ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Lifetime, Perpetual, Subscription, Floating และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?

Lifetime, Perpetual, Subscription, Floating และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 42,837
เขียนโดย :
0 Lifetime%2C+Perpetual%2C+Subscription%2C+Floating+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+Node+License+%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?

ในวงการซอฟต์แวร์ที่เสียเงิน (Paid Software) เพื่อได้มาซึ่งสิทธิ์การใช้งานนั้น โดยไม่ว่า ซอฟต์แวร์ นั้นจะเป็น ซอฟต์แวร์ที่ให้ทดลองใช้ก่อนอย่าง แชร์แวร์ (Shareware) หรือ เดโม่ (Demo) หรือซอฟต์แวร์ที่ต้องซื้อตั้งแต่แรกเลย ก็ล้วนแล้วแต่มีรูปแบบการเสียเงินในหลากหลายรูปแบบ เพื่อที่จะให้ได้สัญญาอนุญาตซอฟต์แวร์ (Software License) มาใช้ในองค์กรธุรกิจ (Corporate Use or Business Use) หรือใช้ตามบ้าน (Home Use) ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ และถูกต้องตามกฏหมาย บทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับประเภทของซอฟต์แวร์เสียเงินชนิดต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง ?

บทความเกี่ยวกับ Software License อื่นๆ

โดยในที่นี้จะกล่าวถึงสิทธิ์การใช้งานของ ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ (Licensed Software) ในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด 5 รูปแบบหลักๆ ที่ทางผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) หรือ ผู้พัฒนาระบบ (System Developer) นั้นกำหนดขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม ดังต่อไปนี้

เนื้อหาภายในบทความ

1. Lifetime License
(สิทธิ์การใช้งานตลอดชีพ)

เป็นการจ่ายเงินซื้อสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์เพียงครั้งเดียวที่ผู้ใช้จะสามารถใช้งานและรับสิทธิ์ในการอัปเกรดเวอร์ชันของซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้ตลอดชีพ แต่ในปัจจุบันมักไม่ค่อยเห็นการซื้อขายซอฟต์แวร์ในรูปแบบนี้เท่าไรนัก เพราะถึงแม้ว่าจะสามารถขายได้ในราคาที่สูง แต่บริษัทต่างๆ ก็มองว่าการให้สิทธิ์ในการใช้งานตลอดชีพนั้นทำให้บริษัทขาดโอกาสที่จะได้รับรายได้เพิ่มเติมจากผู้ใช้ ดังนั้นการขายซอฟต์แวร์ในรูปแบบนี้จึงถูกลดความนิยมลง

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.iemblog.com/wp-content/uploads/2020/03/idman636build7.jpg.webp

2. Perpetual License
(สิทธิ์การใช้งานแบบซื้อขาด)

เป็นการจ่ายเงินซื้อสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์เพียงครั้งเดียว คล้ายกับ Lifetime License แต่การซื้อขาดนั้นมี ระยะเวลาในการอัปเกรดซอฟต์แวร์และการรับบริการจากทางบริษัทตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด เท่านั้น ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการซัพพอร์ทของทางบริษัทก็จะยังคงสามารถใช้งานซอฟต์แวร์นั้นได้ต่อไป แต่จะไม่สามารถอัปเกรดเวอร์ชันเพิ่มเติมได้ (หรือหากต้องการอัปเกรดเวอร์ชันหรือต่อระยะเวลาการบริการก็จะต้องชำระเงินเพิ่มเติมให้กับทางบริษัท)

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://produto.mercadolivre.com.br/MLB-1279117514-pro-tools-ultimate-2019-licenca-perpetua-ilok-cloud-_JM

3. Subscription License
(สิทธิ์การใช้งานแบบเช่าใช้)

สิทธิ์การใช้งานแบบเช่าใช้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Subscription License" หรือที่มักเรียกกันว่า "SaaS (Software as a Subscription) License" เป็นการ จ่ายเงินซื้อสัญญาการใช้งานซอฟต์แวร์เป็นรายปี (หรือรายเดือน) ตามเงื่อนไขของบริษัท โดยผู้ใช้จะต้องทำการชำระเงินต่อสัญญากับบริษัทตามระยะสัญญาเพื่อใช้งานซอฟต์แวร์นั้นๆ และจะสามารถรับบริการช่วยเหลือหรือทำการอัปเกรดเวอร์ชันของซอฟต์แวร์ได้ตราบเท่าที่ยังคงชำระเงินต่ออายุสัญญา ซึ่งหากผู้ใช้ตัดสินใจยุติการจ่ายเงินก็จะไม่สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้อีกต่อไป

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.mln.com.au/img/uploads/images/adobe_creative_cloud_photography_plan_student-teacher.jpg

4. Floating License
(สิทธิ์การใช้งานแบบย้ายเครื่องใช้งานได้)

สิทธิ์การใช้งานแบบ Floating License หรือบางทีก็เป็นที่รู้จักในชื่อ Concurrent License หรือ Network License เป็นการให้สิทธิ์แบบแชร์การใช้งานโปรแกรมในกลุ่มของผู้ใช้งานจำนวนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งซื้อ Floating License ของโปรแกรม A จำนวน 3 สิทธิ์ นั้นหมายความว่า ผู้ใช้งานสูงสุดจำนวน 3 คน (บน PC จำนวน 3 เครื่อง) จะสามารถเข้าใช้โปรแกรม A ในเวลาเดียวกันได้

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://support.softwarekey.com/article/899-network-floating-licensing

และเมื่อมีผู้ใช้งานคนอื่น (สมมติว่าเป็น นาย B) ต้องการเข้าใช้งานโปรแกรม A ก็ต้องคอยให้ผู้ที่กำลังใช้งานโปรแกรมอยู่ในขณะนั้น คนใดคนหนึ่ง ออกจากการใช้งานโปรแกรม A เพื่อให้สิทธิ์การใช้งานแบบ Floating License ว่างลงจำนวน 1 สิทธิ์ ทำให้ นาย B สามารถเข้าใช้โปรแกรม A ได้พร้อมกับผู้ใช้งานคนอื่นอีก 2 คน

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://corona-renderer.com/prices-licensing

กล่าวโดยสรุปคือ จำนวนสิทธิ์การใช้งานแบบ Floating License จะเป็นการกำหนดจำนวนผู้ใช้งานสูงสุดที่สามารถเข้าใช้โปรแกรมพร้อมๆ กันได้ โดยในส่วนของการจัดการเรื่องการให้สิทธิ์ผู้ใช้งาน จะทำโดยเครื่อง License Server

โดยถ้าเครื่องเซิร์ฟเวอร์นี้พบว่าในขณะนั้นยังมีสิทธิ์การใช้งานว่างอยู่ เซิร์ฟเวอร์ก็จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานเรียกใช้โปรแกรมได้ และเมื่อผู้ใช้งานปิดการใช้งานโปรแกรม (หรือครบกำหนดเวลาการอนุญาตให้ใช้งาน) สิทธิ์การใช้งานที่ว่างลง ก็จะถูกเรียกกลับมายังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และพร้อมที่จะให้สิทธิ์นั้นกับผู้ใช้รายอื่นที่ร้องขอการใช้งานโปรแกรม

โดยที่เครื่อง License Server สามารถจัดตั้งได้หลายรูปแบบ อาทิ

  • Local Area Network : จัดตั้งเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาในระบบ เครือข่ายภายใน (LAN) ขององค์กรธุรกิจ เครื่อง PC ที่ตั้งอยู่ในองค์กร สามารถเรียกใช้สิทธิ์โปรแกรมได้
  • Virtual Private Network : จัดตั้งเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาในระบบ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ขององค์กรธุรกิจ เครื่อง PC ที่ตั้งอยู่ในองค์กร สามารถเรียกใช้สิทธิ์โปรแกรมได้ และผู้ใช้งานยังสามารถเรียกใช้สิทธิ์โปรแกรม ให้กับเครื่อง PC ที่อยู่ในบ้านผ่าน VPN
  • Cloud-Based : เซิร์ฟเวอร์อยู่บนคลาวด์ ซึ่งเป็น การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) สามารถเรียกใช้สิทธิ์โปรแกรม ได้กับทั้งเครื่อง PC ที่อยู่ในองค์กรธุรกิจ และเครื่องที่อยู่ในบ้าน โดยที่เครื่อง PC ต้องสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อเข้าถึงสิทธิ์การใช้งาน

โปรแกรมที่มีรูปแบบลิขสิทธิ์ Floating License มักจะเป็นโปรแกรมราคาแพง สำหรับการใช้งานในธุรกิจ อาทิ โปรแกรมด้านงานออกแบบวิศวกรรม โปรแกรมกราฟิก 3 มิติ ทำอนิเมชัน 3 มิติ เป็นต้น

5. Node License
(สิทธิ์การใช้งานสำหรับเครื่อง PC ที่ช่วยในการประมวลผล)

สิทธิ์การใช้งานอีกหนึ่งรูปแบบที่น่าสนใจคือ Node License ที่มักจะพบเห็นในโปรแกรมที่ต้องใช้พลังในการประมวลผลสูง และการใช้พลังการประมวลผลของ PC หลายๆ เครื่องมาช่วยกัน จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น โดยเครื่อง PC ที่มาร่วมกันช่วยประมวลผล เราเรียกว่าเป็นเครื่อง Node (โหนด)

โปรแกรมประเภทที่มีขายสิทธิ์แบบ Node License ก็ได้แก่ โปรแกรมกราฟิก 3 มิติ ทำอนิเมชัน 3 มิติ ที่อาจจะมีการ ให้ฟรี หรือ แยกขาย ในส่วนของ Node License แยกออกจากลิขสิทธิ์การใช้งานของโปรแกรมตัวหลัก

ตัวอย่างเช่น โปรแกรม Chaos Corona Solo ที่เป็นโปรแกรมด้านงานกราฟิก 3 มิติ โดยที่ตัวโปรแกรมหลัก นั้นจำหน่ายในรูปแบบของ Subscription License (สิทธิ์การใช้งานแบบเช่าใช้) โดยมีการให้ฟรี Node License ไปจำนวน 1 สิทธิ์ สำหรับเครื่อง PC ประสิทธิภาพสูง ที่จะมาช่วยเรนเดอร์งานกราฟิก 3 มิติได้จำนวน 1 เครื่อง (การเรนเดอร์ เป็นกระบวนการสุดท้ายในการสร้างภาพ หรือฉากเคลื่อนไหวในรูปแบบ 3 มิติ)

หมายความว่าผู้ที่ซื้อ โปรแกรม Chaos Corona Solo จะได้สิทธิ์สำหรับการใช้งานโปรแกรมบน PC เครื่องหลัก 1 เครื่อง (Subscription License) และได้สิทธิ์สำหรับ PC เครื่อง Node ที่จะมาช่วยเรนเดอร์อีก 1 เครื่อง โดยที่ PC เครื่องหลัก และเครื่อง Node มักจะต้องอยู่ในระบบเครือข่ายเดียวกัน แต่ก็มีโปรแกรมบางตัว ที่เสนอบริการเรียกใช้ Node บนระบบคลาวด์

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://corona-renderer.com/prices-licensing/render-nodes

อย่างไรก็ดี หากต้องการให้งานเสร็จเร็วขึ้น ทางผู้พัฒนาโปรแกรมก็มีออปชันให้สามารถซื้อสิทธิ์แบบ Node License มาใช้งานเพิ่มเติมได้ อย่างเช่น การซื้อ Node License จำนวน 5 สิทธิ์ เราก็จะสามารถเพิ่มเครื่อง PC ประสิทธิภาพสูงที่จะมาช่วยเรนเดอร์งานได้อีก 5 เครื่อง

ตารางเปรียบเทียบ ความแตกต่างกันของ License ทั้ง 5 ประเภท
(License Types Comparison Table)

  Lifetime License Perpetual License Subscription License Floating
License
Node
License
การชำระเงิน ครั้งเดียว ครั้งเดียว รายเดือน/รายปี
(ตามเงื่อนไขสัญญา)
มักมีรูปแบบการชำระเงินแบบ
Subscription License
มักมีรูปแบบการชำระเงินแบบ
Subscription License
การอัปเกรด
เวอร์ชัน
ตลอดชีพ ตามเงื่อนไขของบริษัท ตลอดช่วงการต่อสัญญา ตลอดช่วงการต่อสัญญา ตลอดช่วงการต่อสัญญา
บริการ
หลังการขาย
ตลอดชีพ
หรือตามข้อตกลงของแต่ละบริษัท
ตามเงื่อนไขของบริษัท ตลอดช่วงการต่อสัญญา ตลอดช่วงการต่อสัญญา ตลอดช่วงการต่อสัญญา

ควรเลือกซื้อ License แบบไหนดี ?
(Which License types should we buy ?)

เนื่องจากว่าในปัจจุบันนี้ไม่นิยมการจำหน่ายซอฟต์แวร์แบบ Lifetime License แล้ว จึงยกมาเปรียบเทียบเฉพาะแค่ Perpetual License และ Subscription License เท่านั้น ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้เราก็จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์แบบ Subscription License กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะด้วยราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไปและการยกเลิกสัญญาได้ตามความสะดวกก็ทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งตัดสินใจชำระเงินได้ง่าย

นอกจากนี้ ทางบริษัทซอฟต์แวร์เองก็ชื่นชอบการจำหน่ายซอฟต์แวร์ในรูปแบบนี้เพราะมีสิทธิ์ที่จะได้เงินทั้งจากลูกค้าขาจรที่มักจะต่อสัญญาเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการใช้และยกเลิกสัญญาหลังจากใช้งานเสร็จ และจากลูกค้าขาประจำบางคนที่ทำการสมัครแบบหักเงินในบัตรเครดิตในทุกรอบบิลด้วย

แต่สำหรับองค์กรต่างๆ นั้นอาจนิยมซื้อซอฟต์แวร์แบบ Perpetual License ที่สามารถ โอนย้ายสิทธิ์การใช้งาน ให้กับพนักงานคนอื่นๆ ในองค์กรได้ เพราะ License แบบ Subscription นั้นไม่สามารถย้ายสิทธิ์ของผู้ใช้ได้ เนื่องจากมักจะผูกสิทธิ์การใช้งานเข้ากับอีเมลของผู้ใช้แต่ละคน

Lifetime License, Perpetual License, Subscription License, Floating License และ Node License ในซอฟต์แวร์คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://factumsoft.com/public/images/blog/20180620-SaaS-vs-Perpetual-License-955.png

ถึงแม้ว่าหากลองคำนวณเทียบระยะเวลาการใช้งานระยะยาวแล้วนั้น การซื้อ Perpetual License จะมีราคาที่ถูกกว่าการจ่ายเงินต่อสัญญา Subscription License ในระยะเวลาที่เท่ากัน แต่ Perpetual License นั้นก็มีค่าใช้จ่ายแฝงอย่างการอย่างการซื้ออัปเกรดเวอร์ชันใหม่ หรือการต่อสัญญาการบริการหลังการขายออกไปอีก ในขณะที่ Subscription License นั้นจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในระยะสัญญาแต่ละครั้งนั่นเอง

ในส่วนของลิขสิทธิ์แบบ Floating License มีเฉพาะในโปรแกรมราคาแพงบางประเภท และเหมาะมากสำหรับโปรแกรมที่จำเป็นต้องมีผู้ใช้งานอยู่จำนวนหนึ่งในธุรกิจ โดยที่ผู้ใช้งานสามารถพลัดเปลี่ยนกันเข้าใช้งานโปรแกรมได้ตามจำนวนสิทธิ์ที่มี ตัวอย่างเช่น มีพนักงานที่จำเป็นต้องใช้งานโปรแกรมจำนวน 10 คน แต่การซื้อลิขสิทธิ์แบบ Floating License จำนวนเพียง 5 สิทธิ์ก็อาจจะเพียงพอ โดยที่พนักงานสูงสุดจำนวน 5 คน จะสามารถเข้าใช้โปรแกรมได้พร้อมกันในแต่ละช่วงเวลา

ลิขสิทธิ์แบบ Floating License ยังยืดหยุ่นสำหรับการสลับใช้งานโปรแกรมระหว่าง บนเครื่อง PC ในสำนักงาน และบนเครื่อง PC ในบ้าน ทำให้เหมาะสำหรับคนที่ต้อง ทำงานจากที่บ้าน (Work form Home) แต่ก็แน่นอนว่าลิขสิทธิ์แบบ Floating License นั้นจะมีราคาสูงกว่า Fixed License ที่จำกัดการใช้งานอยู่เฉพาะเพียงบน PC เครื่องเดียว

ในส่วนรูปแบบลิขสิทธิ์แบบ Node License นั้นก็มีในเฉพาะโปรแกรมจำนวนน้อยที่ต้องการพลังการประมวลผลมหาศาล โดยหากต้องรันงานเรนเดอร์กราฟิก 3 มิติ หรือรันงานที่มีความซับซ้อนมาก แล้วต้องการให้ได้ผลลัพธ์เร็วขึ้น ก็พิจารณาเลือกซื้อ Node License ได้ตามจำนวนเครื่องที่ต้องการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเลือกซื้อ License แต่ละประเภทของผู้ใช้นั้นก็มักจะต้อง พิจารณาถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของราคา, ความคุ้มค่าในการใช้งาน รวมทั้งลักษณะประเภทของซอฟต์แวร์ร่วมด้วย ซึ่งหากผู้ใช้ประเมินแล้วว่าไม่ได้ใช้งานซอฟต์แวร์นั้นๆ บ่อยมากนักก็อาจมองหาซอฟต์แวร์ตัวอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและเป็น ฟรีแวร์ (Freeware) มาใช้เพื่อประหยัดเงินได้เช่นกัน


ที่มา : sciex.com , whatis.techtarget.com , www.sensrtrx.com , www.ecodocx.com , en.wikipedia.org , en.wikipedia.org

0 Lifetime%2C+Perpetual%2C+Subscription%2C+Floating+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+Node+License+%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
25 กรกฎาคม 2565 15:18:24
Profile Pictureสมาชิก : Member
Comment Bubble Triangle
-ขอ License ด้วยค่ะในเมลล์หาไม่เจอ จะลงทะเบียนค่ะซื้อไปแล้วนะค่ะ