เทคโนโลยี "บาร์โค้ด (Barcode หรือ Bar Code)" เป็นเทคโนโลยีการแสดงข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ที่พัฒนาขึ้นมาให้เครื่องมองเห็น และอ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว มันถูกคิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) จากการที่เบอร์นาร์ด ซิลเวอร์ (Bernard Silver) บังเอิญไปได้ยินเจ้าของธุรกิจค้าส่งอาหารในท้องถิ่น ได้เรียกร้องให้หนึ่งในคหบดีช่วยพัฒนาระบบอ่านข้อมูลสินค้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้การชำระเงิน และจัดทำข้อมูลสต๊อกสินค้า ประหยัดเวลา และสะดวกสบายยิ่งกว่าเดิม
ข้อมูลเพิ่มเติม : Barcode กับ QR Code คืออะไร ? มาจากไหน ? แล้วต่างกันยังไงนะ ?
โดยเบอร์นาร์ด ซิลเวอร์ เลยนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนอร์แมน โจเฟซ วู้ดแลนด์ (Norman Joseph Woodland) เพื่อนสนิทของเขา ซึ่งพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากรหัสมอร์ส (Morse Code) มาพัฒนาต่อจนกลายเป็นบาร์โค้ดในที่สุด และเป็นที่แพร่หลาย นิยมใช้งานกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
เราสามารถเห็นบาร์โค้ดได้บนสินค้าแทบทุกชนิด และสำหรับผู้ที่ต้องจัดทำบัญชี หรือสต๊อกสินค้า บ่อยครั้งที่ต้องมีการนำบาร์โค้ดมาใส่ไว้ในฐานข้อมูลบน โปรแกรมสเปรดชีต (Spreadsheet Software) ด้วย
ในบทความนี้ เราก็เลยอยากจะมาแนะนำวิธีสร้างบาร์โค้ดด้วย Google Sheets จากข้อมูลไอดี (ID) สินค้า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอัปโหลดรูปบาร์โค้ดที่สร้างด้วยโปรแกรมอื่น
ก่อนอื่น เราอยากจะอธิบายถึงหลักการทำงานเบื้องต้นของบาร์โค้ดสักเล็กน้อย
ความจริงแล้ว หลักการทำงานของบาร์โค้ดนั้นเรียบง่ายมาก ๆ นั่นคือการสร้างชุดตัวเลขที่มีค่าเฉพาะขึ้นมา เพื่อมอบเป็นเลขไอดีให้กับตัวสินค้า แล้วพิมพ์ชุดตัวเลขดังกล่าวลงไปบนตัวสินค้าดังกล่าว เมื่อเอาเครื่องอ่านมาสแกนตัวเลขดังกล่าว ระบบก็จะรู้ข้อมูลของสินค้าได้ทันทีว่ามันคือสินค้าอะไร ? ราคาเท่าไหร่ ?
ทีนี้ มันก็จะมีคำถามตามมา "แล้วทำไมเราไม่พิมพ์ตัวเลขลงไปตรง ๆ จะสร้างเป็นบาร์โค้ดให้มันซับซ้อนทำไม ?
การพิมพ์เป็นตัวเลขโดยตรง มันอ่านง่ายสำหรับมนุษย์ แต่อย่าลืมว่า เรากำลังทำระบบเพื่อใช้งานกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การสแกนตัวเลขโดยตรงนั้นมีโอกาสผิดพลาดสูง ลองคิดว่าสติกเกอร์ที่ระบุหมายเลขสินค้าเกิดหมึกเลอะ หรือเลือนหายไป แล้วทำให้ เลข "8" กลายเป็นเลข "3" หรือสแกนกลับหัว ทำให้ระบบเข้าใจเลข "6" เป็นเลข "9"
ดังนั้น บาร์โค้ดจึงถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อให้อ่านข้อมูลได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว
ความกว้างของเส้นสีดำ และช่องว่างระหว่างแต่ละเส้น จะแทนค่าตัวเลขต่าง ๆ ออกแบบมาให้เครื่องบาร์โค้ดสแกนเนอร์สามารถอ่านข้อมูลตัวเลขได้อย่างแม่นยำ (มนุษย์ก็อ่านได้นะ ถ้าเข้าใจหลักการ)
ภาพจาก https://www.explainthatstuff.com/barcodescanners.html
จากนั้น สิ่งที่ต้องทำก็เหลือแค่ กำหนดมาตรฐานการใช้ตัวเลขเท่านั้นเอง โดยมาตรฐานที่เป็นสากลคือ "บาร์โค้ดมาตรฐานสากล GS1" ซึ่งก็มีการแบ่งหมวดหมู่ไปตามลักษณะที่นำไปใช้งาน ดังนี้
ใช้สำหรับการคิดราคาที่จุดขาย, การขายของออนไลน์, จัดการคลังสินค้า และตัดสต๊อก แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ประกอบไปด้วย EAN-8, EAN-13 และ UPC-A โดยแตกต่างกันที่จำนวนหมายเลขรายการการค้าสากล (Global Trade Item Number (GTIN)) ที่สามารถใช้ได้
ตัวอย่างบาร์โค้ดประเภท UPC-A
เป็นบาร์โค้ดประเภท ITF-14 รองรับ GTIN 14 หลัก ใช้สำหรับจัดการคลังสินค้า, การคิดราคาที่จุดขายหน้าร้านค้าส่ง หรือการขายของออนไลน์แบบค้าส่ง ส่วนใหญ่มักจะพิมพ์บาร์โค้ดชนิดนี้ลงบนกล่องลูกฟูกโดยตรง ตัวบาร์โค้ดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และจะมีกรอบสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า Bearer ล้อมรอบแท่งบาร์ด้วย
ตัวอย่างบาร์โค้ดประเภท ITF-14
ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก GS1-128 นิยมใช้ในการติดตามการขนส่ง, การเคลื่อนที่ของสินค้าในซัพพลายเชน และการตรวจสอบย้อนกลับ ตัวอย่างบาร์โค้ดประเภท GS1-128
บาร์โค้ดทั้งหมดที่เรากล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ จะเรียกว่าบาร์โค้ดแบบ 1 มิติ โดยเป็นการเก็บข้อมูลในแนวแกน X แบบแท่งบาร์ ส่วนบาร์โค้ดที่รองรับ AI’s ประเภทที่ 2 จะเรียกว่า GS1 DataMatrix เป็นบาร์โค้ดแบบ 2 มิติ ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งในแนวแกน X และแกน Y ซึ่งหน้าตาก็จะคล้ายคลึงกับ QR Code
ตัวอย่างบาร์โค้ด GS1 DataMatrix
สำหรับการสร้างบาร์โค้ดด้วย Google Sheets ที่เราจะมาแนะนำในบทความนี้ จะเป็นการสร้างบาร์โค้ดแบบ 1 มิติ นะ แต่ถ้าใครสนใจสร้าง QR Code ด้วย Google Sheets ก็สามารถทำได้เช่นกันนะ เราเคยมียทความแนะนำวิธีการไปแล้ว (คลิกที่นี่เพื่ออ่าน)
ตามปกติแล้ว Google Sheets จะไม่สามารถสร้างบาร์โค้ดได้ เราต้องทำการเพิ่มฟอนต์บาร์โค้ดให้ตัว Google Sheets ก่อน จึงจะสามารถทำได้ ด้วยขั้นตอนดังนี้
คลิกที่ตัวเลือกฟอนต์ แล้วคลิกเลือก "เมนู More fonts"
พิมพ์ลงในช่องค้นหาว่า "Libre Barcode" ทำการเพิ่มฟอนต์ตระกูลนี้ทั้งหมด ด้วยการคลิกเลือก (สังเกตว่าจะมีเครื่องหมาย ✓ หน้าขื่อฟอนต์ที่เราเลือก) ซึ่งจะมีทั้งหมด 6 ฟอนต์ แล้วคลิกที่ "ปุ่ม OK" เป็นอันเรียบร้อย
ก่อนจะเริ่มสร้างบาร์โค้ด เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟอนต์ที่เราเพิ่มเข้าไปกันก่อนสักเล็กน้อย
การสร้างบาร์โค้ด Code 39 ด้วย Google Sheets จะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคุณสมบัติของ Code 39 จะสามารถใช้ตัวอักษรได้ด้วย ไม่ได้จำกัดแค่เพียงตัวเลขเท่านั้น ดังนั้นเราเลยต้องนำเครื่องหมายดอกจัน (*) และเครื่องหมายแอมเพอร์แซนด์ (&) เข้ามาใส่ในสูตรในการขั้นตอนการเชื่อมโยงข้อมูลด้วย โดยสูตรจะอยู่ในลักษณะดังนี้ ="*"&A1&"*"
บาร์โค้ดที่ได้นี้ เราสามารถนำไปใช้งานในโปรแกรมอื่น ๆ หรือพิมพ์เพื่อแปะลงบนตัวสินค้าได้ทันที ลองนำไปประยุกต์ใช้งานกันดูนะครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
27 ธันวาคม 2565 23:12:04
|
||
GUEST |
แอน
แล้วจะบันทึกบาร์โค้ดลงในระบบออนไลน์ได้อย่างไรคะ หมายถึงก่อนที่คนอื่นจะสแกนได้ เราต้องเอาบาร์โค้ดนั้นเข้าไปอยู่ในออนไลน์ก่อน เพื่อให้คนสามารถสแกนแล้วเจอข้อมูลของสินค้าตัวนั้นน่ะค่ะ ต้องทำอย่างไรคะ
|
|