ในโลกที่อุปกรณ์แทบทุกอย่าง สามารถเชื่อมต่อหากันได้แบบไร้สาย (Wireless) แม้มันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการเพิ่มช่องโหว่ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถใช้ในการโจมตีได้เช่นกัน
สำหรับ WPS นั้น ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ "ช่วยป้องกันการโจมตีแบบไร้สาย" หากคุณเคยตั้งค่าการทำงานของเราเตอร์ไร้สาย (Wireless Router) ด้วยตนเองมาก่อน คุณอาจจะเคยใช้งาน หรือเห็น "ปุ่ม WPS" ที่อยู่บนเครื่องเราเตอร์กันมาบ้าง ปุ่มดังกล่าวมีไว้ทำไม ? แล้วมีประโยชน์อย่างไร ? ในบทความนี้เราจะพาคุณผู้อ่าน ไปทำความรู้จักกับปุ่มนี้กันให้มากขึ้น
โดย "WPS" ย่อมาจากคำว่า "Wi-Fi Protected Setup" (ชื่อเดิมคือ "Wi-Fi Simple Config") มันเป็นมาตรฐานรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย สำหรับใช้สร้างเครือข่ายไร้สายภายในบ้านให้มีความปลอดภัย
ภาพจาก https://www.digitalcitizen.life/simple-questions-what-wps-wi-fi-protected-setup/
เทคโนโลยีนี้ ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) โดยบริษัท Cisco ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติสัญชาติอเมริกันที่พัฒนา, ผลิต และจำหน่ายเกี่ยวกับ ฮาร์ดแวร์เครือข่าย (Network Device), ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์โทรคมนาคมต่าง ๆ และเป็นมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Wi-Fi Alliance
การเชื่อมต่อแบบไร้สายนั้นช่วยอำนวยความสะดวก แต่สิ่งสำคัญ คือเราต้องทำให้ระบบเครือข่ายมีความปลอดภัยด้วย ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย และผู้ใช้งานก็ไม่ได้เก่งด้านเทคโนโลยีกันทุกคน ตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้รู้สึกว่าการเชื่อมต่อพรินเตอร์ไร้สายกับเครือข่ายให้มีความปลอดภัยสูงเป็นเรื่องยุ่งยาก พวกเขาก็เลือกที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายแบบธรรมดาที่ไม่ต้องสนเรื่องความปลอดภัย เพราะว่ามันง่ายกว่าแทน
WPS จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มันช่วยให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สองตัวเข้าด้วยกัน ผ่านเครือข่ายไร้สายที่มีความปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องมีความเชิงเทคนิคมากมาย สิ่งที่ WPS ต้องการมีเพียงแค่ว่า อุปกรณ์ทั้งสองตัวจะต้องใช้มาตรฐานรักษาความปลอดภัยแบบ WPA หรือ WPA2
ข้อมูลเพิ่มเติม : WEP, WPA, WPA2 และ WPA3 มาตรฐานความปลอดภัย Wi-Fi คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?
เวลาที่เราต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไปยังเครือข่าย Wi-Fi ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เราจะต้องรู้ชื่อของเครือข่าย (SSID) และรหัสผ่าน (WPA-PSK key)
แม้ขั้นตอนจะดูไม่ซับซ้อน แต่เราก็ตั้งค่าเครือข่ายเอาไว้ก่อน และผู้ใช้ก็ต้องรู้ข้อมูลของเครือข่ายด้วย จึงจะสามารถเชื่อมต่อหากันได้ WPS ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ขั้นตอนทั้งหมดที่ว่ามา มีความเรียบง่ายมากขึ้น โดยมีหลักการทำงาน หลายวิธีดังนี้
ภาพจาก https://www.digitalcitizen.life/simple-questions-what-wps-wi-fi-protected-setup/
WPS (Wi-Fi Protected Setup) สามารถใช้งานได้เฉพาะในเครือข่ายไร้สายที่ต้องใส่รหัสผ่าน และมีการเข้ารหัสด้วย WPA, WPA2 หรือ WPA3 เอาไว้เท่านั้น ไม่สามารถใช้งานกับเครือข่ายที่ใช้การเข้ารหัสแบบ WEP ที่สามารถแฮกรหัสได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตาม ในความจริงก็ไม่ได้มีความปลอดภัยมากนัก โดยหากเป็น WPS ที่ใช้ PIN code ในการทำงาน มันสามารถใช้การโจมตีแบบการเดาสุ่ม (Brute-Force Attack) ได้ และหากผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงตัวเราเตอร์ได้ เขาก็แค่กด "ปุ่ม WPS" บนเราเตอร์เพื่อเข้าสู่ระบบได้ทันที ทาง Apple เองก็มองว่า WPS เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความปลอดภัย Mac, iPhone และ iPad จึงไม่รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่าน WPS
การใช้งาน WPS จึงเป็นในแง่ของความสะดวกสบายมากกว่าที่จะเน้นเรื่องความปลอดภัย
หากคุณกังวลเรื่องความปลอดภัย แม้คุณสมบัติ WPS จะสามารถเลือกปิดได้ แต่ทางเลือกที่ดีที่สุด คือเลือกซื้อเราเตอร์ที่ไม่รองรับ WPS แต่แรกเลยดีกว่า เพราะต่อให้ปิดมันไว้ แต่อุปกรณ์บางอย่างสามารถสั่งเปิดได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่มีเหตุจำเป็นให้กังวลเรื่องความปลอดภัย WPS ก็ช่วยอำนวยความสะดวกพอสมควร หากคุณเป็นผู้ใช้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการตั้งค่าเครือข่ายเลย WPS ก็ช่วยให้การเชื่อมต่อเป็นเรื่องง่ายดายกว่าเดิมเยอะ
แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เพื่อความปลอดความภัย ควรปิดคุณสมบัติ WPS เอาไว้ หลังจากที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ต้องการเสร็จสิ้นแล้ว เพราะเราคงไม่ได้มีอุปกรณ์ใหม่มาเชื่อมต่อทุกวัน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |