สำหรับ Ultra Mobile PC (UMPC) จัดเป็นอุปกรณ์ไฮเทคที่ล้ำสมัยมากในตอนที่มันเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แต่ถ้าเอ่ยถึง UMPC ในปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่รู้จักกับอุปกรณ์ประเภทนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราสังเกตพบว่า คอมพิวเตอร์แบบ UMPC ได้เริ่มมีมาวางจำหน่ายอีกครั้ง
บทความนี้ก็เลยขออนุญาตถือโอกาส พาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับคอมพิวเตอร์ประเภทนี้กันให้มากขึ้น
UMPC หรือชื่อเต็มๆ ว่า Ultra Mobile PC (Ultra-Mobile Personal Computer) จัดเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเป็นพิเศษ เล็กยิ่งกว่า โน้ตบุ๊ก (Notebook) เสียอีก โดยผู้ผลิตรายแรกที่สร้างมันขึ้นมาวางจำหน่ายเป็นรายแรกคือ Sony โดยในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ได้เปิดตัว Vaio U series คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเป็นพิเศษ รองรับการสั่งงานผ่านหน้าจอสัมผัส และสไตลัส โดยวางขายเฉพาะในโซนเอเชียเท่านั้น แต่ในตอนนั้นมันก็ยังไม่ได้มีชื่ออุปกรณ์ประเภทนี้ว่า UMPC หรอกนะ
UMPC ของ Sony Vaio U series VGN-U50
ภาพจาก : https://m.todaysppc.com/renewal/view.php?id=free&no=118525
ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549) บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Microsoft, Intel และ Samsung ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการที่ใช้ชื่อว่า "Origami" เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ที่จะมาเติมเต็มในช่องว่างระหว่างสมาร์ทโฟน กับโน้ตบุ๊ก ซึ่งทาง Microsoft ได้ตั้งชื่ออุปกรณ์ในแพลตฟอร์มนี้ว่า "UMPC"
โดย UMPC เป็นคอมพิวเตอร์ที่ถูกลดประสิทธิภาพลง เพื่อให้สามารถลดขนาดตัวเครื่องลงมาให้ได้ใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟน สามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ ทำงานเอกสารทั่วไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อย่าไปพูดถึง มันช้าจนไม่สามารถเล่นเกมอะไรได้เลย นอกจากพวกเกม Solitaire หรือ Minesweeper ที่ติดมากับ ระบบปฏิบัติการ Windows
ในส่วนของระบบปฏิบัติการ UMPC เวอร์ชันแรกนั้น ได้เลือกใช้เป็นระบบปฏิบัติการ Linux และระบบปฏิบัติการ Windows ที่ถูกปรับแต่งมาเป็นพิเศษ ในส่วนของสเปก ไม่มีกฏข้อบังคับว่า UMPC จะต้องมีสเปกเป็นอย่างไร ? แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มันจะเป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าจอแบบสัมผัสขนาด 4 นิ้ว - 8 นิ้ว
หัวใจสำคัญของ UMPC ที่ทำให้มันแตกต่างจากพวก Pocket PC หรือ Palm คือ การที่มันรองรับระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์ โดย UMPC รุ่นแรก ที่วางจำหน่ายอย่าง AMtek T700 และ Samsung Q1 จะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows XP ที่ปรับแต่งให้รองรับการสั่งงานผ่านหน้าจอสัมผัส ต่อมาก็มีรุ่นใหม่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Vista, Windows 7 หรือแม้กระทั่งระบบปฏิบัติการ Linux
UMPC ของ Samsung Q1
ภาพจาก : https://www.engadget.com/2007-11-14-samsungs-q1-umpc-down-to-580.html
หลังจากนั้นก็มีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายราย ที่พัฒนาอุปกรณ์ UMPC มาแข่งขันกัน แต่ว่าตลาด UMPC ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก อาจด้วยจากข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ในสมัยนั้น ที่ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) มีขนาดเล็กมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำมาก ทำให้มันทำงานช้า, หน้าจอสัมผัสก็ตอบสนองได้ไม่ดี ทำให้อุปกรณ์ UMPC นั้น กลายเป็นอุปกรณ์ราคาแพงที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ มันจึงไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมากนัก ทาง Microsoft ก็เลยยุติการทำตลาดโครงการ UMPC ไปในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)
UMPC ของ viliv N5 ที่ได้เปิดตัวในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)
ภาพจาก : https://www.amazon.ca/viliv-N5-1-33GHz-Windows-Handheld/dp/B003V1DQTW
แม้ Microsoft จะยุติโครงการ UMPC ไปแล้ว แต่อุปกรณ์ประเภท UMPC แม้จะไม่แพร่หลายเท่าโน้ตบุ๊ก แต่ก็มีการผลิตรุ่นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ มีทั้งที่เป็น UMPC โดยเฉพาะ หรือเป็นอุปกรณ์ลูกผสม เป็นได้ทั้งสมาร์ทโฟน (หรือแท็บเล็ต) แต่แปลงใช้งานเสมือนเป็นคอมพิวเตอร์ได้ด้วย
ก่อนที่ Windows 10 Mobile จะยอมแพ้ให้กับ iOS และ Android ไป ในตลาดสมาร์ทโฟนก็จะมี Windows 10 Mobile จาก Microsoft ที่แข่งขันในสมรภูมินี้ด้วย แต่ด้วยความที่มันออกแบบ มีแอปพลิเคชันให้เลือกใช้งานน้อยมาก มันจึงพ่ายแพ้ไปอย่างไร้ข้อโต้แย้ง แต่มันมีลูกเล่นหนึ่งที่ใครที่เคยใช้น่าจะชื่นชอบ นั่นคือ "Continuum"
มันเป็นลูกเล่นที่เราสามารถนำสมาร์ทโฟน Windows 10 Mobile ไปต่อกับหน้าจอ แล้วใช้งานเหมือนคอมพิวเตอร์ได้ในทันที
Windows Continuum
ภาพจาก : https://www.microsoft.com/th-th/windows/continuum
เป็นการทำงานรูปแบบ Desktop ที่ทาง Samsung ใส่เข้ามาในสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy (บางรุ่น) รูปแบบก็คล้ายคลึงกับ Windows Continuum แต่เป็นระบบปฏิบัติการ Android N ที่รองรับ Multi-Window mode ที่ให้ประสบการณ์ในการใช้งานแบบหลายหน้าต่างในเวลาเดียวกัน คล้ายคลึงกับการทำงานของระบบปฏิบัติการ Windows นั่นเอง
Samsung DeX
ภาพจาก : https://www.samsung.com/th/apps/samsung-dex/
เหมือนกับ Samsung DeX เลย แต่มาจากค่าย Huawei แทน ใช้งานได้ในสมาร์ทโฟน Huawei Mate (บางรุ่น) การทำงานเหมือนกันทุกประการ ต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับหน้าจอแล้วเริ่มใช้งานได้ในทันที
EMUI Desktop
ภาพจาก : https://nexdock.com/huawei-desktop-mode-laptop/
เหตุผลที่ UMPC ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เป็นเพราะแพลตฟอร์มมันแย่ แต่เหตุผลน่าจะมาจากการที่มันมาก่อนกาลในตอนที่เทคโนโลยียังไม่ดีพอเสียมากกว่า
แต่ด้วยเทคโนโลยีของ CPU ในปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นรุ่นเล็กประหยัดพลังงาน ทำให้มีผู้ผลิตนำมันมาผลิตเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กอีกครั้งหนึ่ง และในคราวนี้มีการนำจุดขายมาใส่เพิ่มด้วย เพื่อวางเป้าหมายกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนมากขึ้น นั่นคือความสามารถในการ "เล่นเกม"
สังเกตได้จากการที่ หากเราลองมองไปในตลาดเครื่อง UMPC ในตอนนี้ จุดขายส่วนใหญ่คือ เล่นเกมได้ มีจอยเกมโทรลเลอร์ในตัวเครื่องให้มาเลย และใช้ระบบปฏิบัติการ Windows เพื่อให้คุณสามารถเล่นเกมคอมพิวเตอร์แบบพกพาได้ทุกที่ที่ต้องการ
โดยเครื่องที่น่าจะเป็นตัวจุดกระแส UMPC ให้กลับมาอีกครั้ง เราคิดว่าน่าจะเป็น GPD Win ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) มันใช้ชิป Intel Atom x7-Z8700 และ Intel HD 405 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 ราคาก็ค่อนข้างน่ารักเพียง $330 (ประมาณ 10,900 บาท) เทียบกับ Viliv N5 ที่เปิดตัวในราคา $649 (ประมาณ 21,500 บาท) ถือว่าราคาถูกลงมาครึ่งหนึ่ง แถมยังแรงพอที่จะทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าเดิม อย่างน้อยก็เล่นเกมได้
หลังจากนั้น ก็มีผู้ผลิตหลายราย ผลิตอุปกรณ์ประเภทนี้ตามออกมามากมาย และแน่นอนว่าจุดขายก็คือ สามารถเล่นเกมคอมพิวเตอร์แบบพกพาได้ เช่น AYN, ANBERNIC, ONEXPLAYER ฯลฯ
AYN Odin Pro
ภาพจาก : https://youtu.be/9RmBdKPqs48
ใครที่สนใจอุปกรณ์ประเภทนี้อยู่ อยากได้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพกพาง่ายกว่าโน้ตบุ๊ก ก็ลองไปหาซื้อมาใช้งานกันดูนะครับ มีให้เลือกหลายรุ่นเลย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |