อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่คนไทยชอบเรียกว่า "พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply)" หรือที่ภาษาอังกฤษ ชื่อเรียกเต็มๆ ของมันคือ "Power Supply Unit" หรือตัวย่อ "PSU" ถือว่าเป็นหนึ่งใน "อุปกรณ์คอมพิวเตอร์" หรือ "ฮาร์ดแวร์" ชิ้นสำคัญ ที่อยู่ภายในระบบคอมพิวเตอร์ที่ขาดไปไม่ได้เลย เพราะเป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำงานต่างๆ
ในปัจจุบันนี้ ในท้องตลาดมี Power Supply ของเครื่อง PC ให้เลือกซื้อเป็นจำนวนมาก มีหลายรุ่น หลายยี่ห้อ กำลังวัตต์ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน แล้วก็ยังมี มาตรฐาน 80 Plus หลายระดับอีก ทำให้บางคนอาจจะไม่มั่นใจว่า ควรจะเลือกซื้อ Power Supply รุ่นไหนมาใช้งานดี
การเลือกซื้อ Power Supply ให้คอมพิวเตอร์ ถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็ไม่ต้องสนใจอะไรแค่ซื้อรุ่นที่จ่ายไฟเยอะสุด แพงสุด ก็จบ แต่นั่นอาจจะเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า คุณอาจจะใช้งานมันได้ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป ในบทความนี้เราก็เลยจะมาแนะนำแนวทางการเลือกซื้อให้ได้ทราบกัน จะต้องพิจารณาด้านไหนบ้าง เชิญอ่านต่อได้เลย
Power Supply จัดว่าเป็น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ มันถูกติดตั้งอยู่ภายในคอมพิวเตอร์ ถึงแม้มันจะใช้ชื่อว่า Power Supply ที่แปลว่า "แหล่งพลังงาน" ในความเป็นจริง มันไม่ได้ทำหน้าที่จ่ายพลังงานให้กับระบบหรอก แต่จะทำหน้าที่ตัว "แปลงพลังงาน" ต่างหาก
ระบบไฟฟ้าตามบ้านเรือนที่เราใช้งานกันในปัจจุบัน จะเป็นแบบ "ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current - AC)" แต่ ไฟในระบบคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบจะทุกชนิด จะใช้ "ไฟฟ้ากระแสตรง" (Direct Current - DC)" เป็นเหตุผลให้ต้องมีการแปลงพลังงานไฟฟ้าก่อนนำไปใช้เสมอ
ซึ่งนอกจากการแปลง "ไฟฟ้ากระแสสลับ" เป็น "ไฟฟ้ากระแสตรง" แล้ว มันยังทำหน้าที่ในการควบคุมแรงดันไฟฟ้าขาออกให้มีความคลาดเคลื่อนต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
โดยส่วนใหญ่แล้ว Power Supply จะรองรับเทคโนโลยี Switch Mode Power Supply (SMPS) มันจะช่วยให้การใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับแรงดันไฟฟ้าขาเข้าได้หลายระดับ นั่นหมายความว่า Power Supply สามารถนำไปใช้งานในต่างประเทศที่ระบบไฟฟ้าต่างกันได้โดยปราศจากปัญหาใดๆ
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ใช้ไฟ 240V 50Hz, ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ไฟ 120V 60Hz, ประเทศออสเตรเลีย ใช้ไฟ 230V 50Hz หรือประเทศไทยก็ 220V 50Hz แต่ด้วย SMPS จะทำให้ PSU สามารถรองรับการแปลงไฟจากทุกประเทศ ที่กล่าวมาได้หมดกันเลยทีเดียว
เวลาที่เราไปซื้อ Power Supply สิ่งแรกที่เรามักจะเห็น คือ กำลังไฟของ ซึ่งก็มีอยู่หลายขนาดให้เลือก เช่น 450W, 500W, 750W ฯลฯ แล้วก็จะมีอีกค่าหนึ่งที่ปรากฏอยู่คู่กันบนกล่อง คือ "80 Plus"
ภาพจาก https://www.theoverclocker.com/80-plus-certification-technology-explained/
80 Plus เป็นมาตรฐานรับรองที่ผู้ผลิต Power Supply ใช้ในการบ่งบอกถึงคุณภาพการทำงาน ซึ่งถ้าไปดูพวก Power Supply ถูกๆ จากค่ายโนเนม ราคาไม่กี่ร้อย จะไม่ค่อยเห็นสัญลักษณ์นี้ซักเท่าไหร่
และโดยส่วนตัวผู้เขียนเอง ก็ไม่ค่อยแนะนำการใช้งาน Power Supply แบบนั้นสักเท่าไหร่ เนื่องจากคุณภาพไม่น่าไว้วางใจ อย่าเอาคอมพิวเตอร์ ราคาหลักเป็นหมื่นไปฝากชีวิตไว้กับ Power Supply อันละห้าร้อยบาทเลยครับ เกิดลัดวงจรขึ้นมา จนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเสียหาย จะไม่คุ้มกันเปล่าๆ แค่เพิ่มเงินแค่พันสองพัน ซื้อของที่มีคุณภาพมาใช้งานดีกว่า
มาตรฐาน 80 Plus จะมีอยู่ 6 ระดับ คือ
โดยคุณภาพจะเรียงจากน้อยไปมาก ราคาต่ำไปสูง ความแตกต่างของระดับจะวัดจากประสิทธิภาพในการแปลงพลังงาน ขออธิบายง่ายๆ ไม่ลงลึกในเชิงเทคนิคนะครับ
อย่างที่เรากล่าวไว้ข้างต้นว่า Power Supply นั้นทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ตามกฎอุณหพลศาสตร์แล้ว เมื่อพลังงานเกิดการเปลี่ยนแปลง มันจะมีการสูญเสียพลังงานบางส่วนเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้า Power Supply มีกำลังไฟ DC 600W ต้องใช้กำลังไฟ AC 720W ในการแปลงมา ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานของ Power Supply รุ่นนี้ ก็จะคำนวณได้จาก 600/720 = 0.833 หรือ 83% นั่นเอง
ใบรับรองมาตรฐาน 80 Plus จึงถูกสร้างขึ้นมา เพื่อยืนยันว่า Power Supply ที่ผ่านการรับรองมีความสามารถในการแปลงไฟที่มีประสิทธิภาพที่สูงมากกว่า 80% กล่าวคือ ถ้าแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ 100W จะต้องได้ไฟฟ้ากระแสตรงอย่างน้อย 80W หากทำได้ Power Supply รุ่นดังกล่าว จึงจะถือว่าผ่านมาตรฐานการรับรองของ 80 Plus สามารถนำโลโก้มาแปะข้างกล้องเพื่อยืนยันประสิทธิภาพได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าพลังงานไฟฟ้าในระบบจะจ่ายได้ตามระดับความต้องการของคอมพิวเตอร์แน่นอน แถมยังมีส่วนช่วยในเรื่องประหยัดไฟ เพราะมันมีอัตราสูญเปล่าที่ลดลง
สำหรับความแตกต่างของมาตรฐาน 80 Plus ทั้ง 6 ระดับ จะมีรายละเอียดดังตารางด้านล่างนี้
Rating | 115v 10% Load | 115v 20% Load | 115v 50% Load | 115v 100% Load | 230v 10% Load | 230v 20% Load | 230v 50% Load | 230v 100% Load |
80 PLUS | - | 80% | 80% | 80% | - | 82% | 85% | 82% |
80 PLUS Bronze | - | 82% | 85% | 82% | - | 85% | 85% | 85% |
80 PLUS Silver | - | 85% | 88% | 85% | - | 87% | 90% | 87% |
80 PLUS Gold | - | 87% | 90% | 87% | - | 90% | 92% | 89% |
80 PLUS Platinum | - | 90% | 92% | 89% | - | 92% | 94% | 90% |
80 PLUS Titanium | 90% | 92% | 94% | 90% | 90% | 94% | 96% | 94% |
การอ่านชาร์จด้านบนผมจะลองยกตัวอย่างค่าการแปลงที่อัตราโหลด 100% นะ ค่าอื่นก็ลองดูเอาจากตารางกันเอาเอง จะเห็นว่า 80 Plus ธรรมดาแปลงไฟแบบ 230V ได้อยู่ที่ 82% แต่หากเป็น 80 Plus Titanium จะทำได้ถึง 94%
ความคุ้มค่าของแต่ล่ะคนไม่เท่ากัน มันก็ยากที่จะฟันธง แต่ขั้นต่ำที่ควรซื้อ คือ อย่างน้อยต้องผ่านการรับรอง 80 PLUS
ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปเราจะไม่ได้ใช้ไฟเต็มจำนวนวัตต์ตลอดเวลา จะมีการกินไฟเพิ่มเฉพาะเวลาต้องประมวลผลงานหนัก ๆ เท่านั้น ประสิทธิภาพในการแปลงของ 80 PLUS กับ 80 PLUS Titanium ที่กำลังโหลดระดับต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน 12% หากใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมง อย่างมากค่าไฟก็ต่างกันไม่เพียงไม่กี่วัตต์ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่น่าเกินเดือนละ 70 บาท ใช้งาน 1 ปี ค่าไฟต่างกัน 840 บาท เฉลี่ยจ่ายค่าไฟแพงกว่าแค่วันละ 2.3 บาท เท่านั้น ในขณะที่ราคาของ Power Supply ระดับ 80 Plus กับ 80 Plus Titanium นั้นต่างกันหลายพันบาทเลยล่ะ
ดังนั้นผมจึงมองว่า Power Supply ระดับ 80 Plus หรือขยับขึ้นมาเป็น 80 Plus Bronze ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับคนที่งบประมาณไม่เยอะ
การจะตอบคำถามว่าควรเลือกใช้งาน Power Supply กำลังวัตต์เท่าไหร่ดี ? ก็ต้องพิจารณาว่า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่คุณเลือกมาประกอบคอมพิวเตอร์มีสเปกเป็นอย่างไร รุ่นของ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), การ์ดจอ (Graphic Card), จำนวน หน่วยความจำแรม (RAM), จำนวน พัดลมระบายความร้อน หรือ ระบบระบายความร้อน (Cooling System) หรือแม้แต่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard Disk Drive - HDD), ระบบไฟ ฯลฯ
มีเว็บไซต์ที่สามารถใช้ในการช่วยคำนวณความต้องการกำลังวัตต์ของ Power Supply Unit (PSU) อยู่หลายแห่ง ที่สามารถเลือกใช้บริการได้ โดยส่วนตัวผู้เขียนมักจะใช้บริการของเว็บไซต์ https://outervision.com/power-supply-calculator ขั้นตอนการคำนวณก็ไม่ยาก แค่ใส่สเปกของคอมพิวเตอร์ลงไปเท่านั้นเอง
i7-10700K + RTX 2070 Super + RAM 32 GB และฮาร์ดไดร์ฟ 3 ตัว ใช้ประมาณ 573W
ภาพจาก : https://outervision.com/b/OILQYA
แต่ถ้าอ่านสเปกคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ก็ลองพิจารณาจากหลักการเบื้องต้น ด้านล่างนี้ เพื่อตัดสินใจก็ได้ครับ
คอมพิวเตอร์ทั่วไปที่มีการ์ดจอพื้นฐาน แค่ Power Supply ขนาด 400W 80 Plus ก็เพียงพอต่อการทำงานแล้ว พวกคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปของแบรนด์ต่างๆ ที่มีสเปคพื้นฐานมักจะให้ความจุขนาดนี้มา อย่างไรก็ตาม Power Supply ระดับนี้เนื่องจากราคาค่อนข้างถูก ทำให้ลูกเล่นอาจจะน้อยหน่อย เช่น สายอาจจะไม่สามารถถอดแยกได้ ระยะเวลาการรับประกันส่วนใหญ่ก็แค่ 2 ปี เป็นต้น
สำหรับคนที่ต้องการประกอบคอมพิวเตอร์เอง ผมคิดว่าความจุ 500W - 650W 80 Plus เป็นตัวเลือกเริ่มต้นที่น่าสนใจที่สุด (400W น้อยไป ยากต่อการอัปเกรด)
โดย Power Supply ระดับนี้มักจะให้ประกันมาอย่างน้อย 3 ปี หน้าตาของ Power Supply และคุณภาพงานประกอบก็จะค่อนข้างสูง ในส่วนของการจัดการกับสายก็จะทำได้ดีกว่าพวก Power Supply ระดับ 400W มาก
หากเรามีการติดพัดลมเพิ่ม, แต่งไฟ หรือมีอุปกรณ์ต่อพ่วงหลายชิ้น การเลือกใช้ Power Supply ขนาด 600W ก็จะช่วยให้เราสบายใจได้ว่า Power Supply น่าจะจะสามารถจ่ายพลังงานได้อย่างเพียงพอ
สำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการใช้การ์ดจอประสิทธิภาพสูง การ์ดจอระดับนี้จะมีความต้องการพลังงานสูงมาก อีกทั้ง คนส่วนใหญ่ที่ประกอบคอมพิวเตอร์ ระดับนี้ ก็มักจะนิยม "ตกแต่งเคส" ด้วย ติดชุดไฟ RGB, ชุดน้ำ, ชุดพัดลม ฯลฯ ก็ควรเลือกใช้ Power Supply ขนาด 750 วัตต์
นอกจากนี้ Power Supply ระดับนี้ ลูกเล่นจะเยอะมาก ตั้งแต่ระดับธรรมดาๆ อย่างการถอดสาย ที่ช่วยให้การจัดระเบียบสายไฟภายในเคสทำง่ายขึ้น ไปจนถึงระบบไฟ RGB ในตัว พัดลมขนาดใหญ่ ฯลฯ
อีกอย่างที่สำคัญ คือ Power Supply ระดับนี้มักจะประกันยาวมากครับ ต่ำ ๆ ก็ 5 ปี บางแบรนด์ประกันยาวถึง 10 ปีเลยล่ะ เรียกได้ว่าซื้อทีเดียวใช้กันไปยาวๆ
คอมฯ ทั่วไปจะใช้กำลังไฟไม่ถึงระดับนี้แน่ๆ กำลังไฟที่สูงกว่านี้จะใช้ในคอมพิวเตอร์สเปกเทพ ใช้ CPU และการ์ดจอระดับเรือธง อาจจะใส่การ์ดจอทีเดียว 2 ตัว มีการต่อฮาร์ดไดร์ฟหลายตัว ระบบไฟ ระบบแสง จัดเต็ม พร้อมระบบระบายความร้อนแบบชุดใหญ่ไฟกะพริบ
หากนั่นคือเป้าหมายในการประกอบคอมพิวเตอร์ของคุณแล้วล่ะก็ คุณถึงจะต้องการ Power Supply ระดับนี้ครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |