ย้อนกลับไปในช่วงยุค 60' ทางบริษัท IBM ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า "Shoebox" (กล่องรองเท้า) ขึ้นมา มันได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอุปกรณ์ที่สามารถฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่มนุษย์ได้ โดยมันสามารถรับคำสั่งเสียงเพื่อคำนวณเลขบวกลบได้
แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการฟัง และตอบโต้ของคอมพิวเตอร์มาไกลมากแล้ว เรามีผู้ช่วยเสียงที่ชาญฉลาดอย่าง Siri, Google Assistant, Alexa, Cortana ฯลฯ ในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) บริษัท Amazon ได้เกิดไอเดียบรรเจิด นำเอา Alexa เอไอผู้ช่วยเสียงของ Amazon มารวมใส่เอาไว้ในลำโพงที่มีไมค์รับเสียง เปิดตัวออกมาเป็น Amazon Echo ลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker) นั่นเอง
มันเหมือนจะไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่ในแง่ของการใช้งานจริงแล้ว มันช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตประจำวันอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะพอมันเป็นลำโพงที่ถูกตั้งเอาไว้ในบ้าน เราสามารถสั่งงานมันได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องแตะสมาร์ทโฟนเลย ซึ่งความสามารถของลำโพงอัจฉริยะในปัจจุบันนี้บอกเลยว่าแจ่มมาก แถมราคาก็ไม่ได้แพง ใครที่ยังลังเลอยู่ว่าซื้อมาใช้งานดีไหม ? ในบทความนี้เราจะมายัดเยียดเหตุผลให้คุณผู้อ่านเกิดกิเลสกัน ใครไม่อยากเสียเงินก็ปิดบทความนี้ไปก่อนเลยนะ
สมมติว่าในขณะที่คุณกำลังนั่งอย่างสบายอยู่บนโซฟา หรือกำลังนอนอยู่บนเตียง แล้วเกิดอยากจะฟังเพลงขึ้นมา แทนที่คุณจะต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเปิดแอปฟังเพลง เลื่อนหา หรือพิมพ์ชื่อเพลงที่ต้องการ มันช่างยุ่งยากจนบางทีคุณก็รู้สึกว่าไม่ฟังมันแล้วก็ได้ แต่ถ้าคุณมีลำโพงอัจฉริยะ คุณก็แค่พูดว่า "โอเคกูเกิล เปิดเพลงดายฟอยูของโจจิให้หน่อย" เพลง Die For You ของ Joji ก็จะเริ่มเล่นให้ทันที และแน่นอนว่าเสียงจากลำโพงพวกนี้ก็มักจะมีคุณภาพดีกว่าเสียงที่เราเปิดจากสมาร์ทโฟนด้วย
ลำโพงอัจฉริยะพวกนี้ทำงานแบบ Standalone มันมีระบบปฏิบัติการอยู่ในตัวของมันเอง ดังนั้น การเปิดเพลง เราไม่ต้องเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับลำโพงเลยแม้แต่นิดเดียว โดยส่วนใหญ่ลำโพงเหล่านี้ก็จะรองรับบริการฟังเพลงได้ทั้ง YouTube Music, Apple Music, YouTube, Spotify, Joox ฯลฯ ยกเว้นเอาไว้แค่ HomePod ของ Apple ที่รอรับคำสั่งเสียงให้เปิดเพลงจาก Apple Music ได้เพียงอย่างเดียว
ภาพจาก : https://www.bose.com/en_us/products/outlet/bose_home_speaker_500_fr.html#v=bose_home_speaker_500_fr_luxe_silver
ถ้าคุณมีลำโพงอัจฉริยะอยู่หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหนก็ตาม มันรองรับการสั่งเล่นเพลงให้ออกทุกลำโพงที่มีอยู่ในระบบพร้อมกัน เพื่อให้สามารถฟังเพลงได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเดินไปส่วนไหนของบ้านก็ตาม ช่วยให้อารมณ์ฟังเพลงไม่มีสะดุด
ซึ่งมันสามารถทำได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องเดินสายไฟเชื่อมต่อแต่อย่างใด ขอแค่เพียงตัวลำโพงถูกเชื่อมต่ออยู่เครือข่าย และเข้าสู่ระบบด้วยบัญชีเดียวกันเอาไว้ แต่ถ้ามีผู้ใช้งานหลายคน และต่างรสนิยมในการฟังเพลง ก็สามารถเลือกเล่นเพลงในแต่ละห้องให้แตกต่างกันได้เช่นกัน
เวลาที่เราเล่นเพลงจากลำโพงอัจฉริยะ หลังจากที่มันเล่นเพลงที่เราสั่งให้เปิดจบแล้ว มันจะไม่ได้หยุดเล่นให้ แต่มันจะเล่นเพลงถัดไปให้ทันที โดยอ้างอิงจากเพลงที่คุณเปิดฟังเป็นประจำ และแนวเพลงที่คุณชื่นชอบ นั่นทำให้คุณได้รู้จักเพลงใหม่ ๆ ถ้าหากคุณเกิดหลงรักเพลงไหนขึ้นมา แต่เป็นเพลงที่ไม่รู้จัก แทนที่จะเสียเวลาหยิบสมาร์ทโฟนมาหาชื่อเพลงผ่าน Shazam หรือ SoundHound คุณสามารถถามกับลำโพงอัจฉริยะได้โดยตรง เช่น "เฮ้สิริ นั่นเพลงอะไร" (หรือ WHAT SONG IS THAT ?)
All-New Echo Dot Kids
ภาพจาก : https://www.amazon.com/dp/B09B9CD1YB/ref=s9_acsd_al_bw_c2_x_3_t?
ถ้าเบื่อกับเสียงนาฬิกาปลุกแบบเดิม ๆ หรือหลอนกับเสียงปลุกของไอโฟนที่ชวนสะพรึง คุณสามารถใช้ลำโพงอัจฉริยะเป็นนาฬิกาปลุกได้ด้วย เช่น บอกมันว่า "ช่วยตั้งนาฬิกาปลุกตอนแปดโมงเช้าด้วยเพลง Faint ของ Linkin Park
ไม่เพียงแค่การปลุกเท่านั้น เราสามารถสั่งให้มันสร้างบรรยากาศด้วยการเล่นเสียงคลื่นซัดในระหว่างที่ทำงาน หรือเสียงฝนพรำก่อนนอนเพื่อช่วยให้จิตใจผ่อนคลายได้ด้วย
หนึ่งในความยอดเยี่ยมของลำโพงอัจฉริยะคือ นอกเหนือไปจากการฟังเพลงแล้ว มันยังสามารถควบคุมอุปกรณ์ Interner of Things (IoT) เช่น สมาร์ททีวี, พัดลม, หลอดไฟ ฯลฯ ที่เชื่อมต่ออยู่ในระบบเครือข่ายเดียวกันได้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็น Alexa, Siri หรือ Google Assistant สามารถเชื่อมต่อเพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันได้ เช่น สั่งเปลี่ยนช่องทีวี, เปิด/ปิดไฟ ซึ่งทั้งหมดนี้คุณควบคุมได้ด้วย "เสียง" เวลาใช้งานคุณจะรู้สึกคล้ายกับว่ามี "จาร์วิส" คอยช่วยเหลือคุณเลยล่ะ
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์พวกนี้มีหลายยี่ห้อ มาตรฐานที่รองรับก็แตกต่างกัน ตอนที่เลือกซื้อก็ควรพิจารณาดูด้วยว่ายี่ห้อไหนรองรับกับระบบที่คุณใช้งานอยู่บ้าง
Acer Halo
ภาพจาก https://www.acer.com/th-th/smart-devices/halo-smart-speaker
แม้ว่าการตอบคำถามอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบมากนัก ด้วยข้อจำกัดของ AI ที่อาจจะยังไม่สามารถตอบคำถามยาก ๆ ที่คุณถามมันได้ แต่มันก็ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ และหากเป็นคำถามทั่วไป มันก็สามารถหาข้อมูลมาตอบให้คุณได้อย่างรวดเร็ว
อะไรที่คุณถาม Alexa, Siri หรือ Google Assistant ได้ คุณก็สามารถถามกับลำโพงอัจฉริยะได้เช่นกัน (ก็เป็นระบบเดียวกันนี่) ที่คุณน่าจะใช้งานกับบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น วันนี้ฝนตกไหม ?, อากาศเป็นอย่างไรบ้าง ?, ผลบอล, ใครคือนายกคนปัจจุบัน ? ฯลฯ
ในอดีตลำโพงอัจฉริยะมีราคาค่อนข้างสูง กำแพงราคาทำให้การเข้าวงการนี้ค่อนข้างยาก แต่ในปัจจุบันนี้ ราคาเริ่มต้นต่ำมาก เพียง 7-8 ร้อยบาท ก็สามารถหาซื้อมาใช้งานได้แล้ว โดยที่คุณภาพเสียงก็อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าจ่ายเงินเพิ่มอีกสักเล็กน้อย ก็อาจจะได้รุ่นที่มีหน้าจอแสดงผล ช่วยให้การควบคุมง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |