หากพูดถึง Cloud Computing เราก็จะนึกถึง การรีโมทเข้าระบบเซิร์ฟเวอร์จากระยะไกล หรือ การเก็บข้อมูลจากระยะไกล เช่น Google Drive หรือ OneDrive แต่ที่จริงนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ Cloud Computing ยังมีบริการที่หลายรูปแบบ และ การใช้งานอีกหลายประเภท
โดยที่บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Cloud Computing กันครับ มันมีที่มาอย่างไร มีกี่ประเภท และ มีประโยชน์อะไรบ้าง คิดว่าทุกคนน่าจะเคยได้หรือศึกษามาบ้างแล้ว และน่าจะรู้ว่าเทคโนโลยีนี้ ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) หรือ การประมวลผลแบบคลาวด์ (ถ้าเรียกแบบไทยๆ เลยคือ "การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ") คือ เทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการแบบเครือข่ายออนไลน์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่หน่วยประมวลผล, บริการซอฟต์แวร์, แอปพลิเคชัน รวมถึงบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน IT ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับองค์กร อย่างระบบเซิร์ฟเวอร์ หน่วยจัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย ระบบจำลองคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีจำพวก AI ก็ยังมี
ภาพจาก : https://blog.servermania.com/the-history-of-cloud-computing/
ย้อนไปปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) - ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ในยุคที่ถือกำเนิดคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรม (Mainframe Computer) ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงตัวแรก ๆ ของโลก และเนื่องจากมีขนาดใหญ่และแพง เลยมักถูกใช้ในองค์กรใหญ่เท่านั้น เช่น ธนาคาร หรือ มหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นมันได้ทำประโยชน์หลายอย่างให้กับองค์กรต่าง ๆ เช่น การเก็บข้อมูล การประมวลผลทางสถิติ การคำนวนข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งฟังดูคล้าย ๆ กับ เทคโนโลยีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ใช่ไหมล่ะครับ นั่นแหล่ะคือจุดเริ่มต้นของโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Infrastructure)
และที่ผมพูดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เพราะส่วนหนึ่งจุดเริ่มต้นของ Cloud มันเริ่มจาก เจ้าเครื่องนี้ด้วยแหล่ะ ซึ่งถ้าถามว่าสมัยนั้นเขาใช้งานกันอย่างไร คำตอบคือ มันไม่ได้ถูกคีย์ข้อมูล และ รีโมทเข้าเครื่องผ่านอินเทอร์เน็ตเหมือนปัจจุบัน เพราะยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต และ วิธีป้อนข้อมูลจะเป็นการใช้บัตรเจาะรู (Punch Card) ที่เป็นบัตรกระดาษแข็งใส่โค้ดต่าง ๆ ไว้ให้คอมพิวเตอร์สามารถถอดรหัสจากช่องว่างบนบัตร ต่อมาก็มีการพัฒนาเป็นเครื่อง Teletype Printer ที่สั่งบันทึกข้อมูลจากระยะไกลได้โดยใช้สายไฟคู่ เหมือนวงจรโทรศัพท์
ภาพตัวอย่าง บัตรเจาะรู (Punch Card)
กระทั่งยุค 60 หรือปี ค.ศ. 1960 - 1969 (พ.ศ. 2503 - 2512) กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เริ่มอยากจะสร้างเครือข่ายที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด จึงได้ก่อตั้ง สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูง หรือ ARPA (Advanced Research Project Agency) โดยมีจุดประสงค์ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางการทหาร หรือสร้างเครือข่ายไว้ติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : Internet คืออะไร ? และ ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา ?
จึงได้เกิดเป็นโครงการ ARPANET (Advanced Research Project Agency Network) พร้อมออกนโยบายสนับสนุนให้หน่วยงานอื่น ๆ อย่างมหาวิทยาลัย และ บริษัทเอกชน ให้ร่วมกันทำการวิจัย ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม ต่างเป็นองค์กรใหญ่ที่มีต้นทุนอย่าง การใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรม และ ไมโครคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และในที่สุด โครงการก็สำเร็จได้ในช่วงยุค 70 หรือ ค.ศ. 1970 - 1979 (พ.ศ. 2513 - 2522) จนกลายต้นกำเนิดของ อินเทอร์เน็ต ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นไงครับเริ่มเข้าใกล้ความเป็นระบบคลาวด์มากขึ้นหรือยัง
เมื่อมีอินเทอร์เน็ตแล้ว ที่เหลือก็คือส่วนผสมที่ทำให้การกำเนิดของ Cloud Computing มีความลงตัวมากขึ้น และวัตถุดิบน้่นก็คือ เทคโนโลยี Virtual Machine นั่นเองครับ เพราะเทคโนโลยีนี้มีส่วนสำคัญทำให้ระบบคลาวด์ สามารถสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานบนอุปกรณ์อีกเครื่องและใช้ทรัพยากรตามที่ต้องการได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือถ้าขาด Virtual Machine การจำลองเครื่องเซิร์ฟเวอร์บนระบบคลาวด์ ที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงระบบต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาแบบในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถทำได้
โดยต้องยกความดีความชอบให้กับบริษัท IBM ที่เป็นผู้คิดค้นระบบ Virtual Machine ได้เป็นเจ้าแรกเมื่อปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ซึ่งทาง IBM ก็เป็นบริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ อย่างพวกคอมพิวเตอร์เมนเฟรมนั่นเองครับ และเทคโนโลยี Virtual Machine ก็ทำให้โซลูชั่น Data Center ของพวกเขามีความโดดเด่นมากกว่าใคร มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และพอปี ค.ศ. 1990 เมื่อปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเริ่มขยายตัวมากขึ้น เหล่าบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่งเริ่มนำเสนอ เทคโนโลยี ระบบ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN หรือ Virtual Private Network) เพื่อเข้ามาแก้ปัญหา ทำให้การรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ต มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีต่อ ระบบ Cloud เช่นกัน
โดยชื่อ "Cloud" ถูกคิดครั้งแรกโดยบริษัท General Magic ที่แยกตัวออกมาจากบริษัท Apple และต่อมาก็ถูกบันทึกเป็นเอกสารครั้งแรกโดย บริษัท Compaq ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายหนึ่งในสมัยนั้น เพื่อเปรียบถึง 'อินเทอร์เน็ต' ในอีกความหมายหนึ่ง ว่าเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และห่อหุ้มระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชื่อมต่อเข้าด้วยกันแบบไม่มีที่สิ้นสุด จึงแทนสัญลักษณ์เป็น ก้อนเมฆ หรือ Cloud นั่นเอง
อย่างไรก็ตามจากจุดเริ่มต้น และ ส่วนประกอบที่ยังไม่เป็นรูปธรรม ก็พัฒนากลายเป็นบริการคลาวด์ อย่างเต็มรูปแบบจริง ๆ ได้เข้าสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือ PC (Personal Computer) มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ความสำคัญของระบบคลาวด์ ก็มีความชัดเจน และบริการคลาวด์ Software-as-a-Service ก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ "Salesforce"
"Salesforce" เป็นโปรแกรม CRM ที่สามารถใช้งานบนคลาวด์ได้เป็นครั้งแรก เปิดตัวในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) นำเสนอโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำการตลาดกับลูกค้า สร้างยอดขายขององค์กร จนประสบความสำเร็จ และ มีธุรกิจต่าง ๆ ต้องการจะใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) บริษัท Amazon ก็มีการนำระบบ Cloud Computing มาใช้ในเว็บไซต์ Amazon และในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ก็ได้มีการเปิดตัว 'Amazon Web Services' แพลตฟอร์มคลาวด์ที่ครอบคลุมบริการ แอปพลิเคชัน การคำนวณ การจัดเก็บข้อมูล ระบบอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อบริษัท ซึ่งทำให้กระแสของ Cloud Computing เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มมีการปรับเปลี่ยน รวมถึง ผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็เริ่มมีมากขึ้น
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม Cloud Computing มันได้รับความนิยมมาก และใช้แล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร มาดูข้อดีของมันที่เราสรุปได้ดังนี้
ภาพจาก : https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=5&lang=en&menu=investplan&lang=en
การลงทุนด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ถือเป็นสิ่งที่องค์กรมักกังวลเพราะต้องลงทุนติดตั้ง Hardware กับ Software รวมถึงเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บบำรุงรักษา เช่นห้องเซิร์ฟเวอร์ หรือศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นต้น แถมเวลาที่ธุรกิจมีการขยับขยาย ก็ต้องมีการลงทุนอัปเกรดเพิ่มเติมอีก
และทรัพย์สินเหล่านี้ตั้งแต่ อุปกรณ์ ไปจนถึงอาคารที่ใช้เป็นห้อง Data Center ทุกอย่างเป็นสินทรัพย์ถาวรที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย ๆ แต่ในการทำธุรกิจ "เงินสด" คือพระเจ้า เพราะมันแสดงถึงสภาพคล่องขององค์กรที่พร้อมจะปรับปรุงและยืดหยุ่นได้เสมอ
แต่กลับกัน Cloud Computing สามารถให้คุณใช้ระบบ IT เหล่านั้นได้ด้วยการเช่าซื้อระบบต่าง ๆ ทำให้องค์กรไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่กล่าวมาเลย และสามารถมีเงินไปโฟกัสกับส่วนอื่น ๆ ของธุรกิจได้
ภาพจาก : https://www.c-sharpcorner.com/article/top-10-cloud-service-providers/
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Cloud Computing นิยมเพราะทำให้องค์กรมีตัวเลือก และ สามารถยืดหยุ่นในการใช้งานได้ตลอด เพราะบริการ Cloud มีหลายรูปแบบ และ มีหลายราคา แถมยังแบ่งระบบสเกลตามขนาดของธุรกิจได้ นั่นทำให้มันเหมาะกับทุกองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการความเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ง่ายที่จะขยายบริการที่มากขึ้น เช่น สิทธิ์การใช้โปรแกรมที่มีประโยชน์มากขึ้น หรือ ความจุในการรักษาข้อมูลที่มากขึ้นเป็นต้น
กลับกันถ้ารู้สึกว่าไม่โอเครกับธุรกิจ คุณก็ยังสามารถเปลี่ยนไปใช้คลาวด์ของผู้ให้บริการอื่น ๆ ได้ง่ายนิดเดียว
อย่างที่บอกว่าระบบคลาวด์ อยู่บนออนไลน์ ดังนั้นโปรแกรมต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบคลาวด์ ไม่วาจะเป็นโปรแกรมที่ช่วยคำนวนยอดขาย โปรแกรมที่ช่วยในการพิมพ์เอกสาร โปรแกรมที่ช่วยในการทำงานต่าง ๆ ทั้งหมดสามารถเรียกใช้งานได้ผ่านอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเทียบในเรื่องของความคล่องตัวแล้ว ชนะขาด เพราะมันทำให้พนักงานของคุณสามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา
ภาพจาก : https://coolingpowercorp.com/news/common-causes-server-room-fires-might-surprise/
หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้อาคารที่ตั้งบริษัทของคุณเสียหายเช่น ไฟไหม้ ตึกถล่ม สิ่งหนึ่งที่องค์กร จะได้รับผลกระทบคือความสูญเสียจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสำนักงานซึ่งรวมถึงห้อง Data Center แต่ถ้าเราเปลี่ยนไปใช้คลาวด์หมดแล้วแน่นอนว่า ศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ที่บริษัทคุณ แต่อยู่ที่ผู้ให้บริการ ระบบต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่ และถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวนี้ความรับผิดชอบก็ไม่ได้อยู่ที่คุณเพียงคนเดียวอยู่แล้ว เรียกว่าช่วยกระจายความเสี่ยงได้ละกัน
พูดถึงประโยชน์ไปแล้วก็มาที่ข้อเสียของ Cloud Computing กันบ้าง อย่างแรกก็คือ
ข้อมูล ที่เป็นทรัพย์สินขององค์กร คือ ปัญหาหนึ่งที่ทำให้มีความกังวลเรื่องการใช้งานระบบคลาวด์ เพราะคิดแบบง่าย ๆ เลยก็คือ ระบบนั้นไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของผู้ให้บริการ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญอย่าง ความลับทางการค้า รายชื่อลูกค้า ไฟล์งานสำคัญ ทุกอย่างไม่ได้เก็บไว้ที่เรา ถึงแม้ผู้ให้บริการจะออกมาบอกว่าข้อมูลของท่านจะถูกปกป้องอย่างดี แต่เราจะไว้ใจได้หรือไม่ก็อีกเรื่อง ทางเลือกคือผู้ใช้บริการอาจต้องมองหา บริษัทที่มีเครดิตดี น่าจะเป็นการป้องกันได้ดีที่สุด
"เราไม่สามารถไว้ใจกำแพงของคนอื่นได้เท่ากับกำแพงที่เราสร้างเอง" คำนี้ไม่มีใครกล่าว แค่เป็นคำที่อยากจะสื่อให้เข้าใจว่า การรักษาความปลอดภัยของระบบนั้นขึ้นอยู่กับทางฝั่งผู้ให้บริการ และ ถ้าเกิดเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการคลาวด์แก่บริษัทของคุณอยู่ เกิดโดนโจมตีขึ้นมาส่งผลต่อเว็บไซต์ของบริษัทคุณ คุณก็ไม่มีทางรู้ได้จนกว่าจะเกิดความเสียหายแล้ว ดังนั้นควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทที่ให้บริการมีมาตรการความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตอย่างไรบ้าง
พื้นฐานของระบบต่าง ๆ คือการใช้ผ่านผู้ให้บริการ ทำให้ไม่สามารถควบคุมประสิทธิภาพได้ และยิ่งเซิร์ฟมีการถูกใช้จากหลายแหล่งที่มา หากผู้ให้บริการไม่มีการเตรียมความพร้อม อาจทำให้มีปัญหามาถึงตัวผู้ใช้อย่างเรา ทำให้ขาดความต่อเนื่อง และความรวดเร็ว
ภาพจาก : https://www.navarro-rodriguez.com/uncategorized/hybrid-cloud-private-cloud-public-cloud-and-multi-cloud-lets-make-it-clearer/
ประเภท Cloud Computing สามารถจัดประเภทได้ 4 แบบ ตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้
แต่หากพูดถึงคลาวด์ในปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายนั่นก็คือ Public Cloud นั่นเองครับ เพราะออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ถึงแม้บางส่วนจะกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่บ้าง แต่ด้วยความสะดวกและง่าย จึงทำให้หลายฝ่ายเลือกที่จะใช้ Public Cloud ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่หลายเจ้าพอสมควร
ประเภทของบริการคลาวด์ (Cloud Services) ที่มีให้เช่า หรือ ซื้อในปัจจุบันสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบตามมาตรฐาน และตามความสามารถของแพ็กเกจบริการ เช่น Application, Data, Runtime, Middleware, O/S, Virtualization, Servers, Storage และ Networking ซึ่งประกอบด้วย
ภาพจาก : https://www.redhat.com/en/topics/cloud-computing/public-cloud-vs-private-cloud-and-hybrid-cloud
Infrastructure แปลว่าโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น Infrastructure as a Service (IaaS) จึงเป็นการให้บริการเฉพาะระบบสารสนเทศ (IT) พื้นฐานสำหรับองค์กร ที่ต้องการแค่ระบบไปรองรับการพัฒนาต่อ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับองค์กร เว็บไซต์ ระบบข้อมูล หรือ แอปพลิเคชัน เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่ต้องดูแล ส่วนผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เอง แต่อย่างใด
ข้อมูลเพิ่มเติม : รู้จัก IaaS ให้มากขึ้น และ ข้อดี-ข้อเสีย
ภาพจาก : https://www.redhat.com/en/topics/cloud-computing/public-cloud-vs-private-cloud-and-hybrid-cloud
Platform as a Service (PaaS) ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม และครอบคลุมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับผู้พัฒนา (Developer) ที่ต้องการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ชุดคำสั่ง (Devtool) สำหรับพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ โดยรันอยู่บนพื้นฐานของระบบผู้ให้บริการ
ข้อมูลเพิ่มเติม : รู้จัก PaaS ให้มากขึ้น และ ข้อดี-ข้อเสีย
ภาพจาก : https://www.redhat.com/en/topics/cloud-computing/public-cloud-vs-private-cloud-and-hybrid-cloud
Software as a Service (SaaS) คือสูตรสำเร็จของบริการคลาวด์ ที่ครอบคลุมไปถึง ซอฟต์แวร์ และ แอปพลิเคชันสำเร็จรูป เป็นบริการที่ส่งตรงได้ตั้งแต่ระดับองค์กร นักพัฒนา ไปจนถึง End-user ผู้ใช้บริการไม่ต้องสร้างแอปพลิเคชันเอง ระบบก็ไม่ต้องดูแลเอง เพราะ ผู้ให้บริการเตรียมให้หมดแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม : รู้จัก SaaS ให้มากขึ้น และ ข้อดี-ข้อเสีย
อีกประเภทหนึ่งที่กำลังมาแรง และเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานคือ Desktop as a service (DaaS) หรือชื่อเรียกอีกอย่างว่า "Cloud PC" เป็นบริการ ที่ยกระดับ Cloud computing มากขึ้นด้วยการนำเสนอบริการให้เช่า PC ในรูปแบบคลาวด์ออนไลน์ หรือให้ผู้ใช้สามารถนำอุปกรณ์ของตัวเอง รีโมทเข้าระบบ Cloud PC ที่เช่าซื้อสเปกที่ดีกว่าเอาไว้ และใช้งานจากที่ไหนก็ได้ โดยระบบ PC ที่ทำงานบนคลาวด์นั้น ผู้ใช้สามารถปรับแต่งสเปกได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ RAM และ อุปกรณ์เก็บข้อมูล (Storage Device) หรืออะไรก็ตาม
บริการ Desktop as a service (DaaS) เป็นสิ่งที่ใหม่มาก ๆ และตัวอย่างผู้ให้บริการก็คือ Microsoft ที่มีการเปิดตัว Windows 365 ออกมา บริการนี้คือการเช่า PC ระบบปฏิบัติการ Windows เครื่องหนึ่งมาใช้งานบนออนไลน์ได้เลย ทำให้เราไม่ต้องซื้อฮาร์ดแวร์ที่แพงกว่ามาติดตั้งเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : รู้จัก DaaS ให้มากขึ้น และ ข้อดี-ข้อเสีย
ชมคลิปเปิดตัว Windows 365
พอจะจับทางได้บ้างหรือยังครับว่า Cloud Computing เป็นเทคโนโลยีแบบไหน และ มีประโยชน์อย่างไร นี่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ที่จะมีบทบาทยิ่งขึ้น และ พัฒนาได้อีกไกลในอนาคต เพราะตอนนี้เรา ก็ได้เห็นถึงความนิยมของมันกันแล้ว
และก็อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่แรก เทคโนโลยีนี้แพร่หลายและอยู่รอบตัวเรามาโดยตลอด ถ้าเราเข้าใจมัน และ เลือกใช้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยอะไรคุณได้หลายอย่าง โดยเฉพาะองค์กรที่กำลังแข่งขันในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถ้ากำลังสนใจจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ หวังว่าบทความเราจะช่วยคุณได้
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |