สำหรับใครที่อยู่ในวงการเกมก็อาจเคยได้ยินคำว่า Virtual Economy ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว ยิ่งในช่วงหลังมานี้ที่ NFT (Non-Fungible Token) เข้ามามีบทบาทในวงการเกมด้วยก็ทำให้การเติบโตและการขยายขอบเขตของ Virtual Economy นั้นเติบโตมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่บางคนอาจยังไม่ทราบว่า Virtual Economy นั้นคืออะไรกันแน่ และมีความสำคัญอย่างไรกับเศรษฐกิจโลกบ้าง
Virtual Economy (ระบบเศรษฐกิจบนโลกเสมือน) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Synthetic Economy (ระบบเศรษฐกิจสังเคราะห์) นั้น หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ที่ไม่สามารถจับต้องได้จริง โดยหากจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คงเป็นการ “เติมเกม” เพื่อซื้อไอเทม, ตัวละครใหม่ หรืออัพสกิลและเพิ่มโอกาสการกดกาชาเกมต่าง ๆ เพราะการที่เรานำเอาเงินในโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปซื้อไอเทมในเกมนั้นถือว่าได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Virtual Economy แล้ว
ภาพจาก : https://atelier.net/virtual-economy/
แต่ Virtual Economy นี้ก็ไม่ได้นับแค่เฉพาะเม็ดเงินที่เราอัดฉีดเข้าไปสู่บริษัทผู้ผลิตเกมอย่างการเติมเกมเท่านั้น เพราะมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่สามารถหาเงินจริง ๆ ได้จากระบบ Virtual Economy ด้วยเช่นกัน อย่างการที่ผู้เล่นซื้อขายไอเทมระหว่างกันภายในเกมโดยการใช้เงินจริงเป็นสื่อกลาง หรือการที่ NFT เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการเกมที่ทำให้มัน “พิเศษ” จากการมี Token ของไอเทมหรือตัวละครในเกมเป็นของเราเพียงผู้เดียวนั้นก็ดึงดูดความสนใจของผู้เล่นหลาย ๆ คนให้เข้ามาในระบบ Virtual Economy ไม่น้อยเลยทีเดียว
และตลาดของ Virtual Economy ที่ใหญ่ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นในเกมประเภท MMORPGs (Massively Multiplayer Online Role-Playing Games) เช่น EverQuest, Dark Age of Camelot, World of Warcraft หรือ EVE Online ที่มีการซื้อขายไอเทมหรือตัวละครต่าง ๆ กันอยู่เสมอ แต่เกมประเภท Life Simulation อย่าง The Sims Online หรือ Second Life เองก็ทำรายได้ไปไม่น้อยเช่นเดียวกัน
การที่จะนับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Virtual Economy นั้นสามารถวัดได้โดยการสังเกต 5 หลักนี้ ได้แก่
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าตลาดของ Virtual Economy มักจะอยู่คู่กับเกมประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะเกมแบบ MMORPGs ที่ผู้ใช้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเทม, ไอดีเกม หรือจ้างให้ผู้อื่นมาปั๊มเลเวลแทนตัวเองก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสื่อกลางที่มักใช้แลกเปลี่ยนกันก็ได้แก่ “เงิน” ทั้งเงินในเกมและเงินจริง ๆ ภายนอกเกม หรือการแลกเปลี่ยนไอเทมกันระหว่างผู้เล่น และการ “เติมเกม” เข้าบริษัทผู้พัฒนาเกมโดยตรงเพื่อซื้อไอเทมหรือตัวละครใหม่ ๆ ก็ช่วยให้ Virtual Economy สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ส่วนตัวอย่างเกมที่มี NFT เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้แก่ Cryptokitties ที่ผู้ใช้จะต้องเอาเงินจริง ๆ ไปเทรดเป็นสกุล ETH (Cryptocurrency ของทาง Ethereum) เสียก่อน จึงจะสามารถ “รับเลี้ยง” แมว NFT ได้ ซึ่งเจ้าแมวเหล่านี้ก็มีมูลค่าแตกต่างกันออกไปตามที่ผู้ใช้แต่ละคนตั้งราคา และหากเรารู้สึกถูกใจแมวตัวไหนก็สามารถติดต่อกับเจ้าของแมวเพื่อ “ขอซื้อ Token” แมวตัวนั้น ๆ ต่อจากเจ้าของเก่าและกลายเป็นเจ้าของคนใหม่ของเจ้าแมวตัวนั้นได้ โดยแมวตัวผู้ก็จะนับได้ว่าเป็นพ่อพันธุ์ของแมวรุ่นต่อไป และหากมีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่หลากหลายก็มีโอกาสที่จะคลอดลูกแมวหน้าตาใหม่ ๆ ที่สามารถตั้งราคาขายต่อสูง ๆ ได้และนำเอาไปเธรดกลับเป็นเงินเข้าบัญชีได้นั่นเอง
ส่วนเกม MMORPGs ที่ร่วมวง NFT ก็มีอยู่เช่นกัน อย่าง The Six Dragons ที่เป็นเกมแนว Open World ที่ผู้ใช้สามารถเลือกเล่นได้ตามใจทั้งการต่อสู้, ตีมอนสเตอร์, ปราบมังกร, เก็บไอเทม หรือเทรดและซื้อขายแลกไอเทม / ตัวละครภายในเกมได้อย่างอิสระโดยใช้ NFT เป็นตัวกลางในการซื้อขาย ซึ่งไอเทมหรือตัวละครภายในเกมนี้เมื่อตกลงซื้อขายกันด้วย NFT แล้ว ผู้ใช้ก็จะได้รับ Token ของสิ่งนั้น ๆ เป็นสมบัติของตนเองแต่เพียงผู้เดียว (จนกว่าจะขายเปลี่ยนมือ) และหากเซิร์ฟล่มหรือเกมถูกลบไปแล้ว ตัวละครหรือไอเทมที่เราถือครอง Token ก็ยังมีอยู่ตลอดไป ไม่เหมือนกับเกม MMORPGs แบบทั่วไปที่ใช้เงินเป็นสื่อกลาง
ภาพจาก : https://egamers.io/the-six-dragons-governance-nft-limited-presale-to-start-december-5/
การเติบโตของ Virtual Economy นั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีมานี้ และถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว เพราะเม็ดเงินที่หมุนในระบบ Virtual Economy ผ่านแพลทฟอร์มยอดนิยมอย่างเกมต่าง ๆ นั้นก็เฉลี่ยรวมแล้วสูงกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งคนที่ทำรายได้จาก Virtual Economy นี้ก็สามารถสร้างรายได้กลับมาเป็นเงินจริง ๆ ได้ราว 66,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
และแน่นอนว่าหลังจากที่ตลาด NFT เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ Virtual Economy มีการเติบโตมากขึ้นจากเดิมอย่างแน่นอน เพราะการที่เราสามารถเป็นเจ้าของสิ่งใด ๆ ภายในโลกเสมือนได้อย่างแท้จริงโดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าหากเกมที่เล่นปิดตัวลงแล้วจะทำให้เงินที่เราลงไปทั้งหมดนั้นสูญเปล่าก็ทำให้หลาย ๆ คนตัดสินใจซื้อ NFT ในเกมเพื่อครอบครอง Token ของมันมากขึ้นนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.gamespace.com/all-articles/news/impact-of-in-game-items-on-virtual-economy/
ซึ่งอิทธิพลของ Virtual Economy ก็ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถหารายได้ผ่านเกมได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของอายุ, เพศ, เชื้อชาติ, สีผิว, รูปร่าง หรืออคติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานในชีวิตจริง ดังนั้นมันจึงเป็นที่น่าสนใจว่าหากตลาดของ Virtual Economy เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ผู้คนหรือองค์กรจำนวนหนึ่งก็อาจหันมาสนใจและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Virtual Economy กันเพิ่มมากขึ้นและช่วยขยายระบบเศรษฐกิจประเภทนี้ออกไปในอนาคตจนก่อให้เกิดอาชีพใหม่หรือกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกผ่านระบบ Virtual ได้
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |