หากออกซิเจนคือสิ่งจำเป็นต่อการสันดาปพลังงานของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ "โคเดก (Codec)" ก็เปรียบได้กับออกซิเจน (O2) ของการสตรีมมิ่งไฟล์มัลติมีเดียบนโลก อินเทอร์เน็ต (Internet) ยังไงยังงั้นกันเลยทีเดียว
หากใครยังงง ขออธิบายเพิ่มเติมว่า Codec นั้นเป็นสิ่งที่มีส่วนร่วมกับไฟล์มัลติมีเดียตั้งแต่ขั้นตอนการถ่ายทำ, แก้ไข ไปจนถึงการเข้ารหัสเพื่อทำ แผ่น DVD, แผ่น Blu-Ray หรือการสตรีมมิ่งบนอินเทอร์เน็ต
ว่าแต่ Codec มันคืออะไร ? มาทำความเข้าใจมันให้มากขึ้นในบทความนี้กันเลย ...
คำว่า Codec เกิดจากการสมาสระหว่างคำว่า "Coder" และ "Decoder" มันหมายถึงกระบวนการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) และถอดรหัสข้อมูล (Decryption) โดยจะเป็นการใช้ซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ในการทำงานก็ได้ โดยเทคโนโลยี Codec ถูกนำมาใช้ในแอปพลิเคชันเพื่อสร้างไฟล์มีเดียขึ้นมาสำหรับให้ผู้ใช้สามารถรับชมได้
ซึ่งหน้าที่ของ Codec คือการบีบอัดเพื่อให้ขนาดของไฟล์มีเดียอย่างไฟล์วิดีโอ, เสียง หรือรูปภาพ มีขนาดไฟล์เล็กลง เพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำไฟล์ไปใช้บนอินเทอร์เน็ต หรือการสตรีมมิ่ง
Codecs เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทั่วไปไม่ได้รับรู้การมีอยู่ของมันมากนัก เพราะเวลาใช้งานผู้ใช้จะเปิดจาก File container เป็นหลัก อย่างไฟล์วิดีโอ MP4 ก็จัดเป็น File Container ประเภทหนึ่ง ซึ่งมันอาจสร้างขึ้นด้วย Codecs H.264, H.265 หรือ H.266 ก็ได้
ในปัจจุบันนี้มี Codec ที่นิยมใช้งานอยู่หลายชนิด เช่น Discrete Cosine Transform (DCT), AOMedia Video 1 (AV1), VP9, Advanced Video Coding (AVC)/H.264, High Effciency Video Coding Video (HEVC)/H.265, Advanced Audio Coding (AAC), Audio Processing Technology (AptX) ฯลฯ
หน้าที่หลักของ Codec จะมีอยู่ 2 อย่างคือ
อย่างแรกคือการเข้ารหัสข้อมูลให้มีขนาดเล็กลง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูล โดยใช้หลัก อัลกอริทึม (Algorithm) ในการเข้ารหัส (Encryption) ซึ่งคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนี้จะมีฮาร์ดแวร์ที่ปรับแต่งมาเพื่อใช้ในการเข้ารหัสใส่มาให้เลย
ในขณะที่อีกหน้าที่นึงของมัน ก็คือการถอดรหัสข้อมูลที่ได้รับมา แปลงขนาดข้อมูลให้กลับไปอยู่ในสถานะเดิมที่พร้อมใช้งานนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.epiphan.com/blog/h264-vs-h265/
Codec นั้นมีอยู่หลายตัว เพราะไฟล์แต่ละชนิด ก็จะใช้ Codec ในการทำงานที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ไฟล์วิดีโออาจจะใช้ AV1 Codec หรือ H.265 Codec, ไฟล์เสียงอาจจะใช้ Free Lossless Audio Codec (FLAC) หรือ Linear Pulse-Code Modulation (LPCM) และไฟล์รูปภาพอาจจะใช้ High-Efficiency Image Codec (HEIC) เป็นต้น
แต่ไม่ว่ามันจะถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานกับไฟล์ชนิดไหนก็ตาม ตัว Codec จะถูกแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ Lossless Codec และ Lossy Codec
ภาพจาก : https://www.computerlanguage.com/results.php?definition=lossless+codec
สำหรับ Lossless Codec จะเป็นการบีบอัดข้อมูลแบบที่ไม่เสียคุณภาพ เหมาะสำหรับไฟล์ที่เราต้องการรักษาคุณภาพของไฟล์ต้นฉบับเอาไว้ นิยมใช้กับงานภาพยนตร์ หรือไฟล์วิดีโอ และรูปภาพที่ต้องการนำมาแก้ไข อย่างไรก็ตาม ไฟล์แบบ Lossless Codec จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้สตรีมมิ่ง
Lossy Codec จะมีการลดคุณภาพของไฟล์ต้นฉบับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบีบอัดข้อมูลให้สูงขึ้น โดยจะมีการตัดข้อมูลไฟล์บางส่วนทิ้งไป และอาศัยหลักอัลกอริทึมต่าง ๆ มาสร้างข้อมูลมาทดแทนส่วนที่ถูกตัดทิ้งไป เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกับของเดิม
มีเรื่องสำคัญที่ควรรู้ก่อนสักเล็กน้อย Codec กับไฟล์ที่เก็บส่วนประกอบของวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน หรือ "Container Format" นั้นเป็นคนอย่างกัน โดยภายในไฟล์ Container Format จะมีข้อมูลหลายประเภทมัดรวมใส่เอาไว้ เช่น ข้อมูลวิดีโอ, เสียง, ภาพ, แคปชั่น ฯลฯ แต่ก็ไม่น่าแปลกที่หลายคนสับสนเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน ก็เพราะว่ามี Codec หลายตัวที่ใช้ชื่อ Container Format เหมือนกัน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |