สีเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนของผลงาน และการสื่อสารทางอารมณ์ แต่ทว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โปรเจคเตอร์ (เครื่องฉายภาพ) หรือ จอภาพ กลับไม่สามารถแสดงสีสันที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้มีสิ่งที่ช่วยสร้างมาตรฐานของเฉดสีในอุตสาหกรรมดิจิทัล ระบบสีแบบ RGB จึงได้ถูกหยิบยกมาใช้ เกิดเป็นมาตรฐาน (Color Gamut) ที่ใช้กำหนดความหลากหลายเฉดสีของเทคโนโลยีที่แสดงผลได้ถูกต้อง โดยยึดตามแม่แบบสีของ RGB
หากเป็นวงการจอคอมพิวเตอร์ การออกแบบ กราฟิก และ อุตสาหกรรมงานพิมพ์ หลายคนอาจรู้จักกันดีกับ มาตรฐานชื่อ sRGB และ Adobe RGB แต่บางครั้งเรามักเห็นมาตรฐาน DCI-P3, Rec.709, NTSC และอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย
จะเห็นว่า มาตรฐานสี ในโลกดิจิทัลนี้มีมากมายเหลือเกิน และมันถูกใช้ปะปนกันไปไม่เพียงแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่รวมถึง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ทีวี เมื่อถามว่าแต่ละมาตรฐานแตกต่างกันอย่างไร ? บทความนี้เราจะมาอธิบายความเป็นมา และความแตกต่างของแต่ละชนิดกัน ลองเลือกดูเมนูสารบัญจากด้านล่างนี้ได้เลย
ความกว้างสี (Color Gamut) เป็นสิ่งที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อย ๆ บนสเปกจอคอมต่าง ๆ และ แต่ละรุ่นก็ใช้มาตรฐานที่ต่างกัน แต่ก่อนที่เราจะมาอธิบายข้อแตกต่าง มาทำความเข้าใจก่อนว่าทำไม "มาตรฐาน" ถึงเป็นสิ่งสำคัญ
ความแตกต่างของมาตรฐานสี sRGB / Adobe RGB ที่มองเห็นด้วยสายตาได้
หากพูดปัญหาสีจากจอภาพและโปรเจคเตอร์ ที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนทั่วไปถ้ามันจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ถ้าเป็นวงการออกแบบ มันคือเรื่องจริงจัง เพราะถ้ามาตรฐานต่างกันนิดเดียว ก็สามารถส่งผลต่อภาพผลงานได้ ดังภาพข้างต้น
หรือสมมติว่า คุณต้องการออกแบบรูปวาดบนคอมพิวเตอร์กราฟิก และได้สีตามที่ต้องการเรียบร้อย แต่พอนำงานไปพรีเซนต์ผ่านโปรเจคเตอร์ ปรากฏว่าสีที่ออกมาดันไม่ใช่ที่เราทำไว้แต่แรก นั่นเป็นเพราะอุปกรณ์อาจไม่ได้รองรับเฉดสีที่เท่ากัน
ดังนั้นมาตรฐานความกว้างสี (Color Gamut) จึงเป็นตัวช่วยชี้วัดว่าอุปกรณ์ของเราใกล้เคียงกับมาตรฐานใดบ้าง เพื่อที่เวลาเลือกซื้อหน้าจอมอนิเตอร์ ทีวี หรือโปรเจคเตอร์มาใช้งาน เราจะได้เลือกซื้ออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่ต้องการได้
สำหรับวิธีการอ่าน ยกตัวอย่างจากจอมอนิเตอร์ Dell U2419H
หมายความว่าสีทั้งหมดที่ จอมอนิเตอร์ Dell U2419H แสดงผลได้คือ 16.7 ล้านเฉดสี และในจำนวนเฉดสีเหล่านี้มีสีที่ตรงกับมาตรฐาน sRGB อยู่ 99 % ขณะที่ในมาตรฐาน DCI-P3 นั้นตรงกันเพียง 85% ดังนั้นถ้าเราใช้จออื่น ๆ ที่รองรับ sRGB 99% มาทำงานร่วมกัน ก็แทบจะไม่มีโอกาสที่สีจะผิดแปลกไป
กลับกันถ้าอุปกรณ์อีกตัวมีมาตรฐานเฉดสีที่ใกล้เคียง sRGB เพียง 90 % เท่ากับว่าหากใช้ร่วมกับจอนี้ สีที่ได้ออกมา อาจจะมีความแปลกไปบ้างตามสีที่หายไปนั่นเองครับ
ต่อไปเรามารู้จักกับ มาตรฐานสี แต่ละชนิดกันดีกว่า ว่ามันต่างกันอย่างไร และแต่ละชนิดมีที่มาจากไหน
ผังปริภูมิสี 'CIE 1931' แสดงค่าเฉดสีในมาตรฐานของ sRGB
sRGB เป็นมาตรฐานเฉดสีการแสดงผลที่หลายคนคุ้นเคยดี โดยเฉพาะวงการกราฟิก, การออกแบบเว็บไซต์ และ อุตสาหกรรมการพิมพ์
sRGB ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Microsoft และ แบรนด์คอมพิวเตอร์ชื่อดังอย่าง HP (Hewlett-Packard Company) ในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) และกลายเป็นมาตรฐานแรก ๆ ที่ถูกใช้กับเทคโนโลยีจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งสมัยนั้นยังใช้จอแบบ CRT อยู่เลย โดยทุกวันนี้ sRGB กลายเป็นมาตรฐานตั้งต้น ของการแสดงผลที่เราพบเห็นได้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงพวกหน้า UI เว็บไซต์ และ งานกราฟิกบนโลกออนไลน์
จอ CRT
Adobe RGB ออกแบบมาใช้ตามวัตถุประสงค์ของ sRGB แต่ครอบคลุมสีที่มากกว่า พัฒนาโดยบริษัท Adobe Systems, Inc.ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) หรือเจ้าของ โปรแกรมตระกูล Adobe ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และถูกใส่มาครั้งแรกใน โปรแกรมแต่งรูป Adobe Photoshop เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : ซื้อโปรแกรม Adobe ลิขสิทธิ์ของแท้จาก Thaiware.com
เหตุผลที่ Adobe RGB ถูกสร้างมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการออกแบบการพิมพ์ต่าง ๆ ต้องใช้งานร่วมกับปริ้นเตอร์ เช่นการ พิมพ์การ์ด พิมพ์ป้ายไวนิล สมุด หนังสือ หรือ โปสเตอร์ต่าง ๆ แต่ระบบสีของปริ้นเตอร์ที่ใช้เป็นระบบ CMYK ดูจะไม่ค่อยจะใกล้เคียงกับมาตรฐาน sRGB ทำให้ผลงานบนคอมกับผลลัพธ์ที่ได้จากเครื่องปริ้นเตอร์อาจผิดเพี้ยนไป
Adobe RGB จึงเป็นมาตรฐานสีที่มีช่วงกว้างกว่า โดยเฉพาะโทนสีฟ้าและสีเขียวที่จะช่วยให้ผลงานมีสีสันถูกต้อง และ แม่นยำมากขึ้น
ผังปริภูมิสี 'CIE 1931' แสดงค่าวัดสีของ sRGB, Adobe RGB และ CMYK
ปัจจุบันระบบสี Adobe RGB จึงกลายเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์จอแสดงผลระดับสูงที่เหมาะกับการใช้ในงานออกแบบ งานทำกราฟิก และ งานอื่น ๆ อีกมากมาย
มาตรฐาน NTSC ย่อมากจาก National Television System Committee ตั้งตามชื่อคณะกรรมการระบบโทรทัศน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) เป็นระบบสีที่สร้างขึ้นเพื่อใช้กับโทรทัศน์ ในยุคจอ CRT TV (Cathode Ray Tube Monitor) หรือ จอแก้วหลังตุงสมัยรุ่นปู่ย่าตายายของเรา
จอ CRT TV (Cathode Ray Tube Monitor)
ที่จริง NTSC ไม่ค่อยถูกใช้เป็นมาตรฐานวัดจอแสดงผลคอมหรืออุปกรณ์ใด ๆ แต่บางรุ่นก็นำมาใช้บ้าง อย่างไรก็ตามมันมีช่วงสีที่กว้างกว่า sRGB ถ้าเทียบกันแล้วหากมาตรฐาน sRGB 100% จะแปลงค่าออกมาเป็นมาตรฐาน NTSC ได้แค่ "72 % NTSC" เพราะมันครอบคลุมกว้างกว่า
ผังปริภูมิสี 'CIE 1931' แสดงค่าวัดสีของ sRGB และ NTSC ที่ครอบคลุม
DCI-P3 ย่อมาจาก Digital Cinema Initiatives - Protocol 3 เป็นมาตรฐานที่ถูกยอมรับ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาหลายทศวรรษ สร้างโดยสมาคมภาพยนตร์ที่มีค่ายภาพยนตร์ต่าง ๆ ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยอย่าง
เดิมถูกใช้เป็นมาตรฐานของโรงภาพยนตร์ ครอบคลุมสีมากกว่า sRGB 25% และน้อยกว่า NTSC อยู่ประมาณ 4 % กระทั่งต่อมาหลังสื่อภาพยนตร์เริ่มมาอยู่บนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องฉาย Home Theater ไปจนถึงสมาร์ทโฟน กับ แท็บเล็ต บริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ก็เริ่มนำมาตรฐาน DCI-P3 มาใช้เพื่อโฆษณาว่าให้สีในการดูหนังที่ดีกว่าการใช้ระบบอื่น ๆ ทำให้ภาพดูมีมิติและตรงกับความตั้งใจที่ผู้สร้างหนังถ่ายทำออกมา เช่นเดียวกับ Apple, Sony, Samsung, Google ก็เริ่มปรับใช้ และเคลมว่า จออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขา พิเศษกว่ารุ่นเก่า ๆ เพราะได้มาตรฐาน DCI-P3
ตอนนี้ DCI-P3 เริ่มกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในอุปกรณ์ทั่วไป โดยเฉพาะโทรทัศน์ และ โปรเจคเตอร์ ซึ่งมักจะมีการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน Apple ก็มี DCI-P3 เป็นมาตรฐานตั้งต้นของแบรนด์ตัวเองไปแล้ว ซึ่งเราก็จะพบได้บ่อยในสินค้าช่วงหลัง ๆ มานี้ทั้งใน iPhone, iPad และ Mac
ผังปริภูมิสี 'CIE 1931' แสดงค่าวัดสีของ sRGB, Adobe RGB, NTSC และ DCI-P3
หาก DCI-P3 เป็นมาตรฐานที่เกิดจาก อุตสาหกรรมภาพยนตร์ Rec.709 ก็จัดเป็นมาตรฐาน ที่เกิดจากอุตสาหกรรมการแพร่ภาพและกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งสร้างโดยสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) ภาคการสื่อสารวิทยุ (ITU-R, Radiocommunication Sector) เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)
โดยมาตรฐาน Rec.709 เป็นมาตรฐานที่กำหนดคุณภาพของตลาด TV ที่มีความคมชัดสูง (HDTV) ซึ่งตอนนี้ก็ไปโดดเด่นในวงการอื่น ๆ เช่นเดียวกัน อย่าง จอคอมพิวเตอร์ และ เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ก็มีการอ้างอิงมาตรฐานนี้มาใช้งาน
ผังปริภูมิสี 'CIE 1931' แสดงค่าวัดสีของ Rec.709 เมื่อเทียบกับค่าสีอื่น ๆ
สำหรับช่วงสีของ มาตรฐาน Rec.709 มีการใช้ค่า RGB และมีขอบเขตความกว้างสีเทียบเท่ากับ sRGB เหมือนถอดแบบกันมาแทบไม่เห็นความแตกต่างด้วยสายตา แต่ที่ผ่านมามันแค่ถูกใช้งานคนละวงการเท่านั้นเอง
ทุกอย่างล้วนมีการพัฒนาและ มาตรฐาน Rec.2020 ก็ถือเป็นก้าวใหม่ของวงการแพร่ภาพ ถ้า มาตรฐาน Rec.709 โลดแล่นในวงการ HDTV มานาน ตอนนี้เมื่อมี UHDTV โทรทัศน์ความคมชัดละเอียดสูงแล้ว มาตรฐาน Rec.2020 ก็คือมาตรฐานใหม่ที่ใช้กำหนดคุณภาพสี ซึ่งสร้างโดย ITU-R เจ้าเดิม
ความกว้างของ มาตรฐาน Rec.2020 ถือว่าแสดงผลเฉดสีได้หลากหลายกว่ามาตรฐานใด ๆ ที่เรากล่าวมาในบทความนี้ อีกทั้งนอกจาก UHDTV บางผู้ผลิตก็ใช้มาตรฐานนี้บนสินค้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องฉายภาพที่แสดงผลได้ระดับ UHD (Ultra-high-definition) เช่นกัน
ทุก มาตรฐานความกว้างสี มีต้นกำเนิดที่ต่างกันแต่มีพื้นฐานมาจากระบบเดียว บางคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ต้องนำมาตรฐานมาอ้างอิงหลายตัวไม่ใช้อันเดียวให้จบ ๆ ไป ส่วนหนึ่งนอกจากจะอธิบายเรื่องคุณภาพของเฉดสีที่อุปกรณ์ของพวกเขาสามารถแสดงผลได้แล้ว มันยังแฝงถึงจุดเด่นของตัวอุปกรณ์ที่พวกเขาต้องการใช้เพื่อโฆษณา วัตถุประสงค์ของการใช้งานด้วยเช่นกัน
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |