ปัจจุบัน ธุรกิจ และเทคโนโลยีต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ทุกคนเคยสงสัยกัน หรือไม่ ว่าองค์กรขนาดใหญ่ ๆ ไปจนถึงสตาร์ทอัปเล็ก ๆ พวกเขาสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่หยุดนิ่งได้อย่างไร ? ซึ่งคำตอบก็อยู่ที่แนวคิดที่เรียกว่า On-Demand Computing ซึ่งกำลังค่อย ๆกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการจัดการระบบ IT แบบใหม่
ทุกคนลองจินตนาการ หากเรามีบริษัทของตนเอง ที่เราสามารถเพิ่ม หรือ ลดทรัพยากรด้าน IT ได้อย่างยืดหยุ่นโดยไม่ต้องลงทุนกับมันมหาศาล เราสามารถปรับตัวได้ทันที เมื่อเกิดความต้องการทรัพยากรด้านไอทีอย่างฉับพลัน และนี่คือสิ่งที่ On-Demand Computing มอบให้ ดังนั้น ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ On-Demand Computing ทั้งความหมาย, หลักการทำงาน, ประโยชน์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เราลองมาค้นพบกันดูว่าเทคโนโลยีนี้เปลี่ยนโฉมวิธีการจัดการ IT อย่างไร ...
On-Demand Computing (ODC) หรือ "การประมวลผลตามความต้องการ" คือรูปแบบการให้บริการทรัพยากรด้านคอมพิวติ้ง เช่น การประมวลผล (Processing), การจัดเก็บข้อมูล (Data Storage), เครือข่าย (Network) และซอฟต์แวร์ ที่สามารถใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดเตรียมทรัพยากรไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้อาจถูกจัดสรรผ่านระบบของบริษัทเอง หรือผ่าน ผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Provider - CSP) ก็ได้
ภาพจาก : https://synergiseit.com.au/blog/5-ways-cloud-computing-can-help-businesses-to-save-money-and-time/
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ให้ทุกคนลองจินตนาการว่ากำลังจัดงานเลี้ยงใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าจำนวนแขกจะมาเท่าไร แต่ด้วยบริการ On-Demand เราก็สามารถสั่งอาหาร เพิ่ม-ลดปริมาณอาหาร ได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกังวลเรื่องของเสีย ซึ่งนี่คือหลักการง่าย ๆ ของ On-Demand Computing (ODC) ซึ่งเปรียบเสมือนบริการ "ทรัพยากร IT ตามสั่ง" ที่บริษัทสามารถเรียกใช้งานได้ในเวลาที่ต้องการนั่นเอง
ซึ่ง ODC นี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่บริษัทจำนวนมากต้องเผชิญ เช่น เกิดความไม่สมดุลในการจัดสรรทรัพยากรประมวลผล บางครั้งบริษัทต้องลงทุนทรัพยากรจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการสูงสุดในช่วงขณะหนึ่ง (Peak Demand) ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนที่เกินความจำเป็น หรือหากเลือกที่จะลดต้นทุนด้วยการเตรียมทรัพยากรให้น้อยลง ก็อาจเผชิญกับปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอในช่วงที่ความต้องการพุ่งสูง ดังนั้น การใช้ On-Demand Computing จึงเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยช่วยให้บริษัทปรับการใช้ทรัพยากรได้แบบเรียลไทม์ตามความต้องการจริงนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.similarweb.com/blog/research/market-research/increase-website-traffic/
ในบางกรณี On-Demand Computing มักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ การประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรดังกล่าวถูกให้บริการผ่านผู้ให้บริการคลาวด์ ซึ่งบริษัทที่เป็นลูกค้าสามารถเข้าถึงทรัพยากร ประมวลผล (Compute), จัดเก็บข้อมูล (Storage), เครือข่าย (Networking) หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์ (Software) ได้ง่ายดาย และรวดเร็ว เพียงแค่คลิกไม่กี่ครั้งจากผู้ให้บริการเดียวกันเลย
นอกจากนี้ บริการ On-Demand Computing ยังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสำคัญ เช่น การจำลองเสมือน (Virtualization), คอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ (Computer Clusters) และ การประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) ซึ่งช่วยให้มันมีความยืดหยุ่นสูงมาก ๆ
On-Demand Computing ที่ให้บริการผ่านทาง Cloud มีลักษณะเด่นอยู่ 3 อย่าง ที่ทำให้น่าสนใจนั่นคือ ความยืดหยุ่น (Scalability), จ่ายเท่าที่ใช้ (Pay-per-use) และการบริการตัวเอง (Self-service) ไม่ว่าบริษัทจะต้องการทรัพยากรประเภทใด ? หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมมากเท่าไหร่ ? ระบบนี้ก็จะช่วยให้ทรัพยากรเหล่านี้พร้อมใช้งานได้ง่าย, รวดเร็ว และปรับ เพิ่ม-ลด ได้ตามความต้องการ
ภาพจาก : https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-981-19-3026-3_2/figures/13
หากบริษัทใช้บริการ On-Demand Computing จากผู้ให้บริการคลาวด์ (CSP) ก็จะสามารถเลือกรูปแบบการใช้งานได้ เช่น สมัครสมาชิก (Subscription) หรือ จ่ายตามการใช้งานจริง (Pay-Per-Use) เมื่อทรัพยากรจำเป็นต่อการทำงาน ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ในช่วงลดราคาสินค้าตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่บริษัทค้าต้องรองรับทราฟฟิกผู้ซื้อจำนวนมาก จากการช้อปปิ้งออนไลน์ บริการ On-Demand Computing ก็จะช่วยเพิ่มทรัพยากรประมวลผลให้เว็บไซต์ทำงานได้ โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติมที่อาจไม่ได้ใช้งานหลังจากช่วงพีคจบลงไปนั่นเอง
On-Demand Computing มีข้อดีที่น่าสนใจดังนี้
บริษัทสามารถเพิ่ม หรือลดทรัพยากรได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานระยะสั้นในช่วงที่มีงานล้นมือ หรือระยะยาวสำหรับโครงการขนาดใหญ่
ภาพจาก : https://www.letsbloom.com/blog/demand-forecasting/
ตัวอย่างเช่น บริษัทอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Company) ที่ต้องรองรับยอดการสั่งซื้อจำนวนมากในช่วงเทศกาลอย่าง 11.11 ก็สามารถขยายทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์ให้รองรับปริมาณทราฟฟิกสูง ๆ ได้ทันที
ภาพจาก : https://www.letsbloom.com/blog/demand-forecasting/
การใช้บริการ On-Demand Computing ช่วยให้บริษัทไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์เอง รวมถึงไม่ต้องกังวลเรื่องการอัปเกรดระบบ หรือดูแลรักษาบ่อย ๆ เพราะทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ (CSP)
ภาพจาก : https://www.racksolutions.com/news/blog/what-is-a-server/
บริการ On-Demand Computing ส่วนใหญ่มีระบบ Self-service ที่ผู้ใช้สามารถจัดการเพิ่ม หรือลดทรัพยากรเองได้ทันทีโดยไม่ต้องรอทีม IT ช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น
ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (ML), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และ คอมพิวเตอร์วิชัน (Computer Vision) ทำให้บริษัททุกขนาด โดยเฉพาะบริษัทเล็ก ๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องลงทุนเงินจำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัปที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย เทคโนโลยี AI ก็สามารถใช้งาน Machine Learning บนระบบคลาวด์ได้ทันที โดยไม่ต้องซื้อ หรือพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง
แม้ว่า On-Demand Computing จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีประเด็นที่ควรระวังอยู่ โดยเฉพาะเรื่อง Shadow IT ซึ่งเกิดจากการที่พนักงานเพิ่ม หรือใช้งานทรัพยากรไอทีเพิ่มเติมผ่านระบบ On-Demand โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุม ซึ่งการใช้งานลักษณะนี้อาจทำให้ระบบมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย เช่นนำเอาทรัพยากรที่ไม่ได้รับการตรวจสอบมาใช้ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดี (Threat Actors) เข้ามาโจมตี หรือขโมยข้อมูลสำคัญของบริษัทไป
ภาพจาก : https://blog.paessler.com/5-common-risks-of-shadow-it-and-how-to-gain-control-of-it
เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทก็จะต้องแนะนำให้ทีม IT ดำเนินการ ตรวจสอบระบบคลาวด์ (Cloud Audits) เป็นระยะ ๆ เพื่อระบุ และจัดการทรัพยากรที่ถูกใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงวางแผนลบทรัพยากรที่ไม่ปลอดภัยออกจากระบบ นอกจากนี้ควรอบรมพนักงานให้เข้าใจถึงความเสี่ยงของ Shadow IT และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และลดโอกาสในการเกิดปัญหานั่นเอง
On-Demand Computing หรือ "การประมวลผลตามความต้องการ" เป็นแนวทางการจัดการทรัพยากร IT ที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และลดต้นทุนให้กับธุรกิจ ด้วยการปรับเพิ่ม หรือลดทรัพยากรได้ตามความจำเป็น ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยไม่ต้องลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์ หรือเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม บริษัทที่ใช้บริการนี้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี
แม้ On-Demand Computing จะช่วยแก้ปัญหาด้านทรัพยากร แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องระมัดระวัง เช่นการใช้งานทรัพยากรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจนำไปสู่ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น บริษัทควรมีระบบตรวจสอบและการจัดการที่ดี แต่ด้วยศักยภาพที่สูงของ On-Demand Computing จึงทำให้มันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับบริษัทในยุคปัจจุบัน และเป็นก้าวสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างมั่นคงอีกด้วย
|