ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.asus.com/us/Motherboards/
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 98,604
เขียนโดย :
0 %E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94+ATX%2C+EATX%2C+Micro-ATX%2C+Mini-ITX%2C+DTX+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+Mini-DTX+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?

เมนบอร์ด (Mainboard) หรือที่ต่างประเทศนิยมเรียกว่า มาเธอร์บอร์ด (Motherboard) ไม่ก็เรียกสั้น ๆ ว่า MOBO เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวมันเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีช่องซ็อกเก็ตเอาไว้สำหรับนำเอา หน่วยประมวลผลกลาง (CPU)หน่วยความจำหลัก (RAM), อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Device) อย่าง  ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard Disk Drive) ฯลฯ มาเสียบ เพื่อให้ฮาร์ดแวร์เหล่านั้นสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นนั่นเอง

บทความเกี่ยวกับ Mainboard อื่นๆ

เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ ...

ไบออส หรือ BIOS (Basic Input / Output System) คือ โปรแกรมที่อยู่ในเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ตรวจสอบการเชื่อมต่อของฮาร์ดแวร์ต่างๆ ภายในเครื่อง ทุกครั้งที่เราเปิดเครื่องไบออสจะทำงานก่อนเป็นอันดับแรก ที่เราสามารถบูตเข้าระบบปฏิบัติการได้ก็เพราะ BIOS นี่แหละที่เรียกข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ให้ทำงาน

รูปแบบของเมนบอร์ด นั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก โดยหลัก ๆ แล้วจะแยกประเภทตามขนาดของตัวบอร์ด แน่นอนว่าเมนบอร์ดที่มีขนาดเล็ก ย่อมมีจำนวนช่องซ็อกเก็ตน้อยกว่าเมนบอร์ดขนาดใหญ่ ซึ่งชื่อเรียกประเภทของเมนบอร์ดก็จะบ่งบอกถึงขนาดของมันนั่นเอง

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
ภาพเปรียบเทียบขนาดของเมนบอร์ดประเภทต่างๆ
ภาพจาก : https://webhamster.ru/mytetrashare/index/mtb172/1511701759nae2auojv2

ทั้งนี้ ในบทความเราขออนุญาตแนะนำเฉพาะรูปแบบเมนบอร์ดที่นิยมใช้งานกันทั่วไปนะ เมนบอร์ดที่ไม่นิยม หรือปรับแต่งมาจำนวนจำกัด ไม่ขอกล่าวถึงละกัน

เนื้อหาภายในบทความ

เมนบอร์ดยอดนิยมของผู้ใช้ทั่วไป ATX, Micro ATX และ Mini-ITX

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป จะมีเมนบอร์ดที่นิยมใช้งานอยู่ 3 แบบ คือเมนบอร์ดแบบ ATX, Micro-ATX (สามารถเรียกสั้นๆ ว่าเมนบอร์ดแบบ mATX หรือ uATX ได้อีกด้วยเช่นกัน) และเมนบอร์ดแบบ Mini ITX 

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.facebook.com/ASUSROG.TH/photos/ใครบอกว่าเรื่องของขนาดนั้นมันสำคัญ-เลือกขนาดให้เหมาะสมกับความต้องการของคุณด้วยเม/1799299793449140/

โดยเมนบอร์ด ATX (Advanced Technology eXtended) เป็นเมนบอร์ดที่ได้ความนิยมมากที่สุดพัฒนาโดย Intel ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) และยังคงนิยมใช้งานกันมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ มันยังถูกใช้เป็นรากฐานในการออกแบบเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง เมนบอร์ดแบบ Micro-ATX ที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540), FlexATX, nano-ITX และ mini-ITX ที่เปิดตัว ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) อีกด้วย

เปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างเมนบอร์ด ATX, Micro ATX และ Mini ITX

  ATX Micro-ATX (mATX, uATX) Mini ITX
 ขนาดใหญ่สุด 30.5 x 24.4 ซม. / 12 x 9.6 นิ้ว 24.4 x 24.4 ซม. / 9.6 x 9.6 นิ้ว 17 x 17 ซม. / 6.7 x 6.7 นิ้ว
 จำนวนช่องแรม 2-8 2-4 2
 ชนิดของแรม DIMM DIMM DIMM,SODIMM
 Expansion Slots (PCIe) 4-7 2-4 1
 การ์ดจอ 1-4 1-3 0-1
 พอร์ต SATA 4-12 4-8 2-6

จากตารางด้านบน เราจะเห็นได้ว่า เมนบอร์ดแบบ ATX กับ เมนบอร์ดแบบ mATX มีขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก โดย เมนบอร์ดแบบ mATX จะสั้นกว่าแค่นิดหน่อย แต่นั่นก็ส่งผลให้มีจำนวนช่อง PCIe น้อยกว่าตามไปด้วย

ส่วน เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX จะมีความแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน มันมีขนาดที่เล็กมาก ทำให้มีจำนวนช่องเสียบต่างๆ น้อยมาก แรมที่ใส่ก็มักจะนิยมใช้แบบ SODIMM (แรมขนาดเล็กที่ใช้ในโน้ตบุ๊ค) เพื่อประหยัดพื้นที่

ขนาดของเมนบอร์ดจะเป็นตัวแปรสำคัญของขนาดเคส และขนาดเคสก็จะส่งผลต่อฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่เราสามารถเลือกใช้งานได้ด้วย

โดยปกติแล้ว เมนบอร์ดแบบ ATX จะสามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มได้เกือบทุกรูปแบบโดยไม่ต้องติดขัดอะไรมาก แต่หากเราใช้ เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX เนี่ย ข้อจำกัดจะค่อนข้างเยอะ เอาง่ายๆ แค่การ์ดจอ หากต้องการใช้ก็ต้องดูรุ่นที่เป็นแบบ Mini พัดลมเดียวเท่านั้น เนื่องจากเคสจะเล็กมาก ทำให้พื้นที่ไม่พอที่จะใส่การ์ดจอตัวใหญ่ๆ ได้ คงไม่มีใครใช้ เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX กับเคสใหญ่ ๆ หรอกเนอะ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ก็เริ่มมีการออกแบบเคส Mini-ITX ที่สามารถติดตั้งการ์ดจอตัวใหญ่ๆ ออกมาบ้างแล้วนะ แม้เคสก็จะใหญ่กว่า เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX แบบเดิม แต่ก็เล็กกว่า เมนบอร์ดแบบ ATX อยู่ดี

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.facebook.com/gapesdz/photos/a.124176532710997/139472877848029/

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ระหว่าง ATX, Micro ATX และ Mini-ITX

รูปแบบ ข้อดี ข้อเสีย
ATX
  • ถ่ายเทความร้อนได้ดี เหมาะแก่การ Overclock
  • รองรับการตกแต่งภายในเคสได้หลากหลาย
  • มีจำนวนช่อง PCIe ให้เยอะ
  • รองรับ RAM ขนาดใหญ่
  • ใช้พื้นที่สำหรับจัดวางเคสเยอะ

 

Micro-ATX
  • ราคาส่วนใหญ่จะถูกกว่า ATX
  • เหมาะสำหรับ PC ที่ใช้การ์ดจอตัวเดียว
  • ใส่เคสได้เกือบทุกชนิด
  • รองรับ RAM ได้มากกว่า Mini-ITX
  • ไม่เหมาะกับ PC ที่ใช้การ์ดจอหลายตัว
  • Overclock ได้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดของระบบระบายความร้อน
  • ตกแต่งภายในเคสได้จำกัด
Mini-ITX
  • ยอดเยี่ยมสำหรับคนชอบความเล็กกะทัดรัด
  • เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด
  • ราคาไม่ถูกตามขนาด ส่วนใหญ่แพงกว่า Micro-ATX
  • ใส่การ์ดจอได้ตัวเดียว (และมักจะต้องเป็นการ์ดขนาดเล็ก)
  • ลืมเรื่อง Overclock ไปเลยน่าจะดีกว่า
  • ส่วนใหญ่ใส่แรมได้เพียง 2 ช่อง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องจำนวนพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ อีกด้วย เช่น หากเราต้องการใช้งานพอร์ต USB จำนวนมาก มีอุปกรณ์ที่ต้องตอ่พ่วงเยอะ เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX ก็จะมีจำนวนช่องให้น้อยกว่า เมนบอร์ดแบบ ATX อยู่พอสมควรเลย (แก้ปัญหาได้ด้วยการใช้พวก USB HUB) ดังนั้น จะใช้รูปแบบไหน ควรพิจารณาลักษณะความต้องการในการใช้งานของเราให้ดีก่อน

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
เมนบอร์ดขนาดใหญ่ก็จะสามารถใส่พอร์ต USB มาให้ได้เยอะหน่อย
ภาพจาก : https://rog.asus.com/us/motherboards/rog-strix/rog-strix-z490-a-gaming-model/

ทำความรู้จักกับเมนบอร์ดรูปแบบอื่น ๆ กันบ้าง

รู้จักกับเมนบอร์ด 3 รูปแบบยอดนิยม กันไปแล้ว ลองมาดูรูปแบบอื่นๆ ที่มีให้เลือกกันต่อเลยดีกว่า โดยมันก็ยังแตกต่างกันตามขนาดของตัวเมนบอร์ดเหมือนเดิมนี่แหละ เพียงแต่ได้รับความนิยมน้อยกว่า 3 รุ่นที่กล่าวไปข้างต้น

เมนบอร์ดแบบ Extended-ATX (EATX)

เริ่มกันที่ เมนบอร์ดแบบ EATX กันก่อน โดยมันเป็นเมนบอร์ดที่ไม่ต่างจาก เมนบอร์ดแบบ ATX มากนัก เพียงแต่ว่ามันจะ "ใหญ่กว่า" โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น เมนบอร์ดแบบ EATX ได้ถูกออกแบบมาใช้กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server) หรือไม่ก็เครื่องระดับ Workstation ที่จำเป็นต้องมีช่องสำหรับ "เสียบ" ฮาร์ดแวร์ หรออุปกรณ์ต่อพ่วง ที่เยอะหน่อย

แต่ปัจจุบันนี้เริ่มมีการนำ เมนบอร์ดแบบ EATX มาใช้ทำเมนบอร์ดสำหรับเกมเมอร์กระเป๋าหนักกันมากขึ้น ด้วยความที่ตัวเมนบอร์ดมีขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่าจำนวนช่องต่างๆ ที่เยอะกว่าเดิม, อากาศถ่ายเทในตัวเคสที่ดีขึ้น, พอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่ครบครัน ทำให้มันเหมาะกับการทำคอมฯ เล่นเกมที่มีประสิทธิภาพสูง 

ส่วนใหญ่แล้ว เมนบอร์ดแบบ ATX จะให้ช่อง PCI-E x16 มา 3-4 ช่อง แต่ในเมนบอร์ดแบบ EATX เรามักจะเห็น 5 ช่องเป็นอย่างต่ำ รุ่นแพง ๆ อาจจะได้ถึง 8 ช่อง ในส่วนของ RAM เมนบอร์ดแบบ ATX มักจะให้มา 4 ช่อง แต่เมนบอร์ดแบบ EATX เราอาจจะเจอได้ถึง 8 ช่อง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ราคาของเมนบอร์ดแบบ EATX ค่อนข้างแพงเอาเรื่อง ราคาเริ่มต้นก็หมื่นนิดๆ ไปจนถึงสามหมื่นกว่าบาทเลยล่ะ

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
เมนบอร์ดแบบ EATX รุ่น ROG Strix X299-E Gaming II จากค่าย Asus
ภาพจาก : https://rog.asus.com/us/motherboards/rog-strix/rog-strix-x299-e-gaming-ii-model/gallery/

เมนบอร์ดแบบ DTX และ Mini-DTX

เมนบอร์ดแบบ ATX นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Intel แต่เมนบอร์ดแบบ DTX ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้เป็นฝีมือการพัฒนาของ AMD เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) โดยมันถูกออกแบบมาให้เป็นเมนบอร์ดขนาดเล็ก ที่รองรับการทำงานร่วมกับเคสแบบ ATX ได้ด้วย

รูปแบบ ขนาดของเมนบอร์ด Expansion Slots (PCIe)
ATX  12 × 9.6 นิ้ว (305 × 244 มม.)  7
MicroATX  9.6 × 9.6 นิ้ว (244 × 244 มม.)  4
DTX  8 × 9.6 นิ้ว (203 × 244 มม.)  2
Mini-DTX  8 × 6.7 นิ้ว (203 × 170 มม.)  2
Mini-ITX  6.7 × 6.7 นิ้ว (170 × 170 มม.)  1

เมนบอร์ดแบบ DTX มีเป้าหมายในการออกแบบให้เป็นเมนบอร์ดที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงกับ ATX แต่ว่ามีขนาดเล็กใกล้เคียงกับเมนบอร์ด Mini-ITX ใหญ่กว่าแค่นิดหน่อย (ลองดูขนาดจากตารางด้านบน)

อีกจุดเด่น คือ ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ดแบบ DTX หรือ เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX จะมี Expansion Slots ให้ 2 ช่อง โดยมักจะเป็นช่อง PCI Express 1 ช่อง กับช่อง PCi 1 ช่อง

พูดง่ายๆ ว่าเมนบอร์ดแบบ Mini-DTX ถูกสร้างมาสำหรับคนที่ต้องการประกอบคอมพิวเตอร์ที่มีความแรง แต่ว่าต้องการขนาดเครื่องเล็กกะทัดรัดน่ารักประหยัดที่นั่นเอง อนึ่ง ราคาเมนบอร์ดแบบนี้ เท่าที่ไปส่องมาราคาไม่ถูกเท่าไหร่นะ

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
เมนบอร์ดแบบ Mini-DTX รุ่น ROG Crosshair VIII Impact จากค่าย Asus
ภาพจาก : https://rog.asus.com/th/motherboards/rog-crosshair/rog-crosshair-viii-impact-model/gallery/

เมนบอร์ดแบบ BTX

ด้วยความที่เทคโนโลยี ATX มันออกมานานมาก และการออกแบบมีปัญหาเรื่องความร้อนสะสม ทำให้ Intel ออกแบบเมนบอร์ดรุ่นใหม่ในชื่อ BTX (Balanced Technology eXtended) ออกมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)

ในตอนนั้น CPU กำลังมีความเร็วสูงขึ้น ส่งผลให้ความร้อนระหว่างทำงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สุดท้าย เมนบอร์ดแบบ BTX ก็แจ้งเกิดไม่สำเร็จ เหตุผลก็เนื่องจากทาง Intel เองนี่แหละ ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เน้นการพัฒนา CPU ให้ทำงานได้เร็วขึ้น แต่ใช้พลังงานน้อยลง ทำให้เกิดความร้อนน้อยลง เมนบอร์ดแบบ BTX ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป กอปรกับมันเป็นของใหม่ทำให้มีฮาร์ดแวร์สนับสนุนน้อยกว่า ATX ที่อยู่มานานมากด้วย ทำให้เวลาเพียงแค่ 2 ปี เมนบอร์ดแบบ BTX ก็ถูกพับโครงการเลิกพัฒนาไปซะอย่างนั้น

เมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX คืออะไร ? และ ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.anandtech.com/show/1340/4

เมนบอร์ดแบบ WTX

WTX ย่อมาจาก Workstation Technology Extended ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือ เวิร์กสเตชัน (Workstations) มีขนาดบอร์ด 14 x 16.75 นิ้ว (356 × 425 มิลลิเมตร) ใหญ่กว่า เมนบอร์ดแบบ EATX เสียอีก

ออกแบบมาให้ระบายความร้อนได้ดีเป็นพิเศษ และยัง สามารถติดตั้ง CPU และ ฮาร์ดดิสก์ หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลได้หลายตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหยุดพัฒนา ไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแล้ว

บทสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับเมนบอร์ดขนาดต่างๆ

การเลือกเมนบอร์ดนอกจากชนิดแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของแต่ละคนแล้วล่ะ เมนบอร์ดรูปแบบเดียวกัน มันมีราคาที่แตกต่างกันเนื่องจากลูกเล่น, ชิปเซ็ตที่ใช้, จำนวนช่องขยายที่มีให้ใช้งานอีก, ชิปถอดรหัสเสียง, ไฟ RGB ฯลฯ ดังนั้น เวลาเลือกเมนบอร์ต้องทำการบ้านดีๆ ล่ะ 


ที่มา : www.thailand.intel.com , en.wikipedia.org , en.wikipedia.org , techguided.com , www.buildcomputers.net , gamegavel.com , en.wikipedia.org , www.thailand.intel.com , www.wikizero.com , en.wikipedia.org

0 %E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94+ATX%2C+EATX%2C+Micro-ATX%2C+Mini-ITX%2C+DTX+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+Mini-DTX+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น