หากคุณต้องการที่จะซื้อ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของค่าย Intel ส่วนใหญ่เราก็จะคิดถึง CPU ตระกูล Core กันใช่ไหมล่ะ ? ซึ่งก็อาจจะเป็น Core i3, Core i5, Core i7 หรือ Core i9 แต่ถ้าหากคุณต้องการอะไรที่เหนือกว่า CPU ที่สามารถตอบโจทย์การทำงานระดับสูงที่ CPU ระดับลูกค้าทั่วไปยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ในกรณีเช่นนี้ Xeon คือสิ่งที่ Intel พัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ดังกล่าว
แล้ว Intel Xeon คืออะไร ? ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราต้องให้ความสนใจกับมันหรือเปล่า ? บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับมันกัน
Intel Xeon เป็นตระกูล หรือซีรีส์หนึ่งของ CPU จากค่าย Intel โดยวางตำแหน่งทางการตลาดให้ไว้เป็น CPU สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานเฉพาะทาง (Workstation Computer) หรือแม้แต่เครื่องแม่ข่าย หรือเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server) นั่นเอง ซึ่งก็จะแตกต่างไปจาก ซีรีส์ Core ที่ทาง Intel มีเป้าหมายไว้ให้ลูกค้าทั่วไปใช้งานนั่นเอง
โดยซีรีส์ Xeon นั้น ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถรับมือกับงานหนักโดยเฉพาะ โดยมันทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดพักเครื่อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจ หรือระบบไอทีใด ๆ ก็ตาม ที่ต้องการการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน (24/7 Uptime)
ซึ่งตัวชิป Intel Xeon นั้น เราสามารถใช้ช่องใส่ หรือซ็อกเก็ต (Socket) ตัวเดียวกับคอมพิวเตอร์ระดับลูกค้าทั่วไปได้ แต่ชิป Intel Xeon บางรุ่นที่ออกแบบมาใช้สำหรับเครื่อง Server โดยเฉพาะ อาจจะมีตัวซ็อกเก็ตขนาดใหญ่เป็นพิเศษ
ซีพียู Intel® Xeon® Gold 6342
ภาพจาก : https://www.wiredzone.com/shop/product/10021991-intel-cd8068904657701-xeon-gold-6342-2-8ghz-24-core-processor-3rd-gen-ice-lake-8675
ชิป Xeon ตัวแรก เปิดตัวในชื่อ Pentium II Xeon เข้าสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) โดยในสมัยนั้น Intel ยังทำตลาด CPU ในกลุ่มลูกค้าทั่วไปในชื่อ Pentium และผลิตเวอร์ชันพิเศษเน้นกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะในชื่อ Pentium II Xeon ตามมาด้วย Pentium III Xeon จากความสำเร็จของสองรุ่นที่ผ่านมา ทำให้ในที่สุด Intel ก็ตัดสินใจแยกไลน์ออกมาเป็น Xeon เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีชื่อ Pentium ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544)
ปัจจุบันนี้ Xeon สามารถพบเห็นได้ในเครื่องระดับ Workstation เช่น Mac Pro ก็ยังใช้ Intel Xeon W อยู่ แม้แต่ในโน้ตบุ๊กก็มีใช้งานด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่า Intel Xeon จะออกแบบมาให้ใช้งานกับเครื่องระดับ Workstation หรือเครื่อง Server ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากว่าคุณคิดจะซื้อมาใช้ในคอมพิวเตอร์ที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจด้วยว่าจุดแข็งของ Intel Xeon นั้นจะเน้นหนักไปที่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจมากกว่าลูกค้าทั่วไป
ประการแรก Intel Xeon ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการทำงานของ และความเร็วของคอร์เดี่ยว แต่มันจะเน้นไปที่จำนวนคอร์ที่มีแทน โดยที่แต่ละคอร์จะมีความเร็วเท่าที่จำเป็น และมักใช้พลังงานต่ำเพื่อลดความร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานต่อเนื่อง
จากการที่เน้นจำนวนคอร์มากกว่าประสิทธิภาพต่อคอร์ ทำให้ตัวระบบคอมพิวเตอร์สามารถรับมือกับปริมาณงานจำนวนมหาศาลได้ ซึ่งอาจเป็นงานที่ไม่ต้องการพลังประมวลผลมากนัก หากเทียบ Intel Xeon กับ CPU จากค่าย AMD ก็จะเหมือนกับ AMD Ryzen Threadripper หรือ AMD Epyc คือเป็น CPU ที่มีคอร์เป็นจำนวนมาก แต่ความเร็วต่อคอร์ไม่สูงมากนัก ทำให้รับมือกับงานที่อาศัยประโยชน์จากมัลติคอร์ได้อย่างดีเยี่ยม แต่งานที่เป็นคอร์เดี่ยวก็จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่า CPU ของ Intel ตระกูล Core
นั่นหมายความว่า Intel Xeon เป็น CPU ที่เล่นเกมได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะในการเล่นเกม ผู้พัฒนาเกมส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนเกมมาให้ใช้ประโยชน์จากมัลติคอร์มากนัก ปกติก็ใช้กันแค่ 4-8 คอร์ เท่านั้น ในการประมวลเกมจึงอาศัยจากความแรงของ CPU ของคอร์เดี่ยว ๆ มากกว่า การที่ Intel Xeon มี 16 คอร์ หรือ 24 คอร์ จำนวนคอร์ที่มากมายเหล่านั้นจึงไม่มีประโยชน์ต่อการเล่นเกมเลยแม้แต่น้อย แต่มันมีประโยชน์ต่องานระดับองค์ธุรกิจ หรือการทำงานของเครื่อง Server อยู่พอสมควรเลยทีเดียว
ประการที่สองคือ Xeon เป็น CPU ที่ไม่มี กราฟิกการ์ดแบบออนบอร์ด (Integrated Graphic) ในตัว จะต้องใช้ การ์ดจอแยก (Dedicated Graphic Card) ด้วยในการทำงาน และ Intel Xeon ก็ไม่รองรับการโอเวอร์คล็อก (Overclock) อีกด้วย
สุดท้าย ราคาของ Intel Xeon นั้นจะมีราคาค่อนข้างแพงกว่า CPU ตระกูล Core ซึ่งก็ไม่ได้แพงกว่าแค่เพียงเล็กน้อยนะ แต่แพงกว่าพอสมควรเลยล่ะ ยกตัวอย่างเช่น Intel Xeon Gold 6342 ราคาอยู่ที่ $2,706 (หรือประมาณ 98,552 บาท) ในขณะที่ Intel Core i7-12850HX มีราคาอยู่ที่ $428 (ประมาณ 15,600 บาท) เท่านั้นเอง
หากคุณเคยสงสัยว่า ทำไม Mac Pro ถึงมีราคาแพง เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากราคาของ Xeon ที่อยู่ในเครื่องนั่นเอง
เรียนตามตรงว่า สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว คำตอบคือ "ไม่จำเป็น !"
เพราะว่า Intel Xeon นั้น จัดว่าเป็น CPU ที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ใช้ที่เหมาะสม มันทำงานที่อาศัยการประมวลผลแบบมัลติคอร์ได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว Xeon ไม่ได้ให้ประสิทธิภาพที่ดีไปกว่า Core และบางสถานการณ์ เช่น การเล่นเกมอาจจะได้ผลลัพธ์ที่แย่กว่าด้วยซ้ำ
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะ Intel Xeon ไม่ได้ทำงานทั่วไปแย่ แม้แต่ในการเล่นเกม Intel Xeon ก็สามารถให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้เล่นเกม หรือเกมเมอร์ ได้สบายๆ เพียงแต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไป มันไม่คุ้มค่ากับราคาที่คุณจ่ายไปเท่านั้นเอง คุณสามารถทำสิ่งที่เหมือนกันได้โดยที่จ่ายเงินน้อยกว่า นอกเสียจากว่า คุณต้องการสร้างเครื่อง Workstation หรือทำเครื่อง
ขึ้นมา สำหรับคนทั่วไปแล้ว Core i9 เป็น CPU ที่แรงเหลือเฟือแล้ว
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |