ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งทุกอย่างในตอนนี้สามารถย้ายขึ้นไปเก็บ และทำงานบน คลาวด์ (Cloud) ได้แทบทั้งหมดแล้ว Desktop as a Service (DaaS) เป็นอีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจ และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดย DaaS เป็นการให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนทางด้านฮาร์ดแวร์ และการบำรุงรักษา แต่ยังทำให้การจัดการ และการเข้าถึงข้อมูลสะดวกสบาย, ยืดหยุ่น และมีความปลอดภัย
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักว่าเทคโนโลยี DaaS มันคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ? และทำไมมันถึงกลายเป็นที่นิยมในองค์กร หรือบริษัทที่ต้องการปรับปรุงการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกัน ...
Desktop as a Service หรือ DaaS เป็นวิธีหนึ่งในการส่งมอบ "สภาพแวดล้อมเดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop Environments)" ให้กับผู้ใช้ ซึ่งรวมระบบปฏิบัติการ, ซอฟต์แวร์, แอปพลิเคชัน, ไฟล์ และการตั้งค่าของผู้ใช้ ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์
ภาพจาก : https://www.secureagility.com/daas4
เดสก์ท็อปเหล่านี้ จะทำงานในรูปแบบของ เครื่องเสมือน (Virtual Machine) ที่โฮสต์อยู่บนระบบเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการคลาวด์ ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึง Virtual Desktop ของตนเอง ได้จากอุปกรณ์หลากหลายประเภท เช่น คอมพิวเตอร์ (PC), โน้ตบุ๊ค (Laptop), แท็บเล็ต หรือแม้แต่สมาร์ทโฟน
ในปัจจุบันนี้ องค์กร และบริษัทจำนวนมาก มองหาทางเลือกใหม่ในการดูแลระบบคอมพิวเตอร์ภายในบริษัท ในโมเดลแบบดั้งเดิม ผู้ดูแลระบบ IT จะต้องรับผิดชอบติดตั้งระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์ของพนักงานทุกคนด้วยตัวเอง ซึ่งมีข้อเสียตรงที่มันเป็นงานที่สิ้นเปลืองทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ โมเดลแบบดั้งเดิมยังไม่เหมาะกับรูปแบบงานสมัยใหม่ ที่พนักงานมักจะต้องงานจากนอกสถานที่, ทำงานจากระยะไกล หรือทำงานในขณะที่เดินทาง และตัวพนักงานเองก็มักจะมีการใช้งานหลายอุปกรณ์ เช่น PC, โน้ตบุ๊ค, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ทำให้บริษัทมองหาโมเดลใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการทำงานในยุคใหม่นี้ เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถมองข้ามความปลอดภัยไปได้ ข้อมูลจะต้องได้รับการคุ้มครองความลับเอาไว้ แม้ว่าอุปกรณ์จะสูญหายหรือถูกขโมยไปก็ตาม
โมเดล DaaS จึงอาจเป็นคำตอบที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในโมเดลแบบดั้งเดิม ด้วย DaaS บริษัทสามารถให้พนักงานเข้าถึงซอฟต์แวร์ และข้อมูลได้อย่างสะดวกจากทุกอุปกรณ์ มีเครื่องมือในการปกป้องข้อมูลสำคัญ, ลดความซับซ้อนของการจัดการ, ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ และจำนวนค่าจ้างพนักงานฝ่ายไอทีลงได้
Desktop as a Service หรือ DaaS ทำงานโดยใช้ เซิร์ฟเวอร์คลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) หรือส่วนตัว (Private Cloud) ในการวางโครงสร้างที่จำเป็นต่อการทำงานของเดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop) ที่สามารถเข้าถึงเพื่อใช้งานได้ตลอดเวลาสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์อนุญาต พนักงานสามารถเข้าถึงเดสก์ท็อปเสมือนที่โฮสต์โดยผู้ให้บริการคลาวด์นี้เพื่อทำงานได้แบบออนไลน์จากทุกที่ ทุกอุปกรณ์
ภาพจาก : https://www.spiceworks.com/tech/cloud/articles/what-is-daas/
ส่วนใหญ่ ผู้ให้บริการคลาวด์ที่เป็น บุคคลที่สาม (3rd-Party) จะคอยดูแล และบริหาร โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำงานของ Virtual Desktop ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของ DaaS ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงรับผิดชอบการเก็บข้อมูล, การบำรุงรักษา และการดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา โครงสร้างพื้นฐานนี้จะถูกสตรีมผ่านคลาวด์ตรงไปยังอุปกรณ์ของพนักงาน ซึ่งการประมวลผลทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ ทำให้สามารถเข้าถึงเพื่อใช้งานซอฟต์แวร์ที่ใช้ทรัพยากรสูงได้ โดยที่ตัวอุปกรณ์ไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์ที่สเปกสูง
ในการทำงานของ DaaS มันจะประกอบด้วยส่วนสำคัญหลายส่วน โดยพื้นฐานแล้วก็จะมีดังต่อไปนี้
ในชั้น (Layer) การทำงานนี้ จะใช้เทคโนโลยีการจำลองเสมือน (Virtualization) เพื่อจำลองการทำงานเลียนแบบฮาร์ดแวร์จริงมาไว้บนคลาวด์ โดยรวมถึงระบบไฮเปอร์ไวเซอร์ เช่น Microsoft Hyper-V ซึ่งช่วยในการสร้าง และจัดการสภาพแวดล้อมของเดสก์ท็อปที่โฮสต์ในเครื่องเสมือน (Virtual machine - VM)
ระนาบการจัดการใน DaaS มีหน้าที่ในการจัดการ, จัดสรร, ปรับใช้ และบำรุงรักษาเดสก์ท็อปเสมือน โซลูชันเหล่านี้รวมถึงซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มที่คอยจัดการงานต่าง ๆ เช่น การรับรองความถูกต้องของผู้ใช้ (User Authentication), การจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation), เฝ้าติดตาม (Monitoring) และการอัปเดตซอฟต์แวร์ (Software Updates)
โครงสร้างเครือข่าย มีไวเพื่อช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ปลายทาง และเดสก์ท็อปเสมือนที่โฮสต์ในคลาวด์ทำงานได้แบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะรวมถึงส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย เช่น VPN (Virtual Private Network), SD-WAN (Software-Defined Wide Area Network) ฯลฯ
DaaS ในการประมวลผลแบบคลาวด์พึ่งพาระบบการเก็บข้อมูลที่สามารถปรับขนาด และมีความยืดหยุ่น เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้, การกำหนดค่า ฯลฯ
DaaS มีรูปแบบเดียวกับ Virtual Desktop Infrastructure (VDI) คือมีให้ใช้งานทั้งในรูปแบบ Persistent Desktops และ Non-Persistent Desktops
สำหรับ Persistent DaaSข้อมูล และซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่คุณทำบน Virtual desktop จะถูกบันทึกค่าเอาไว้ทั้งหมด ใช้งานเหมือนเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวอีกชิ้นของผู้ใช้เลย แค่มันอยู่บนคลาวด์เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ที่บันทึกไว้ หรือแม้แต่การตั้งค่าของซอฟต์แวร์ก็บันทึกไว้ให้เช่นกัน
Non-Persistent Desktop จะรีเซ็ตข้อมูลทุกอย่างทันทีที่คุณออกจากระบบ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะให้บริการบันทึกข้อมูลแค่บางอย่าง เช่น ข้อมูลผู้ใช้, ข้อมูลออนไลน์บางส่วน เช่น บุ๊คมาร์กของเว็บเบราว์เซอร์ เป็นต้น
เนื่องจากพวกซอฟต์แวร์ หรือการตั้งค่าต่าง ๆ จะถูกรีเซ็ตเมื่อออกจากระบบ Non-Persistent Desktop จึงเหมาะสำหรับการทำงานที่ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ยุ่งยาก หรืองานที่ทำผ่านเว็บแอปพลิเคชันได้ ข้อดีคือ ค่าบริการที่ถูกกว่าการใช้งานแบบ Persistent Desktop
ภาพจาก : https://phoenixnap.com/kb/virtual-desktop-infrastructure-vdi
สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ยุค ดังต่อไปนี้
ก่อนเกิดเหตุการณ์ Global Financial Crisis (GFC) หรือวิกฤตการณ์การเงินโลก ที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 2007-2008 (พ.ศ. 2550-2551) ระบบไอทีในสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การทำให้เซิร์ฟเวอร์อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานได้ตลอดเวลา,การรักษาความปลอดภัยข้อมูล และการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาขยายการรองรับ
ความคุ้มค่าในด้านต้นทุนไม่ใช่สิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมากนัก, การจัดหาทรัพยากรที่มากเกินความจำเป็นเป็นเรื่องปกติ และการเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นชิน
แต่ละบริษัทจะนิยมใช้ Citrix Metaframe Servers ซึ่งเป็นโซลูชันการจำลองซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย Citrix Systems มันช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ของ Windows ที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ จากระยะไกล หรือที่เรียกว่า Server Based Computing (SBC)
ภาพจาก : https://www.websense.com/content/support/library/web/v75/wws_citrix_supp/Citrix%20Supplement.pdf
ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2541) ในขณะที่สถาบันการเงินกำลังอยู่ในสถานะที่ฟื้นตัวจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเงินโลกกันอยู่ ทำให้ทุกคนต้องพยายามรัดเข็มขัดหาทางประหยัดต้นทุนในการบริหารงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายของการทำ Server Based Computing (SBC) ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่มีราคาแพงมาก
ในช่วงเวลานั้นเอง VMware ก็ได้ออกมานำเสนอแนวคิดที่ทุกคนกำลังประสบปัญหากันอยู่ โดยออกมาบอกว่า "ทุกคน เราสามารถช่วยลดขนาดเซิร์ฟเวอร์ของคุณได้" ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินแทบทุกแห่งกำลังมองหาอยู่ หลังจากนั้นไม่นานนัก "ESX Server" ซึ่งย่อมาจาก "Elastic Sky X" บริการจาก VMware ที่ใช้ในการสร้าง และจัดการ Virtual Machine ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จน Microsoft ก็พัฒนา Hyper-V ออกมา ผู้เชี่ยวชาญในการทำระบบเสมือน (Virtualization) กลายเป็นที่ต้องการตัวอย่างมากในบริษัทต่าง ๆ
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/VMware_ESXi
ในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนเกือบทั้งโลก ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของคนเปลี่ยนไป ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน และลดการเดินทาง ส่งผลให้ผู้คนจำเป็นต้องทำงานจากระยะไกล (Remote Work) ซึ่งการทำระบบที่ผู้คนสามารถเข้าทำงานจากระยะไกลผ่าน DaaS เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการใช้คอมพิวเตอร์จริงมาก
แม้ในตอนนี้ สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว แต่ความนิยมในการใช้งาน DaaS ก็ยังแพร่หลายอยู่ จนเรียกได้ว่าเป็น New Normal แล้ว
ภาพจาก : https://www.the-gma.com/data-as-a-service-daas-forecast-to-grow-at-39-cagr
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |