดูตามสเปคของสายแล้ว แน่นอนว่า ในขณะนี้ สาย HDMI eARC เป็นสายที่มีคุณสมบัติในการทำงานดีที่สุด แต่คุณภาพของเสียงมันก็ไม่ได้อยู่ที่สายเพียงอย่างเดียว คุณภาพของลำโพง หรือซาวด์บาร์ก็มีผลเช่นกัน แถมยังเป็นส่วนที่สำคัญกว่าประเภทของสายสัญญาณเสียอีก
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอาลำโพง JBL ปลอม มาต่อเข้าคอมพิวเตอร์ผ่านสาย TOSLINK เสียงมันก็คงจะมีคุณภาพสู้กับลำโพง Audioengine A5+ ของแท้ที่ต่อผ่านสาย AUX ไม่ได้อยู่ดี
นอกจากนี้ ในแง่ของการใช้จริง คุณภาพของเสียงจะแสดงได้เต็มที่ก็เมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสมด้วย มันต้องเป็นการเล่นผ่านเสียงผ่านลำโพง, ซาวด์การ์ดถอดรหัส และไฟล์ที่มีคุณภาพสูง จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ หากเป็นการใช้งานทั่วไป เช่น Spotify, YouTube, Netflix ฯลฯ ซึ่งเป็นบริการที่สัญญาณเสียงไม่ได้ต้องการแบนด์วิธสูงเป็นพิเศษ จะต่อผ่านสายอะไร เสียงก็ไม่ต่างกัน หรือถ้าต่าง ก็น้อยมากจนแทบไม่ส่งผลต่อการทำงานของลำโพงแม้แต่นิดเดียว
ดังนั้น ไม่ต้องคิดมาก ลำโพงมีสายอะไรให้ต่อ ก็ต่อไปเถอะ แต่ถ้ามีให้เลือกได้หลายรูปแบบก็เลือกอะไรก็ได้ที่เป็นระบบดิจิทัลอย่างเช่น TOSLINK หรือไม่ก็ S/PDIF ส่วนพอร์ต USB ผู้เขียนมองว่าเก็บไว้ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์อย่างอื่นดีกว่า
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |