ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://us.creative.com/p/sound-blaster/sound-blaster-ae-9
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 688
เขียนโดย :
0 Sound+Card+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97+%3F+%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Sound Card คืออะไร ? จำเป็นหรือไม่ ?

ในการประกอบ คอมพิวเตอร์ PC หรือเลือกสเปก โน๊ตบุ้ก (Laptop) สิ่งที่คนส่วนใหญ่ศึกษารีวิวกันก็มักจะให้ความสำคัญกับ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU), แผงวงจรหลัก หรือ มาเธอร์บอร์ด (Motherboard), แรม (RAM), ระบบระบายความร้อน (Cooling System), พาวเวอร์ซัพพลาย (PSU) และ เคส (Case)​ เท่านั้น แต่การ์ดเสียง (Sound Card) มักเป็นชิ้นส่วนที่ถูกมองข้าม ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจกับฮาร์ดแวร์ชิ้นนี้กันสักเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้จำเป็นต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ และในมาเธอร์บอร์ดยุคนี้ก็มี Sound Card แบบออนบอร์ดฝังมาให้ในตัวอยู่แล้ว

บทความเกี่ยวกับ Hardware อื่นๆ

อย่างไรก็ดี การที่ Sound Card ยังคงมีวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด มีรุ่นใหม่เปิดตัวมาให้เลือกซื้อได้เรื่อย ๆ ก็แสดงให้เห็นว่า มันยังมีความต้องการอยู่ มีกลุ่มคนที่ต้องการมัน ในบทความนี้มาศึกษากันว่า Sound Card มีประโยชน์อย่างไร ? คุ้มค่าที่จะหาซื้อมาใช้งานหรือไม่ ?

การ์ดเสียง คืออะไร ? (What is Sound Card ?)

Sound Card (หรือ Audio Card) หรือที่บ้านเรานิยมเรียกกันว่า "การ์ดเสียง" หรือทับศัพท์ไปเลยว่า "ซาวด์การ์ด" เป็นฮาร์ดแวร์ที่ทำหน้าที่นำเข้าสัญญาณเสียง และส่งออกสัญญาณเสียงจากคอมพิวเตอร์ ผ่านการควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งอยู่บนคอมพิวเตอร์ ในอดีต Sound Card มักอยู่ในรูปแบบของ แผงวงจรลูก (Daughterboard) แต่ในปัจจุบัน มีเป็นการ์ดเสียงภายนอก (External Sound Card) ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่าน พอร์ต USB ก็เรียกรวมว่า Sound Card เช่นกัน

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
 AdLib Music Synthesizer Card การ์ดเสียงรุ่นแรก ๆ ที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Sound_card#History_of_sound_cards_for_the_IBM_PC_architecture

ในปัจจุบันนี้ Motherboard จะมีการฝัง Sound Card มาในตัวเลย โดยเรียกว่าการ์ดเสียงแบบออนบอร์ด นอกจากนี้ ในการ์ดจอรุ่นใหม่ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน ก็มีการพัฒนาให้รวมคุณสมบัติการทำงานของ Sound Card เอาไว้ในตัวด้วย เพื่อรองรับการส่งสัญญาณเสียงผ่าน พอร์ต HDMI หรือ Dispaly Port นอกจากนี้ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด ที่มีการทำงานเกี่ยวกับเสียงก็จะมี Sound Card ในตัวเช่นกัน เช่น เครื่องเกมคอนโซล และเครื่องเล่นเพลง

Sound Card ส่วนใหญ่ มาพร้อมกับเครื่องมือสำหรับการประมวลผลเสียงโดยควบคุมผ่านซอฟต์แวร์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งการตั้งค่าเสียงตามที่ต้องการ เช่น ปรับ Equalizers, จำลองรูปแบบเสียง, ควบคุมระบบเสียงรอบทิศทาง และตัดลดเสียงรบกวน

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
Sound Blaster Command ที่ใช้ในการ์ดเสียงจากค่าย Creative Sound Blaster
ภาพจาก : https://support.creative.com/kb/ShowArticle.aspx?sid=200404&c

การ์ดเสียง ของคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่อะไร ? (What does a Sound Card in Computer do ?)

การ์ดเสียง (Sound Card) ทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงดิจิทัลเป็นสัญญาณแอนาล็อก และแปลงสัญญาณเสียงแอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิทัล ในทางเทคนิคแล้ว ปัจจุบันนี้การ์ดเสียงเป็นฮาร์ดแวร์เสริมที่อาจจะไม่จำเป็นสำหรับคอมพิวเตอร์ เพราะมันมีฝังมากับมาเธอร์บอร์ดแล้ว แต่ในบางกรณี หากคุณต้องการฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์ผ่านหูฟัง, ลำโพง หรือเสียบไมโครโฟนแบบแอนาล็อก ก็จำเป็นจะต้องใช้การ์ดเสียงเข้ามาช่วย

หรือในงานบางประเภท เช่น การบันทึกเสียง, การเชื่อมต่อกับเครื่องเสียงคุณภาพสูง หรือแม้แต่การเล่นเกม การ์ดเสียงแบบออนบอร์ดก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ดีเท่ากับ Sound Card ที่ถูกพัฒนามาเพื่อแปลงสัญญาณเสียงโดยเฉพาะ ทำให้ได้คุณภาพสัญญาณที่ดีกว่ามาก

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
Apollo Twin X Duo USB Heritage Edition
ภาพจาก : https://www.amazon.com/Universal-Audio-Heritage-Interface-APLTWXDU-HE/dp/B0CHJGXFW9

ประเภทของ การ์ดเสียง (Types of Sound Card)

ในอดีตมาเธอร์บอร์ดส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับ การ์ดเสียง (Sound Card) และการ์ดจอแบบฝัง แต่ปัจจุบันนี้ การ์ดจอแบบออนบอร์ดย้ายไปอยู่กับ CPU แล้ว เหลือแค่เพียงการ์ดเสียงเท่านั้น โดยการ์ดเสียงในปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท คือ แบบเป็นชิปเซ็ตออนบอร์ด, แบบภายใน และแบบภายนอก

1. การ์ดเสียงแบบชิปเซ็ตออนบอร์ด

มาเธอร์บอร์ดในปัจจุบันมาพร้อมกับ Sound Card แบบชิปเซ็ตฝังมาเลย โดยชิปที่สามารถพบเจอได้บ่อยก็อย่าง เช่น ESS SABRE9018Q2C, Creative Sound Blaster Cinema, Asus SupremeFX, Realtek ALC897, ALC1220, ALC4080 ฯลฯ โดยคุณภาพเสียงจากชิปเหล่านี้ก็อยู่ในระดับพื้นฐาน คุณภาพพอใช้ได้ แน่นอนว่าในมาเธอร์บอร์ดระดับเรือธง ก็จะมีการเลือกใช้ชิปเสียงที่คุณภาพสูงกว่ารุ่นล่าง ๆ

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://www.facebook.com/ASRockInfo/photos/10156339492803502

2. การ์ดเสียงแบบภายใน

จะเป็น Sound Card ที่เชื่อมต่อกับมาเธอร์บอร์ดผ่านทางช่อง PCIe อย่างไรก็ตาม การ์ดเสียงชนิดนี้ จะติดตั้งได้เฉพาะบนคอมพิวเตอร์ Desktop เท่านั้น

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://www.asus.com/th/motherboards-components/sound-cards/gaming/strix-soar/

3. การ์ดเสียงแบบภายนอก

สำหรับ Sound Card ชนิดนี้ จะเป็นอุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB ในอดีตจะมีที่เชื่อมต่อผ่านพอร์ต Firewire ด้วย แต่ปัจจุบันนี้ มีแต่แบบเชื่อมต่อผ่าน USB เท่านั้นแล้ว ข้อดีคือ ติดตั้งง่าย โยกย้ายไปใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ได้ง่าย และหากคุณใช้โน้ตบุ๊ก นี่เป็นตัวเลือกเดียวที่มีให้เลือก

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://www.bhphotovideo.com/c/product/1486808-REG/creative_labs_70sb177000000_sound_blasterx_g6_7_1.html

การ์ดเสียง มีพอร์ตอะไรบ้าง ? (What Ports does the Sound Card have ?)

