ปัญหาคอมพิวเตอร์ช้านั้น (Computer Running Slow Problem) ไม่ว่ามันจะค่อย ๆ ช้าลงทีละนิด หรือช้าลงในทันที การที่เราต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ทำงานช้าเหมือนสลอธสามารถสร้างความหงุดหงิดให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ
อย่างไรก็ตาม ความช้านี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำงานของซอฟต์แวร์นี่แหละ หากเกิดจากสาเหตุนี้ (ไม่ใช่ปัญหาฮาร์ดแวร์) เราก็สามารถแก้ไขมันได้โดยไม่ยากนัก จะมีวิธีการอย่างไร เชิญทัศนาต่อได้เลยครับ
ตอนซื้อคอมพิวเตอร์มาใหม่ ๆ เปิดเครื่องไม่นาน ก็เข้าระบบพร้อมใช้งานได้แล้ว แต่พอใช้ไปเป็นเวลานาน เริ่มรู้สึกเครื่องอืด รอนานมากกว่าจะเริ่มงานได้ ปัญหานี้เกิดจากการที่เราติดตั้ง ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ หรือ แอปพลิเคชันบุคคุลที่สาม (3rd-Party Software or Application) ลงในระบบ ยิ่งมีในเครื่องเยอะเท่าไหร่ โอกาสที่เครื่องจะช้าลงก็มากเท่านั้น
สาเหตุก็มาจากซอฟต์แวร์เหล่านี้มักจะเริ่มทำงานอัตโนมัติทันทีที่เราเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้พร้อมใช้งานทันที แต่ปัญหา คือ เราไม่ได้ใช้งานมันบ่อยขนาดนั้น ดังนั้น อะไรที่ไม่ใช้ ก็ปิดมันทิ้งไปดีกว่า จะได้ประหยัดทรัพยากรของระบบ
วิธีแก้ไข คือ ให้เราคลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วเลือก "เมนู Task Manager" ไปที่ "แท็บ Startup" เพื่อตรวจสอบรายชื่อซอฟต์แวร์ที่ถูกเปิดใช้งาน (Enabled) ในขณะบูตเครื่อง เอาไว้อยู่ ตัวไหนไม่ใช้ ให้เราคลิกขวา แล้วเลือก "เมนู Disable" ไปครับ
ปัญหานี้ มีเหตุผลเช่นเดียวกับแอปพลิเคชันที่อยู่ใน Startup (ข้อแรก) นอกจากมันจะพยายามเริ่มทำงานอัตโนมัติทันทีที่เปิดเครื่องแล้ว มันยังสามารถทำงานอยู่ในเบื้องหลังได้อีกด้วย ซึ่งทำให้เราระบบต้องเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์
วิธีแก้ไข คือ ให้เราคลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วเลือก "เมนู Task Manager" ไปที่ "แท็บ Processes" ตรวจสอบรายชื่อซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่ในโปรเซสที่อยู่เบื้องหลัง (Background Process) ว่าตัวไหนไม่ใช้ ให้เราคลิกขวา แล้วเลือก "เมนู End Task" ไปครับ
มัลแวร์นอกจากจะมีมมีอันตรายต่อระบบคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว มันยังสามารถทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณทำงานได้ช้าลงได้อีกด้วย และเนื่องจากมันพยายามซ่อนตัวจากผู้ใช้ เราอาจจะไม่เจอสิ่งปกติเลยในระหว่างการใช้งานคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากมัลแวร์ก็จัดเป็นซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่ง การทำงานของมันจึงต้องใช้ทรัพยากรในระบบด้วยเช่นกัน
ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะติดมัลแวร์จากการเข้าเว็บอันตราย หรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้งาน ซึ่งสามารถป้องกันตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จากผู้พัฒนาโดยตรง หรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าคอมพิวเตอร์ของตนเองติดมัลแวร์แล้วหรือยัง สามารถหาซื้อโปรแกรมแอนตี้ไวรัสมาใช้ หรือใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วในระบบปฏิบัติการ Windows ก็ได้ โดยเราสามารถเรียกใช้งานมันได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ให้เรากด "ปุ่ม Windows + i" เพื่อเปิดหน้าต่างการตั้งค่า (Settings) ครับ แล้วคลิกที่ "เมนู Update & Security" แล้วหลังจากนั้น เราก็จะเข้าสู่หน้า Windows Update ให้มองที่แผงเมนูด้านซ้าย คลิกเลือก "เมนู Windows Security" แล้วคลิก "เมนู Virus & Threat Protection"
คลิก "เมนู Scan Options" แล้วเลือกที่ "ตัวเลือก Full Scan" แล้วตามด้วยกด "ปุ่ม Scan Now" เพื่อเริ่มทำการสแกน
การอัปเดตซอฟต์แวร์ เปรียบเป็นเสมือนดาบสองคม เพราะถ้าหากเป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้พัฒนามีความเอาใจใส่ ก็จะปล่อยตัวอัปเดตออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของซอฟต์แวร์ให้ดียิ่งขึ้น แถมอาจจะยังช่วยกินทรัพยากรน้อยลงอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม หากในการอัปเดตซอฟต์แวร์นั้นมีการเพิ่มคุณสมบัติใหม่ ๆ เข้ามา ก็มีโอกาสที่ซอฟต์แวร์จะมีการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมดเพื่อรองรับการทำงานของลูกเล่นใหม่ ซึ่งความต้องการของระบบก็อาจจะสูงขึ้นมากตามไปด้วย ถ้าคอมพิวเตอร์ของคุณไม่แรงพอ ก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกว่าซอฟต์แวร์ทำงานได้ช้าลง ตัวอย่างเช่น ในยุคที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows XP การมีคอมพิวเตอร์ ที่มีแรมเพียง 4 GB. ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว แต่ว่าในยุค Windows 10 อย่างน้อยก็ควรจะมีแรมสัก 8 GB. หรือ 16 GB. เป็นต้น
ภาพจาก https://www.dpreview.com/news/1386351455/adobe-launches-redesigned-creative-cloud-desktop-app-with-search-libraries-and-more
ซอฟต์แวร์บางตัวเราเคยติดตั้งใช้งานเมื่อนานมาแล้ว จนเราลืมมันไป บางตัวอาจจะเป็นเดโมทดลองใช้ที่หมดอายุ บางตัวอาจจะเป็นเกมที่เล่นจบไปแล้ว ฯลฯ การดองซอฟต์แวร์เหล่านี้เอาไว้ในระบบ นอกจากจะเสียพื้นที่หน่วยความจำไปโดยไร้ประโยชน์แล้ว ยังทำให้ระบบช้าลงอีกด้วย ดังนั้นอะไรไม่ใช้ก็มาลบมันกันเถอะ
โดยให้เราคลิกที่ "ปุ่ม Start" พิมพ์เพื่อค้นหาว่า "Control Panel" (จริง ๆ พิมพ์ลงไปแค่ตัวอักษร "c" ตัวเดียวก็น่าจะขึ้นมาเป็นอันดับแรกแล้วล่ะ) แล้วหลังจากนั้นให้คลิกเข้าไปที่ "เมนู Programs and Features"
เมื่อเข้าไปแล้ว ให้ลองไล่ดูว่ามีซอฟต์แวร์ตัวไหนที่มีอยู่ในเครื่องแล้วไม่ได้ใช้งาน ตัวไหนที่ไม่ใช้ ให้เราคลิกขวาที่ชื่อซอฟต์แวร์แล้ว "เลือก Uninstall"
ถ้าคิดไม่ออกว่าลบตัวไหนดี แนะนำให้คลิกที่ "เมนู Installed On" เพื่อเรียงซอฟต์แวร์ตามลำดับวันที่ติดตั้งครับ ตัวไหนติดตั้งมานานหลายปีแล้ว แล้วเราไม่ได้เปิดมันใช้งานมานานมาก ก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่จะลบมันทิ้งซะ
ลองจินตนาการว่าฮาร์ดไดร์ฟเป็นเหมือนตู้เสื้อผ้า หรือลิ้นชัก ถ้าเราใส่เก็บของเอาไว้เพียบจนเต็มพื้นที่ เวลาเราจะใช้งานมันก็จะค่อนข้างลำบาก อยากใช้อะไรก็มองไม่เห็นว่ามันอยู่ตรงไหน ต้องมาเสียเวลารื้อของออกมากอง หาเจอแล้วก็ต้องเสียเวลาเก็บของกลับเข้าไปใหม่อีก
การทำงานของคอมพิวเตอร์ก็จะคล้ายคลึงกัน สำหรับ ระบบปฏิบัติการ Windows และซอฟต์แวร์ต้องการ พื้นที่ว่างบนฮาร์ดไดร์ฟจำนวนหนึ่งเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างลื่นไหล ดังนั้น ถ้าหากพื้นที่ในไดร์ฟเหลือน้อยเกินไปก็ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ช้าลงเช่นกัน
ใครที่เคยใช้งานฮาร์ดไดร์ฟจนพื้นที่เต็มเกือบ 100% น่าจะเคยเจอแจ้งเตือนประมาณว่า "There is not enough space available on the disk(s) to complete this operation" สาเหตุก็มาจากพื้นที่ในฮาร์ดดิสก์เหลือน้อยเกินไปนั่นเอง
ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=XVznEhKJilU
สำหรับฮาร์ดดิสก์ จะสามารถทำงานด้วยความเร็วเต็มที่เมื่อมีพื้นที่ในไดร์ฟเหลืออย่างน้อย 10% แต่ถ้าเป็น SSD (Solid-State Drive) คืออะไร ? ควรมีพื้นที่ในไดร์ฟเหลืออย่างน้อย 25% เพื่อความอุ่นใจ
วิธีการกู้คืนพื้นที่ในไดร์ฟให้กลับมา
ในระบบปฏิบัติการ Windows เขาได้มีตัวเลือกการจัดการพลังงาน (Power Options) มาให้เราเลือกอยู่ทั้งหมด 4 แบบ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
ไม่แน่ว่าคอมพิวเตอร์คุณอาจจะทำงานช้าเพราะอยู่ในโหมด Power Saver (ประหยัดพลังงาน) อยู่ก็ได้นะ เพราะการเลือกโหมดนี้ ก็จะมีส่วนทำให้คอมพิวเตอร์เราทำงานช้าลงได้เหมือนกัน
ดังนั้นให้เราเข้าไปตั้งค่าแผนการใช้พลังงานใหม่ด้วยการคลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วเลือก "เมนู Power Options" จากนั้นก็คลิกที่ "เมนู Additional Power Settings"
หน้าต่าง Power Options ก็จะถูกเปิดขึ้นมา เราจะเห็นมีแผนให้เลือกใช้งานอยู่ 4 แผน คือ Balanced, Power Saver, High Performance และ Ultimate Performance ก็เลือกใช้ตามที่เราต้องการ (อ่านความแตกต่างของแต่ละโหมดได้ที่ลิงก์นี้)
ในกรณีที่ในระบบไม่มี High Performance และ Ultimate Performanc ให้เลือกใช้งาน ให้อ่านวิธีแก้ปัญหาได้ที่ลิงก์นี้ : https://tips.thaiware.com/1566.html
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดดิสก์ (Harddisk หรือ Hard Disk Drive) นั้น จะใช้จานแม่เหล็กในการเก็บข้อมูล ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้จะกระจายไปหลายส่วนบนแผ่นจาน ซึ่งการทำ Defragment จะเป็นการนำข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่นั้น มาเรียงจัดกลุ่มให้เป็นระเบียบ อยู่ด้วยกัน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการอ่านเขียนไฟล์ดีขึ้น เพราะข้อมูลอยู่ใกล้กัน หัวอ่าน/เขียนข้อมูล (Read / Write Head) จะได้ไม่ต้องเคลื่อนที่ไกล (เสียเวลามากขึ้น)
หมายเหตุ : หัวข้อนี้เฉพาะผู้ใช้ HDD เท่านั้นนะครับ ใครใช้ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ SSD ข้ามข้อนี้ไปเลยไม่ต้องทำนะครับ
โดยปกติแล้ว ตัวระบบปฏิบัติการ Windows จะมีการทำ Defragment ให้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยค่าเริ่มต้น คือ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าอยู่ ๆ คอมพิวเตอร์เกิดทำงานช้ากะทันหัน อยากจะลองทำ Defragment ดู เผื่ออาการจะดีขึ้น ก็สามารถทำได้นะ
โดยให้เรา "คลิกขวาที่ไดร์ฟที่ต้องการทำ" แล้วเลือก "เมนู Properties"
ไปที่ "แท็บ Tools" แล้วคลิก "ปุ่ม Optimize" เลือกไดร์ฟที่ต้องการแล้วคลิกที่ "ปุ่ม Optimize" อีกครั้งครับ หากไม่เคยทำมาก่อนเลย ในการทำครั้งแรกจะใช้เวลาค่อนข้างนานนะ แต่ถ้าทำเป็นประจำอยู่แล้ว ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่นาน
หาก CPU มีความร้อนสูง จนเกินไป ระบบจะสั่งให้ CPU ลดความเร็วในการทำงานลงเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไปจนสร้างความเสียหายได้ ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ช้าลงอย่างชัดเจน
การแก้ปัญหานี้ทำได้หลายแนวทาง ถ้าหากห้องที่เราใช้งานคอมพิวเตอร์ค่อนข้างร้อนอยู่แล้ว การใช้ระบบระบายความร้อนด้วยพัดลมอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำแทน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : พัดลม Heatsink หรือ ชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ แบบไหนระบายความร้อนคอมพิวเตอร์ ได้ดีกว่ากัน ?
หรือถ้าหากห้องไม่ได้ร้อนมาก เราก็อาจวิเคราะห์ดูว่าการจัดการ Airflow กระแสลมระบายความร้อนภายในเคสคอมพิวเตอร์ของเราทำได้ดีพอหรือยัง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการ Airflow ได้ที่นี่ https://tips.thaiware.com/1250.html
อีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนมักมองข้ามไป คือ ซิลิโคนที่ทา CPU เสื่อม ใครที่ไม่เคยประกอบคอมพิวเตอร์เองอาจจะไม่รู้ว่าเวลาที่ประกอบ CPU เข้ากับ Heatsink จะมีการทาซิลิโคนเพื่อช่วยในการนำพาความร้อนด้วย ซิลิโคนนี้พอใช้ไปนาน ๆ ก็จะเสื่อมสภาพลง เราก็ต้องไปซื้อซิลิโคนมาทาใหม่นะครับ (หลอดหนึ่งไม่กี่ร้อย หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทั่วไปเลย)
ภาพจาก https://www.thermaltake.com/tg-30-thermal-compound.html
สุดท้ายแล้ว ปัญหาที่ทำให้คอมพิวเตอร์คุณช้าอาจไม่ได้เกิดจากความผิดปกติอะไรเลย แค่มันเก่าจนไม่สามารถรับมือกับความต้องการที่สูงขึ้นของซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุดได้เท่านั้นเอง
ทางออกของปัญหานี้ ก็มีแค่สองทาง คือ จ่ายเงินอัปเกรดฮาร์ดแวร์ หรือไม่ก็ลบซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ทิ้งไป แล้วหาเวอร์ชันเก่าที่ใช้ทรัพยากรในการทำงานต่ำกว่ามาติดตั้งแทน แต่เราไม่ค่อยแนะนำกับวิธีนี้เท่าไหร่นะครับ เพราะนอกจากเรื่องคุณสมบัติการทำงานแล้ว ซอฟต์แวร์ใหม่อาจจะปิดช่องโหว่อันตรายที่มีในเวอร์ชันเก่าให้ด้วย
และทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ทำงานช้าที่เรารวบรวมมาฝากครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |