สำหรับคนที่เป็นสาวกการ์ดจอจากค่าย NVIDIA หรือที่คนไทยบางคนชอบเรียกว่าค่ายเขียว (AMD) ที่เป็นคู่แข่งก็ถูกเรียกกันว่าค่ายแดง) น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วแหละ ว่าการ์ดจอตระกูล RTX นั้น เป็นตัวเลือกที่ดีที่มากสำหรับใช้ในการเล่นเกม หรือทำงานด้านกราฟิกอื่น ๆ
ซึ่งในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความอยู่นี้ ก็จะอยู่ในช่วงเวลาของ RTX รุ่นที่ 4 หรือซีรีส์ 4000 แต่อย่างไรก็ตาม NVIDIA ก็ยังคงผลิตการ์ดจอซีรีส์ GTX รุ่นใหม่ออกมาอยู่ด้วย ไม่ได้ทอดทิ้งมันไปไหน
สำหรับคนที่ไม่ได้ชำนาญด้านฮาร์ดแวร์คงไม่เข้าใจว่าการ์ดจอ GTX กับ RTX มันแตกต่างกันอย่างไร ? แล้วแบบไหนดีกว่า ? ในบทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำให้เข้าใจกันมากขึ้น จะได้เลือกซื้อหามาใช้ได้ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการมากที่สุด
Geforce GTX เป็นซีรีส์การ์ดจอจากค่าย NVIDIA ที่ออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ก โดยการ์ดจอตัวแรกของซีรีส์นี้คือ GTX 260 ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551)
โดยคำว่า GTX ย่อมาจาก Giga Texel Shader Extreme คำว่า "Texel" และ "Shader" นั้นมีความหมายที่สำคัญมาก พวกเราน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า "Pixel" เป็นรากฐานสำคัญของการแสดงผลรูปภาพ เฉกเช่นเดียวกัน Texel ก็เป็นรากฐานที่สำคัญในการทำ Texture Map ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รูปภาพจะถูก "แปะ" ลงบนพื้นผิวของก้อนโพลีกอน (Polygon) ในขั้นตอนการออกแบบกราฟิก
ในโลกดิจิทัลคอมพิวเตอร์ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) จะมีหน้าที่ในการทำ Mapping ตัว Texel ลงบน Pixels เพื่อสร้างภาพ 3 มิติ
ก่อนที่จะมาเป็นซีรีส์ GTX นั้น ทาง NVIDIA ก็พัฒนาการ์ดจอที่ใช้เทคโนโลยีประเภทเดียวกันมาก่อนแล้วหลายรุ่น เช่น GT (Giga Texel) หรือ GTS (Giga Texel Shader) แต่ว่า GTX นั้นถือว่าเป็นซีรีส์ที่มีการปรับปรุงขั้นตอนการทำ Geometric Shading Process ให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด
การ์ดจอ GTX 260 นั้นมาพร้อมกับความเร็วเริ่มต้น 576 MHz, แรมขนาด 896 MB และพัฒนาบนสถาปัตยกรรมขนาด 65 นาโนเมตร ทาง NVIDIA ได้ใช้ชื่อ GTX มาอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยมีการ์ดจอที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่บ้าง อย่างเช่น GTX 1080 Max-Q ที่มาพร้อมกับความเร็ว 1.29 GHz, Turbo 1.47 GHz, 2 MB cache และแรมขนาด 8 GB โดยพัฒนาบนสถาปัตยกรรมขนาด 16 นาโนเมตร
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบระหว่างการ์ดจอตระกูล GTX และ RTX ไม่ว่าจะเป็นการ์ด GTX ซีรีส์ 10 หรือ 16 ก็ตาม แม้แต่ GTX 1080 ที่จัดว่าเป็นเรือธงของซีรีส์ GTX ก็ยากที่จะแข่งขันด้านประสิทธิภาพกับการ์ดจอตระกูล RTX ได้ ซึ่งในปัจจุบัน ทาง NVIDIA ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการ์ดจอตระกูล RTX เป็นหลัก
ภาพจาก : https://www.asus.com/th/motherboards-components/graphics-cards/tuf-gaming/tuf-gtx1660-o6g-gaming/
RTX เป็นซีรีส์การ์ดจอที่ทาง NVIDIA กำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป็นการ์ดจอที่เจาะตลาดการเล่นเกมที่มีคุณภาพระดับกลาง ไปจนถึงระดับบน โดย RTX ย่อมาจาก "Ray Tracing Texel eXtreme" สิ่งสำคัญที่ทำให้การ์ดจอ RTX มีความแตกต่างไปจาก GTX อย่างชัดเจน คือการที่มันรองรับ เทคโนโลยี Ray Tracing ด้วย
การ์ดจอตระกูล RTX นั้นเปิดตัวในปี ค.ศ. 2018 โดยเริ่มที่ RTX 2060, RTX 2070 และ RTX 2080 หากเทียบกับ GTX ตระกูล 1000 ที่ทำมาให้แรงพอที่จะเล่น Virtual Reality (VR) ได้ ส่วนการ์ดจอตระกูล RTX ก็เสริมพลังด้าน Ray Tracing
Ray Tracing เป็นเทคนิคในการจำลองเส้นทางของแสง ที่สะท้อนไปมาในฉาก สามารถโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมได้เหมือนกับสภาพแวดล้อมแสงในชีวิตจริง ทำให้กราฟิกที่ผู้ใช้สัมผัสดูสวยงาม สมจริงยิ่งกว่าเดิม
เทคโนโลยี Ray Tracing ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ในอดีตไม่เคยมีการ์ดจอตัวไหนที่ทรงพลังพอจะคำนวณข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ต้องใช้ในการจำลองแสงได้มาก่อน ดังนั้น การมาของการ์ดจอ RTX จึงเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของการ์ดจอ โดยเคล็ดลับที่ NVIDIA ใช้ก็คือการใส่ชิป RT Core แยกมาต่างหาก เพื่อใช้ในการคำนวณ Ray Tracing โดยเฉพาะ
การที่การ์ด RTX มี RT Core ในส่วนที่ GTX ไม่มี เป็นจุดที่ทำให้การ์ดจอสองซีรีส์นี้แตกต่างกันเป็นอย่างมาก
GTX หรือ Giga Texel Shader eXtreme เป็นสถาปัตยกรรมที่ NVIDIA ใช้ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น Ray Tracing Texel eXtreme ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ หากมองย้อนกลับไปจาก GTX รุ่นแรกในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ที่ใช้สถาปัตยกรรมขนาด 65 นาโนเมตร กับ RTX รุ่นล่าสุดในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ใช้สถาปัตยกรรมขนาด 5 นาโนเมตร ก็จะรู้สึกว่ามันพัฒนามาไกลมาก
มาดูกันส่วนของทรานซิสเตอร์ GTX 1080 มีทรานซิสเตอร์อยู่ 7,200,000,000 ตัว มีค่า Compute Unified Device Architecture (CUDA) อยู่ที่ 2,560 เทียบกับ RTX 4090 การ์ดจอเรือธงในที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ มีทรานซิสเตอร์อยู่ถึง 76,300,000,000 ตัว ค่า CUDA อยู่ที่ 16,384 และอย่าลืมว่า RTX มี RT Core เป็นชิปแยกอยู่ในตัวด้วย
CUDA Cores เป็นชิปที่ทำหน้าที่ส่วนใหญ่รับผิดชอบในการคำนวณผลทางฟิสิกส์ ส่วน RT Core จะทำหน้าในการคำนวณข้อมูลแสงเป็นหลัก และใน RTX ยังมี Tensor cores ที่ทำหน้าที่คำนวณทางคณิตศาสตร์โดยเฉพาะอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการ์ดจอ และเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้ เป็นเหตุผลที่ดีในการเปลี่ยนชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจความแตกต่างของพวกมันมากขึ้น
ถึงทาง NVIDIA จะเน้นการทำตลาด RTX เป็นหลัก สังเกตได้จากที่การ์ดเรือธงต่างก็เป็น RTX กันหมด แต่การ์ดตระกูล GTX ก็ยังคงมีรุ่นใหม่ออกมาในซีรีส์ 16 โดยเน้นที่ตลาดระดับล่างสำหรับคนงบน้อย และผู้ที่ไม่ได้ต้องการใช้งานด้านการเล่นเกม หรือทำกราฟิกมากมาย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |