หน่วยประมวลผลกลาง หรือ ซีพียู (CPU) นั้นก็เปรียบเสมือนกับมันสมองของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งค่ายที่คนนิยมเลือกใช้กันก็มี อินเทล (Intel) กับ เอเอ็มดี (AMD) ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการเลือก CPU จากค่าย Intel กันเป็นหลัก
โดยทาง Intel ได้แบ่งระดับของ CPU ออกเป็นหลายรุ่น หลายระดับ ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์มือใหม่อาจจะเกิดความสับสนว่ามันต่างกันอย่างไร ? แล้วควรจะเลือกใช้งานรุ่นไหนดี
และแน่นอนว่าของเกือบทุกอย่างบนโลกใบนี้ "ของแพงกว่าก็ย่อมจะดีกว่าอยู่แล้ว" แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องซื้อ CPU ที่แพงที่สุดมาใช้งานเสมอไป มันขึ้นอยู่กับว่า คุณต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์ในลักษณะไหนมากกว่า หากคุณซื้อ CPU รุ่นแพงสุดมาใช้งานแค่เล่น Facebook, แชท LINE ฯลฯ มันก็จะดูไม่คุ้มค่า แต่ในทางกลับกันถ้าซื้อ CPU รุ่นถูกสุดมา แต่หวังเอามาทำงานตัดต่องานออกแบบ 3 มิติ (3D Design) ก็คงจะไม่ต่างอะไรกับการเอารถอีโคคาร์ มาขนสุกร
บทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำคุณสมบัติ CPU ของ Intel ว่าแต่ละรุ่นเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานในรูปแบบไหน โดยในบทความนี้จะขออนุญาตกล่าวถึงเฉพาะ CPU สำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปเป็นหลักนะครับ
ภาพจาก https://www.techradar.com/reviews/intel-core-i9-9980xe
ถ้าถามว่า CPU แบบ Core i3, Core i5, Core i7, Core i9 และ Core X มันต่างกันตรงไหน คำตอบที่เรียบง่าย แต่ชัดเจนที่สุด คือ "จำนวนคอร์ (Core Number)" ที่มีอยู่ในตัว CPU ครับ คอร์แต่ละตัว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงมีสิ่งที่เรียกว่า Dual-Core, Quad-Core หรือ Octa-Core
ซึ่งเดิมที Intel แบ่ง CPU ออกมาแค่ 3 ระดับ คือ Intel Core i3 เป็นรุ่นประหยัด, Intel Core i5 เป็นรุ่นกลาง และ Intel Core i7 เป็นรุ่นระดับสูง แต่ปัจจุบันได้ซอยย่อยเยอะกว่าเดิมแล้ว อ้างอิงจากข้อมูลในปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564) จะแบ่งระดับออกได้ ดังต่อไปนี้
หมายเหตุ : ตอนที่เปิดตัวครั้งแรก Core X ใช้ชื่อว่า Core i9 แต่ก็ ไม่ใช่ว่า Core i9 ทุกรุ่นจะเป็น Core X ซึ่งในปัจจุบันนี้ Core i9 ก็ได้รวมอยู่ใน CPU สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักรวมกับพวก i3, i5 และ i7 แล้ว
ภาพจาก https://www.thailand.intel.com/content/www/th/th/processors/processor-numbers.html
เรารู้จักกับระดับของ CPU กันไปแล้ว ต่อมามาเรียนรู้ข้อมูลของชุดตัวเลขที่อยู่ตามหลังชื่อของ CPU กันต่อเลยดีกว่า
หลังชื่อ CPU ที่เราเห็นของพวก Core i3, Core i5 ฯลฯ จะมีชุดตัวเลขตามหลังห้อยท้ายมาด้วย เป็นการบอกว่าเป็น CPU รุ่นดังกล่าวเป็นเจนเนอเรชั่นไหน อย่างในภาพด้านล่างนี้ Core i9-11900 ค่าตัวเลข 11 หมายความว่ามันเป็น CPU เจนเนอเรชั่น 11 ส่วนตัวเลข 900 จะบอกถึง SKU ของสินค้า (SKU ย่อมาจาก Stock Keeping Unit เป็นหน่วยที่ใช้จำแนกความแตกต่างของสินค้า)
ภาพจาก https://www.thailand.intel.com/content/www/th/th/products/details/processors/core/i9.html
นอกจากชื่อรุ่น และหมายเลขแล้ว เราจะสังเกตเห็นว่าท้ายสุดยังจะมีตัวอักษรต่อท้ายตามมาอีก พวกนี้เป็นตัวอักษรต่อท้าย (Suffixes) ที่ช่วยบอกคุณลักษณะของ CPU นะครับ โดยจะมีรายละเอียดดังนี้
ตัวอักษรต่อท้าย | ความหมาย |
---|---|
B (B = Ball Grid Array (BGA)) | เป็น CPU แบบถาด ไม่มีพัดลม, ฮีทซิงก์ ให้มาด้วย (ต้องซื้อเอง) |
G1-G7 (Graphics level) | ระดับคุณภาพของกราฟิก (เฉพาะ CPU รุ่นใหม่ที่มีการ์ดจอในตัว) |
E (Embedded) | แบบฝัง |
F | จำเป็นต้องมีการ์ดจอแยก เพื่อให้ทำงานได้ |
G | มีการ์ดจอในตัว |
GRE | มีคุณสมบัติ Intel Time Coordinated Computing (Intel TCC) และ Time-Sensitive Networking (TSN) ฝังไว้ในตัว |
H (High performance) | ประสิทธิภาพสูง และปรับแต่งให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพา |
HK | ประสิทธิภาพสูง และปรับแต่งให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพา, |
HQ (High performance, Quad core) | ประสิทธิภาพสูง และปรับแต่งให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพา, |
K (Unlocked) | สามารถ Overclock ได้ |
KF | สามารถ Overclock ได้, จำเป็นต้องมีการ์ดจอแยก เพื่อให้ทำงานได้ |
S (Special edition) | รุ่นพิเศษ |
T | ปรับแต่งการใช้พลังงานให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ |
U | ปรับแต่งการใช้พลังงานให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพา |
Y | เน้นการประหยัดพลังงานสูงสุดสำหรับอุปกรณ์พกพา |
หนึ่งในจุดขายของ CPU จาก Intel คือเทคโนโลยี Hyper-Threading (ปัจจุบันนี้ AMD ก็มีแล้วนะ ใช้ชื่อว่า Simultaneous MultiThreading หรือ SMT) ความสามารถของมัน คือ การทำให้ตัวประมวลผล 1 คอร์ จำลองตัวเองให้ทำงานเหมือน 2 คอร์ได้ ซึ่งจะช่วยให้การประมวลผลงานต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ต้องจำไว้ด้วยนิดนึง คือ Core แท้ ๆ นั้นทำงานได้เร็วกว่า Core ที่จำลอง ขึ้นมา เช่น CPU แบบ 4 Cores แท้ ๆ นั้นจะทำงานได้เร็วกว่า CPU แบบ 2 Cores ที่รองรับ Hyper-Threading
ทั้งนี้ คุณสมบัติ Hyper-Threading ไม่ได้มีทุกรุ่นนะครับ จำเป็นต้องดูเป็นรุ่น ๆ ไป ว่ามี SKU ไหนที่รองรับบ้าง
เบื้องหลังการทำงานของเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างซับซ้อนซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ รู้แค่ว่ามันเร็วได้เท่าไหร่ก็พอ เวลาเราดูสเปก CPU เราจะเห็นว่ามีค่าความเร็วอยู่ 2 ค่า คือ Processor Base Frequency (ความเร็วพื้นฐาน) และ Max Turbo Frequency (ความเร็วสูงสุด) ซึ่งค่า Processor Base Frequency จะต่ำกว่าค่า Max Turbo Frequency อยู่เสมอ
ในการใช้งานปกติ CPU มักจะวิ่งอยู่ที่ความเร็วของ Processor Base Frequency แต่หากเรามีการใช้งานที่ต้องการความเร็วสูง มันสามารถปิดการทำงานในบางส่วนของคอร์อื่นๆ เพื่อเร่งความเร็วให้คอร์หลักที่ใช้ทำงานได้เพื่อให้ได้ความเร็วที่เป็น Max Turbo Frequency นั่นเอง
ภาพจาก https://www.intel.com/content/www/us/en/products/details/processors/core/x.html
นอกเหนือไปจาก Hyper-Threading และ Turbo Boost แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Core i แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันก็คือ ขนาดของ Cache ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่แรมส่วนตัวของ CPU แน่นอนว่า Cache ยิ่งเยอะยิ่งดี อย่าง Core i9 เจนฯ 11 มี Cache ถึง 24 MB เลยทีเดียว ในขณะที่ Core i3 เจนฯ 11 มี Cache เริ่มต้นเพียง 6 MB เท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : CPU Cache คืออะไร ? L1, L2 และ L3 Cache แตกต่างกันอย่างไร ?
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
16 กุมภาพันธ์ 2565 15:35:20
|
|||||||||||
gen แต่ละ gen แตกต่างกันยังไง
|
|||||||||||