ผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนมากน่าจะเคยชินกับการมี "ฟิล์มติดหน้าจอ" ในการป้องกันรอยขีดข่วนให้กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแม้แต่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ถึงแม้หลายๆ ครั้งการติดฟิล์มจะไม่ได้ช่วยอะไรมากเพราะติดมาไม่ถึงวันก็เป็นรอยอีกแล้ว แต่ราคาของฟิล์มที่ติดมาเมื่อเทียบกับราคาของการเปลี่ยนหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วก็ถือว่าคุ้มกันอยู่ (แม้จะเจ็บใจที่เหมือนเสียเงินเปล่าก็ตาม)
และเมื่อไปที่ร้านขายฟิล์ม (หรือร้านรับติดฟิล์ม) ก็พบว่ามีฟิล์มติดหน้าจอหลากหลายรูปแบบให้เลือกทั้งฟิล์มกระจก, ฟิล์มใส, ฟิล์มด้าน, ฟิล์มตัดแสง และฟิล์มรูปแบบอื่นๆ หรือแบ่งประเภทของฟิล์มตามยี่ห้อและเกรดราคาที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย จนทำให้สงสัยว่าฟิล์มติดหน้าจอมีกี่ประเภท และควรจะเลือกติดฟิล์มแบบใดให้เหมาะกับการใช้งานกัน ? มาเลือกจากหัวข้อด้านล่างนี้ได้เลย
ถึงแม้ว่าในร้านต่างๆ จะแบ่งฟิล์มตามรูปแบบหรือลักษณะการใช้งาน แต่หลักการแบ่งประเภทของฟิล์มติดหน้าจอนั้นสามารถแบ่งได้จากวัสดุที่ใช้ในการผลิต เพราะฟิล์มบางประเภทก็มีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ผลิตจากวัสดุที่ต่างกัน และมีประสิทธิภาพที่ต่างกันนั่นเอง โดยเราจะสามารถแบ่งประเภทของฟิล์มติดหน้าจอออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับพลาสติก PET ที่ใช้ทำขวดพลาสติกใส, ถุงร้อนใส่อาหาร หรือเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ทำเสื้อผ้าและสิ่งทอ แต่พลาสติกประเภทนี้เองก็ใช้ทำฟิล์มติดกระจกของโทรศัพท์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยฟิล์มประเภทนี้มีทั้ง ฟิล์มแบบใส, ฟิล์มแบบด้าน และฟิล์มเนื้อสัมผัสคล้ายกระดาษ (Paper Like)
ฟิล์ม PET แบบเนื้อสัมผัสกระดาษ (Paper Like)
ภาพจาก : https://www.ebay.co.uk/c/13009501160
ลักษณะของฟิล์ม PET จะเป็นฟิล์มเนื้อบางที่มีน้ำหนักเบา เมื่อติดฟิล์มแล้วค่อนข้างดูแนบเนียนไปกับตัวเครื่องเหมือนไม่ได้ติดฟิล์มใดๆ อีกทั้งยังมีราคาถูก และสามารถติดได้ด้วยตัวเอง (ติดแบบแห้ง) จึงทำให้ค่อนข้างได้รับความนิยมค่อนข้างสูง
การติดฟิล์ม PET (ติดแบบแห้ง)
แต่ด้วยความบางของฟิล์ม PET จึงทำให้มันไม่สามารถป้องกันหน้าจอได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เพราะมันทำได้เพียงแค่การป้องกันรอยนิ้วมือบนหน้าจอโทรศัพท์และรอยขนแมว (รอยขีดข่วนเล็กน้อยบนหน้าจอ) เท่านั้น
ฟิล์ม TPU เป็นฟิล์มที่ผลิตมาจากพลาสติกที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง จึงทำให้มันมีความสามารถในการ “ฟื้นฟูตัวเอง” ได้เล็กน้อย และสามารถป้องกันได้ทั้งรอยนิ้วมือ, รอยขนแมว และคราบมันต่างๆ บนหน้าจอได้ เนื้อฟิล์มประเภทนี้จะมีลักษณะบางและน้ำหนักเบาคล้ายกับฟิล์มแบบ PET แต่เนื้อสัมผัสของฟิล์มจะมีความหนืดที่มากกว่าหน้าจอกระจกที่ไม่ติดฟิล์ม หรือฟิล์มใสรูปแบบอื่นๆ
ภาพจาก : https://gorillagadgets.com/products/samsung-galaxy-s8-tpu-film-screen-protector
และเนื่องจากฟิล์มประเภทนี้มีความยืดหยุ่นสูงกว่าฟิล์มประเภทอื่นๆ จึงเหมาะแก่การติดบนหน้าจอที่มีลักษณะโค้งมน (Curve) แบบเต็มจอและสามารถใช้งานร่วมกับการใส่เคสโทรศัพท์ได้อย่างดี โดยฟิล์มแบบ TPU นี้สามารถติดด้วยตนเองได้ทั้งการติดแบบแห้ง (เหมือนการติดฟิล์ม PET) หรือจะติดแบบเปียก (พรมน้ำขณะติด) ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
การติดฟิล์ม TPU (ติดแบบเปียก)
ฟิล์มแบบ Tempered Glass หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “ฟิล์มกระจก” เป็นฟิล์มที่ใช้กระจกแบบ Tempered หรือกระจกนิรภัยที่มีความทนทานสูงมาผ่านกระบวนการผลิตให้มีความบางและทนทานต่อการรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี (ค่าความแข็งสูงสุดที่ 9H) อีกทั้งยังสามารถป้องกันรอยขีดข่วนและคราบมันได้เหมือนกับฟิล์มประเภทอื่นๆ ด้วย
ซึ่งด้วยคุณสมบัติและความทนทานที่มากกว่าฟิล์มประเภทอื่นก็ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งหันมาใช้ฟิล์มกระจกกันมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นฟิล์มที่มีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม (ความแพงของฟิล์มจะขึ้นอยู่กับประเภทของฟิล์ม โดยจะสามารถแบ่งได้ทั้งจากความแข็ง (H) ของเนื้อกระจก และแบ่งตามประเภทการใช้งานอย่าง ฟิล์มแบบใส, ฟิล์มเนื้อด้าน (Matte) หรือฟิล์มตัดแสงสีฟ้า (Blue-light Cut) เป็นต้น)
ภาพจาก : https://dhwirelesssolutions.com/product/tempered-glass/
อย่างไรก็ตาม ฟิล์มกระจกก็มีข้อเสียตรงที่มันเป็นฟิล์มที่มีความหนามากกว่าฟิล์มประเภทอื่น จึงทำให้เมื่อติดแล้วจะเห็นว่ามีเนื้อฟิล์มนูนออกมาอย่างชัดเจน และไม่เหมาะกับการติดหน้าจอที่มีลักษณะโค้ง เพราะเมื่อใช้ร่วมกับการใส่เคสโทรศัพท์อาจทำให้เคสดันฟิล์มออกมาจนแตกได้ง่าย และด้วยความหนาของฟิล์มที่มากกว่าฟิล์มประเภทอื่นๆ ก็อาจทำให้มีปัญหาในการใช้งานฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือบริเวณหน้าจอได้
การติดฟิล์ม Tempered Glass นั้น สามารถติดได้ทั้งแบบแห้ง, แบบเปียก และติดฟิล์มโดยใช้กาว UV (หยดกาวลงบนหน้าจอและฉายแสง UV ทับเพื่อให้ฟิล์มติดทนนาน) แต่โดยส่วนมากผู้ที่ใช้ฟิล์มประเภทนี้จะนิยมให้ร้านติดฟิล์มให้เสียมากกว่า เนื่องจากต้องใช้ความชำนาญในการติดเป็นอย่างมากและไม่สามารถขยับฟิล์มได้เมื่อลอกกาวของฟิล์มติดกับหน้าจอแล้ว เพราะเมื่อแกะฟิล์มกระจกออกมาแล้วจะทำให้กระจกแตกออกโดยอัตโนมัติ (ในขณะที่ฟิล์มประเภทอื่นสามารถขยับฟิล์มเองได้หากติดเบี้ยวหรือมีฟองอากาศภายใน)
ชื่อของฟิล์มแบบ Nano Liquid นั้นอาจไม่คุ้นหูกันเท่าไร เพราะมันเป็นฟิล์มที่ไม่ค่อยแพร่หลายในประเทศไทยมากนัก ฟิล์มประเภทนี้ผลิตมาจาก Silicon Dioxide (SiO2) ที่เป็นส่วนประกอบทางเคมีของแร่ Quartz (แร่ที่มีความแข็งระดับ 7H) นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำยาเคมีชนิดอื่นๆ จนกลายเป็นน้ำยา Nano Liquid ที่สามารถเคลือบทับหน้าจอกระจกได้เนียนสนิท จึงทำให้บางคนเรียกมันว่าน้ำยาเคลือบกระจก
ภาพจาก : https://m.media-amazon.com/images/I/51l1SaaQANL.jpg
ฟิล์มแบบ Nano Liquid หรือน้ำยาเคลือบกระจกนั้น ทางผู้ผลิตกล่าวว่ามันสามารถป้องกันแรงกระแทกและรอยขีดข่วนบนหน้าจอได้พอๆ กับฟิล์มแบบกระจกนิรภัยเลยทีเดียว (ป้องกันแรงกระแทกได้สูงสุดถึง 9H) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความมันเงาให้กับหน้าจอได้ และสามารถลงน้ำยาด้วยตนเองได้ง่ายๆ ด้วยการเช็ดหน้าจอ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องฟองอากาศแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ฟิล์มประเภทนี้เป็นฟิล์มที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด เพราะนอกจากจะมีราคาสูงที่สุดในบรรดาฟิล์มทั้งหมดแล้ว ผู้ใช้บางคนยังตั้งข้อสงสัยว่า Nano Liquid ที่หยดลงไปเคลือบกระจกนั้นสามารถป้องกันรอยได้จริงหรือไม่ เพราะมันไม่สามารถลอกออกได้เหมือนกับฟิล์มประเภทอื่นๆ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ารอยที่เกิดขึ้นบนกระจกที่เคลือบด้วย Nano Liquid นั้นเกิดความเสียหายเฉพาะแค่ชั้นที่ลงน้ำยาเคลือบทับ หรือเป็นรอยที่ฝังลงเนื้อกระจกจริงกันแน่
ฟิล์ม PET | ฟิล์ม TPU | ฟิล์ม Tempered Glass (ฟิล์มกระจก) | ฟิล์ม Nano Liquid (น้ำยาเคลือบกระจก) | |
คุณสมบัติ | ป้องกันรอยนิ้วมือ และรอยขนแมว ฟิล์มเนื้อบาง น้ำหนักเบา | ป้องกันรอยนิ้วมือ, | ป้องกันรอยนิ้วมือ, | ป้องกันแรงกระแทก สูงสุดถึง 9H เพิ่มความมันเงา ให้กับหน้าจอ |
ประเภท | ฟิล์มแบบใส ฟิล์มแบบด้าน ฟิล์มเนื้อกระดาษ | ฟิล์มแบบใส | แบ่งตามความแข็งของ | ฟิล์มแบบใส |
ราคา | ถูกที่สุด | ปานกลาง | ค่อนข้างแพง (ตามประเภทของฟิล์ม) | แพงที่สุด |
การติดฟิล์ม | แบบแห้ง | แบบแห้ง แบบเปียก | แบบแห้ง แบบเปียก กาว UV (ต้องใช้ความชำนาญ ในการติดสูง) | ติดด้วยตนเองได้ง่ายโดยใช้การ |
ข้อจำกัด | ป้องกันได้แค่ รอยขีดข่วน เล็กน้อย | เนื้อฟิล์มหนืดกว่า ฟิล์มรูปแบบอื่น | ฟิล์มหนา ไม่เหมาะกับการติดจอโค้ง (เคสอาจดันฟิล์มแตกได้) | ลอก/เปลี่ยนฟิล์มไม่ได้ (ไม่สามารถระบุได้ว่า สามารถป้องกันรอย บนหน้าจอได้จริง) |
สำหรับการเลือกใช้ฟิล์มติดหน้าจอนั้น ผู้ใช้ควรเลือกตามการใช้งานและลักษณะหน้าจอของสมาร์ทโฟน เพราะถึงแม้ว่าฟิล์มบางประเภทจะมีประสิทธิภาพการป้องกันหน้าจอที่ดี แต่ก็อาจไม่เหมาะกับสมาร์ทโฟนที่ใช้งานอยู่ และควรใช้การติดฟิล์มหน้าจอร่วมกับการสวมเคสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันทั้งการแตกของหน้าจอและลดแรงกระแทก รวมทั้งใช้งานอย่างระมัดระวังน่าจะดีกว่า
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |