ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

On-Premise กับ On-Cloud คืออะไร ? ระบบเซิร์ฟเวอร์ ทั้ง 2 ต่างกันอย่างไร ?

On-Premise กับ On-Cloud คืออะไร ? ระบบเซิร์ฟเวอร์ ทั้ง 2 ต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 26,175
เขียนโดย :
0 On-Premise+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+On-Cloud+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87+2+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

On-Premise กับ On-Cloud คืออะไร ? ระบบเซิร์ฟเวอร์ ทั้ง 2 ต่างกันอย่างไร ?

การวางระบบแม่ข่าย หรือ เซิร์ฟเวอร์ (Server) ของบริษัทนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับ เครื่องเซิร์ฟเวอร์เก็บไฟล์ (Files Server) ที่ช่วยในการจัดเก็บเอกสาร และข้อมูลสำคัญ ๆ ของบริษัทเอาไว้บน Server กลางที่ช่วยให้พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลร่วมกันได้ อีกทั้งยังสามารถเสริมความปลอดภัยของข้อมูลไม่ให้รั่วไหลไปสู่ภายนอกได้อีกต่างหาก ซึ่งการวางระบบ Server นั้นก็มีให้เลือกใช้งานด้วยกัน 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ ระบบ Server แบบ On-Premise และระบบ Server แบบ On-Cloud

บทความเกี่ยวกับ Cloud Computing อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

ระบบ Server แบบ On-Premise และระบบ Server แบบ On-cloud
ภาพจาก : https://www.integrate.io/blog/cloud-vs-onpremise/

ระบบ Server แบบ On-Premise คืออะไร ?

On-Premise เป็นระบบ Server รูปแบบดั้งเดิมที่มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ Server ไว้ในบริษัทที่ช่วยให้พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ส่วนกลางได้ โดยทางบริษัทสามารถที่จะเลือกใช้งาน และจัดสเปคของ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และ ซอฟต์แวร์ (Software) ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ระบบปฏิบัติการ (Operating System), อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Device), เครือข่ายภายใน (Intranet), ระบบจำลองเครื่องเสมือน Virtual Machine, เครื่องกลาง (Middleware), เวลาการใช้งานระบบ (Runtime), ข้อมูล (Data) และแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ (Application or Software) ภายในบริษัทเองก็สามารถออกแบบเองได้อย่างเต็มที่

ตู้ Server ของระบบ On-Premise
ภาพจาก : https://usersnap.com/blog/wp-content/uploads/2015/12/cloud-vs-on-premise-hosting-saas.jpg

จะเห็นได้ว่าการวางระบบ Server แบบ On-Premise นั้น ทางบริษัทจะต้องเป็นผู้จัดการดูแล "ทุกอย่าง" ด้วยตนเอง จึงทำให้การวางระบบในรูปแบบนี้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมค่อนข้างสูง เพราะทางบริษัทจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งการดูแลอัปเกรดอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์, การลงระบบซอฟต์แวร์ และการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลในระบบ อีกทั้งยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาดูแลระบบทั้งหมดอีกด้วย

ข้อดี และข้อสังเกต ของระบบ Server แบบ On-Premise (Pros and Cons of  On-Premise Server)

ข้อดี

  • ไม่จำเป็นต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงไฟล์ต่าง ๆ 
  • ข้อมูลถูกเก็บเป็นความลับภายในองค์กรเท่านั้น
  • สามารถจัดการโครงสร้าง Server ภายในได้ในทุกภาคส่วน

ข้อสังเกต

  • ค่าใช้จ่ายโดยรวมสูง ต้องดูแลฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ด้วยตนเองทั้งหมด
  • จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้าน IT ในการดูแลระบบ
  • ปรับเพิ่ม - ลดขนาดของ Server ได้ยาก ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดเท่านั้น
  • มีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหายสูง เพราะข้อมูลถูกเก็บไว้บนฮาร์ดแวร์ของบริษัทเท่านั้น หากเครื่อง Server ติดไวรัสก็อาจทำให้ข้อมูลสูญหายได้

 

ระบบ Server แบบ On-Cloud คืออะไร ?

ระบบ Server แบบ On-Cloud หรือ การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) เป็นบริการ Server ที่ให้บริการโดย "บริษัทอื่น" ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ เพราะทางบริษัทสามารถเช่าใช้งานเครื่อง Server ของผู้ให้บริการ Cloud ในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลได้จากระยะไกล (Remote) แบบออนไลน์

ข้อมูลเพิ่มเติม : Cloud Computing คืออะไร ? มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ? และ มีข้อดีข้อเสีย อย่างไร ?

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จาก "ทุกที่ ทุกเวลา" ที่มี อินเทอร์เน็ต (Internet) ดังนั้นการใช้งาน Server รูปแบบนี้จึงได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน เพราะหากเทียบกับการใช้งานระบบ On-Premise ที่ต้องดูแลทุกอย่างด้วยตนเองแล้ว การทำงานของระบบ Cloud นั้นช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยบริการ Server แบบ On-Cloud นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานทั้ง IaaS, PaaS, SaaS และ DaaS ที่มีความแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบการให้บริการ ดังต่อไปนี้

IaaS คืออะไร ?

IaaS (Infrastructure as a Service) เป็นบริการ Cloud Computing ที่ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกปรับแต่งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของระบบได้ตามต้องการ เช่น หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยความจำหลัก (RAM), อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage), เครือข่าย Network, Bandwidth หรือ Hosting Server โดยทางผู้ให้บริการ IaaS จะเป็นเจ้าของเครื่อง Server ที่สามารถเลือกเช่าใช้ได้ตามสะดวก ซึ่งผู้ใช้บริการก็จะต้องเป็นผู้ลงระบบปฏิบัติการ, ซอฟต์แวร์ และพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ขึ้นบน Virtual Machine ด้วยตนเอง รวมถึงต้องเป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลระบบหลังบ้านด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม : IaaS คืออะไร ? รู้จักบริการเช่าโครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์ ว่าเป็นอย่างไร ?

ระบบ Cloud แบบ IaaS
ภาพจาก : https://financesonline.com/what-is-iaas/

โดยบริการ Cloud รูปแบบนี้นั้นจะมีการจัดเก็บข้อมูลบน Server ของ IaaS ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลผ่าน Dashboard หรือ APIs บนเครื่องจำลอง (Virtual Machine) ได้อย่างอิสระ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเองแต่อย่างใด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการซ่อมบำรุงและดูแลฮาร์ดแวร์ไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

บริการ IaaS สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการทำ เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application), ประมวลผล Big Data, รัน CRM (Customer Relationship Management), จัดเก็บข้อมูล, Backup, สร้างแผนกู้คืนข้อมูล (Disaster Recovery) หรือบริการอื่น ๆ ตามความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการ IaaS

ตัวอย่างบริการ IaaS

  • Amazon Elastic Compute Cloud (EC2)
  • Cisco Metacloud
  • DigitalOcean
  • Google Compute Engine
  • Hortonworks Data Platform
  • Rackspace

ตัวอย่างระบบ Cloud แบบ IaaS
ภาพจาก : https://static.javatpoint.com/cloudpages/images/iaas2.png

PaaS คืออะไร ?

PaaS (Platform as a Service) เป็นบริการบนคลาวด์ (Cloud Service) อีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้สมัครใช้บริการสามารถที่จะ "ยืม" ใช้งานเครื่องมือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างแอปพลิเคชันเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากเป็นบริการบนอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องของการจัดเก็บและจัดการข้อมูล รวมไปถึงการอัปเดตความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เพราะทางผู้ให้บริการ PaaS จะเป็นผู้ให้การดูแลในส่วนนี้ ผู้ใช้บริการ PaaS จึงสามารถมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาตัวแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ของตนเองได้อย่างเต็มที่

ข้อมูลเพิ่มเติม : PaaS คืออะไร ? รู้จักแพลตฟอร์มเพื่อผู้พัฒนา ให้สร้าง ทดสอบ จัดการแอปฯ บนคลาวด์

ระบบ Cloud แบบ PaaS
ภาพจาก : https://arrowtheme.com/iaas-vs-paas-vs-saas-what-are-differences/

โดยส่วนมากแล้วผู้ใช้บริการ PaaS มักเป็น Developer ที่ต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันเป็นของตนเองแต่ต้องการเครื่องมือช่วยทุ่นแรง เพราะผู้ให้บริการ PaaS จะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถยืมใช้งาน Framework และเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมเพื่อนำเอามาปรับแต่งและสร้างเป็นแอปพลิเคชันของตนเองได้ แต่ยังต้องใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคอยู่บ้าง บางครั้งอาจพบบริการ PaaS ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มของ IaaS เพื่อลดความจำเป็นในการดูแลระบบลง

ตัวอย่างบริการ PaaS

  • AWS (Amazon Web Services)
  • Apprenda
  • Github
  • Google App Engine
  • Heroku
  • Red Hat Openshift
  • Microsoft Azure
  • VMware

ตัวอย่างระบบ Cloud แบบ PaaS
ภาพจาก : https://static.javatpoint.com/cloudpages/images/paas2.png

SaaS คืออะไร ?

SaaS (Software as a Service) เป็นบริการที่น่าจะคุ้นหูคุ้นตากันมากที่สุด เนื่องจากเป็นบริการ Cloud แบบสำเร็จรูปแบบพร้อมใช้งานที่ผู้ให้บริการเป็นผู้ดูแลโครงสร้าง และแพลตฟอร์มทั้งหมดของบริการ Cloud ทำให้ผู้ใช้ทั่วไป และองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่เชี่ยวชาญก็สามารถใช้งานได้อย่างง่าย ๆ เพียงแค่สมัครบัญชีขึ้นมา และสมัครใช้บริการก็สามารถใช้งานระบบ Cloud ได้ทันที (บางครั้งอาจพบว่าระบบ SaaS รันบน PaaS อีกทีหนึ่งด้วย)

ข้อมูลเพิ่มเติม : SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

ระบบ Cloud แบบ SaaS
ภาพจาก : https://dev.to/caffiendkitten/iaas-paas-saas-982

โดยระบบของ SaaS จะมีการทำงานบนอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้สามารถเข้าถึงบริการได้จากทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดหรือติดตั้งแอปพลิเคชันก็สามารถใช้งานได้ผ่าน  โปรแกรมเปิดเว็บ หรือ เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) เพราะมันทำงานในรูปแบบของ เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application หรือ Web App) แต่บางบริการก็มีซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันให้สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งด้วยตัวเองบนเครื่องได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ เป็นบริการที่ช่วยทำให้ประหยัดเวลา และกำลังคนในการพัฒนาระบบไปได้ค่อนข้างมากทีเดียว

ตัวอย่างบริการ SaaS

  • Adobe Creative Cloud
  • DocuSign
  • Dropbox
  • Google Apps
  • Microsoft 365
  • Paypal
  • Slack

ตัวอย่างระบบ Cloud แบบ SaaS
ภาพจาก : https://www.coderus.com/wp-content/uploads/2020/10/examples-of-software-as-a-service-saas-by-coderus.jpg

DaaS คืออะไร ?

DaaS (Desktop as a Service) นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "Cloud PC" เป็นระบบ Cloud Computing ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อผู้ใช้งานแบบ End User โดยเฉพาะ โดยผู้ใช้จะสามารถเช่าใช้งาน Virtual Machine ที่มี "สเปค" สูงกว่าเครื่องฮาร์ดแวร์ที่เรากำลังใช้งานอยู่ได้ โดยสามารถปรับแต่ง และเลือกใช้งานได้ทั้ง CPU, RAM, Storage, ระบบปฏิบัติการ และสเปคอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ

ข้อมูลเพิ่มเติม : DaaS คืออะไร ? รู้จักบริการที่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึง เดสก์ท็อปเสมือน ได้จากทุกที่

ระบบ Cloud แบบ DaaS
ภาพจาก : https://www.acecloudhosting.com/blog/best-daas-providers/

ตัวอย่างบริการ DaaS

  • Amazon Workspaces
  • Citix Managed Desktops
  • Cloudize DaaS
  • DinCloud Din Workspace
  • Elove IP Workspaces
  • Microsoft Windows Virtual Desktop
  • Microsoft 365
  • VMware Horizon Cloud

ตัวอย่างบริการ DaaS
ภาพจาก : https://searchvirtualdesktop.techtarget.com/definition/desktop-as-a-service-DaaS

ความแตกต่างของบริการ On Premise และ On-Cloud คืออะไร ?

ข้อแตกต่างหลัก ๆ ของบริการ On-Premise และ On-Cloud นั้นจะอยู่ที่ "Hardware" เป็นหลัก เพราะในขณะที่บริการ On-Premise ทางบริษัทจะต้องเป็นผู้จัดการ และดูแลอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ด้วยตนเองแล้ว บริการ On-Cloud นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีฮาร์ดแวร์หลักเป็นของตัวเองแต่อย่างใด

เปรียบเทียบความต่างของบริการ On Premise, On-cloud
ภาพจาก : https://www.stackscale.com/blog/cloud-service-models/

หรือจะเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ แล้วการใช้งานบริการ SaaS ก็คล้ายกับการรับประทานอาหารนอกบ้านที่ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร มีเพียงแค่เงินก็สามารถเลือกอาหารที่ถูกใจได้ แต่อาจมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถกำหนดวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร และปริมาณอาหารได้, บริการ PaaS ก็คล้ายกับการกดสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านที่ต้องมีพื้นที่ในการนั่งรับประทานอาหารภายในบ้าน, บริการ IaaS ก็คล้ายกับการซื้อวัตถุดิบสำเร็จรูปมาปรุงอาหารที่บ้าน ส่วน On Premise ก็เป็นการเลือกซื้อวัตถุดิบ และปรุงอาหารด้วยตัวเองในทุกขั้นตอน ในขณะที่ DaaS ก็เหมือนกับการ "ยืมครัว" ใช้งานในการทำอาหารต่าง ๆ นั่นเอง

สไลด์รูปภาพ

 เปรียบเทียบความต่างของบริการ On Premise, On-cloudเปรียบเทียบความต่างของบริการ On Premise, On-cloud

ภาพจาก : https://www.bigcommerce.com/blog/saas-vs-paas-vs-iaas/#executive-summary-summing-up-saas-vs-paas-vs-iaas และ shorturl.at/lyD08


ที่มา : www.bmc.com , archerpoint.com , www.bigcommerce.com , www.jamesserra.com , byobi.wordpress.com , blog.hubspot.com , www.morefield.com , www.stackscale.com , www.cloud-ace.sg , www.vmware.com , searchvirtualdesktop.techtarget.com

0 On-Premise+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+On-Cloud+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87+2+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น