ระยะหลังมานี้ บนกล่องของอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่รองรับการเชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายได้ โดยเฉพาะพวกอุปกรณ์ IoT นอกเหนือจากสัญลักษณ์ Bluetooth, Wi-Fi แล้ว ระยะหลังมานี้ เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ Z-Wave หรือ Zigbee บนกล่องด้วย ทั้งสองเทคโนโลยีนี้ ทั้งคู่ต่างก็เป็นเครือข่ายไร้สายทั้งคู่ และช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารหากันได้ แล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างไรล่ะ? มาหาคำตอบกัน
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
ลักษณะการทำงานของ Wi-Fi Network (pictafolio / Getty Images)
Wi-Fi คือ เครือข่ายไร้สายรูปแบบหนึ่ง ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1998 มันออกแบบมาเพื่อสร้างเครือข่าย LAN (Local area network) โดยที่ไม่ต้องใช้สาย หากเราพูดถึงอินเทอร์เน็ตไร้สาย ส่วนใหญ่เราก็หมายถึงเครือข่าย Wi-Fi ที่สร้างผ่านตัวเราเตอร์ อย่างไรก็ตาม สัญญาณอินเทอร์เน็ตนี้ไม่ได้มาจากเราเตอร์ แต่ว่าถูกปล่อยมาจากโมเด็ม ซึ่งตัวโมเด็มก็จะต้องเชื่อมต่อเข้ากับสายไฟเบอร์ออฟติก, สายโทรศัพท์ หรือไม่ก็สัญญาณไร้สายจากเสาโทรศัพท์
เมื่อเราเชื่อมต่ออุปกรณ์ไปยังเครือข่าย Wi-Fi เราจะเชื่อมต่อเข้าไปยังเราเตอร์ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ในเครือข่าย (เช่น โน้ตบุ๊ค, สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, สมาร์ททีวี, เครื่องเกมส์ ฯลฯ) จะสามารถมองเห็นกันได้ และแบ่งปันรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยกันได้
Wi-Fi Aware เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมา มันช่วยให้อุปกรณ์ที่รองรับ สามารถค้นหาและติดต่อกับอุปกรณ์อื่นที่อยู่ในระยะใกล้ๆ กันได้อัตโนมัติ นวัตกรรมนี้ทำให้อุปกรณ์สื่อสารหากันได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน แต่จะทำให้อุปกรณ์สามารถเป็น "ผู้ปล่อยข้อมูล", "ผู้รับข้อมูล" หรือเป็นทั้งสองฝ่ายพร้อมกันได้ การเชื่อมต่อทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ จะทำผ่าน Wi-Fi โดยตรง ไม่ต้องใช้ Cellular data หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ร้านค้าอาจจะปล่อยข้อมูลโปรโมชั่นของร้านเอาไว้ เมื่อคนเดินผ่านบริเวณร้าน ก็จะได้รับการแจ้งเตือนโปรโมชั่นได้ทันที เป็นต้น
Z-Wave ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Zensys ในปี 2001 จากนั้น 7 ปีต่อมา บริษัท Sigma Designs ได้เข้าซื้อเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาต่อ
ลักษณะการทำงานของ Mesh Network (Wikipedia)
Z-Wave เป็นระบบเครือข่ายแบบ Mesh (ตาข่าย, ร่างแห) เชื่อมต่อกันด้วยการใช้คลื่นวิทยุพลังงานต่ำ จุดเด่นอยู่ตรงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางในการเชื่อมต่อกันเหมือนกับ Wi-Fi อุปกรณ์ที่รองรับ Z-Wave จะเชื่อมต่อหากันและสร้างเครือข่ายขึ้นมาเองเหมือนกับใยแมงมุม โดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง (เราเตอร์) เหมือนกับ Wi-Fi
จุดเด่นของ Z-Wave คือ ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน ตราบใดที่มีอุปกรณ์อยู่ในเครือข่ายมากพอ และยิ่งมีอุปกรณ์ในระบบมากเท่าไหร่ เครือข่ายก็จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ อุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่จะรองรับ Z-Wave
พูดถึง Z-Wave แล้ว จะไม่พูดถึง Zigbee ก็คงไม่ได้ ทั้งสองเทคโนโลยีนี้ มีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งคู่ต่างก็เป็น Mesh Network เหมือนกัน และสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ในเชิงเทคนิคแล้ว มันจะมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย
Zigbee ทำงานที่ย่านความถี่ 2.4 GHz เมื่อเทียบกับ Z-Wave ที่ใช้ย่านความถี่ 908 MHz หมายความว่า Zigbee จะรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่า (9.6 - 100kbps กับ 40 - 250kbps) แต่ว่าจะมีระยะการทำงานที่สั้นกว่า (100 ฟุต กับ 35 ฟุต) ด้านความปลอดภัย ทั้งคู่ต่างก็ใช้การเข้ารหัสแบบ AES 128 ด้วยเหมือนกัน
ทั้งนี้ Z-Wave และ Zigbee สามารถทำงานร่วมกันได้นะครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |