"กระจกคือ กระจก และกระจกแตกได้" เป็นประโยคเด็ดที่ JerryRigEverything ยูทูปเบอร์สายไอทีชื่อดัง ที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ แต่ความก้าวหน้าของวิทยาการวิทยาศาสตร์ได้ทำให้กระจกมีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมมาก
กระจกที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษไม่ใช่เทคโนโลยีไกลตัว สมาร์ทโฟนที่เราพกติดตัวตลอดเวลาราวกับเป็นอวัยวะที่ 33 หน้าจอแสดงผลของมันก็นิยมใช้กระจกประเภทนี้
หากเจาะรายละเอียดลึกลงไป กระจกกันรอยที่ถูกเลือกใช้ก็จะมีอยู่ 2 ยี่ห้อใหญ่ ๆ คือ ถ้าไม่ใช่ Gorilla Glass ก็จะเป็น Dragontrail Glass กระจก 2 ยี่ห้อนี้เหมือนกันไหม ? หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร ? ในบทความนี้เราจะมาอธิบายให้เข้าใจกัน
ก่อนอื่น เราคิดว่าควรจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับกระจกนิรภัย (Tempered Glass) กันก่อนสักเล็กน้อย ...
โดยทั่วไปแล้วหากไม่ได้มีการระบุเอาไว้ในสเปกอย่างชัดเจนว่าใช้กระจกยี่ห้ออะไร ? เราสามารถสันนิษฐานได้ว่ามันน่าจะเป็นกระจกแบบ Tempered Glass กระจกชนิดนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ มันถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 17
โดย Tempered Glass เป็นกระจกที่มีความทนทานกว่ากระจกธรรมดาถึง 4 เท่า ด้วยกรรมวิธีการอบแบบพิเศษ ทำให้เนื้อกระจกถูกบีบอัดจนมีความหนาแน่นสูงจนได้กระจกที่มีความแข็งแรงมากกว่าปกติ นอกจากนี้ หากมันแตก เนื้อกระจกจะแหลกละเอียด และมีความคมน้อยกว่ากระจกธรรมดา ช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น
Tempered Glass มีความแข็งอยู่หลายระดับ ฟิล์มกระจกนิรภัยที่ขายกันทั่วไปมักจะมีค่าความแข็งอยู่ที่ระดับ 9H แต่ก็อาจจะมีที่แข็งกว่านั้นได้เช่นกัน
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) สตีฟ จอบส์ ซีอีโอแห่งบริษัท Apple ปวดหัวกับปัญหาหน้าจอของสมาร์ทโฟนเครื่องต้นแบบเป็นรอยขีดข่วนง่ายมาก แค่ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงเดินไปเดินมาก็เกิดรอยแล้ว และเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ iPhone จะเปิดตัวเป็นครั้งแรก เขาได้ตัดสินใจว่าควรจะเปลี่ยนพลาสติกบนหน้าจอเป็นกระจกที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษแทน
เวลานั้นพลาสติกเป็นมาตรฐานหลักที่ทำหน้าที่ของมันได้ดี และทุกคนก็พึงพอใจกับมัน แต่ไม่ใช่กับสตีฟ จอบส์ เขาได้ตัดสินใจนำกระจก Gorilla Glass มาใช้ใน iPhone ซึ่งมันก็ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่มาจนถึงปัจจุบันนี้
Gorilla Glass เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Corning ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตกระจกชนิดพิเศษมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เครื่องครัวยี่ห้อ Pyrex, กระจกหลักที่ใช้ในกล้องโทรทรรศน์ Hubble, กระจกของยานกระสวยอวกาศ หรือแม้แต่หลอดไฟของโทมัส เอดิสัน แต่ถึงกระนั้นบริษัท Corning ก็ไม่ได้มีสถานการณ์การเงินที่ดีนัก ขาดทุนถึง 5 ปีติดต่อกัน เพิ่งจะเริ่มพลิกกลับมาทำกำไรได้ก็ตอนที่สตีฟ จอบส์ขอให้มาช่วยทำกระจกให้ iPhone ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550)
บริษัท Corning ได้คิดค้นกรรมวิธีใหม่ในการผลิตกระจกนิรภัย โดยแทนที่จะอาศัยแค่เพียงการควบคุมอุณหภูมิเหมือนกับการผลิต Tempered Glass ก็ได้มีการใช้สารเคมีเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กระจก โดยในกระบวนการแลกเปลี่ยนไอออน (Ion) โปแตสเซียมไอออนที่มีขนาดใหญ่จะถูกนำไปแทนที่โซเดียมไอออนที่มีขนาดเล็ก กลายเป็นกระจกชนิดใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า "Alkali-aluminosilicate sheet Glass" หรือ Gorilla Glass นั่นเอง
Gorilla Glass ได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้มันมีอยู่หลายเวอร์ชัน โดยในเวอร์ชันล่าสุดอย่าง Gorilla Glass Victus 2 นั้นเคลมว่ารองรับการตกกระแทกกับพื้นผิวขรุขระอย่างพื้นคอนกรีตได้มากถึง 1 เมตร และรองรับการดัดโค้ง กับป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย
ภาพจาก : https://www.gizchina.com/2022/12/01/gorilla-Glass-victus-2-a-proper-upgrade-from-victus-1/
หลังจากที่ Gorilla Glass ได้เปิดตัวในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีคู่แข่งทางธุรกิจเกิดขึ้นบ้าง และในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) บริษัท Asahi Glass Company (ASG) จากประเทศญี่ปุ่นก็ได้เปิดตัวกระจก Dragontrail Glass ออกมาก โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับ Gorilla Glass มาผลิตกระจกสำหรับสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และ เครื่อง PC เป็นต้น
แม้ว่า Dragontrail Glass จะเป็น Alkali-Aluminosilicate Sheet Glass เหมือนกับ Gorilla Glass แต่ก็มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน โดยมีการใช้เทคนิค Chemical Float เข้ามาช่วยเสริมความแกร่ง และความยืดหยุ่นให้กับกระจก
ภาพจาก : https://www.review-hub.co.uk/dragontrail-Glass-everything-you-need-to-know/
อย่างไรก็ตาม ASG แตกต่างกับ Corning ตรงที่ไม่มีการเปิดเผยผลทดสอบความทนทานในการตกจากที่สูง มีแค่ความแข็งเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบค่า Vickers Hardness scale ตัวกระจก Gorilla Glass Victus 2 อยู่ที่ระดับ 595 - 673 ในขณะที่ Dragontrail Star 2 จะอยู่ที่ระดับ 570 - 640 ถือว่าแตกต่างกันไม่มาก และถ้าถามว่ามันแข็งขนาดไหน เหล็กมีค่าความแข็งจะอยู่ที่ประมาณ 900
Gorilla Glass | Dragontrail Glass | |
ผู้ผลิต | บริษัท Corning จากสหรัฐอเมริกา | บริษัท Asahi จากญี่ปุ่น |
วัสดุที่ใช้ | Alkali-Aluminosilicate Sheet Glass | |
Vickers Hardness Rating | 595 - 673 | 570 - 640 |
การนำไปใช้ | สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, โน้ตบุ๊ก, PMP, จอคอมฯ และจอทีวี | สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต |
วิธีผลิต | Ion-Exchange Method | Float Process |
ความนิยม | ได้รับความนิยมสูง ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายประเภท | ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ |
คุณสมบัติ | ทนต่อรอยขีดข่วน, ทนการกระแทก, บาง และน้ำหนักเบา |
ถึงแม้ว่า กระจกนิรภัยส่วนใหญ่บนสมาร์ทโฟน เราจะเห็น Gorilla Glass หรือไม่ก็ Dragontrail Glass แต่อันที่จริงมันก็ยังมีอีกหลายชนิดนะ ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น
Sapphire Glass หรือกระจกแซฟไฟร์ เป็นกระจกที่มีราคาแพงที่สุดในบรรดากระจกนิรภัยต่าง ๆ ทำให้การใช้งานของมันไม่แพร่หลายมากนัก มันมักถูกใช้กับนาฬิการาคาแพงเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงใน สมาร์ทวอทช์อย่าง Apple Watch ในบางรุ่น
การผลิต Sapphire Glass เป็นงานที่ต้องใช้เวลา และมีต้นทุนการผลิตสูง ด้วยการนำ Corundum และแร่แซฟไฟร์ไปหลอมที่อุณหภูมิสูงถึง 2,200 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานาน 16-17 วัน กว่าจะได้แผ่น Sapphire Glass ออกมา
หากเป็นด้านความทนทานต่อรอยขีดข่วน Sapphire Glass ถือว่าเป็นราชาที่ครองบัลลังก์อันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ ด้วยความแข็งระดับ 9H เป็นรองแค่เพชรเท่านั้น มันสามารถทนต่อการขีดข่วนจากวัสดุที่มีความแข็งเท่ากันได้สบาย ๆ ในขณะที่ Gorilla Glass, Dragontrail Glass และ Tempered Glass จะทนการขีดข่วนได้ไม่เกิน 6H เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กระจกแซฟไฟร์ก็มีข้อเสียเช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับกระจกนิรภัยชนิดอื่น ๆ มันจะแตกได้ง่ายกว่า และดัดงอได้น้อยกว่า Gorilla Glass
Ceramic Shield เป็นกระจกนิรภัยแบบใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ปี โดยมันเริ่มใช้เป็นครั้งแรกใน iPhone 12 และถูกใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม Ceramic Shield ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple หรือ Starup หน้าใหม่แต่อย่างใด มันถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Corning ที่ผลิต Gorilla Glass นั่นเอง
กระบวนการผลิต Ceramic Shield นั้นก็จะใช้วิธี Ion-Exchange Method แบบเดียวกันกับ Gorilla Glasss แต่ว่าจะเพิ่มขั้นตอนการอบด้วยอุณหภูมิสูงเพื่อเพิ่มอนุภาคนาโนเซรามิกเข้าไป ทำให้เนื้อกระจกมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
บริษัท Corning เคลมว่า Ceramic Shield นั้นแข็งแกร่งกว่ากระจกหน้าจอสมาร์ทโฟนทุกรุ่น ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่ามันทนทานกว่า Gorilla Glass อย่างไรก็ตาม บริษัท Corning ก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบออกมาอย่างเป็นทางการว่าเทียบกับ Gorilla Glass Victus 2 แล้ว มันแตกต่างกันมากขนาดไหน ?
แต่ทาง JerryRigEverything ได้ทดสอบแล้วพบว่า หน้าจอของ iPhone 14 จะเริ่มมีรอยขีดข่วนเมื่อโดนขูดด้วยของแข็งระดับ 6H เช่นเดียวกับกระจกนิรภัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม รอยจะมีความจางมากกว่า
สรุปแล้ว สถานการณ์ในปัจจุบัน Gorilla Glass ยังคงครองตลาดกระจกนิรภัยเอาไว้ได้ และในเวอร์ชันล่าสุดอย่าง Victus และ Victus 2 ก็มีความทนทานเหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Dragontrail Star 2 แต่ก็เหนือกว่าแค่เพียงเล็กน้อย
อะไรดีกว่ากัน ? ก็คงต้องตอบว่า Gorilla Glass แต่ Dragontrail Star ก็เป็นคู่แข่งที่ไล่ตามมาติด ๆ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |