ในยุคดิจิทัลที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของเรา "ไวไฟ (Wi-Fi)" เลยได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน, การเรียน หรือการพักผ่อน Wi-Fi ช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย และรวดเร็ว
แต่ก่อน Wi-Fi อาจมีให้บริการเฉพาะแค่ในสนามบิน, ร้านกาแฟ หรือโรงแรมบางแห่งเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ Wi-Fi มีอยู่ในแทบทุกบ้าน และธุรกิจทุกแห่ง
บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี Wi-Fi ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ไปจนถึงหลักการทำงานของมัน เพื่อให้คุณเข้าใจ และสามารถใช้งาน Wi-Fi ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
คำว่า "Wi-Fi" เป็นชื่อเครื่องหมายการค้าที่ทาง "Wi-Fi Alliance" ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเป็นผู้ดูแล และควบคุมมาตรฐาน Wi-Fi ตั้งขึ้นมา ย่อมาจากคำว่า "Wireless Fidelity" มันเป็นมาตรฐานการสื่อสารสำหรับเครือข่ายไร้สาย ที่ทำงานในรูปแบบ เครือข่ายท้องถิ่น (LAN) โดยไม่ต้องใช้สายเคเบิล หรือสายไฟใด ๆ หรือที่เรียกว่า "Wireless Local Area Network (WLAN)" โดยทำงานบน มาตรฐานการสื่อสาร IEEE 802.11
โดย Wi-Fi เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย (Wireless Network) ที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ PC, โน้ตบุ๊ก (Notebook), สมาร์ทโฟน ฯลฯ สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ และยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้อีกด้วย
โดยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของ Wi-Fi จะเกิดขึ้นผ่าน เราเตอร์ (Router) เมื่อคุณเข้าถึง Wi-Fi เท่ากับว่าคุณกำลังเชื่อมต่ออุปกรณ์ไปยังเราเตอร์ที่ช่วยให้อุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้
ภาพจาก : https://www.mercusys.com/
Wi-Fi ทำงานด้วยการส่งคลื่นวิทยุในย่านความถี่ต่าง ๆ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต และการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายที่ความเร็วต่าง ๆ กัน โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งเป็นช่วง ความถี่ย่าน 2.4 GHz, 5 GHz และ 6 GHz ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ยิ่งย่านความถี่ของ Wi-Fi สูงขึ้น ความเร็วในการรับส่งข้อมูลก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความถี่ที่สูงขึ้นอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งานมากกว่า เนื่องจาก ความถี่ที่ต่ำกว่าเช่น 2.4 GHz สัญญาณจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า ในขณะที่ 6 GHz แม้ความเร็วจะสูงกว่า แต่สัญญาณจะมีระยะการเดินทางที่สั้นกว่า และมีอำนาจทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้น้อยกว่าด้วย
ในการทำให้ระบบการเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้ Wi-Fi ใช้หนึ่งในหลายโปรโตคอล IEEE 802.11 ซึ่งเป็นชุดมาตรฐานที่พัฒนาโดยสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE)) เพื่อกำหนดมาตรฐานของ WLAN โดยโปรโตคอลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ได้แก่ 802.11a, 802.11b, 802.11g, 802.11n และ 802.11ac ซึ่งแต่ละโปรโตคอลมีชุดพารามิเตอร์เฉพาะของตัวเอง เช่น ช่วงความถี่ในการทำงาน, อัตราข้อมูลสูงสุด และเทคนิคการกล้ำสัญญาณ (Modulation Technique)
การทำงานของ Wi-Fi เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างอุปกรณ์ และเราเตอร์ เมื่ออุปกรณ์ต้องการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi มันจะส่งข้อความแบบกระจายที่เรียกว่า "Probe Request" เพื่อสแกนหาเครือข่ายที่มีอยู่ใกล้เคียง เราเตอร์ซึ่งเป็น "Access Point" ของ Wi-Fi จะรับคำขอนี้ และตอบกลับด้วยข้อความที่เรียกว่า "Beacon" ซึ่งประกอบด้วยชื่อของเครือข่าย (SSID) ประเภทของการเข้ารหัสที่ใช้ (ถ้ามี) และความแรงของสัญญาณ (RSSI)
เมื่ออุปกรณ์ได้รับสัญญาณ Beacon จาก Access Point แล้ว อุปกรณ์จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายด้วยการส่ง "Authentication Request" ไปยัง Access Point จากนั้น Access Point จะตรวจสอบข้อมูลรับรองของอุปกรณ์ เช่น รหัสผ่าน Wi-Fi และกำหนด หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ให้กับอุปกรณ์นั้น ณ จุดนี้ อุปกรณ์จะเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi อย่างเป็นทางการแล้ว และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หากเครือข่ายเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ หรือสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในเครือข่ายเดียวกันได้
ภาพจาก : https://computer.howstuffworks.com/wireless-network.htm
เครือข่ายไร้สาย (Wireless Network) จะมีอยู่หลัก ๆ ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ Wireless LAN, Wireless MAN, Wireless PAN และ Wireless WAN แต่ละประเภทก็มีความเฉพาะตัวตามระยะ และความต้องการในการเชื่อมต่อ และสามารถใช้สำหรับแอปพลิเคชัน หรือการใช้งานเฉพาะได้
ข้อมูลเพิ่มเติม : LAN MAN WAN คืออะไร ? เครือข่ายเหล่านี้ แตกต่างกันอย่างไร ?
WLAN เป็นประเภทเครือข่ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ใช้ในแอปพลิเคชันเชิงพาณิชย์, ที่อยู่อาศัย หรือการใช้งานที่มีพื้นที่ครอบคลุมขนาดเล็ก โดยทั่วไปแล้วจะมีความเร็วสูงแต่มีระยะทางจำกัด ดังนั้น บ่อยครั้งที่เครือข่ายเหล่านี้จึงถูกออกแบบให้มีจุดเชื่อมต่อหลายจุด เพื่อให้แน่ใจว่ามีการครอบคลุมที่เพียงพอ”
ตามชื่อของมันเลย "Metropolitan" (มหานคร) เป็นเครือข่ายไร้สายที่ใช้ระบบเครือข่ายที่ต้องการพื้นที่ครอบคลุมกว้างขึ้น เช่น ภายในวิทยาของมหาวิทยาลัย, สนามกีฬา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ถึง WMAN จะมีระยะครอบคลุมที่กว้างกว่ามาก แต่ความเร็วอาจไม่สูงเท่า WLAN
เครือข่ายไร้สายประเภทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนน้อย ภายในพื้นที่ครอบคลุมขนาดเล็กมาก เช่น ภายในห้องเดียว นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ฝังไว้ภายในร่างกายของมนุษย์ ที่ต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi เพื่อให้มันทำงานได้ เครือข่ายไร้สาย PAN ยังเป็นที่นิยมในแอปพลิเคชันที่ใช้พลังงานต่ำ และการเชื่อมต่อระยะสั้นเท่านั้นอีกด้วย
เป็นตัวเลือกเครือข่ายไร้สายที่ครอบคลุมระยะทางได้ไกลที่สุด WAN ถูกใช้สำหรับพื้นที่ครอบคลุมกว้าง เช่น ทั้งภูมิภาค, รัฐ หรือประเทศ มักใช้ในเครือข่ายเซลลูลาร์ (Cellular) และการสื่อสารผ่านดาวเทียม โดยทั่วไปจะประกอบด้วย LAN และ MAN หลายเครือข่าย ทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่กว้างขวาง
นอกเหนือจากเครือข่ายไร้สายที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย ประเภทที่พบได้บ่อยมากที่สุด ประกอบไปด้วย
นี่เป็นรูปแบบการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่พบได้บ่อยที่สุด จะเป็นการพึ่งพาการเชื่อมต่อแบบมีสาย ด้วยการเชื่อมเราเตอร์เข้ากับสาย DSL หรือสาย Fiber จากผู้ให้บริการ จากนั้น เราเตอร์จะทำหน้าที่กระจายเครือข่ายไร้สายที่อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อได้ วิธีการนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับการใช้งานตามที่อยู่อาศัย และในบริษัทขนาดเล็ก
เนื่องจากในยุคนี้ มีหลายคนทำงานจากนอกสถานที่กันมากขึ้น ทำให้ความนิยมในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ เช่น โน้ตบุ๊ค หรือแท็บเล็ตไปยังอินเทอร์เน็ต ผ่านเครือข่ายเซลลูลาร์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำ Hotspot จากสมาร์ทโฟน หรือเราเตอร์พกพาขนาดกะทัดรัด Jetpack หรือที่ในบ้านเรานิยมเรียกกันว่า Pocket Wi-Fi เพื่อแชร์เครือข่ายไร้สายกับอุปกรณ์ใกล้เคียง
LTE หรือ Long-Term Evolution เป็นมาตรฐานการสื่อสารไร้สายสำหรับข้อมูลความเร็วสูงที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ และเทอร์มินัลข้อมูล (Data Terminals) มันต้องการเราเตอร์แบบพิเศษที่รองรับ LTE เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัย เราเตอร์จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเซลลูลาร์ เช่น 4G หรือ 5G และสร้างสัญญาณ Wi-Fi ที่อุปกรณ์อื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อได้ ข้อดีของ LTE คือให้การถ่ายโอนข้อมูลที่เร็วขึ้น และ ความหน่วง (Latency) ต่ำลง ซึ่งช่วยให้การใช้งานเครือข่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเชื่อมต่อ Wi-Fi ประเภทนี้ที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจาก LTE ใช้ เครือข่ายเซลลูลาร์ 5G เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่อรูปแบบนี้ต้องการเราเตอร์ที่รองรับ 5G หรืออุปกรณ์ที่รองรับ 5G เพื่อสร้างเครือข่ายไร้สาย 5G ที่มีความเร็ว และประสิทธิภาพมากกว่า 4G ส่งผลให้ได้การเชื่อมต่อที่เสถียร, ความเร็วสูง พร้อมความหน่วงที่ต่ำลงอย่างมาก เป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการใช้งานหนักหลายอุปกรณ์ เช่น การเล่นเกม, การสตรีม หรือการสนับสนุนเทคโนโลยีอัตโนมัติภายในบ้าน (Automation)
ในปัจจุบัน มาตรฐาน Wi-Fi มีออกมาแล้วหลายเวอร์ชัน โดยมาตรฐานล่าสุดที่ใช้งานกันได้แล้วในปัจจุบันนี้จะเป็น Wi-Fi 7
เวอร์ชัน | Wi-Fi 4 | Wi-Fi 5 | Wi-Fi 6 | Wi-Fi 6E | Wi-Fi 7 |
ปี (ค.ศ.) | 2007 | 2013 | 2019 | 2020 | 2024 |
โปรโตคอล | 802.11n | 802.11ac | 802.11ax | 802.11be | |
ย่านความถี่ | 2.4/5 GHz | 5 GHz | 2.4/5 GHz | 2.4/5/6 GHz | |
ความเร็วสูงสุด | 600 Mb/s | 6.9 Gb/s | 9.6 Gb/s | 46 Gb/s | |
ช่องสัญญาณ | 20/40 MHz | 20/40/80/160 MHz | 20/40/80/160/320 MHz | ||
ความปลอดภัย | WPA2 | WPA3 | |||
คุณสมบัติหลัก | 4x4 MIMO | 8x8 MIMO | 16x16 MIMO | ||
LPDC Error Correction | 4xDL MU-MIMO | 8xDL MU-MIMO | 16xDL&UL MU-MIMO | ||
64-QAM | 256-QAM | 1024-QAM | 4096-QAM | ||
Beam Forming | |||||
OFDMAMulti-AP | |||||
TWT | |||||
Multi-AP | |||||
Multi-RU | |||||
Multi-Link |
เฮดี ลามาร์ (Hedy Lamarr) หรือชื่อเกิดว่า เฮดวิก อีวา มาเรีย คีส์เลอร์ (Hedwig Eva Maria Kiesler) ชาวออสเตรีย-อเมริกัน เป็นผู้ที่ริเริ่มไอเดียที่เป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยี Wi-Fi เธอไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ และนักประดิษฐ์ในยามว่าง
เธอได้บุกเบิกเทคโนโลยีที่ภายหลังได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับระบบการสื่อสารที่สำคัญในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้ง Wi-Fi, GPS และ Bluetooth โดย เฮดี ลามาร์ เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงเครื่องจักรให้ดีขึ้นเสมอ การประดิษฐ์ในช่วงแรกของเธอรมีหลายอย่าง เช่น การอัปเกรดไฟสปอตไลท์ และการพัฒนาเม็ดยาที่สามารถละลายในน้ำเพื่อทำโซดาคล้ายกับน้ำ Coca-Cola
อย่างไรก็ตาม การประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอเกิดขึ้นในช่วงที่อเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เฮดี ลามาร์ ได้หันมาสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร โดยเธอได้คิดค้นเทคโนโลยีนี้เกี่ยวข้องกับ "การกระโดดความถี่" (Frequency Hopping) ในคลื่นวิทยุ โดยทั้งเครื่องส่ง และเครื่องรับ จะสามารถกระโดดไปยังความถี่ใหม่ ทำให้ตอร์ปิโดสามารถหาตำแหน่งเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น
เธอได้รับสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกนำไปใช้โดยกองทัพเรือในขณะนั้นก็ตาม เวลาผ่านไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) เฮดี ลามาร์ และผู้ร่วมงานของเธอ ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนสำหรับการมีส่วนร่วมในเทคโนโลยีใหม่นี้ เนื่องจาก ISM Band ที่สร้างขึ้นเพื่อการใช้ความถี่วิทยุในอุตสาหกรรม, วิทยาศาสตร์ และการแพทย์โดยเฉพาะ ถูกใช้อย่างแพร่หลาย หรือที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่าเป็นความถี่ 2.4 GHz
ภาพจาก : https://www.vanityfair.com/hollywood/2017/04/hedy-lamarr-documentary-clip
ในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) มาตรฐาน Wi-Fi เวอร์ชันแรกได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE)) นั่นเป็นที่ว่าทำไม มาตรฐานดังกล่าวถึงมีชื่อว่า "IEEE 802.11" มันรองรับความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ 1 Mbps
ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) ได้มีการเปิดตัว IEEE 802.11b (หรือ Wi-Fi 1) ทำความเร็วได้ 11 Mbps บนแบนด์วิดท์ 2.4GHz ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความเร็วที่ช้ามากสำหรับในปัจจุบันนี้ แต่ในเวลานั้นยังไม่มีอุปกรณ์มือถือที่รองรับ Wi-Fi และมีอุปกรณ์ที่รองรับไม่กี่เครื่อง ดังนั้นความเร็วนี้จึงเพียงพอ
เมื่อเทคโนโลยีใหม่นี้เริ่มเป็นที่แพร่หลาย Wi-Fi Alliance ก็ได้ก่อตั้งขึ้น มันเป็นสมาคมอุตสาหกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่มีสมาชิกประมาณ 800 บริษัท ที่ทำการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี WLAN บริษัทที่สนับสนุนสมาคมนี้มีทั้ง Apple, Cisco Systems, Intel, Microsoft ฯลฯ
เป้าหมายของ WiFi Alliance คือการปรับปรุงมาตรฐานให้อัตราการรับส่งข้อมูล และความเร็วที่สูงขึ้น รวมถึงควบคุมความปลอดภัย, ความสามารถในการทำงานร่วมกัน และความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้ Wi-Fi
นอกจากนี้ WiFi Alliance ยังได้ตั้งชื่อเครื่องหมายการค้าของมาตรฐานการสื่อสารแบบไร้สายนี้ว่า "Wi-Fi" พร้อมกับโลโก้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์หยินหยางอีกด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งในภายหลังก็ได้คลอดมาตรฐานใหม่ตามมาอีกหลายเวอร์ชัน อย่าง Wi-Fi 4, Wi-Fi 5, Wi-Fi 6 และ Wi-Fi 7 และในอนาคตตัวเลขก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการพัฒนา
ภาพจาก : https://www.cablefree.net/wireless-technology/history-of-wifi-technology/
ถึงแม้ Wi-Fi จะมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่เอาจริง ๆ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในเวลานั้นไม่เห็นประโยชน์ของมันมากนัก พวกเขามองว่าสาย Ethernet ที่มีอยู่ก็ทำงานได้ดีอยู่แล้ว
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Wi-Fi เกิดความแพร่หลายในเชิงพาณิชย์ ว่ากันว่าเริ่มต้นขึ้นจากการประชุมที่ถูกจัดขึ้นในสำนักงาน Apple ที่ คูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541)
Cees Links ที่ตอนนั้นกำลังทำงานอยู่ที่บริษัท NCR Corporation ในฐานะผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ เขาได้รับผิดชอบการพัฒนาระบบ LAN แบบไร้สาย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกในชื่อ WaveLAN เปิดตัวในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) แต่อย่างที่เรากล่าวไปตั้งแต่ย่อหน้าก่อนหน้านี้ ว่าแม้มันจะเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ไม่มีผู้ผลิตรายไหนเลยที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยี WaveLAN ไม่ว่า Cees Links จะพยายามพรีเซนต์ความน่าสนใจของมันมากขนาดไหนก็ตาม
แม้บริษัท NCR Corporation จะถูกเข้าซื้อกิจการหลายต่อหลายครั้ง แต่ Cees Links ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาระบบ Wireless LAN อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดโอกาสของเขาก็มาถึง เมื่อเขาได้เข้าประชุมกับ สตีฟ จอบส์ ที่บริษัท Apple โดย Cees Links ได้เล่าว่า
"Apple กำลังมองหาความแตกต่างมาใส่ใน iBook โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ของบริษัท ตอนนั้นผมรู้สึกได้ทันทีว่า สตีฟ จอบส์หลงใหลในแนวคิดระบบไร้สายในโน้ตบุ๊กเป็นอย่างมาก พอผมมองย้อนกลับไปในตอนนี้ ผมเชื่อว่าเขาคงตัดสินใจไปแล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มประชุมกันเสียอีก"
การประชุมเริ่มต้นตอนบ่ายสอง แต่ในห้องประชุมไร้เงาของ สตีฟ จอบส์ เขามาช้าจนไม่สามารถใช้คำว่าสายเพียงเล็กน้อยได้ นั่นทำให้บรรยากาศภายในห้องประชุมน่าอึดอัดมาก สุดท้าย เมื่อเขาก้าวเข้ามาในห้องประชุม ผมก็ถามตัวเองว่า "หมอนี่เป็นใคร ?" นั่นเพราะเขาไม่แนะนำตัวเอง และในฐานะของชาวยุโรป ผมไม่เคยเห็นรูปถ่ายของเขามาก่อน
หลังจากนั้น สตีฟ จอบส์ ก็ได้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในการอธิบายเกี่ยวกับ Wireless LAN ว่ามันยอดเยี่ยมขนาดไหน ? พร้อมกับยืนยันว่า Apple "ต้องการมัน"
ในที่สุด Apple ก็ได้เปิดตัว iBook โน้ตบุ๊กตัวแรกของโลกที่รองรับ WI-Fi ที่งาน MacWorld ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 21 กรกฏาคม ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) โดยบนเวทีเขาได้ถือ iBook ไว้ในมือข้างหนึ่ง แล้วนำมันมาลอดผ่านห่วงฮูล่าฮูปเพื่อแสดงให้เห็นว่ามันเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แบบไร้สายจริง ๆ
ในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ความเร็วของ Wi-Fi ได้เพิ่มเป็น 54 Mbps บนย่านความถี่ 2.4 GHz จากการมาถึงของมาตรฐาน 802.11a (Wi-Fi 2) และ 802.11g (Wi-Fi 3) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะโน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์พกพาในช่วงนี้ต่างก็รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi กันได้มากขึ้นแล้ว หลังจากที่ Apple ได้นำร่องไปก่อนหน้า
ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPhone รุ่นแรกออกมา และผู้ผลิตเริ่มหันมาพัฒนาสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการ การใช้งาน Wi-Fi เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีมาตรฐาน 802.11n (Wi-Fi 4) ตามออกมาติด ๆ เพิ่มการใช้ย่านความถี่ 5 GHz เข้ามา ความเร็วขยับไปสูงสุดที่ 600 Mbps
มันเป็นช่วงที่ทุกคนเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายอย่างที่รองรับ Wi-Fi ได้ สถานการณ์ดังกล่าวได้บีบบังคับให้ Wi-Fi ต้องปรับตัวตามไปด้วย จากคลื่นวิทยุที่ทำงานในรูปแบบ Single-Input Single-Output (SISO) ได้ถูกพัฒนาเป็น Multiple-Input Multiple-Output (MIMO) แทน
ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ทาง Wi-Fi Alliance ก็ได้เปิดตัวมาตรฐาน 802.11ac หรือ Wi-Fi 5 ออกมา มันเป็น Wi-Fi เวอร์ชันแรกที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ Dual ที่ช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเร็วขึ้นสูงสุดในทางเทคนิคทำได้ถึง 3.5 Gbps และมันก็ยังคงเป็นมาตรฐานที่แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน แม้ว่าอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ จะเริ่มปรับเปลี่ยนไปใช้ Wi-Fi 6 กันแล้วก็ตาม
WiFi มีประโยชน์มากในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างอุปกรณ์หลายๆ เครื่อง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะต้นทุนต่ำ และมีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็วสูงมาก
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |