โลกในยุคปัจจุบัน ข้อมูลแทบทุกอย่างถูกบันทึกเก็บไว้เป็นดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูล และไฟล์ผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย และรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันไฟล์ที่มีขนาดใหญ่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะจากข้อกำหนดของตัวแพลตฟอร์ม, เซิร์ฟเวอร์ (Server), แบนด์วิด (Bandwidth), ความเร็วของอินเทอร์เน็ต
หนึ่งในวิธีการแบ่งปันไฟล์ขนาดใหญ่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็คือ "ทอร์เรนต์ (Torrent)" มันเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแบ่งปัน และดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าใครที่ดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ต้องเคยมีประสบการณ์การใช้งาน Torrent มาบ้างอย่างแน่นอน
บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับพื้นฐานของทอร์เรนต์ว่ามันคืออะไร ? มีกระบวนการทำงานอย่างไร ? และคำตอบที่หลายคนสงสัยว่าการใช้งาน Torrent นั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ?
ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องของ ทอร์เรนต์ (Torrent) คิดว่าเราควรมาทำความเข้าใจแนวคิดของการแชร์ไฟล์แบบ Peer-To-Peer (P2P) กันก่อน การแชร์ไฟล์แบบ P2P เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการแบ่งปันไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งแตกต่างจากการแบ่งปันไฟล์แบบดั้งเดิม ที่ไฟล์จะถูกอัปโหลดไปยังเซิร์ฟเวอร์กลาง และจากนั้นผู้ใช้ที่ต้องการไฟล์ดังกล่าวจะเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อดาวน์โหลดไฟล์นั้น
แต่ในการแชร์ไฟล์แบบ P2P ไฟล์จะถูกแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ และแบ่งปันระหว่างผู้ใช้ ซึ่งหมายความว่าแทนที่จะดาวน์โหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์กลาง เราจะดาวน์โหลดไฟล์จากผู้ใช้คนอื่นที่มีไฟล์เดียวกัน
ภาพจาก : https://blog.hathora.dev/peer-to-peer-vs-client-server-architecture/
จนมาถึง Torrent เทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจาก P2P ให้มีประสิทธิภาพในการแบ่งปันไฟล์สูงขึ้นกว่าเดิม ทำงานบน โปรโตคอล (Protocol) "BitTorrent" โดยหลักการแล้ว Torrent ก็มีหลักการทำงานเหมือนกับ P2P แต่แทนที่จะดาวน์โหลดไฟล์จากผู้ใช้ที่มีไฟล์ดังกล่าวเพียงรายเดียว มันยกระดับเป็นการดาวน์โหลดไฟล์จากทุกคนที่มีไฟล์ดังกล่าว พร้อมทั้งกับอัปโหลดไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาแล้วให้กับคนอื่นที่ต้องการใช้เหมือนกันไปในเวลาเดียวกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการแบ่งปันไฟล์สูงขึ้นกว่าเดิมมาก
หลักการทำงานของ Torrent ค่อนข้างเรียบง่าย หลักการทำงานขั้นพื้นฐานของมันอาศัยเครือข่าย P2P ในการทำงานเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าตัวข้อมูลไฟล์ Torrent ไม่ว่าจะเป็นไฟล์อะไรก็ตาม จะสามารถเข้าถึงเพื่อดาวน์โหลดได้จากหลายแห่งพร้อมกัน
ตัวอย่างเช่น สมมติเราสร้าง Torrent ขึ้นมาเพื่อแจกภาพยนตร์สั้นที่เราถ่ายทำขึ้นมา จากนั้นก็เปิดใช้งาน Torrent เพื่อแบ่งปันไฟล์แบบออนไลน์ ไฟล์จะถูกแบ่งออกเป็น "ชิ้นส่วน" ขนาดเล็กจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีคนจำนวนมากเข้ามาดาวน์โหลดมัน สมมติให้คุณเป็นหนึ่งในคนที่เข้ามาดาวน์โหลดมันด้วย ตัวซอฟต์แวร์ Torrent ที่คุณใช้จะเชื่อมต่อไปยังทุกคนที่มี "ชิ้นส่วน" ที่คุณยังไม่มี เพื่อดาวน์โหลดมันมาเก็บไว้ในเครื่อง ในขณะเดียวกัน คุณก็จะอัปโหลดชิ้นส่วนที่คุณมีแล้วไปให้คนอื่นที่ยังไม่มีด้วยเช่นกัน โดยระบบถูกออกแบบมาให้ "ชิ้นส่วนหายาก" หรือก็คือชิ้นส่วนที่มีจำนวนคนมีน้อยที่สุดถูกดาวน์โหลดก่อนเสมอ
การทำงานของ Torrent ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของการดาวน์โหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์โดยตรง ซึ่งมีปัญหาคือ การที่คนจำนวนมากรุมเข้าไปดาวน์โหลดจากเซิร์ฟเวอร์เพียงแห่งเดียว จะทำให้แบนด์วิดของเซิร์ฟเวอร์เต็มอย่างรวดเร็ว เช่น ไฟล์มีขนาด 1 GB หากมีคนเข้ามาดาวน์โหลดพร้อมกัน 1,000 คน จะส่งผลให้ความเร็วในการดาวน์โหลดลดลงเป็นอย่างมาก เพราะแบนด์วิดถูกหารเป็นจำนวนมาก
แต่ Torrent แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ทุกคนที่มีไฟล์อยู่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเซิร์ฟเวอร์ และทุกคนก็เสียสละแบนด์วิดกันเพียงคนละเล็กน้อย เพื่อส่งต่อไฟล์ไปให้คนที่ต้องการจนกว่าการดาวน์โหลดจะเสร็จสิ้น
ซึ่งเมื่อมีคนมากกว่าหนึ่งคนดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมดจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ที่สร้าง Torrent เป็นคนแรกก็สามารถหยุดการแบ่งปันไฟล์ได้ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นที่ยังดาวน์โหลดไม่เสร็จ เพราะตราบใดที่ยังมีผู้อื่นในระบบที่มีไฟล์ตัวเต็มเก็บไว้ มันก็จะยังสามารถดาวน์โหลดได้ตลอดไป
ภาพจาก : https://skerritt.blog/bit-torrent/
หลังจากที่เจ้าของไฟล์ได้สร้าง Torrent ขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าของสามารถเลือกที่จะแบ่งปันได้ 2 ทาง คือ "ไฟล์ .TORRENT" หรือ "Hash" (รหัสลับที่ใช้ระบุอัตลักษณ์ของไฟล์ได้ สร้างจากหลักการคณิตศาสตร์) ของตัว Torrent หรือที่นิยมเรียกว่า "Magnet Link"
Magnet Link เป็นวิธีการที่ง่ายต่อการระบุตำแหน่งของ Torrent ที่อยู่บนเครือข่าย BitTorrent โดยที่ไม่ต้องไปวุ่นวายกับตัวไฟล์ Torrent โดยตรง ตัวลิงก์ที่เป็น Magnet Link จะมีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกันเลย ทำให้เจาะจงตำแหน่งที่อยู่ของ Torrent ได้อย่างแม่นยำ
Magnet Link และไฟล์ .TORRENT มักถูกนำไปเก็บรวมไว้ในเว็บดัชนี หรือที่เรียกว่า Torrent Index ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเพื่อการแบ่งปัน Torrent โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม จะแชร์ผ่านอีเมล, ข้อความ ฯลฯ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ตัว Magnet Link และไฟล์ .TORRENT ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ๆ แต่มีข้อจำกัดตรงที่ต้องใช้ร่วมกับไคลเอนต์ (Client) ของ BitTorrent เท่านั้น เนื่องจากมันเป็นแค่ไฟล์ชุดคำสั่งในการระบุตำแหน่ง หากเปิดกับซอฟต์แวร์อื่น ๆ เช่น Text Editor จะไม่สามารถดูข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ได้เลย
ภาพจาก : https://www.lifewire.com/torrent-file-2622839
ต่อไปนี้คือคำศัพท์ที่น่าสนใจ
การ Seed คือการแบ่งปันไฟล์ในระบบ Torrent โดยจำนวน Seed คือ จำนวนของคนที่มีไฟล์เต็มเหมือนต้นฉบับ และปล่อยให้ไฟล์นั้นออนไลน์อยู่ ถ้าหากจำนวน Seed เท่ากับศูนย์ นั่นหมายความว่า จะไม่มีใครสามารถดาวน์โหลดไฟล์ให้เสร็จสมบูรณ์ได้
Peer หมายถึงผู้ที่กำลังดาวน์โหลดไฟล์จากผู้ที่เป็น Seed อยู่ แต่ยังไม่ได้มีไฟล์ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็คอยอัปโหลดแบ่งปันไฟล์ส่วนที่มีอยู่แล้วให้กับคนอื่น ๆ ด้วย
หมายถึงผู้ใช้ Torrent ที่ดาวน์โหลดไฟล์มากกว่าอัปโหลด หรือบางครั้งก็อาจไม่อัปโหลดอะไรเลยหลังจากที่ดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมดเสร็จ นั่นทำให้ Leech มักถูกมองว่าเป็นผู้ใช้ที่เห็นแก่ตัว ไม่ช่วยแบ่งปันไฟล์กลับไปยังเครือข่าย ทำให้การดาวน์โหลดของผู้ใช้อื่นช้าลง
Swarm ในบริบทของ Torrent ใช้เรียกกลุ่มของผู้ใช้ที่กำลังดาวน์โหลด และอัปโหลดไฟล์เดียวกันพร้อม ๆ กัน ซึ่งรวมถึงทั้ง Seed (ผู้ที่มีไฟล์ทั้งหมด และกำลังแชร์ไฟล์) และ Peer (ผู้ที่กำลังดาวน์โหลดไฟล์ และแบ่งปันส่วนที่มีอยู่)
หาก Swarm มีขนาดใหญ่มันจะช่วยเพิ่มความเร็ว และประสิทธิภาพในการดาวน์โหลด และกระจายทรัพยากร
Tracker ทำหน้าที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Peer ทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับ Torrent เดียวกัน ช่วยให้ Peer สามารถหากันเจอ และเริ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการติดตามสถานะการเชื่อมต่อด้วย เช่น ใครกำลัง Seed และ Leech อยู่, จำนวน Peer ใน Swarm
หมายถึงโปรแกรม หรือบริการเว็บไซต์ที่ผู้ใช้ ใช้ในการดาวน์โหลด หรืออัปโหลดไฟล์ Torrent หรือ Magnet Link หน้าที่หลักของ Client มีทั้งการจัดการดาวน์โหลด และอัปโหลด, ติดตามความคืบหน้า และค้นหาเพื่อเชื่อมต่อกับ Peer ตัวอย่างของ Client ที่ได้รับความนิยม ก็อย่างเช่น uTorrent, BitTorrent, qBittorrent ฯลฯ
หากพูดถึงคำว่า Torrent ก่อนปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) คนส่วนใหญ่ก็คงจะคิดว่าเรากำลังพูดถึงคลื่น หรือกระแสน้ำ แต่ในปัจจุบันนี้ แทบทุกคนมักจะคิดถึงเทคโนโลยีการแบ่งปันไฟล์กันอย่างแน่นอน
เรื่องเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) Bram Cohen โปรแกรมเมอร์ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล่ (University at Buffalo) เขารู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเสียเวลารอการดาวน์โหลดไฟล์จากคอมพิวเตอร์ของคนอื่น เนื่องจากความเร็วในการดาวน์โหลดขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อของเจ้าของไฟล์เป็นหลัก
เขาจึงคิดค้นวิธีที่ไคลเอนต์ (Client) สามารถดาวน์โหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์หลายเครื่องที่เรียกว่า Seeders ในเวลาเดียวกัน วิธีการแบ่งปันไฟล์นี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ในการดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต
Bram Cohen เริ่มต้นออกแบบโปรโตคอล BitTorrent ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) และปล่อยเวอร์ชันแรกที่สามารถใช้งานได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เขาได้ร่วมมือกับ Ashwin Navin ซึ่งเป็นนักลงทุน ก่อตั้งบริษัท BitTorrent, Inc. (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Rainberry, Inc.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไป
Client ของ BitTorrent เวอร์ชันแรกมีความเรียบง่าย มันไม่มีเสิร์ชเอนจินให้ค้นหาไฟล์ และไม่มีการแลกเปลี่ยน Peer วิธีในการแชร์ไฟล์คือ การสร้างไฟล์ข้อความเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ".Torrent" จากนั้นก็อัปโหลดมันไปยังเว็บไซต์ดัชนีทอร์เรนต์ (Torrent Index Site)
ผู้ที่อัปโหลดไฟล์ Torrent เป็นครั้งแรกจะทำหน้าที่เป็น Seed และผู้ดาวน์โหลดจะเชื่อมต่อเป็น Peer ในขั้นต้น ผู้ที่ต้องการดาวน์โหลดไฟล์จะต้องดาวน์โหลด Client เพื่อใช้เชื่อมต่อกับ Tracker ที่มีรายการ ที่อยู่ไอพี (IP Address) ของ Seed และ Peerใน Swarm เมื่อ Peer ดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมดเสร็จแล้ว มันสามารถทำหน้าที่เป็น Seed ได้ ไฟล์เหล่านี้มี ข้อมูล Metadata เกี่ยวกับไฟล์ที่จะแบ่งปัน และ Tracker ที่ติดตาม Seed และ Peer อื่นๆ
ในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) Vuze และตามมาด้วย BitTorrent Client ได้เพิ่มคุณสมบัติที่ช่วยให้ Client สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลใน Swarm ได้โดยตรง โดยไม่ต้องใช้ไฟล์ Torrent อีกต่อไป
ถัดมาในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) Bittorrent มีการเพิ่มฟังก์ชันการแลกเปลี่ยน Peer ทำให้ Client สามารถเพิ่ม Peer ตามข้อมูลที่พบใน Node ที่เชื่อมต่อกันได้
ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) บริษัท BitTorrent, Inc. ได้เปิดตัวโปรโตคอล BitTorrent v2 ซึ่งการอัปเดตนี้ ตัวโปรโตคอลยังคงสามารถทำงานร่วมกับโปรโตคอลเวอร์ชันเก่าได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ได้รับการปรับปรุงคือคุณสมบัติการเข้ารหัส Hash แบบเก่าที่เป็น SHA-1 ได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป ใน BitTorrent v2 จึงเปลี่ยนมาใช้การเข้ารหัสแบบ SHA-256 ที่มีความซับซ้อนสูง ปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มคุณสมบัติ Hash Tree ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดไฟล์, ตรวจสอบความสมบูรณ์ของไฟล์ และลดความซ้ำซ้อนของไฟล์ที่อยู่ใน Swarm
Torrent นั้นจัดเป็นวิธีการแบ่งปันไฟล์ประเภทหนึ่งเท่านั้น ตัวมันจึงไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด มีโปรแกรมฟรี, โปรแกรม โอเพ่นซอร์ส (Open-Source) และไฟล์ถูกกฏหมายจำนวนมาก ที่เผยแพร่ทาง Torrent
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ Torrent เป็นช่องทางที่ "ง่าย" ต่อการแบ่งปันไฟล์ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้ที่ยากต่อการควบคุม ทำให้มันเป็นช่องทางยอดนิยมในการเผยแพร่ไฟล์ผิดกฏหมาย หรือละเมิดลิขสิทธิ์
ซึ่งการดาวน์โหลด หรือแบ่งปันเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์โดยใช้ Torrent ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และอาจส่งผลให้ถูกปรับ หรือแม้กระทั่งถูกจำคุกได้
การดาวน์โหลดได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการอยู่แล้ว แต่เราแน่ใจมากขนาดไหนว่าเราไม่ได้กำลังละเมิดกฎใด ๆ มีการถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับการใช้ Torrent และการละเมิดกฎทางกฎหมาย ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อดี และข้อเสียของการใช้งาน Torrent กัน
จริยธรรมของการดาวน์โหลดผ่าน Torrent เป็นข้อถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ การรักษาผลงานของคุณให้ปลอดภัยจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องยากมาก
Torrent เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้การดาวน์โหลดไฟล์บนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายขึ้นเท่านั้น จะโทษว่ามันเป็นสาเหตุของการแจกจ่ายไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็คงไม่ถูกต้องนัก อย่างไรก็ตาม หากเราใช้มันอย่างชาญฉลาด, ถูกต้องตามกฎหมาย และรู้ว่าอะไรที่ควรไม่ควร มันก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |