ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 4,341
เขียนโดย :
0 GitHub+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

GitHub คืออะไร ?

"GitHub" เป็นคำที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตามาก่อน บ้างก็เคยใช้บริการ หรือรู้จักมันเป็นอย่างดี คำนี้ GitHub เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากในแวดวงเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ใช่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ตาม

บทความเกี่ยวกับ Software อื่นๆ

ผู้ที่ไม่เคยใช้งาน GitHub มาก่อน อาจจะเกิดความสับสนว่ามันคืออะไร ? บางคนคิดว่ามันเป็นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์, บางคนคิดว่ามันเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กของนักพัฒนาซอฟต์แวร์, เป็นเว็บแบ่งปันซอร์สโค้ด คำตอบคือมันเป็นทั้งหมดที่ว่ามา

ปัจจุบันนี้ GitHub เป็นแหล่งทรัพยากรข้อมูลที่สำคัญที่นักพัฒนาใช้ในการแบ่งปันโค้ด หรือสร้างโครงการเพื่อทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุที่มันฟรี และใช้งานง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่มันกลายเป็นศูนย์กลางที่มี ซอฟต์แวร์แบบเปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-Source Software) จำนวนมาก พาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น

หากคุณสนใจ อยากรู้จัก GitHub ให้มากขึ้น ในบทความนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ GitHub ให้มากขึ้น

เนื้อหาภายในบทความ

GitHub คืออะไร ? (What is GitHub ?)

GitHub เป็นแพลตฟอร์มสำหรับใช้พัฒนา ซอฟต์แวร์แบบออนไลน์ ที่นักพัฒนาสามารถใช้ในการจัดเก็บโค้ด, ติดตามความเปลี่ยนแปลง และสร้างโครงการเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับนักพัฒนารายอื่นได้

โดยคุณสมบัติการทำงานของ GitHub ทำให้นักพัฒนาสามารถแบ่งปันโค้ดที่ตนเองเขียนขึ้น ให้นักพัฒนารายอื่น ๆ ที่สนใจสามารถเข้ามาช่วยกันพัฒนาต่อได้ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานของโครงการแบบ เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-Source) นอกจากนี้ ตัว GitHub ยังถูกใช้เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คที่บรรดานักพัฒนาใช้ในการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมมือทำงานกับนักพัฒนาที่สนใจ และนำเสนอผลงานบนโลกออนไลน์

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://GitHub.com/

GitHub เริ่มพัฒนาตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) และเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ซึ่ง GitHub ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ จากการสำรวจข้อมูลในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ได้ระบุว่าบนแพลตฟอร์ม GitHub มีนักพัฒนาอยู่ภายในระบบมากกว่า 100,000,000 ราย, มีคลัง (Repository หรือ Repo) อยู่มากกว่า 420,000,000 แห่ง โดยมีอย่างน้อย 28,000,000 แห่ง ที่เป็นคลังสาธารณะ ทำให้ GitHub กลายเป็นแหล่งรวบรวมซอร์สโค้ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

GitHub ทำงานอย่างไร ? (How does GitHub work ?)

ในการใช้งานขั้นพื้นฐาน ผู้ใช้บริการ GitHub ก็เพียงแค่สร้างบัญชี, อัปโหลดไฟล์, สร้าง Coding projects แต่ในการใช้งานจริง ประโยชน์ที่แท้จริงของ GitHub จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการร่วมมือกันทำงาน

ถึงแม้ว่านักพัฒนาสามารถเขียนโค้ดเพียงลำพังได้อย่างอิสระ แต่ส่วนใหญ่แล้วในการพัฒนาโปรเจ็ค มักจะมีนักพัฒนาจำนวนหลายคนที่ทำงานร่วมกัน บางครั้ง นักพัฒนาทั้งหมดจะทำงานพร้อมกัน ในสถานที่เดียวกันด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วนักพัฒนาจะทำงานแบบ "Asynchronously" กันมากกว่า ต่างคนต่างแบ่งหน้าที่ทำงานโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นทำงานเสร็จพร้อมกัน เพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลารอกันไปกันมา พอทำเสร็จแล้วค่อยนำชิ้นส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดมารวมกันเพื่อดำเนินการขั้นตอนถัดไป

อย่างไรก็ตาม การแบ่งงานเพื่อให้ทีมทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง GitHub ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ประการแรกคือ โค้ดทั้งหมด และเอกสารข้อมูลจะถูกรวมเอาไว้ในที่เดียวกัน ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่สนใจจะช่วยพัฒนาโปรเจ็คเข้าใจโครงสร้าง, ขั้นตอนรายละเอียดการทำงาน, เป้าหมาย และกฏในการใช้อย่างรวดเร็ว

ถัดมาคือ งานเขียนโค้ดมันเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์ และเป็นนามธรรมอย่างมาก ตัวอย่างเช่น หากมีนักพัฒนา 2 คน ที่แยกกันพัฒนาโค้ดคนละชุด โค้ดทั้งสองชุดนี้ควรที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ในความจริง บ่อยครั้งที่พอนำมารวมกันแล้วโค้ดจากนักพัฒนาคนแรก อาจทำให้โค้ดของนักพัฒนาอีกคนพังไม่สามารถทำงานได้ หรือส่งผลกระทบให้โค้ดทำงานผิดไปจากแผนที่ออกแบบไว้

GitHub แก้ปัญหาด้วยการแสดงผลว่าโค้ดทั้ง 2 ไฟล์ จะทำงานอย่างไร ? เมื่อนำไปใช้ใน Main branch ที่อยู่ในระบบ Git เพื่อตรวจหาข้อผิดพลาด ก่อนที่จะนำไปปรับใช้กับตัวโค้ดที่เป็นตัวมาสเตอร์ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ขั้นตอนการเขียนโค้ดมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิมมาก

นอกจากนี้ GitHub ยังมีระบบที่ช่วยให้การตรวจสอบความเปลี่ยนแปลง และย้อนคืนค่าโปรเจ็คกลับไปเวอร์ชันก่อนหน้าเป็นเรื่องง่าย ซึ่งในการอธิบายเรื่องนี้ เราก็ต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่ GitHub ใช้เป็นรากฐานเสียก่อน นั่นคือ Git และ Version Control

Git คืออะไร ? (What is Git ?)

Git เป็นระบบ Version Control แบบ Open-source ที่พัฒนาขึ้นมาโดย Linus Torvalds ในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) หากคุณคุ้นหูกับชื่อของนายคนนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะเขาก็คือผู้สร้างระบบปฏิบัติการ Linux (ที่โลโก้เป็นรูปเพนกวิน) ขึ้นมานั่นเอง

ความพิเศษของ Git คือมันเป็นระบบ Version Control แบบกระจายตัว นั่นหมายความว่า ฐานข้อมูลโค้ดทั้งหมด และประวัติความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะมีบนคอมพิวเตอร์ของนักพัฒนาทุกคน ทำให้เป็นการง่ายที่จะแยก และรวมโค้ดที่นักพัฒนาต่างคนต่างเขียนมันขึ้นมา

อ้างอิงจากการสำรวจในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ของ Stack Overflow แพลตฟอร์มตอบคำถามสำหรับนักพัฒนาพบว่า จากนักพัฒนาจำนวน 71,379 ราย มีนักพัฒนามากถึง 93.87% ที่ใช้งาน Git อยู่

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://survey.stackoverflow.co/2022#version-control-version-control-system

Version Control คืออะไร ? (What is Version Control ?)

Version Control เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถติดตาม และบริหารโค้ดในโปรเจ็คที่กำลังพัฒนาอยู่ ยิ่งโปรเจ็คมีขนาดใหญ่ และมีทีมพัฒนาหลายคน ความจำเป็นในการทำงานของ Version Control ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาบน WordPress ที่เมื่อไปถึงจุดที่ระบบมีขนาดใหญ่ การแก้ไขโค้ดโดยตรงบนฐานข้อมูลหลักโดยตรง เป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัย และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

Version Control ช่วยให้แก้ไขโค้ดมีความปลอดภัยด้วยการให้เครื่องมือในการทำ Branching และ Merging

โดย Branching เป็นเครื่องมือในการทำซ้ำซอร์สโค้ด (Repository) เพื่อให้นักพัฒนานำมาใช้แก้ไขโดยไม่ส่งผลกระทบต่อโค้ดต้นฉบับ

และเมื่อแก้ไข และตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่า โค้ดใหม่นั้นไม่มีปัญหา ก็ค่อยนำมันไป Merge กับโค้ดหลัก โดยตัว Version Control จะมีการเก็บประวัติความเปลี่ยนแปลง และสำรองข้อมูลเอาไว้เพื่อให้ใช้ในการย้อนเวอร์ชันของโค้ดกลับไปเวอร์ชันก่อนหน้าได้ด้วย

คำศัพท์ที่น่าสนใจของระบบ GitHub

ต่อไปนี้เป็นคำศัพท์สำคัญของ GitHub ที่นักพัฒนาควรรู้

Git

เครื่องมือที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถใช้งานระบบ Version Control ได้

GitHub

เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Web interfaces สำหรับการใช้ Git

Organization (org) 

ระบบกลไกที่ช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันหลายโครงการได้ในคราวเดียว

Repository (repo) 

คลัง (โฟลเดอร์) ที่ใช้เก็บไฟล์ทั้งหมด รวมถึงประวัติของไฟล์เวอร์ชันเก่าเอาไว้ในที่เดียว

Branch

เป็นการแยก Repo ออกมาอีกเวอร์ชัน เพื่อพัฒนาต่อ โดยที่ไม่ส่งผลต่อข้อมูลใน Repo ต้นฉบับ

Markdown (.md)

ภาษาที่รองรับการจัดรูปแบบข้อความให้เป็นระเบียบ เพื่อเพิ่มความง่ายในการอ่าน และเขียน รวมถึงสามารถแปลงเป็น HTML ได้ โดยไฟล์จะใช้นามสกุล .md อย่างใน Github จะใช้เขียนรายละเอียดของไฟล์ README.md ที่อยู่ใน Repo

Commit Changes

เป็นบันทึกประวัติความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับไฟล์ที่อยู่ภายใน Repo

Issues

เป็นช่องทางสำหรับให้ผู้ใช้งานส่งรายงานปัญหา หรือข้อผิดพลาดที่พบ เพื่อบันทึกไว้ให้นักพัฒนาได้ตรวจสอบ และทำการแก้ไข

Projects

อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ GitHub ในการทำ Project management และติดตามปัญหาในการทำงานที่เกิดขึ้น โดยใช้ร่วมกับ Repo หรือ Org

Wiki

เป็นส่วนหนึ่งของ Repot ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เก็บเอกสาร ใช้ในกรณีที่ไม่ได้เก็บข้อมูลเอาไว้ใน README.md

Fork

หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า "Branch" เป็นคลัง (Reposity) ที่ทางบัญชีผู้ใช้ได้ทำการคัดลอก (Copied) มาจากบัญชีผู้ใช้งานอื่น ตัว Fork หรือ Branch นี้ ช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำโค้ดมาปรับแต่ง หรือพัฒนาต่อได้ โดยที่ไม่ส่งกระทบไปยังโค้ดต้นฉบับ

Pull Request

หากนักพัฒนาต้องการแบ่งปันโค้ดที่เขาได้ทำการแก้ไข หรือปรับแต่งให้กับผู้เขียนโค้ดต้นฉบับ ก็สามารถใช้คำสั่ง Pull request ส่งไปหาเจ้าของคลัง (Reposity) เพื่อขออนุญาตได้

Merge

เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากการส่งคำขอ Pull request โดยหากเจ้าของคลัง (Reposity) พิจารณาแล้วว่าโค้ดที่มีคนแก้ไขแล้วส่งมาให้มีประโยชน์ ไม่มีปัญหาใด ๆ ก็สามารถเลือกยอมรับ เพื่อผสมผสานโค้ดใหม่นี้เข้ามารวมอยู่ในโค้ดต้นฉบับได้เลย

Push

คำสั่งนี้ นักพัฒนาจะใช้ในการส่งโค้ดที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ขึ้นไปออนไลน์ในคลัง (Reposity)

Commit

หรือการทำ Code revision เป็นการเปลี่ยนแปลงไฟล์ หรือชุดไฟล์อย่างอิสระ โดยค่าเริ่มต้น Commit จะแยกเก็บ, แทรก หรือเลือกรวมเข้ากับโปรเจ็คหลักผ่าน โดยจะมีการสร้างรหัสเฉพาะขึ้นมาเพื่อบันทึกค่าการ Commit ที่เกิดขึ้น ช่วยให้การอ่านประวัติความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในคลัง (Reposity) มีความเป็นระเบียบ เข้าใจง่าย

Clone

เป็นการดาวน์โหลดข้อมูลคลัง (Reposity) จากเซิร์ฟเวอร์ของ GitHub มาเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ของเรา ช่วยให้นักพัฒนาสามารถทำงานกับโค้ด และไฟล์ ได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ดใหม่หรือดาวน์โหลดมาทีละไฟล์ และเป็นวิธีที่เหมาะกับการเริ่มต้นทำงานจากโครงการที่มีอยู่แล้วใน GitHub

ประโยชน์ของการใช้งาน GitHub (GitHub Usage Benefits)

ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า GitHub เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การพัฒนาซอฟต์แวร์สะดวกสบายมากขึ้น มันทำงานบนคลาวด์, รองรับการทำงานจากระยะไกล และช่วยบันทึกข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละไฟล์ให้อย่างละเอียด

เมื่อผู้ใช้งานตั้งค่า Repository (Repo) บน GitHub เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถคัดลอกมันมาเก็บไว้ที่คอมพิวเตอร์ จากนั้นก็ทำงานต่อ จะแก้ไขปรับแต่งโค้ดกี่ท่าก็ตามแต่ จากนั้นก็แค่ "Push" มันกลับไปใน Repo ที่ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่คุณทำจะแสดงผลให้ทุกคนมองเห็นได้

แต่นั่นอาจทำให้มีคำถามว่า "ทำไมเราถึงต้องใช้ GitHub แทนที่จะทำงานบน Repository แบบส่วนตัว" มาลองอ่านเหตุผลที่ทำให้ GitHub ได้รับความนิยมกัน

เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันให้ดีขึ้น

จุดขายหลักของ GitHub คือมีเครื่องมือสำหรับช่วยในการทำงานร่วมกันแบบทีมให้เลือกใช้งานอยู่มากมาย ทั้งในส่วนที่เป็น Version Control และ Access Control

เพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่คุณต้องเขียนโค้ดสำหรับพัฒนาระบบเกมออนไลน์ และต้องการให้เพื่อน ๆ ของคุณมาช่วยเขียนโค้ดด้วย

สิ่งที่คุณต้องทำคือ การสร้าง Repository (Repo) เอาไว้บน GitHub แล้วทำการอัปโหลดไฟล์ทั้งหมดที่มี ทั้งไฟล์เวอร์ชันปัจจุบัน และไฟล์เวอร์ชันเก่า จากนั้นก็กดอนุญาตให้เพื่อน ๆ ของคุณสามารถเข้าถึง และจัดการไฟล์ใน Repo ได้

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/gothinkster/realworld

จากนั้นคุณเลือกที่จะทำงานในส่วนของระบบเกมหลัก ในขณะที่เพื่อนของคุณจะมาช่วยส่วนของเมนู และการตั้งค่าภายในเกม เพื่อให้การทำงานของคุณ และเพื่อน สามารถอัปเดตความเปลี่ยนแปลงในเวลาเดียวกันได้ โดยไม่ส่งกระทบต่องานในส่วนอื่น ๆ คุณจึงสร้าง "Branch" พื้นที่พัฒนาที่ถูกแยกออกมา ซึ่งเพื่อนร่วมทีมของคุณจะทำงานเขียนโค้ดอยู่ภายใน Branch นี้ ส่วนคุณก็ออกแบบเกมหลักอยู่ในอีก Branch เช่นกัน

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/gothinkster/realworld

เมื่อเพื่อนของคุณทำงานของพวกเขาเสร็จ ก็ใช้คำสั่ง "Pull request" เพื่อรวมงานที่เขาทำเสร็จแล้ว เข้ากับงานที่คุณทำอยู่ หากคุณยินยอม ก็สามารถสั่ง "Merge" ข้อมูลโค้ดของทั้งสอง Branch เข้าด้วยกันได้เลย

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/gothinkster/realworld

ต่อมา มีนักพัฒนาที่บังเอิญมาเห็นเกมของคุณ แล้วเกิดไอเดียที่อยากจะทำระบบมัลติเพลเยอร์ เขาก็สามารถที่จะทำการ "Fork" เพื่อคัดลอกโครงการของคุณไปทำต่อได้เลย

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/gothinkster/realworld

หลังจากที่นักพัฒนารายนั้น พัฒนาระบบมัลติเพลเยอร์จนเสร็จสิ้น เขาสามารถที่จะเลือกส่ง "Pull request" มาหาคุณได้ ถ้าหากคุณอนุญาต ตัว Forked repository ก็จะถูกดึงมารวม  Merge เข้าด้วยกัน ทีนี้ เกมของคุณก็จะมีระบบมัลติเพลเยอร์เพิ่มเข้ามาแล้ว

ซึ่งหากโครงการของคุณกำหนดค่าเป็น Public repository ทุกคนจะสามารถสั่ง Fork โครงการของคุณได้ แต่การ Pull request ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของ Repository จะยอมรับ หรือปฏิเสธ

ทีนี้ ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ไม่สมบูรณ์แบบตั้งแต่พัฒนาในครั้งแรก มันมักจะมีบั๊กที่รอวันตรวจเจอ เพื่อทำการแก้ไขในอนาคต ภายใน Repository ของ GutHub ก็เลยจะมีเมนู "Issues" สำหรับใช้ระบุรายการสิ่งที่ต้องแก้ไข, อภิปราย และแจ้งเตือนเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/gothinkster/realworld

มีระบบจัดการไฟล์ที่ดี

การใช้ GitHub หมายความว่าการทำงานของคุณจะไม่จำกัดแค่เพียงบนอุปกรณ์ หรือสภาพแวดล้อมเดียวอีกต่อไป

GitHub เป็นระบบที่เพิ่มชั้นเลเยอร์ Graphical user interface (GUI) ให้กับ Git เดิมที Git ทำงานผ่าน Command line แม้นักพัฒนาส่วนใหญ่จะใช้งาน Command line กันเป็นอยู่แล้ว แต่ในลักษณะการทำงานบางอย่างมันก็ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพเท่ากับการควบคุมด้วย GUI

ซึ่ง UI ของ GitHub มีความเรียบง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทำให้สั่งงานได้สะดวกกว่า รวมถึงมีการจัดเก็บประวัติความเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความสะดวกให้นักพัฒนา และผู้เริ่มต้นสามารถเข้าถึง Git ได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การที่ GitHub มีระบบโครงสร้างการทำงานเป็นคลาวด์ นั่นช่วยให้ผู้ใช้งาน GitHub สามารถเข้าถึง Repository ได้จากที่ไหน และจากอุปกรณ์ใดก็ได้ ทำให้การทำงานสะดวกเป็นอย่างมาก

เป็น Social Network สำหรับนักพัฒนา

ใครที่เคยใช้ GitHub น่าจะรู้กันดีว่ามันไม่ใช่แค่เพียงแพลตฟอร์มสำหรับทำงานกับโค้ดเท่านั้น ในหน้าโปรไฟล์ของผู้ใช้ GitHub ทุกคนจะมีการแสดงโปรเจ็ค, Repositories,  การ Contributions (มีส่วนร่วม) และกิจกรรมที่พวกเขามีบน GitHub

เครือข่าย Social Network ของ GitHub เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันประสบความสำเร็จ เพราะตัวระบบสนับสนุนให้นักพัฒนาอยากค้นพบโปรเจ็คใหม่ ๆ และเข้าไปมีส่วนร่วมกับในการพัฒนาใน Open-source ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นวิธีการที่แตกต่างไปจากระบบแบบดั้งเดิม ที่หากเราอยากมีส่วนร่วมกับโครงการไหน ? ก็ต้องเข้าไปติดต่อกับเจ้าของโปรเจ็คเสียก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะมีสิทธิ์ทำงานด้วยได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเสียเวลา

แต่พอเป็น GitHub แล้ว มันง่ายกว่ามาก คุณก็แค่ Fork แล้ว Pull request เท่านั้นเอง

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/gothinkster/realworld/graphs/contributors

นอกจากนี้ GitHub ยังถูกนักพัฒนาใช้เป็น Portfolio สำหรับใช้โชว์ผลงานอีกด้วย หลายคนใช้มันประกอบการสมัครงาน หรือผู้ว่าจ้างเอง ก็มักจะเข้ามาส่องหานักพัฒนามือดีใน GitHub ด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขาสามารถดูทักษะได้ซอร์สโค้ดที่ถูกเผยแพร่บน GitHub ได้เลย

ทำให้ Open-Source Projects เป็นเรื่องง่าย

จากคุณสมบัติการทำงานของ GitHub ที่เราได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น ทำให้มันเป็นเครื่องมือชั้นยอดที่ช่วยให้การพัฒนาโปรเจ็ค Open-source เป็นเรื่องง่าย การพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เติบโตไปอย่างรวดเร็ว มี CSS frameworks, Data visualization libraries, เกม ฯลฯ จำนวนมากมาย แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หรือต้องใช้เวลานานกว่าจะพัฒนาสำเร็จ ถ้าหากว่ามีมี GitHub repositories ให้ใช้งาน

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/twbs/bootstrap

Repositories แบบส่วนตัว

ถ้าอ่านมาถึงตอนนี้ คุณผู้อ่านก็น่าจะรู้สึกว่า GitHub มันดีขนาดนี้ แล้วมันหารายได้จากไหน ? ถ้าทุกอย่างฟรี และเป็น Open-source ?

คำตอบคือ ทาง GitHub ก็มีบริการแบบเสียเงินด้วยเช่นกัน เพื่อให้เข้าถึงคุณสมบัติเพิ่มเติมได้ เช่น Repositories แบบส่วนตัว เพื่อให้บริษัทที่ต้องการใช้ GitHub แต่ไม่ต้องการเผยแพร่ซอร์สโค้ดสู่สาธารณะสามารถใช้เพื่อการพัฒนาภายในได้ และ GitHub ยังมีโซลูชันสำหรับ Enterprise เพื่อใช้กับระบบขององค์กรด้วย

GitHub คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? ช่วยผู้พัฒนาได้มากแค่ไหน ?
ภาพจาก : https://github.com/pricing


ที่มา : github.com , kinsta.com , www.techtarget.com , digital.gov , en.wikipedia.org , www.coursera.org , www.simplilearn.com , survey.stackoverflow.co , blog.hubspot.com , github.com

0 GitHub+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น