ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

e-Withholding Tax คืออะไร ? ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?

e-Withholding Tax คืออะไร ? ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?
ภาพจาก : eakrin จาก freepik
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 17,290
เขียนโดย :
0 e-Withholding+Tax+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

e-Withholding Tax คืออะไร ?
ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?

การเป็นผู้ประกอบการ นอกจากต้องรับมือกับระบบภาษีหลายประเภทแล้ว หนึ่งในภาษีที่เป็นภาระอันหนักอึ้งที่สุด ก็คือ "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย" นั่นก็เพราะว่า จะต้องเผชิญกับเอกสารกองโต ต้องเสียค่าดำเนินการเอกสาร และต้องคอยยื่นแบบรายการให้กรมสรรพากรทุกเดือน และยังต้องจัดเก็บหลักฐานสำเนาที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อรอการยื่นตรวจสอบอีกครั้งในปลายปี ทุกอย่างนี้นอกจากจะทำให้ปวดหัวแล้ว ยังมีต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น 

บทความนี้ เราจะมาพูดถึง ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ "e-Withholding Tax" นวัตกรรมใหม่แกะกล่องจากกรมสรรพากรกัน ระบบนี้คืออะไร มีผลกระทบอย่างไรกับผู้ประกอบการและผู้เสียภาษี มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง และต้องควรศึกษาเอาไว้ 

เนื้อหาภายในบทความ

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) คืออะไร ? 

ก่อนจะพูดถึงเจ้าระบบ "e-Withholding Tax" คงมีหลายคนที่ไม่รู้จัก ว่า "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย" คืออะไร ว่า หักอย่างไร หักเมื่อไหร่ ใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วใครจ่าย ในส่วนนี้อาจยาวหน่อยแต่ใครที่รู้แล้วสามารถข้ามไปได้

ความหมาย

"ภาษีหัก ณ ที่จ่าย" ชื่อเต็มคือ "ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย" เป็น "เงิน" ที่ผู้ประกอบการต้อง "หัก" ไว้ก่อนจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้รับเงิน และเงินที่ "หัก" นั้นต้องถูกส่งให้ กรมสรรพากรไม่เกิน 7 วันของเดือนต่อไป ส่วนผู้รับเงินพอถูกหักไป ก็จะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน แต่จะได้หนังสือรับรองการ "หัก ณ ที่จ่าย" ซึ่งออกให้โดยผู้ประกอบการ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐาน ในการลดภาระผู้เสียภาษีเงินได้ช่วงปลายปี หรือ คนที่ถูกหักเงินส่วนนี้ไปแล้ว ก็สามารถขอคืนภาษีอากร กรณีเป็นผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไปแล้ว

ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

  1. ผู้ประกอบการ : เป็น ผู้จ่ายเงิน หรือ ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 
  2. คู่ค้าที่เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา หรือ ผู้ถูกว่าจ้าง : ผู้รับเงิน หรือ เป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย  
  3. กรมสรรพากร : มีหน้าที่เก็บภาษีเข้าระบบของรัฐ

อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

โดยหลักการ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะมีกำหนดอัตราไม่เท่ากัน ซึ่งจะแบ่งไปตามลักษณะของการว่าจ้าง หรือการทำธุรกรรมระหว่างผู้จ่ายเงิน และ ผู้รับเงิน เช่น

  • ค่าเช่า อาคาร บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง และอย่างอื่น หัก 5 %
  • ค่าจ้างอาชีพอิสระ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี หัก 3 %
  • ค่าโฆษณา หัก 2 %
  • ค่าขนส่ง หัก 1 %
  • และอื่นๆ 

ปัญหาที่พบได้ทั่วไปของ ผู้ประกอบการ

  • ต้องทำเอกสารแบบแสดงรายการ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย(ภ.ง.ด.3 / ภ.ง.ด.53) ส่งให้กรมสรรพากร ทุกเดือน
  • ต้องออกหนังสือรับรอง การหัก ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) ให้ผู้เสียภาษี เอง
  • ต้องเก็บสำเนาทั้งแบบแสดงรายการ หนังสือรับรอง เพื่อรอการตรวจสอบจาก กรมสรรพากรตอนยื่นภาษีปลายปี
  • หากมีรายการขาดหายไป ต้องยื่นต่อกรมสรรพากรใหม่

ปัญหาที่พบได้ทั่วไปของ ผู้เสียภาษี

  • เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอคืนภาษีอากร ประจำปี หาย
  • ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ประกอบการจ่ายภาษีให้ครบถ้วนหรือไม่

บทบาทสมมติ เล็กน้อย เพื่อทำความเข้าใจ

ยกตัวอย่าง "นาย อ" เป็นผู้ประกอบการ ต้องการซื้อโฆษณาสินค้าลงเว็บไซต์ของ "นาย ป" โดยตกลงราคา 100,000 บาท ก่อนจ่ายเงิน "นาย อ" มีหน้าที่หักเงิน ณ ที่จ่ายไป 2 % เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร ส่วน "นาย ป" ที่ถูกหักเงินไปก็จะได้รับเงินแค่ 98,000 บาท เพราะถูก "หัก ณ ที่จ่าย" ไปตามระเบียบ

ประเด็นคือนอกจาก "นาย อ" จะมีหน้าที่นำส่งเงินที่ถูกหักแล้ว ยังต้องทำเอกสารแบบแสดงรายการ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย(ภ.ง.ด.3 / ภ.ง.ด.53) ให้กรมสรรพากร พร้อมออกหนังสือรับรอง การหัก ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) ให้ "นาย ป" ซึ่งต้องทำสำเนาไว้หนึ่งฉบับ และเก็บตัวจริงไว้ เพื่อรอยื่นให้กรมสรรพากรอีกครั้ง นอกจากนี้ หากว่ากันตามตรง ธุรกิจหนึ่งธุรกิจ ก็ไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาเท่านั้น แต่ยังมีค่าบำรุงสำนักงาน ค่าขนส่ง และค่าอื่นๆ ซึ่งต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนทั้งนั้น ดังนั้นภาระของผู้ประกอบการก็จะทบไปตามขนาดธุรกิจ 

ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax จะช่วยผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร ?

ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เป็น วิธีการใหม่ในการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่าน "สถาบันการเงิน" ผู้ให้บริการระบบ แทนที่แต่เดิม ผู้ประกอบการ จะต้องยื่นแบบเป็นกระดาษหรือผ่านอินเทอร์เน็ต (e-Filing) พร้อมนำส่งภาษีตามแบบต่อกรมสรรพากร ก็สามารถดำเนินการทั้งหมด ผ่านสถาบันการเงินแทนได้ โดยไม่ต้องเขียนแบบใบหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องออกใบหลักฐานให้ผู้รับเงิน ทั้งสะดวกและง่ายกว่าเดิม

ซึ่งหลักฐานต่างๆ สถาบันการเงินจะเป็นผู้ออกแทนให้ และผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงแค่จ่ายเงินพร้อมยื่นข้อมูลรายการผ่านระบบเท่านั้น นอกจากนี้หนังสือหลักฐานรวมถึงใบเสร็จก็จะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่บนระบบ e-Withholding Tax ทั้งหมด ปัญหาที่ "ผู้จ่ายเงิน" และ "ผู้รับเงิน" กังวลว่าหลักฐานจะหายก็หมดไป และคุณยังสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์ของ กรมสรรพากร ได้อีกด้วยเช่นกัน

ลิงก์ตรวจสอบ

https://epayuat.rd.go.th/

e-Withholding Tax คืออะไร ? ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?

e-Withholding Tax แบ่งเป็น 2 ประเภท

  • ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการชำระค่าสินค้า หรือ บริการให้แก่ผู้ประกอบการ ในต่างประเทศ 

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax

  • ผู้ประกอบการ ผู้จ่ายเงิน หรือผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย 
  • สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการระบบ e-Witholding Tax
  • คู่ค้า หรือ ผู้ถูกว่าจ้าง คือ ผู้รับเงิน หรือ เป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย  
  • และกรมสรรพากร

ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์

e-Withholding Tax คืออะไร ? ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?

การใช้งานเว็บไซต์ เพื่อตรวจสอบหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายคุณสามารถสมัครใช้งานได้ด้วยรหัสทะเบียนผู้เสียภาษี ได้ทันที ซึ่งการที่เอกสารทั้งหมดอยู่บนระบบของกรมสรรพากรอยู่แล้ว ผู้ประกอบการ และผู้เสียภาษีก็เหมือนได้รับการรับรองจากกรมทันที การส่งแบบภาษีปลายปี ก็จะสะดวกและรวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

ขั้นตอนของระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax

เริ่มแรก ผู้ประกอบการต้องสมัครใช้บริการ e-Withholding Tax กับธนาคารผู้ให้บริการระบบก่อน ถามว่าสมัครอย่างไร ขณะนี้มีธนาคารเปิดให้บริการพร้อมอำนวยความสะดวกในการสมัครอยู่ 12 แห่ง ประกอบด้วย

  • ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขา กรุงเทพฯ
  • ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 
  • ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชัน
  • ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
  • ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร ธนชาต จํากัด (มหาชน)

e-Withholding Tax คืออะไร ? ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?

โดยกระบวนการของ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ e-Withholding Tax เมื่อมีการทำธุรกรรม หรือทำสัญญาว่าจ้างแล้วมีการจ่ายเงินปกติ ก็จะมีการทำผ่านธนาคาร ซึ่งทันทีที่ผู้ประกอบการได้รับใบแจ้งหนี้ กระบวนการต่อไป ก็จะเป็นดังต่อไปนี้ 

  1. ผู้ประกอบการต้องโอนเงินค่าจ้างพร้อมแจ้งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ธนาคาร ตามกฎหมาย
  2. เมื่อธนาคารได้รับเงินจะแจ้งยืนยันกลับไป พร้อมคำนวนค่าภาษีให้เสร็จสรรพ 
  3. ธนาคารออกหลักฐานการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) ให้ผู้ประกอบการ และผู้รับเงินเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
  4. จากนั้นธนาคารจะโอนเงินหลังหักภาษีให้ผู้รับเงิน และนำส่งภาษีที่หักไว้ พร้อมข้อมูลเอกสารให้กรมสรรพากร ภายใน 4 วันทำการ
  5. กรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ประกอบการ และการเสียภาษีก็เป็นอันสมบูรณ์
  6. กรณี การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไปบางรายการ ผู้ประกอบการสามารถส่งเพิ่มเติมทันทีได้ผ่านระบบง่ายๆ 

ทำไมผู้ประกอบการถึงควรใช้ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Witholding Tax ?

e-Withholding Tax คืออะไร ? ทำให้การยื่นภาษีของคุณเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร ?

การเปลี่ยนไปใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ e-Witholding Tax ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์หลายด้าน ในการจัดการภาษี ไม่ว่าจะเป็น

  • ลดขั้นตอนทำเอกสาร (ภ.ง.ด.3 / ภ.ง.ด.53) ลดกระบวนการยื่นแบบ กระบวนการเตรียมเอกสาร
  • ลดต้นทุนค่าเก็บเอกสารค่าส่ง ค่าทำเอกสาร
  • ลดการตรวจสอบของ กรมสรรพากร เพราะผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ จะได้รับการรับรองจากกรมทันที และ สามารถตรวจสอบเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนี้ การทำธุรกรรม หรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ผู้รับเงินยังได้รับสิทธิ์ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ได้อีก ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการมีการเข้าระบบอยู่ ผลพลอยได้ก็จะตกอยู่ที่ผู้เสียภาษีด้วยเช่นกัน 


0 e-Withholding+Tax+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น