ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Barcode และ QR Code คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?

Barcode และ QR Code คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 23,682
เขียนโดย :
0 Barcode+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+QR+Code+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Barcode กับ QR Code คืออะไร ? มาจากไหน ? แล้วต่างกันยังไงนะ ?

แน่นอนว่าในยุคนี้แล้วคงไม่มีใครที่ไม่คุ้นชินกับการเห็น รหัสแท่ง หรือ บาร์โค้ด (Barcode) ข้างบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องยืนรอต่อคิวจ่ายเงินให้พนักงานสแกนสินค้าเพื่อรวมยอดก่อนชำระเงิน (หรือห้างใหม่ ๆ หน่อยก็จะมีมุม Self-Checkout ให้สแกนบาร์โค้ดจ่ายเงินเองแล้ว)

บทความเกี่ยวกับ Barcode อื่นๆ

นอกเหนือไปจากบาร์โค้ดขีด ๆ เส้น ๆ แล้วในช่วงหลังมานี้เราก็มักจะพบเห็นเจ้าพวก รหัสคิวอาร์ (QR Code)  ที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีจุดพิกเซลกระจายตัวกันอยู่ในกรอบเต็มไปหมดตามจุดต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย หรือบางครั้งบนกล่องพัสดุหรือบิลค่าไฟก็มาเป็นแพ็คคู่เลย ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้ว Barcode กับ QR Code นี่มันเอาไว้ทำอะไรกันแน่ แล้วมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้างนะ ?

Barcode กับ QR Code
ภาพจาก : https://www.barcode.graphics/barcode-testing/

เนื้อหาภายในบทความ

Barcode คืออะไร ?

Barcode หรือบาร์โค้ดนั้นมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีเส้น ๆ ขีด ๆ แบ่งระยะห่างและความหนาบางต่างกัน ซึ่งเจ้าความหนาบางของบาร์โค้ดนี้เองที่เป็นตัวกำหนด “ค่าตัวเลข (หรือตัวหนังสือ)” ของบาร์โค้ดที่แสดงถึงสินค้าชิ้นนั้น โดยเราจะเห็นได้ว่าข้อมูลบนบาร์โค้ดที่กำกับด้วยตัวเลขและตัวอักษรต่าง ๆ นั้นค่อนข้างมีจำนวนน้อยและจำกัดเนื่องจากมันถูกวิวัฒนาการมาจากการส่งรหัสมอร์สที่ใช้การส่งสัญญาณด้วยการแตะส่งคลื่นสั้น ๆ เพื่อบอกรหัส แต่ Barcode นี้ได้เปลี่ยนจากการกดคลื่นสั้น ๆ มาเป็นการใช้เส้นตรงยาวในขนาดที่ต่างกันออกไป โดยขีดเส้นตรงนี้เป็นแบบ 1D (ที่ไม่ใช่ One Direction แต่หมายถึง 1-Dimensional) ที่มีการแสดงผลแบบมิติเดียว จึงทำให้จำแนกข้อมูลได้อย่างจำกัด

ซึ่งส่วนมากแล้วเลขบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะไม่ซ้ำกันเพื่อแยกความแตกต่างกันของสินค้าเหล่านั้นออกจากกันและป้องกันความสับสน (แต่หากทางร้านค้ามีการตั้งบาร์โค้ดเฉพาะขึ้นมาก็อาจมีสิทธิ์ไปซ้ำกับสินค้าชนิดอื่นได้เช่นกัน ดังนั้นในส่วนนี้ผู้ขายน่าจะต้องระมัดระวังในการจัดการระบบการขายหลังบ้านกันหน่อย) แต่นอกเหนือไปจาก Barcode ที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในกรอบแล้ว ผู้ผลิตหัวการค้าบางคนก็ดีไซน์บาร์โค้ดออกมาให้ดูสร้างสรรค์ (และยังใช้งานได้ตามปกติ) ด้วยเช่นกัน

สไลด์รูปภาพ

 Barcode รูปแบบต่าง ๆBarcode รูปแบบต่าง ๆBarcode รูปแบบต่าง ๆBarcode รูปแบบต่าง ๆ

 : https://designmadeinjapan.com/magazine/graphic-design/bringing-barcodes-to-life-barcodes-by-design-barcoder/

Barcode มาจากไหน ?

ต้นกำเนิดของบาร์โค้ดนั้นเกิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2451) โดยประธานของทาง Food Fair หรือ Supermarket ชื่อดังในอดีตของสหรัฐอเมริกามาติดต่อกับทางคณบดีของมหาวิทยาลัย Drexel Institute of Technology (มหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเรื่องศิลปะ, วิทยาศาสตร์ และการอุตสาหกรรมในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (Philadelphia, Pennsylvania, USA) ว่ารบกวนให้ช่วยทำวิจัยเกี่ยวกับระบบที่จะช่วยให้การจัดการระบบซื้อขายและการคิดเงินภายในร้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น (คาดว่าก่อนหน้านี้น่าจะใช้การจดบิลด้วยมือ ทำให้มีความล่าช้าและอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย)

Barcode มาจากไหน ?
ภาพจาก : https://www.qrcode.com/en/img/history/chapter1TroubleImage.png

ซึ่ง Bernard Silver ที่เป็นนักศึกษาในขณะนั้นก็ได้อาสาช่วยทำวิจัยชิ้นนี้พร้อมชักชวน Norman Joseph Woodland เพื่อนของเขาในการเริ่มจัดการระบบการซื้อขายนี้ขึ้นมา โดยในตอนแรกได้ใช้การสแกนรังสี Ultraviolet ในการติดตราสินค้า แต่เนื่องจากมันมีราคาที่ค่อนข้างแพงและหมึกเลือนหายได้ไว ทั้งคู่จึงคิดหาวิธีอื่นขึ้นมาแทน ดังนั้น Woodland จึงตัดสินใจย้ายที่ทำงานจากแถวมหาวิทยาลัย Drextel ไปยังอพาร์ทเมนท์ของพ่อที่ Florida เพราะมีพื้นที่และอุปกรณ์ในการใช้สอยที่สะดวกกว่า

โดยในครั้งนี้เขาได้คิดหาวิธีใหม่ ๆ โดยการนำเอารหัสมอร์ส (Morse Code) ที่ใช้การแตะส่งสัญญาณด้วยคลื่นสั้น ๆ มาประยุกต์ใหม่ให้เป็น Barcode โดยการนำเอาจุดของรหัสมอร์สมาขยายและยืดออกเป็นเส้นตรงจนเกิดเส้นที่มีความหนา - บางแตกต่างกันออกมาตามรหัสมอร์สนั้น ๆ และเขาก็ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาเพื่ออ่านเจ้ารหัสมอร์สที่ยืดตัวออกจากลายเป็น Barcode โดยหลังจากพิมพ์มันลงบนกระดาษแล้วเขาก็ใช้หลอดไฟขนาด 500 วัตต์ ส่องผ่านกระดาษแผ่นนั้นไปยังหลอด RCA935 (หลอด Photomultiplier ที่ใช้ในการฉายฟิล์มภาพยนตร์) ที่ตั้งอยู่ไกล ๆ และค้นพบว่าระบบของมันจะทำงานได้ดีกว่าหากพิมพ์เป็นวงกลมแทน (ลักษณะคล้าย Bullseye หรือเป้ายิงธนู) เพราะจะสามารถอ่านค่าได้จากทุกมุม 

สไลด์รูปภาพ

 Bullseye BarcodeBullseye Barcode

ภาพจาก : https://www.smithsonianmag.com/innovation/history-bar-code-180956704/

ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) Woodland และ Silver ก็ได้ยื่นขอสิทธิบัตรของ "Classifying Apparatus and Method" หรือเจ้าเครื่องมือที่จัดทำและช่วยอ่านบาร์โค้ดนี้ขึ้น โดยพวกเขาได้อธิบายหลักการทำงานของมันอย่างละเอียดจนในที่สุดก็ได้รับการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ซึ่งในระหว่างรออนุมัติการจดสิทธิบัตร Woodland ก็ถูกดึงตัวไปทำงานที่บริษัท IBM เพื่อพัฒนาระบบนี้ต่อไป แต่ IBM ก็ไม่ได้เป็นผู้ถือครองสิทธิบัตรแต่อย่างใด เพราะทางบริษัท Philco ได้ซื้อตัดหน้าไปก่อนแล้วในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) และได้ขายต่อให้ทาง  RCA (Radio Corporation of America) ในเวลาต่อมา

ถัดมาในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ทางสมาคมห่วงโซ่อาหารแห่งชาติ NAFC (National Association of Food Chains) ก็ได้ติดต่อกับทางบริษัท RCA ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรของ Woodland ในขณะนั้นให้ช่วยพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมาให้ทางร้านค้าใช้งานอย่างลับ ๆ โดยทาง Kroger ได้เสนอตัวว่าจะทำเป็นผู้ทดลองใช้ระบบนี้เอง (ในตอนนั้นเป็น Barcode แบบ Bullseye)

Bullseye Barcode ของ Kroger
ภาพจาก : https://www.smithsonianmag.com/innovation/history-bar-code-180956704/

และช่วงกลางปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ทาง NAFC ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อรวมตัว Supermarket และร้านขายของต่าง ๆ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนา Barcode ให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและเมื่อตกลงกันได้ดังนี้ก็ดำเนินการจัดจ้างบริษัทต่าง ๆ ให้มาพัฒนา Barcode และเครื่องสแกนให้สามารถใช้งานได้จริง โดยแต่ละบริษัทก็ได้พัฒนาบาร์โค้ดในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย ทั้งแบบแฉก, วงกลม, เส้นตรง และอื่น ๆ 

Barcode และ QR Code คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://haydenbachman.wordpress.com/2014/04/24/the-barcode-system/

18 เดือนหลังจากที่ทาง Kroger ได้ทดลองใช้ Barcode ของ RCA (Barcode Bullseye) โดยพิมพ์ลงกระดาษกาวและติดกับตัวสินค้าพร้อมป้ายราคาก็พบปัญหาว่าในบางครั้งหมึกก็เลือนหรือเปื้อนจนไม่สามารถอ่านค่าออกมาได้จึงถือว่าการทดลองระบบนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ทาง NAFC ก็ได้หารือกันใหม่เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะถึงแม้ Barcode แบบ Bullseye จะสามารถใช้งานได้จริงแต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายส่วนเช่นกัน ทาง IBM จึงเสนอว่าให้ทดลองใช้งานโค้ดแบบเส้นตรงของ Woodland (โค้ดที่พัฒนาขึ้นในตอนที่เขาทำงานอยู่ในบริษัท IBM) ในการพิมพ์ Barcode แทน Barcode แบบ Bullseye

ปัญหาถัดมาคือการจัดวางรูปแบบของบาร์โค้ดให้ออกมาใช้งานได้อย่างลื่นไหล ในช่วงนั้นเอง George Laurer พนักงานของ IBM ก็ได้รับมอบหายให้คิดวิธีการผลิต Barcode ออกมาให้มีขนาดไม่เกิน 1.5 นิ้วและสามารถปรินท์ออกมาใช้งานเพื่อสแกนได้จากทุกทิศทางในเวลาอันเร็ว และก็เป็น Laurer เองที่ได้เสนอความคิดเรื่องการใช้งาน Barcode รูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เราคุ้นเคยกัน และเรียกมันว่า UGPIC (Universal Grocery Product Identification Code) หรือโค้ดสำหรับระบุสินค้าทั่วไปแบบครอบจักรวาลขึ้นมาในการจำแนกประเภทสินค้าต่าง ๆ (ที่ในเวลาถัดมาเปลี่ยนเป็น UPC หรือ Uniform Product Code ที่ใช้งานกันในทุกวันนี้)

