ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แล็ปท็อป (Laptop) กับ โน้ตบุ๊ค (Notebook) เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย ปัจจุบันนี้ แนวทางการออกแบบโน้ตบุ๊กจะเน้นที่ความบาง และน้ำหนักเบา อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามันจะสะดวกสบายขึ้น แต่ก็มีปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้โน้ตบุ๊กยุคนี้ต้องหนักใจ นั่นคือ การขาดพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านดีไซน์ที่เน้นความบางทำให้พอร์ตที่มีขนาดใหญ่ถูกตัดออกไป เป็นเรื่องธรรมดาที่โน้ตบุ๊กในยุคนี้จะมีแค่เพียงพอร์ต Thunderbolt หรือ USB-C ใส่มาเท่านั้น
หากคุณสงสัยว่า จะเสียบอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ากับโน้ตบุ๊กได้อย่างไร ?" คำตอบคือการใช้ "USB Hub" หรือ "Docking Station"
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งมีความสับสนระหว่าง USB Hub และ Docking Station บางครั้งคำทั้งสองนี้อาจถูกใช้แทนกัน แม้ว่าพวกมันจะมีคุณสมบัติการทำงานบางอย่างที่ทับซ้อนกัน แต่โดยพื้นฐานแล้ว มันก็มีความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้ ซึ่งเราก็จะมาอธิบายกันในบทความนี้กัน
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนเหมือนเป็นธรรมเนียมกันไปแล้ว คือ โน้ตบุ๊ก และ MacBook จะบางลงเรื่อย ๆ แต่ด้วยความเพรียวบางที่ยิ่งใหญ่ ก็มาพร้อมกับการเสียสละที่ใหญ่ยิ่ง ซึ่งในกรณีนี้คือพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ถ้าไม่ใช่โน้ตบุ๊กสาย Gaming เราจะสังเกตเห็นเลยว่า มันไม่ค่อยมีพอร์ต HDMI, LAN, AUX, และตัวอ่านข้อมูลจากการ์ดเก็บข้อมูล (Card Reader) ใส่มาให้แล้ว จำนวนพอร์ต USB-A ก็น้อยลงมาก หรือไม่มีเลยด้วยซ้ำ ใส่มาแค่พอร์ต Thunderbolt หรือ USB-C ไม่กี่ช่องเท่านั้น
USB Hub จึงกลายเป็นอุปกรณ์เสริม ที่สำคัญมากต่อผู้ใช้งานโน้ตบุ๊กในปัจจุบันนี้
USB Hub เปรียบเสมือนเวอร์ชันย่อส่วนของ Docking Station เราสามารถมองว่า Hub เป็นตัวขยายพอร์ต ช่วยให้ผู้ใช้มีพอร์ต USB-A/USB-C เพิ่มเติม แต่ด้วยความสามารถของพอร์ต Thunderbolt หรือ USB-C ที่สามารถส่งสัญญาณภาพ และเสียงได้ด้วย ทำให้ USB Hub ส่วนใหญ่รวมเอาพอร์ต พอร์ต HDMI, Power Delivery (PD), LAN และ Card Reader เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมดเลย
โดยทั่วไปแล้ว USB Hub จะมีขนาดเล็กกว่า, ออกแบบมาเพื่อความสะดวกในการพกพา และราคาก็ถูกกว่า Docking Station ด้วย และในการทำงาน USB Hub มักจะดึงพลังงานจากโน๊ตบุ้กที่เชื่อมต่ออยู่มาใช้ในการทำงาน
ภาพจาก : https://www.techadvisor.com/article/724406/usb-c-hubs.html
สำหรับ Docking Station ส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่า USB Hub มีจำนวนพอร์ตที่สูงกว่า และรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่อพ่วงได้หลากหลายกว่า
ส่วนใหญ่แล้ว USB Hub มักจะรองรับการต่อกับหน้าจอแสดงผลได้ 1 จอ แต่ Docking Station มันถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อจอแสดงผลหลายจอ, แหล่งเสียง และอุปกรณ์ต่อพ่วงอีกหลากหลายชนิด เช่น คีย์บอร์ด และเมาส์ รวมถึงมันยังสามารถชาร์จอุปกรณ์ และจ่ายพลังงานให้กับโน้ตบุ้กได้ด้วย นอกจากนี้ Docking Station ยังมักมาพร้อมกับพอร์ต Ethernet เพื่อให้คุณเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแบบมีสายที่เชื่อถือได้ในกรณีที่ Wi-Fi มีปัญหา
แม้ว่าตัว Docking Station จะมีขนาดที่เล็กพอจะพกพาไปไหนมาไหนได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว Docking Station มักถูกมองว่าเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนโต๊ะทำงานเป็นหลักมากกว่า ตามชื่อ Station ที่แปลว่าสถานี
Docking Station มักมีพอร์ตมาให้หลายชนิดมากกว่า USB Hub อย่างชัดเจน เช่น Thunderbolt 4, USB4, USB-C ในการเชื่อมต่อกับจอแสดงผล ก็รองรับได้ทั้ง VGA, DisplayPort และ HDMI ที่ความละเอียดระดับ UHD เช่น 4K และ 8K
อย่างไรก็ตาม ราคาของ Docking Station ก็แพงกว่า USB Hub อยู่พอสมควร
ภาพจาก : https://plugable.com/products/tbt4-udz
USB Hub กับ Docking Station แม้จะมีคุณสมบัติการทำงานที่คล้ายคลึงกัน จนเหมือนจะใช้งานแทนกันได้ แต่มันก็ยังความแตกต่างกันอยู่ดี ไม่อย่างนั้น ขนาด และราคาของมันคงไม่แตกตกันขนาดนั้น มาเข้าใจความแตกต่างของมันกัน จะได้เลือกซื้อมาใช้งานได้ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด
หนึ่งในความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด มักจะอยู่ที่พอร์ตที่มีอยู่ USB Hub มักมีขนาดเล็ก เมื่อพื้นที่มีจำกัดจึงทำให้มันจำกัดจำนวนพอร์ตที่สามารถใส่เข้ามาได้ เมื่อเทียบกับ Docking Station
USB Hub จำเป็นต้องใช้พลังงานจากการเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กของคุณ ดังนั้น เมื่อนำอุปกรณ์มาต่อชาร์จแบตเตอรี่ผ่าน Hub พลังงานที่ออกมาจะขึ้นอยู่กับอัตราการจ่ายไฟของพอร์ตบนโน้ตบุ๊ก ซึ่งมันก็มักจะไม่ได้จ่ายพลังงานได้สูงมากนัก
ในขณะที่ Docking Station มักจะมีแหล่งจ่ายไฟเฉพาะของตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก มันจึงสามารถจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ที่นำมาต่อพ่วงได้สูงกว่ามาก
จากความแตกต่างในการออกแบบ ส่งผลให้ USB Hub มักจะจำกัดความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล โดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ 5-10 Gbps เท่านั้น ในขณะที่ Docking Station มักมีความเริ่มต้นที่ 10 Gbps ไปจนถึง 40 Gbps เลยทีเดียว
ขนาดของอุปกรณ์ก็แตกต่างกันด้วย USB Hub มักถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก, พกพาง่าย และเหมาะสำหรับการเดินทาง ในขณะที่ Docking Station มักจะต้องการพื้นที่มากกว่าเพื่อรองรับวงจรจ่ายไฟภายใน และความหลากหลายของพอร์ตที่สามารถเข้าถึงได้บนอุปกรณ์ ทำให้ตัวมันใหญ่, หนา และมีน้ำหนักมากกว่า แม้จะพกพาได้ แต่ก็ไม่สะดวกมากนัก
ราคาก็เป็นปัจจัยในการเลือกซื้อ USB Hub มักมีไม่กี่ร้อยจนถึงหลักพันต้น ๆ ในขณะที่ Docking Station บางรุ่นอาจมีราคาแตะหลักหมื่นได้เลย จะเห็นได้ว่า USB Hub มีราคาที่ถูกกว่ามากพอสมควร
ควรพิจารณาจากสถานการณ์ในการใช้งาน และความต้องการของคุณก่อนตัดสินใจ ว่าคุณคาดหวังอะไรบ้างจากอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ ซึ่งเราคิดว่าในการเลือกสามารถตัดสินได้ ดังนี้
ถ้าคุณต้องการอุปกรณ์ที่ราคาถูก และพกพาสะดวก พวกมันง่ายต่อการพกติดตัวไปในกระเป๋าโน้ตบุ้กโดยไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ
เหมาะสำหรับการใช้งานอยู่กับที่ ไม่ค่อยเคลื่อนย้ายบ่อย งานที่ต้องการความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูง และมีพอร์ตให้เลือกมากมาย
ตอนนี้คุณผู้อ่านก็น่าจะทราบความแตกต่างระหว่าง USB Hub กับ Docking Station แล้ว หากกำลังประสบปัญหาว่าโน้ตบุ้กมีพอร์ตไม่พอใช้งาน หรือไม่มีพอร์ตที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เพิ่มเติมได้ ก็ลองพิจารณาหาซื้อพวกมันมาแก้ปัญหากันดูนะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |