ในยุคที่สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกลายเป็นส่วนสำคัญในการทำงาน และชีวิตประจำวันของทุกคน องค์กรต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อที่จะจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพทำให้ "การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่" หรือ "Mobile Device Management (MDM)" กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุม, ดูแล และรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในบทความนี้ เราจะขอนำเสนอทุกคนในเรื่องของ MDM ทั้งในส่วนของความหมาย, ความสำคัญ, หลักการทำงาน, องค์ประกอบที่สำคัญ, รูปแบบ, แนวทางปฏิบัติ และเปรียบเทียบข้อดี-ข้อสังเกต ของระบบจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่องค์กรทุกแห่งต้องควรที่จะพิจารณา
คำว่า "การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่" หรือ "Mobile Device Management (MDM)" คือชุดซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ดูแลระบบไอทีสามารถควบคุม, ดูแลความปลอดภัย และบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบองค์กรได้
ภาพจาก : https://thectoclub.com/tools/best-mdm-software/
MDM เป็นส่วนสำคัญของ ระบบการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ในองค์กร (Enterprise Mobility Management : EMM) และ การจัดการอุปกรณ์ปลายทางแบบรวมศูนย์ (Unified Endpoint Management : UEM) ซึ่ง MDM นั้นมุ่งเน้นไปที่การจัดการอุปกรณ์ทั้งหมดผ่านหน้าจอควบคุมเพียงหน้าจอเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ใช้งานในองค์กร
อุปกรณ์เคลื่อนที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับธุรกิจ และพนักงานในการทำงาน อีกทั้งการทำงานทางไกลเช่น WFH ก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น แต่เนื่องจากอุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกิจที่สำคัญได้ ทำให้การจัดการ และการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นความจำเป็น ฝ่ายไอทีขององค์กร และผู้นำด้านความปลอดภัย ต้องมีหน้าที่ดูแล และควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ภาพจาก : https://www.tis-gmbh.de/en/tislog-mdm-mobile-device-management/
การทำงานของ MDM ประกอบด้วยการติดตั้ง ซอฟต์แวร์ (Software) ที่เรียกว่า "MDM Agent" ไว้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และมี เซิร์ฟเวอร์ (Server) MDM ไว้อยู่ในระบบ คลาวด์ Cloud ผู้ดูแลระบบไอทีสามารถตั้งค่านโยบายต่าง ๆ ผ่านหน้าจอควบคุมของเซิร์ฟเวอร์ และส่งนโยบายไปยัง MDM agent บนอุปกรณ์ผ่านระบบไร้สาย หลังจากนั้น MDM Agent จะนำกฎเหล่านี้ไปใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยอ้างอิงจาก API ที่ฝังอยู่ใน ระบบปฏิบัติการ (Operation System) ของอุปกรณ์
นอกจากนี้ ผู้ดูแลระบบยังสามารถติดตั้ง แอปพลิเคชัน (Application) ไปยังอุปกรณ์ที่ถูกจัดการได้ผ่านเซิร์ฟเวอร์ MDM ทำให้ง่ายต่อการควบคุมการใช้งาน และรักษาความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน และข้อมูล
ภาพจาก : https://www.techtarget.com/searchmobilecomputing/definition/mobile-device-management
ภาพจาก : https://devicemax.com/enterprise/
ทุกอุปกรณ์ที่องค์กรจัดการ สามารถตั้งค่าให้มีการติดตามผ่านระบบ Global Positioning System (GPS) และโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ทีมไอทีสามารถตรวจสอบ, อัปเดต และแก้ไขปัญหาอุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังสามารถล็อก หรือแม้กระทั่งลบข้อมูลในอุปกรณ์จากระยะไกลได้ในกรณีที่อุปกรณ์สูญหาย หรือถูกขโมยไป
ฝ่ายไอทีมีหน้าที่ในการจัดหา, ติดตั้ง, จัดการ และสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์ของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า อุปกรณ์แต่ละเครื่องมีระบบปฏิบัติการ และแอปพลิเคชันที่จำเป็น
MDM สามารถทำ App Wraping เทคนิคที่เพิ่มชั้นของการรักษาความปลอดภัยให้กับแอปพลิเคชันเป้าหมาย โดยที่ไม่ต้องแก้ไข หรือดัดแปลงโค้ดต้นฉบับของแอปดังกล่าว เช่น การบังคับให้ล็อกอินด้วยรหัสผ่านก่อนเปิดใช้งาน, ป้องกันไม่ให้คัดลอกข้อมูลส่งต่อได้ ฯลฯ
IAM ช่วยให้การเข้าถึงของผู้ใช้อุปกรณ์แต่ละเครื่องถูกควบคุมอย่างเต็มที่ โดยใช้ฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การลงชื่อเข้าใช้ครั้งเดียว (Single Sign-on (SSO)) และ การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-Factor Authentication (MFA))
MDM ช่วยรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ปลายทางที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายขององค์กร เช่น อุปกรณ์ IoT และ อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้ (Wearable Device)
หมายถึงการที่พนักงานใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น ๆ ในการทำงาน แทนการใช้อุปกรณ์ที่องค์กรจัดหาให้ แม้ว่าการนำเอาอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งาน (Bring Your Own Device - BYOD) จะเพิ่มความท้าทายในเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ เนื่องจากเพิ่มความพึงพอใจ และประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้าน ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ขององค์กรด้วย
ภาพจาก : https://www.aver.com/AVerExpert/how-does-byod-affect-your-school
Enterprise Mobility Management (EMM) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ นอกจากจะจัดการอุปกรณ์แล้ว ยังครอบคลุมถึงการจัดการผู้ใช้, ข้อมูล, แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ปลายทาง รวมถึง BYOD อีกด้วย ซึ่งวิธีการ EMM นั้นสามารถขยายตัวได้ตามความต้องการขององค์กร และด้วยฟีเจอร์ความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยให้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึก และการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งาน และกิจกรรมจากแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่งได้พร้อมกัน
เป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดจาก EMM โดยมีความสามารถในการจัดการอุปกรณ์หลากหลายแพลตฟอร์ม เช่น iOS, Android, Windows, macOS, และ Chrome OS จากศูนย์กลางเดียว นอกจากการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่แล้ว UEM ยังรวมถึงการจัดการอุปกรณ์ปลายทางอื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ Internet of Things (IoT), และอุปกรณ์สวมใส่อีกด้วย
UEM ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุม และรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ เทคโนโลยี AI และ การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning - ML) เพื่อวิเคราะห์ และตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ ทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ภาพจาก : https://www.42gears.com/guide/the-ultimate-mobile-device-management-guide/
MDM ช่วยให้องค์กรสามารถปกป้องข้อมูลที่สำคัญในอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดยการเข้ารหัสข้อมูล, บังคับใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง และลบข้อมูลจากระยะไกลในกรณีที่อุปกรณ์สูญหาย หรือถูกขโมย
องค์กรสามารถจัดการแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน
พนักงานสามารถใช้แอปพลิเคชัน และเครื่องมือในการทำงานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยเพิ่มความคล่องตัว และประสิทธิภาพการทำงาน
MDM ทำให้องค์กรสามารถจัดการอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงาน (BYOD) ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่กระทบต่อข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร
ด้วย MDM ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบ ดูแล และจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหมดได้จากศูนย์กลาง รวมถึงการอัปเดตซอฟต์แวร์ และแก้ไขปัญหาจากระยะไกล
การใช้ MDM โดยเฉพาะในกรณีของ BYOD อาจก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของพนักงาน เพราะผู้ดูแลระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลบางส่วนในอุปกรณ์ส่วนตัวได้ จึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการแยกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลธุรกิจ
การนำ MDM มาใช้อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในด้านซอฟต์แวร์, การบำรุงรักษา และการฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าก่อนการตัดสินใจ
หากองค์กรใช้อุปกรณ์ที่มีระบบปฏิบัติการหลากหลาย เช่น iOS, Android, Windows และ macOS ผู้ดูแลระบบอาจพบกับความยุ่งยากในการจัดการ และควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมด
อุปกรณ์เคลื่อนที่บางประเภท หรือบางรุ่นอาจไม่สามารถรองรับฟีเจอร์ทั้งหมดของ MDM ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้องค์กรต้องพิจารณาความเข้ากันได้ของอุปกรณ์แต่ละตัวก่อนการติดตั้ง
กำหนดนโยบายการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยในองค์กร
ระบุข้อกำหนดการใช้งานข้อมูล การโรมมิ่ง (Roamimg) และการโทรต่างประเทศอย่างชัดเจน
ใช้แพลตฟอร์มเพื่อจัดการและรักษาความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ทั้งหมด
ตั้งค่าความปลอดภัยของอุปกรณ์ให้มีการอัปเดตอัตโนมัติ และใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง
สอนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ให้แก่พนักงานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ
ภาพจาก : https://www.goto.com/it-management/solutions/mdm-software
การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่เพียงช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กร แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และองค์กรได้อย่างดีเยี่ยม MDM ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุม และจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ควรต้องพิจารณาข้อดี และข้อสังเกตต่าง ๆ ของ MDM เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับความต้องการในระยะยาวขององค์กรนั่นเอง
|