เชื่อว่าเจ้าของ (ทาส) บางคนอาจเคยสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการมองเห็นของสัตว์เลี้ยง (เจ้านาย) ของเราว่า พวกมันมีการมองเห็นโลกที่แตกต่างออกไปจากเรามากน้อยเพียงใด แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงความสามารถในการมองเห็นของสัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ นั้น เราก็น่าจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถในการรับและมองเห็นภาพของดวงตาเสียก่อน
โดยภายในดวงตาของสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะมี Photoreceptor Cells หรือเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการรับภาพสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ภายในเรตินาของดวงตา ซึ่งจะประกอบไปด้วย เซลล์รูปแท่ง (Rod Cells) ที่ทำหน้าที่รับแสง และเซลล์รูปกรวย (Cone Cells) ที่ทำหน้าที่รับสีนั่นเอง
สำหรับมนุษย์ที่มีมุมมองภาพของดวงตาอยู่ที่ราว 180 องศา และใช้การมองเห็นแบบ Binocular (การมองภาพที่ใช้ดวงตาทั้งสองข้างจับภาพ) นั้นมีการมองเห็นสีแบบ Trichromatic Vision ที่สามารถรับและแยกแยะสีในโทน RGB (Red, Green, Blue) ได้อย่างชัดเจน
เพราะว่า Cone Cells ของมนุษย์ประกอบไปด้วย S-cones (Short Cone) ที่ไวต่อการรับคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นราว 420 nm ทำให้มองเห็นแสงสีน้ำเงิน, M-cones (Medium Cone) ที่ไวต่อคลื่นแสงสีเขียวที่มีความยาวประมาณ 530 nm และ L-cones (Long Cone) ที่ไวต่อคลื่นแสงที่มีความยาวราว 560 nm ทำให้เราสามารถมองเห็นแสงสีแดง (แม้ว่าช่วงความยาวคลื่นที่ L-cones รับได้ดีที่สุดจะมีแนวโน้มเป็นแสงสีเหลือง แต่มันก็มีระยะการรับคลื่นสีที่ครอบคลุมแสงสีแดงด้วย)
ภาพจาก : https://biology.stackexchange.com/questions/51870/can-red-cone-cells-actually-see-much-red-light
ส่วนการที่เราสามารถมองเห็นสีสันต่างๆ นอกเหนือไปจากโทนสี RGB ได้นั้น เป็นเพราะการรับสีของดวงตามนุษย์ต้องพึ่งพาการทำงานของ Cone Cells ทั้ง 3 รูปแบบนี้ร่วมกับความสว่างของแสงโดยรอบ จากนั้นสมองจะทำการ “ผสมสี” ที่เราควรจะเห็นออกมานั่นเอง
สัตว์ชนิดต่างๆ ไม่ได้มีการรับภาพในลักษณะเดียวกับมนุษย์ จึงทำให้พวกมันมีการมองโลกในมุมมองและสีสันที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของสัตว์ชนิดนั้นๆ และสำหรับบทความนี้เราก็จะยกตัวอย่างลักษณะการมองเห็นของเจ้านาย (สัตว์เลี้ยง) ที่คาดว่าหลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีมาดังนี้
ไม่ใช่แค่ความเชื่อเกี่ยวกับการเทียบหาอายุของสุนัขจะไม่เป็นความจริงเท่านั้น แต่ความเชื่อที่ว่าสุนัขตาบอดสีเองก็เป็นความจริงแค่กึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะสุนัขไม่ได้มองเห็นทุกสิ่งรอบตัวเป็นสีขาว-ดำ แต่พวกมันก็ไม่ได้มีการมองเห็นสีอย่างชัดเจนเท่ามนุษย์ด้วยเช่นกัน
เนื่องจาก Cone Cells ที่ทำหน้าที่รับสีในดวงตาของสุนัขนั้นสามารถรับคลื่นแสงได้แค่เพียง 2 เฉดสีหลักๆ เท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็คาดเดาว่าสุนัขน่าจะมีการรับรู้สีแบบ Dichromatic Vision ที่มีการมองเห็นสีในโทนสีน้ำเงิน-เหลือง และบอดสีแดง-เขียว
นอกจากนี้ พวกมันยังมีเนื้อเยื่อ Tapetum Lucidum อยู่ภายในดวงตา ที่ทำปฏิกิริยาต่อ Rod Cells ภายในดวงตาในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ดวงตาของมันคล้ายจะ “เรืองแสง” และมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยได้ชัดเจนกว่ามนุษย์หลายเท่า
แม้ว่าแมวจะมีค่าสายตาที่สั้นกว่ามนุษย์ แต่มันก็มีมุมมองภาพกว้างราว 200 องศา รวมทั้งมี Tapetum Lucidum และ Rod Cells ในปริมาณที่มากกว่าสุนัข (สุนัขมี Rod Cells มากกว่ามนุษย์ประมาณ 5 เท่า ในขณะที่แมวมีปริมาณมากกว่ามนุษย์ราว 6 - 8 เท่า) และเมื่อรวมกันความสามารถในการรับคลื่นเสียง Ultrasonic ด้วยแล้วก็ทำให้มันเป็นสัตว์ที่สามารถใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยได้เป็นอย่างดี
สำหรับการรับรู้สีของแมว นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าน่าจะมีการรับสีแบบ Trichromatic Vision คล้ายกับมนุษย์ แต่ Cone Cells ภายในดวงตาของแมวน่าจะมีความไวต่อความยาวคลื่นสีที่ต่างออกไป โดยคาดการณ์ว่าพวกมันน่าจะมองเห็นสีน้ำเงิน, เขียว และเหลือง เป็นหลัก (ไม่สามารถรับคลื่นสีแดงได้ ทำให้มองเห็นสีแดงและชมพูคล้ายสีเหลืองและเขียว)
ส่วนกระต่ายที่มีดวงตาอยู่บริเวณข้างกะโหลกนั้น มีลักษณะการมองเห็นที่ค่อนข้างพิเศษ คือ มีขอบเขตการ มองเห็นเกือบ 360 องศา สามารถมองเห็นได้ทั้งแบบ Binocular (การใช้ดวงตาทั้งสองข้างจับภาพในระยะใกล้) และ Monocular หรือการมองภาพแบบใช้ลูกตาเพียงข้างเดียว (ซ้าย-ขวา) ในการจับภาพสิ่งรอบข้าง ทำให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ดี โดยจุดบอดของสายตาจะอยู่ที่บริเวณปลายจมูกและหลังใบหู
ภาพจาก : https://www.vgr1.com/vision/
ส่วนด้านการรับรู้และมองเห็นสีนั้น กระต่ายสามารถมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลืองได้ค่อนข้างชัดเจน (บอดสีแดง-เขียว) และมี Rod Cells ที่มากกว่ามนุษย์หลายเท่า จึงทำให้สามารถในการมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยอย่างช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืดได้เป็นอย่างดี แต่ไม่มี Tapetum Lucidum ที่ทำให้ดวงตาดูเรืองแสงในเวลากลางคืน
แฮมสเตอร์มีดวงตาที่ใหญ่กว่าหนูประเภทอื่นๆ ถึง 2.5 เท่า แต่ความสามารถในการมองเห็นของมันก็คล้ายกับหนูทั่วไป คือ มีสายตาที่สั้นมากและมองเห็นได้เพียงแค่ไม่กี่นิ้วจากระยะสายตาเท่านั้น พวกมันจึงมักใช้หนวดร่วมกับการดมกลิ่นและการฟังเพื่อช่วยในการสัมผัสและรู้สึกถึงสิ่งรอบข้าง
ภาพจาก : https://pixabay.com/photos/hamster-brown-cute-animal-pet-1149177/
และเช่นเดียวกับหนูประเภทอื่นๆ คือ แฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน จึงมีความสามารถในการมองเห็นช่วงกลางคืนมากกว่าเวลากลางวัน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ Photoreceptor ของแฮมสเตอร์แล้วก็พบว่า มีจำนวนของ Rod Cells มากถึง 97% ทำให้มันสามารถมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยได้ดีแม้จะไม่มี Tapetum Lucidum ในขณะที่ Cone Cells มีจำนวนเพียง 3% เท่านั้น จึงทำให้มันไม่สามารถรับและแยกแยะความต่างของสีได้
อย่างไรก็ตาม แฮมสเตอร์บางชนิดอย่างแฮมสเตอร์สายพันธุ์ Siberian ก็มีความสามารถในการมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลืองได้ แม้จะไม่ชัดเจนมากนัก (ในระยะที่ความสามารถของมันเอื้ออำนวย)
ถึงแม้ว่าการศึกษาเรื่องความสามารถในการมองเห็นของเม่นแคระ (ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เม่น แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมฟันแทะประเภทกินแมลง) นั้นพบได้น้อยมาก แต่ส่วนมากก็ชี้ว่ามันน่าจะมีลักษณะการมองเห็น คล้ายกับหนูและแฮมสเตอร์ ที่เป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืนโดยธรรมชาติ คือ มีระยะสายตาสั้น แต่มองเห็นได้ดีในที่มืด (ไม่มี Tapetum Lucidum) และมีความสามารถในการจำแนกสีที่ต่ำมาก โดยมันอาจจำแนกได้เฉพาะแค่สีน้ำเงินแบบเลือนรางเท่านั้น
และเนื่องจากมันมีความสามารถในการมองเห็นต่ำ จึงมีประสาทหูและประสาทการดมกลิ่นที่ดีกว่าสัตว์โดยทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเม่นแคระนั้นมีใบหูที่ค่อนข้างใหญ่และสามารถจับฟังเสียงการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้เป็นอย่างดี (สามารถรับคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงตั้งแต่ 250 - 45,000 Hz ได้)
ภาพจาก : https://www.pickpik.com/hedgehog-animal-baby-cute-small-pet-479
นกมีความสามารถในการมองเห็นและการรับสีที่สูงกว่ามนุษย์อย่างเราไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่มันจะสามารถรับสีได้ทั้งแดง, เขียว และน้ำเงินเหมือนกับมนุษย์แล้ว มันยังมี Cone Cells พิเศษที่สามารถรับสเปกตรัมของ อัลตราไวโอเลต ได้อีกต่างหาก
แต่เนื่องจากมนุษย์สามารถมองเห็นได้แค่ RGB เท่านั้น จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าการมองเห็นของนกนั้นเป็นไปในลักษณะใด เพียงแต่มีการคาดเดาว่าน่าจะเห็น “แสงสี” ที่สดและสว่างกว่าที่เรามองเห็นอยู่มาก และมีมุมมองภาพที่กว้างกว่ามนุษย์อย่างเห็นได้ชัด (ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของนกด้วย)
ภาพจาก : https://coldcreek.ca/environmental-info/uv-world/
อีกทั้งสายตาของนกก็มีความเฉียบคมกว่ามนุษย์ถึงหลายเท่า และมี Pectic Oculi ที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดภายในดวงตา จึงทำให้มันสามารถมองหาเหยื่อที่อยู่บนพื้นดินขณะกำลังบินโดยไม่ทำให้เส้นเลือดภายในดวงตาของมันแตก รวมทั้งมีโปรตีนพิเศษที่ทำให้มันมองเห็นและเคลื่อนที่ไปตามสนามแม่เหล็ก (Electromagnetic Field) ได้อีกด้วย
สำหรับสัตว์จำพวกงู ถึงแม้ว่าดูจากภายนอกแล้วเราจะเห็นว่ามันมีดวงตาอยู่เพียงแค่ 1 คู่ แต่จริงๆ แล้วงูมีประสาทการมองเห็นถึง 2 รูปแบบ ด้วยกัน คือ สามารถมองสิ่งต่างๆ ผ่านทางดวงตาและการจับกระแสอินฟาเรด (คลื่นความร้อน)
โดยการมองเห็นผ่านดวงตาของงูนั้น มีระยะสายตาสั้นที่สามารถแยกแยะความต่างของสีได้เพียงแค่โทนน้ำเงินและเหลือง (บอดแดง-เขียว เช่นเดียวกับสุนัขและกระต่าย) และที่น่าสนใจคือมีการศึกษาวิจัยเรื่องลักษณะการมองเห็นของงูที่ออกหากินในเวลากลางวันและกลางคืน พบว่างูที่มักออกหากินในเวลากลางวันนั้นมีเซลล์โปรตีนภายในดวงตาที่สามารถป้องกันแสง UV ได้ คล้ายกับการสวมแว่นกันแดดที่มีฟิลเตอร์กรองแสง จึงทำให้บางครั้งเรามองเห็นดวงตาของงูเป็นสีเหลืองได้นั่นเอง
ภาพจาก : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982219304725
ส่วนการมองโลกผ่านกระแสอินฟราเรด (การจับคลื่นความร้อน) นั้นจะใช้งาน Pit Organs หรืออวัยวะพิเศษในงู (อยู่ใกล้กับบริเวณจมูก) ที่ช่วยให้พวกมันสามารถจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในพื้นที่นั้นๆ ได้ และรับรู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ใกล้มากน้อยเพียงใด จึงทำให้พวกมันสามารถล่าเหยื่อในยามค่ำคืนได้อย่างแม่นยำ
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |
ความคิดเห็นที่ 1
7 เมษายน 2567 13:20:13
|
||
GUEST |
|
|