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://www.amazon.com/Creative-Sound-Blaster-Recon3D-SB1350/dp/B00654PUPA

  สี

รูปทรง

 Optical

ดำ

เหลี่ยม

 Headphone/line Out

เขียว

กลม

 Microphone In

ชมพู

กลม

 Line In

น้ำเงิน

กลม

 Digital Out

เหลือง/ขาว

กลม

 Subwoofer Out

ส้ม

กลม

 Rear Surround Sound

ดำ

กลม

 Center Channel

เทา

กลม

 MIDI

ทอง

สี่เหลี่ยมคางหมู

ประวัติความเป็นมาของ การ์ดเสียง (History of Sound Card)

ยุคเริ่มต้น

ในคอมพิวเตอร์ยุคแรก ๆ "เสียง" จัดเป็นฟังก์ชัน "หรูหรา" มากกว่า "ความจำเป็น" การ์ดเสียง (Sound Card) ตัวแรกของโลกเปิดตัวในช่วงปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) มันมีชื่อว่า Cover Speech Thing อาศัย Digital-To-Analog Converter (DAC) ทำหน้าที่สร้างเสียง เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต Parallel อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Covox_Speech_Thing

Sound Card เริ่มเป็นที่แพร่หลายในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) จากการมาถึงของ Sound Blaster 1.0 จากบริษัท Creative Technology โดยมันช่วยยกระดับคุณภาพเสียง, รองรับเสียงได้หลายรูปแบบ และสามารถทำงานร่วมกับเกม และซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียงหลายตัว

Sound Card คืออะไร ? การ์ดเสียงมีกี่ประเภท ? จำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ?
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Sound_Blaster

MIDI และ Waveform Synthesis

Sound Card ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการมาของเทคโนโลยี Musical Instrument Digital Interface (MIDI) ที่ช่วยให้เครื่องดนตรีสามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ จึงมีการพัฒนา Sound Card ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ MIDI ต่าง ๆ ได้ ร่วมไป Waveform Synthesis เทคนิคการสร้างเสียงดนตรีแบบดิจิทัลผ่านอัลกอริทึม

การบีบอัดเสียงขั้นสูง

หลังจากที่เสียงแบบดิจิทัลเป็นที่แพร่หลาย Sound Card ก็ได้รับการพัฒนาให้รองรับเทคโนโลยีการบีบอัดเสียงขั้นสูงได้ ในปี ค. 1998 (พ.ศ. 2541) บริษัท Creative Technology ได้เปิดตัว  Sound Blaster Live! ซึ่งมีความสามารถในการเล่น และบันทึกเสียงในความละเอียดระดับ 16-bit/48 kHz พร้อมสนับสนุนรูปแบบ AC-3 (Dolby Digital) ความก้าวหน้านี้ทำให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสียงรอบทิศทาง และความสมจริงของเสียงที่ดีขึ้น 

PCI และ Hardware Acceleration

การมาของสถาปัตยกรรมบัส Peripheral Component Interconnect (PCI) ได้ส่งผลให้การ์ดเสียงได้เปลี่ยนจาก Industry Standard Architecture (ISA) เป็นอินเทอร์เฟซ PCI ซึ่งมีแบนด์วิธสูงกว่า และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ตัว Sound Card ยังเริ่มมีการเร่งความเร็วด้วยฮาร์ดแวร์ (Hardware Acceleration) แทนที่จะพึ่งพา CPU ในการทำงานเป็นหลัก ช่วยลดความหน่วงในการประมวลผลเสียง, สามารถสร้างเสียงเอฟเฟคต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ เพิ่มประสบการณ์การเล่นเกม และมัลติมีเดียที่สมจริงมากขึ้น

Integration และ Virtual Surกลม

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ระบบเสียง กับคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขาดออกจากกันได้อีกแล้ว จึงเกิดการรวม Sound Card เข้าไปฝังในชิปเซ็ตบนมาเธอร์บอร์ดเลย หรือที่เรียกว่าชิปเสียงแบบออนบอร์ด ซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่มีมาจนถึงยุคปัจจุบัน ส่งผลให้คอมพิวเตอร์มีคุณสมบัติการทำงานด้านเสียงขั้นพื้นฐานได้ ในขณะที่ช่วยลดต้นทุน และความซับซ้อนด้วย

อย่างไรก็ตาม Sound Card ก็ไม่ได้หายไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ อย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบจำลองเสียงรอบทิศทางผ่านหูฟังแบบสเตอริโอ

ปัจจุบัน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีมาตรฐานเสียงคุณภาพสูงถือกำเนิดขึ้นมามากมาย เช่น Intel High Definition Audio, Dolby TrueHD, DTS:X ฯลฯ นั่นส่งผลให้ Sound Card มีการปรับตัว พัฒนาให้สามารถถอดรหัสเสียงคุณภาพสูงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งก็มีอยู่หลายฟังก์ชันที่ไม่มีใน Sound Card แบบออนบอร์ด เพื่อตอบโจทย์คนที่ต้องทำงานกับเสียง หรือคนที่อยากสัมผัสกับเสียงคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นการรองรับมาตรฐาน Hi-Res Audio, Multi-Channel Output, ระบบตัดเสียงรบกวน Noise Cancelation, Voice Enhancemenmt ปรับปรุงคุณภาพเสียงที่พูดผ่านไมโครโฟน ฯลฯ

คุ้มค่าหรือไม่ที่จะซื้อ การ์ดเสียง (Is it worth buying a Sound Card ?)

คำตอบเป็นได้ทั้งคุ้ม และไม่คุ้ม ? ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว มองว่าการ์ดเสียง (Sound Card) จะช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้นจริง แต่มันอาจไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรซื้อ ถ้าหูฟัง หรือลำโพงของคุณเสียงดีอยู่แล้ว การซื้อ Sound Card มาใช้จะช่วยยกระดับคุณเสียงขึ้นไปอีกขั้น แต่ถ้าใช้หูฟัง หรือลำโพงมันคุณภาพต่ำ เสียงแย่ ก็ควรเอาเงินไปซื้อเครื่องเสียงที่มีคุณภาพก่อน

หากเป็นนักเล่นเกมที่มีความจริงจัง Sound Card กับชุดเครื่องเสียงคุณภาพดี จะช่วยให้ได้ยินเสียงสภาพแวดล้อมมีความชัดเจน แยกทิศทางเสียงได้ดีขึ้น 

หรือหากเป็นคนทำ Podcast, นักสตรีม, นักดนตรี หรือทำงานเกี่ยวกับมัลติมีเดียไม่ว่าเสียง หรือวิดีโอ ก็คุ้มที่จะซื้อ Sound Card มาใช้งานเช่นกัน

และสุดท้าย หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการเล่นเสียง เช่น เล่นเพลงแล้วสะดุด, เสียงกระตุก, เสียงเบา, เสียงไม่ชัดเจน, มิติเสียงแย่ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้มักแก้ได้ด้วยการซื้อ Sound Card มาใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีตัวเลือกที่ราคาไม่กี่ร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ก็ลองเลือกตามงบประมาณที่เหมาะสมกับตนเองได้เลย


ที่มา : www.soundguys.com , en.wikipedia.org , www.lifewire.com , www.techspot.com , utopiacomputers.co.uk , www.superprof.co.nz , ebxya.com

0 Sound+Card+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97+%3F+%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น