UPC Barcode
ภาพจาก : https://www.barcode.graphics/upc-barcode/

จนกระทั่งวันที่ 30 มีนาคม ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ทาง NAFC ก็ได้ตัดสินใจเปิดประชุมหารือเรื่องการใช้งาน Barcode กันอีกครั้งหนึ่ง และผลของการประชุมครั้งนั้นก็ถูกสรุปในวันที่ 3 เมษายน ว่าทาง NAFC ตัดสินใจจะใช้งาน Barcode ของ IBM ที่เป็นเส้นขนานทางยาวของในกรอบสี่เหลี่ยมที่ Laurer ได้คิดค้นขึ้นมาเป็นมาตรฐานในการใช้งาน Barcode นั่นเอง

ช่วงแรกของการใช้งาน Barcode ทาง IBM ก็ได้ดีไซน์ Barcode โดยยึดตามหลัก UGPIC (และยังคงใช้การปรินท์ Barcode ติดกระดาษกาวแปะบนบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อยู่) แต่ในเวลาต่อมาทาง IBM ก็ตัดสินใจเข้าไปติดต่อกับโรงงานและบริษัทผู้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้พิมพ์ Barcode ลงบนบรรจุภัณฑ์สินค้าของตนเองเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการสินค้าในคลังรวมทั้งช่วยประหยัดงบประมาณและเวลาที่ต้องปรินท์ลงกระดาษมาแปะที่บรรจุภัณฑ์อีกทีหนึ่ง ซึ่งบางบริษัทก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ออกไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

สไลด์รูปภาพ

 Barcode แบบสติกเกอร์Barcode บนบรรจุภัณฑ์

ภาพจาก : https://www.modernsoapmaking.com/blog/should-you-get-barcodes-for-your-soap-cosmetic-products

แต่ก็มีหลายบริษัทไม่เห็นด้วยกับการใช้งาน Barcode เพราะมีวิธีของตนเองในการจัดการคลังสินค้าอยู่แล้ว อีกทั้งตัวสแกนบาร์โค้ดก็ยังมีราคาที่สูงจนร้านค้าบางแห่งไม่สามารถจับต้องได้ ดังนั้น Barcode จึงได้รับความนิยมค่อนข้างต่ำในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อก้าวสู่ยุค 80s ความนิยมของการใช้งาน Barcode ก็พุ่งสูงขึ้น เพราะห้างร้านต่าง ๆ ที่ใช้งานระบบ Barcode เป็นเครื่องทุ่นแรงระหว่างคิดเงินก็มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นราว 10 - 12% เลยทีเดียว ทำให้ร้านค้าหลายร้านยอมจ่ายเงินซื้อเครื่องสแกนบาร์โค้ดเพื่อกระตุ้นยอดขายของสินค้ากันมากขึ้นจนทำให้การติด Barcode ข้างบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่ขาดไปแทบจะไม่ได้เลยในปัจจุบันนี้นั่นเอง

Barcode
ภาพจาก : https://www.researchgate.net/figure/Fig-3-Two-shelf-barcodes-with-product-names-and-price-information_fig5_241880584

ประวัติของบาร์โค้ดติดตาม (Tracking Barcode)

นอกเหนือไปจากบาร์โค้ดสินค้าแล้ว เราก็มักจะพบเห็นบาร์โค้ดในรูปแบบการ Tracking เพื่อติดตามระบบงานหรือพัสดุต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้คิดค้น Barcode ในลักษณะนี้ขึ้นมาก็ได้แก่ David Jarrett Collins ที่เดิมทีเป็นพนักงานรถไฟของรัฐเพนซิลวาเนีย และปัญหาว่าควรที่จะมีการจัดระบบเพื่อแยกความแตกต่างของรถรางแต่ละคันออกจากกัน

ดังนั้นหลังจากที่เขาได้รับปริญญาโทในปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ก็ได้เข้าไปทำงานที่ GTE Pennsylvania (โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ) เพื่อหาทางในการแก้ไขปัญหานี้และได้พัฒนาระบบ KarTrak โดยการติดแถบสะท้อนแสงสีแดงและฟ้าไว้ที่ตัวรถโดยการลงรหัส 6 ตัวเพื่อระบุถึงบริษัทรถ และอีก 4 ตัวสำหรับหมายเลขของรถคันนั้น ๆ และได้ใช้การฉายแสงผ่านหลอด Photomultiplier แบบสุญญากาศเพื่ออ่านข้อมูลและจำแนกรหัสรถแต่ละคันออกจากกัน

สไลด์รูปภาพ

 KarTrakKarTrak

ภาพจาก : https://cs.trains.com/trn/f/111/t/145208.aspxและ https://grahamshawcross.files.wordpress.com/2013/04/kartrak1.jpg

ถัดมาในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) สถานีรถรางของ Boston และ Maine ก็ตัดสินใจนำเอาระบบ KarTrak นี้ไปใช้งานด้วยเช่นกัน จนในปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ทางสมาคมรถรางแห่งอเมริกา AAR (Association of American Railroads) ก็ได้ประกาศให้ใช้งานระบบ KarTrak นี้กับรถรางทุกคันในประเทศ แต่ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นมาในช่วงต้น ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513) จึงทำให้ทาง AAR ตัดสินใจระงับโครงการนี้ไป จนถึงราวช่วงกลางปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) จึงนำเอาระบบเดิมมาใช้ใหม่และเปลี่ยนไปใช้งานการแทร็คสัญญาณวิทยุแทน

แม้ว่าระบบ Kartrak ของรถรางจะล่มไป แต่ด่านทางด่วนของรัฐ New Jersey ก็ได้ให้ความสนใจกับระบบนี้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการจัดเก็บเงินของรถที่ขึ้นทางด่วนด้วยตั๋วรายเดือน จากนั้นทางสำนักงานไปรษณีย์ก็ได้ขอให้พัฒนาระบบที่จะช่วยติดตามรถขนพัสดุได้ง่ายดายมากขึ้นด้วย โดยการใช้บาร์โค้ดของทั้ง 2 องค์กรนี้จะต้องใช้ Retroreflector (การสะท้อนแสงแบบพิเศษ) ที่ค่อนข้างมีราคาสูง จนกระทั้งบริษัท Kal Kan ที่เป็นบริษัทขายอาหารสัตว์ได้ร้องขอให้ทางทีมงานพัฒนาสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่มีราคาถูกกว่าเพื่อนำเอาแปะไว้ที่ลังเพื่อให้สามารถจัดการคลังสินค้าได้ง่ายขึ้น

ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ที่ Collins เล็งเห็นว่าการจัดระบบรถรางนั้นลงตัวแล้ว เขาก็ได้ออกจากงานและก่อตั้งบริษัท Computer Identics Corporation ขึ้นมาเพื่อต่อยอดระบบนี้และทำการเปลี่ยนจากแถบสะท้อนแสงสีแดงและฟ้าให้เป็นเวอร์ชัน ขาว - ดำ แทน รวมทั้งปรับการอ่านค่าจากเดิมที่ใช้หลอดไฟให้เป็นการฉายแสง Laser Helium-Neon ผ่านกระจกในการสแกนอ่านค่าต่าง ๆ แทน ซึ่งมันก็ทำให้ Barcode นี้สามารถสแกนอ่านได้ในระยะไกลและสะดวกมากขึ้นจากเครื่องสแกนลักษณะนี้

เครื่องสแกน Barcode แบบ Helium-Neon Laser ของ Computer Identics Corporation
ภาพจาก : https://i.ebayimg.com/00/s/MTIwMFgxNTk5/z/-WMAAOSwSvlgExeR/$_1.JPG

ดังนั้นทางบริษัท Computer Identics Corporation จึงเสนอให้ติดตั้งระบบสแกนนี้ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ที่ General Motors โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งในรัฐ Michigan โดยระบบนี้ได้ใช้การระบุประเภทชิ้นส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจัดส่ง และระบบสแกนนี้ก็ได้ถูกนำเอาไปใช้งานในโรงงานและบริษัทใหญ่ ๆ หลายเจ้าเลยทีเดียว ต่อมาในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ทาง บริษัท Internmec Corporation ก็ได้เพิ่ม “หมายเลขตัวเครื่องรถ” หรือ Code 39 ที่ในปัจจุบันนี้เราคุ้นเคยดีเข้ามาเพิ่มเติม

Code 39 Barcode
ภาพจาก : https://about.usps.com/publications/pub97/pub97_appj_006.htm

การใช้ Barcode ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

แน่นอนว่าเราคุ้นเคยกับบาร์โค้ดบนสินค้าที่เอาไว้สแกนเวลาจ่ายเงินเป็นอย่างดี แต่นอกจากนั้นแล้วยังมีการใช้งานบาร์โค้ดในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การระบุหมายเลข ISBN (International Standard Book Number) บนหนังสือต่าง ๆ หรือหากซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก็มักพบว่ามีแถบ Barcode ของเลข Serial Number

นอกจากนี้แล้วในวงการแพทย์เอง ก็ยังใช้ Barcode ติดไว้ที่ Wristband (สายรัดข้อมือ) ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีกด้วย และที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ Barcode บนกล่องพัสดุต่าง ๆ ที่เราซื้อออนไลน์กันทุกวันนี้ก็จะมีบาร์โค้ดของทั้งบริการขนส่ง, บาร์โค้ดบนใบเสร็จบางรูปแบบด้วยเช่นกัน

สไลด์รูปภาพ

 การใช้ Barcode ในอุตสาหกรรมอื่น ๆการใช้ Barcode ในอุตสาหกรรมอื่น ๆการใช้ Barcode ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ภาพจาก : shorturl.at/abpH5, shorturl.at/egpwB และ shorturl.at/oCZ48

QR Code คืออะไร ?

ในช่วงปีมานี้นอกเหนือไปจากขีดเส้น ๆ ของบาร์โค้ดแล้ว เราก็มักจะพบเห็น QR Code ที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมที่มีพิกเซลกระจายตัวกันอย่างสะเปะสะปะภายในกรอบสี่เหลี่ยมนั้น โดยเจ้า QR Code นี้ก็ย่อมากจากคำว่า "Quick Response (QR) Code" หรือที่แปลตรงตัวได้ว่าโค้ดที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว เพราะจะสังเกตได้ว่าเมื่อนำเอา QR Code ไปสแกนกันเครื่องอ่านหรือสแกนผ่านสมาร์ทโฟนก็พบว่าจะมีข้อความ, เว็บไซต์ หรือข้อมูลอื่น ๆ ปรากฎเพิ่มเติมขึ้นมาบนหน้าจอในทันที

ข้อมูลเพิ่มเติม : ระบบสร้าง QR Code ออนไลน์

สแกน QR Code
ภาพจาก : https://static01.nyt.com/images/2021/01/31/style/28QR-CODES1/oakImage-1611692333872-superJumbo.jpg

ต้นกำเนิดของ QR Code

แน่นอนว่าด้วยอิทธิพลของ Barcode แล้วก็ทำให้บรรดาแคชเชียร์และร้านค้าต่าง ๆ เบางานขึ้นมากเลยทีเดียว แต่มันก็ยังติดปัญหาอยู่เล็กน้อย เพราะ Barcode นั้นสามารถแสดงข้อมูลได้แค่มิติเดียว (1 Dimension) และใส่ข้อมูลภายในได้อย่างจำกัด (สูงสุดเพียง 20 ตัวเลขและตัวอักษรเท่านั้น) จึงไม่สามารถระบุข้อมูลได้ชัดเจนเพียงพอ

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) Masahiro Hara หัวหน้าทีมในบริษัท Denso Wave (หนึ่งในบริษัทย่อยในเครือ Toyota) จึงเกิดความคิดที่ว่าหากเรานำเอา Barcode มาพัฒนาต่อยอดให้สามารถอ่านข้อมูลได้จากแค่มิติเดียวเป็นเป็นแบบ 2 มิติก็น่าจะช่วยให้สามารถอ่านข้อมูลได้มากขึ้นและไวขึ้นจากเดิม

QR Code
 ภาพจาพ : https://www.qr-code-generator.com/blog/how-qr-codes-work-and-their-history/

ด้วยเหตุนั้นเองเขาจึงเริ่มคิดค้น QR Code ขึ้นมาร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำงานของ Barcode ที่มีการเก็บของมูลต่าง ๆ ไว้บนเส้นแนวดิ่ง นำเอามาผสมผสานเข้ากับสิ่งของใกล้ตัวอย่างกระดานโกะที่มีลักษณะเป็นกระดานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีตัวโกะสีขาว - ดำกระจายตัวกันในขณะเล่นเกม เขาจึงเกิดไอเดียว่าหากลองจัดเรียงข้อมูลในแนวขวางในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ (คล้ายกับการวางโกะบนกระดานที่มีทั้งแนวตั้งและแนวขวาง) แล้วนำเอาไปสแกนก็น่าจะได้ข้อมูลที่มีมิติมากกว่า Barcode อีกทั้งมันยังมีการแสดงผลที่ไวกว่าการสแกน Barcode ดังนั้นจึงเรียกมันว่า Quick Response Code หรือ QR Code นั่นเอง

ซึ่งเหตุผลที่ต้องเป็นรูป “สี่เหลี่ยมจัตุรัส” นี้ไม่ใช่แค่เพราะว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระดานโกะเท่านั้น เพราะหลังจากที่ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดและลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วเขาก็พบว่าอัตราส่วนที่สามารถแสดงผลได้อย่างน่าพึงพอใจที่สุดและคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด คือ 1:1:3:1:1 เพราะมันมีการกระจายตัวกันของอัตราส่วนจุดพิกเซลภายในกรอบสี่เหลี่ยมอย่างพอดิบพอดี อีกทั้งยังแสดงผลได้ไวและอ่านข้อมูลจากทิศทางใดก็ได้ (โดยขณะนั้น QR Code สามารถเข้ารหัสตัวเลขได้ราว 7,000 ตัว อีกทั้งยังสามารถแสดงตัวคันจิหรือตัวอักษรอื่น ๆ ได้อีกด้วย)

สไลด์รูปภาพ

 Barcode และ QR Code คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?Barcode และ QR Code คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?Masahiro Hara และ QR Code

ภาพจาก : shorturl.at/rFGMX, https://developpaper.com/qr-code-details-2/ และ https://www.qr-code-generator.com/blog/how-qr-codes-work-and-their-history/

ในช่วงแรก QR Code ถูกใช้ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เพราะเมื่อนำเอา QR Code แปะติดบนชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวรถแล้วก็พบว่าสามารถประกอบรถได้ไวขึ้นจากเดิมมากทีเดียว จากนั้นก็ขยายความนิยมไปยังสายการขนส่ง, อุตสาหกรรมอาหาร, วงการแพทย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะข้อมูลที่สามารถเก็บเอาไว้ใน QR Code นอกจากจะมีจำนวนค่อนข้างมากแล้ว ยังเก็บข้อมูลได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะการเป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์, การติดตามสถานะการส่งสินค้า หรือเปิดลิงก์ไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็สามารถทำได้อย่างไร้ปัญหา

แน่นอนว่าทางบริษัท Denso Wave ก็ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรของ QR Code นี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยมันได้ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรของทั้งญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมทั้งยังได้รับการรับรองจากองค์กรระดับโลกอย่าง ISO (International Organization for Standardization) ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) อีกด้วย

ซึ่งความนิยมในการใช้งาน QR Code ของชาวญี่ปุ่นในช่วงนั้นก็ถือว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะมีสัญลักษณ์ QR Code อยู่เสมอ จนถึงขั้นมีการเปิดตัวมือถือที่สามารถสแกนอ่าน QR Code ออกมาได้ในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) เลยทีเดียว ซึ่งในตอนนั้นเรียกว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอยู่พอสมควร เพราะในขณะที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนก็มีโทรศัพท์ที่สามารถสแกนอ่าน QR Code ได้เสียแล้ว

โทรศัพท์ฝาพับจากญี่ปุ่นที่สามารถสแกน QR Code ได้
ภาพจาก : https://pbs.twimg.com/media/DyAXaTDVsAEiV61?format=jpg&name=small

แต่หลังจากที่ QR Code เริ่มได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้นพร้อมด้วยการเติบโตของสมาร์ทโฟนก็ทำให้มันมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของเราอย่างมากเลยทีเดียว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2557) QR Code ก็ได้รับรางวัล Media for Industry of the Good Design Award หรือรางวัลการออกแบบสื่ออุตสาหกรรมยอมเยี่ยมแห่งปี และได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างหลากหลายมาจนถึงปัจจุบันนี้

การใช้งาน QR Code

อย่างที่ได้ระบุไปข้างต้นว่าเรามักจะพบเห็น QR Code อยู่บนที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งบนบรรจุภัณฑ์ บนโปสเตอร์ แผ่นพับ ป้าย ข้างรถสาธารณะ เพื่อ

  • อธิบายสรรพคุณเพิ่มเติม
  • การโฆษณาผลิตภัณฑ์
  • การติดตามสถานะพัสดุ
  • การตอบแบบสอบถาม
  • การใช้แทนสมุดเมนูของร้านอาหาร
  • การชำระเงินด้วย QR Code
  • การเชื่อมต่อ Wi-Fi
  • การรับประกันสินค้า
  • การเข้าถึงหรือล็อกอินเข้าใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ
  • สแกนเช็คอิน - เช็คเอาท์ร้านค้าต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลและควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการในร้านค้า
สไลด์รูปภาพ

 การใช้งาน QR Code ในรูปแบบต่าง ๆการใช้งาน QR Code ในรูปแบบต่าง ๆการใช้งาน QR Code ในรูปแบบต่าง ๆการใช้งาน QR Code ในรูปแบบต่าง ๆ

ภาพจาก : https://blog.beaconstac.com/2019/02/year-of-qr-codes/ และ https://miro.medium.com/max/1400/1*-T8E4O59Ewe3bJKYPjRC1g.jpeg

Barcode กับ QR Code ต่างกันอย่างไร ?

สำหรับเรื่องความแตกต่างของทั้งสองสิ่งนี้ หลัก ๆ แล้วก็จะเป็นในเรื่องของ “ความสามารถในการเก็บและอ่านค่าข้อมูล” เพราะ Barcode นั้นเป็นสิ่งที่แสดงข้อมูลได้เพียง 1 มิติและมีการเก็บข้อมูลไว้บนเส้นแนวดิ่งเพียงอย่างเดียว ทำให้มันสามารถเก็บข้อมูลสูงสุดได้เพียง 20 ตัวเลขและตัวอักษรเท่านั้น ซึ่งด้วยข้อจำกัดนี้จึงทำให้มันได้รับความนิยมในการระบุและจำแนกสินค้าภายในห้างร้านสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ช่วยให้การคิดเงินรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและใช้ในการติดตามสถานะของพัสดุเป็นส่วนมาก

Barcode กับ QR Code ต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://milliontech.com/qr-code-application/

ในขณะที่ QR Code ที่สามารถแสดงข้อมูลแบบ 2 มิติและสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งแนวดิ่งและแนวขวางจึงทำให้ข้อมูลภายใน QR Code นั้นมีความซับซ้อนกว่า ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลในปริมาณที่มากและหลากหลายกว่าบน Barcode ทำให้ QR Code ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายตามแต่จุดประสงค์ที่แตกต่างกันของผู้ใช้ ไม่ได้จำกัดกรอบการใช้งานเป็นพิเศษเหมือนกับ Barcode แต่อย่างใด


ที่มา : www.smithsonianmag.com , www.scienceabc.com , www.barcodesinc.com , en.wikipedia.org , www.mpofcinci.com , www.qrcode.com , www.qr-code-generator.com , en.wikipedia.org , blog.beaconstac.com

0 Barcode+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+QR+Code+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น