ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

ชี้ชัด กดไลค์ กดแชร์ แคปเจอร์หน้าแชทไปโพสต์ลง Facebook ผิดกฎหมายหรือไม่

ชี้ชัด กดไลค์ กดแชร์ แคปเจอร์หน้าแชทไปโพสต์ลง Facebook ผิดกฎหมายหรือไม่

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 63,793
เขียนโดย :
0 %E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94+%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%8C+%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B8%87+Facebook+%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

บอกไว้ก่อนว่าบทความนี้ค่อนข้างจะจริงจังสักนิด แต่ก็รับประกันว่าเป็นประโยชน์กับชาวโซเชียลอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่น้อยเลยหล่ะ

รู้หรือไม่? การเล่น Facebook อาจทำให้เราทำผิดกฎหมายได้โดยไม่ตั้งใจ อาจทำให้เราติดคุกติดตะราง หรือเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินแพงๆ ได้เลยหล่ะ จะเป็นอย่างไรเชิญติดตามอ่านกันได้เลย

***เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวกับตัวบทกฏหมาย อาจซีเรียสหรือเข้าใจยากไปบ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดนะครับ ^__^

บทความเกี่ยวกับ Facebook อื่นๆ

ความผิดจากการโพสต์ แชร์ หรือกด Like เรื่องที่ไม่จริงใน Facebook

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้เราก็ขอนำ ข้อความในตัวบทกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน โซเชียลมีเดีย มาเสนอเอาไว้ดังนี้ (ถ้าใครขี้เกียจอ่านข้อกฏหมายยาวๆ ก็เลื่อนลงไปอ่านที่เราสรุปไว้ด้านล่างได้เลย ^__^)

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ


(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(๒) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด
ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล
คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

"โพสต์ข้อมูลที่ไม่จริง ทำให้ผู้คน สังคม ประเทศชาติเดือดร้อน มีความผิด"

ตามข้อกฏหมายในข้างต้น สรุปความได้ว่าใครโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ เรื่องไม่จริงที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับตัวบุคคล เสียหายกับธุรกิจ หรือทำให้เกิดความเสียหายกับความมั่งคงของชาติ รวมถึงการโพสต์เนื้อหาที่มีความลามกอนาจาร นั้นถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และบทลงโทษคือการติดคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรืออาจจะโดนทั้งติดคุกและเสียค่าปรับเลย

"แชร์โพสต์ที่เป็นเรื่องไม่จริง ผิดแน่นอน"

ขีดเส้นใต้ที่ข้อ 5 ตามข้อกฏหมายข้างบน ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นคนที่โพสต์เนื้อหาอันเป็นเท็จขึ้น Facebook ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเรากดแชร์โพสต์นั้น เท่ากับว่าเรามีส่วนร่วมในการทำความผิดทันที เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกดแชร์อะไร ต้องคิดใคร่ครวญให้ดีก่อนนะครับ เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเนื้อความที่คนอื่นโพสต์ขึ้น Facebook นั้นเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร โดยเฉพาะโพสต์ที่มีการกล่าวร้ายบุคคล หรือกล่าวร้ายสิ่งใดก็ตาม ไม่ควรกดแชร์โดยเด็ดขาด หากเราไม่มั่นใจว่าเนื้อหาของโพสต์นั้นถูกต้อง และเป็นความจริง 100%

"แค่กด Like ก็เสี่ยงที่จะเป็นผู้ร่วมทำความผิด"

ส่วนในเรื่องการกด Like นั้น ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกพิจารณาให้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยเช่นกัน ด้วยความจริงที่ว่า ถ้าเรากด Like โพสต์ เพื่อนของเราก็จะเห็นว่าเรา Like โพสต์นั้น ดังนั้นการกด Like จึงเป็นการเผยแพร่ให้ผู้คนเห็นโพสต์นั้นในวงกว้างขึ้น

ดังนั้นนอกจากที่จะแชร์โพสต์อะไรแล้ว การที่จะกด Like อะไรก็ต้องคิดให้ดีๆ อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพสต์ที่เข้าข่ายการ กล่าวร้าย หรือโจมตีกัน ถ้าไม่คันนิ้วจริงๆ ก็สไลด์ผ่านไป ไม่ต้องไปกด Like ให้ ก็เป็นการปกป้องตัวเองที่ดีครับ

แต่กับการกด Like ให้กับโพสต์ที่ทำความผิดเรื่องสถาบันเบื้องสูง จะเป็นความผิดเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดตามกฏหมายแน่นอนครับ


ความผิดจากการหมิ่นประมาทใน Facebook

***หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันประการจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง

ทีนี้ก็มีอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องการหมิ่นประมาท ว่ากล่าว หรือใส่ความกันบน Facebook ซึ่งจะว่าไปแล้วโพสต์ประเภทหมิ่นประมาทนี้ ก็มีให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เนอะ โดยหลักปฏิบัติที่ดีนั้น เราไม่ควรกด Like กดแชร์โพสต์ที่หมิ่นประมาท และยิ่งไม่ควรโพสต์หมิ่นประมาทใครโดยเด็ดขาด 

โดยขอนำข้อกฏหมาย ตามประมวลกฏหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามรายละเอียดดังนี้
 

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 330  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

จากข้อกฏหมายข้างบนใน มาตรา 326 และ มาตรา 328 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการลงโทษในฐานความผิดหมิ่นประมาท

"หมิ่นประมาทแบบไม่ออกสื่อโซเชียลโทษเบากว่า"

ตัวอย่างเช่นถ้าผม ไปเล่าให้นาย ข. ฟังว่านาย ก. มีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย อย่างนี้นาย ก. สามารถแจ้งความผมในความผิดตาม มาตรา 326 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับเงินไม่เกิน 20,000 บาท

"หมิ่นประมาทออกสื่อโซเชียลเมื่อไหร่ โทษแรงขึ้นหลายเท่าตัว"

แต่ถ้าเป็นในอีกกรณี ผมไปโพสต์ลง Facebook ว่า นาย ก. มีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย ทำให้เพื่อนๆ ในโลกโซเชียลได้รับทราบข่าวสารในวงกว้าง โดยอาจมีคนกด Like หรือกดแชร์ทำให้ข่าวสารแพร่กระจายออกไปอีก อย่างนี้นาย ก. สามารถแจ้งความผมในความผิดตาม มาตรา 328 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเงินไม่เกิน 200,000 บาท จะเห็นได้ว่าการหมิ่นประมาทกันผ่าน Facebook นั้น โทษแรงกว่าการหมิ่มประมาทแบบบอกเล่าให้ฟังเยอะเลย

"กฏหมายเปิดช่องให้ผู้หมิ่นประมาท พิสูจน์ความจริงได้"

แต่ในกรณีที่มีการฟ้องร้องกันขึ้นมาในฐานหมิ่นประมาท กฏหมายก็ได้เปิดช่องให้ผู้ที่ทำการกล่าวหา ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เขากล่าวหานั้นเป็นความจริงหรือไม่ อาศัยความตาม มาตรา 330 และถ้าเรื่องที่เรากล่าวหานั้นเป็นความจริง เราก็ไม่ต้องรับโทษ แต่การพิสูจน์ข้อกล่าวหานั้น ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ตัวอย่างเช่นถ้าผม กล่าวหาว่านาย ก. ลักขโมยข้าวของจากผู้คนจำนวนมาก ซึ่งการพิสูจน์ข้อกล่าวหา จะนำไปสู่การเอาผิดกับนาย ก. และเป็นประโยชน์กับผู้คนจำนวนมากที่โดนนาย ก. ลักทรัพย์ อย่างนี้กฏหมายเปิดโอกาสให้ผมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้

แต่ในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าผมกล่าวหาว่านาย ก. ว่า ถึงแม้โตแล้วเขาก็ยังฉี่รดที่นอน ถ้าผมโดนฟ้องร้องขึ้นมา กฏหมายคงไม่เปิดโอกาสให้ผมพิสูจน์ความจริงในข้อกล่าวหา เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของนาย ก. และสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ ผมก็ต้องรับความผิดฐานหมิ่นประมาทไปโดยไม่มีสิทธิ์ได้พิสูจน์ความจริง


ความผิดจากการดักฟังโทรศัพท์ หรือนำข้อความที่เป็นส่วนตัว มาเผยแพร่ผ่าน Facebook

และอีกเรื่องที่เป็นกระแสแรงมากในโลกโซเชียล ถ้าใครติดตามเพจข่าวดังๆ บางเพจ น่าจะเคยได้ฟังคลิปเสียงการสนทนาโทรศัพท์ ระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวคุยกันในเชิงชู้สาว ซึ่งการดักฟังทางโทรศัพท์ หรือการใช้เครื่องบันทึกเสียงโดยที่เจ้าของเสียงไม่ได้รู้ตัวว่าถูกบันทึกเสียงอยู่นั้น ท่านผู้รู้ด้านกฏหมายเขาระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า มีความผิดทางกฏหมาย อาจโดนจำคุกได้ถึง 5 ปี หรือโดนปรับได้ในหลักแสนบาทเลย

"การดักฟังเสียงโทรศัพท์ ถึงแม้ไม่ได้เอาไปเผยแพร่ผ่านโซเชียล ก็มีความผิด"

และถึงแม้ว่าจะเป็นการดักฟัง ลักลอบบันทึกเสียง โดยไม่ได้มีการนำไปเผยแพร่นั้น ก็ถือว่ามีความผิดตามกฏหมายแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฏหมายก็ได้เป็นช่องให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถดักฟังการสนทนาโทรศัพท์ ได้ในกรณีที่เป็นประโยชน์กับการรวบรวมหลักฐานเพื่อใช้ในการดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นประชาชนอย่างเราๆ หรือสื่อมวลชน ทำการดักฟังโทรศัพท์ ลักลอบบันทึกเสียง แล้วนำเสียงไปเปิดให้เพื่อนฟังเล่นแบบขำๆ หรือนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือช่องทางอื่นใด โดยที่เจ้าของเสียงไม่ยินยอมพร้อมใจ นั้นก็มีความผิดตามกฏหมายอย่างแน่นอนครับ เพราะฉะนั้นไม่เอาไม่ทำแบบนี้นะครับ

"การแคปเจอร์ข้อความแชทมาเผยแพร่ โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม นั้นผิดกฎหมาย"

และอีกประเด็นที่อ่อนไหวมากในยุคปัจจุบันคือ การที่ชาวโซเชียลหรือแม้แต่เราเอง แคปเจอร์ภาพข้อความแชทคุยกัน แล้วนำไปโพสต์ลง Facebook ซึ่งอาจทำไปเพื่อการอวดข้อความหวานๆ ที่แฟนส่งแชทมา หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า อย่างเช่นการที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แคปเจอร์ภาพข้อความแชทที่ลูกค้ากล่าวชื่นชมผลิตภัณฑ์มาโพสต์ลงในแฟนเพจ (โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเรา) อย่างนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ โดยมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 36
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้ง การกระทำด้วย ประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมี ติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ตามเนื้อความใน มาตรา 36 จะเห็นว่ามีการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถเข้าถึงข้อความแชทส่วนตัวของเราได้ ในกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อการรักษาศีลธรรม แต่ในกรณีที่แบรนด์ หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ นำข้อความแชทของเรา ไปเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเรา เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ครับ


จบกันไปแล้วนะครับเรื่องราวที่จะว่าหนัก ก็หนักใช้ได้อยู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ชาวโซเชียลอย่างเราๆ สมควรที่จะรับรู้ เพื่อที่จะได้ไม่กลายเป็นผู้กระทำความผิด หรือไม่โดนผู้คนในโลกโซเชียลเอารัดเอาเปรียบ

ปล. บทความนี้ค่อนข้างยาว และอาจเข้าใจยากสักนิด ถ้าใครอ่านรอบเดียวแล้วไม่เข้าใจ ก็ควรย้อนกลับไปอ่านอีกหลายๆ รอบนะ ^__^


ที่มา : ictlawcenter.etda.or.th , th.wikipedia.org


0 %E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94+%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%8C+%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B8%87+Facebook+%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น