ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในบ้านเป็นปัญหาสุดพื้นฐานที่หลายบ้านต้องเผชิญ เพราะโดยทั่วไป เมื่อคนส่วนใหญ่ติดตั้งอินเทอร์เน็ต ก็คือติดต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) ที่เป็น เน็ตบ้าน 3BB, AIS Fiber, True ฯลฯ แล้วทาง ISP ก็จะส่งช่างมาเดินสายติดตั้งโมเด็มเราเตอร์ภายในบ้านให้เราเพียง 1 จุด เท่านั้น (นอกจากว่ามีการเจรจาเพิ่มเติม)
คำถามก็คือ เราเตอร์ 1 จุด พอต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทุกคนในบ้านหรือเปล่า ? คำตอบสามารถเป็นได้ทั้ง "พอ" และ "ไม่พอ" ถ้าคุณต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในพื้นที่แค่จุดเดียว แน่นอนว่ามันพอ แต่หากมีจุดที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายจุดขึ้นมาเช่น อยากใช้ Wi-Fi ที่ชั้น 1 และชั้น 2, อยากต่อ สายแลน (LAN Cable) เข้าคอมพิวเตอร์โดยตรงที่มีอยู่ในชั้น 3 และชั้น 4 ฯลฯ แน่นอนว่าระบบอินเทอร์เน็ตที่ ISP มาติดให้คุณมันไม่สามารถกระจายสัญญาณไปได้ทุกจุดที่คุณต้องการใช้งานแน่ ๆ ไม่ว่าคุณจะหา การวางเราเตอร์ไวไฟ (Wi-Fi Router Placement) ได้ดีขนาดไหนก็ตาม
ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อแก้ปัญหา คือ การกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตออกไปให้ไกลขึ้น ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี วิธีที่ได้สัญญาณอินเทอร์เน็ตดี และเสถียรที่สุด คือ การเดินสาย LAN ลากสายไปยังจุดต่าง ๆ ที่ต้องการใช้งาน แต่หลายคนไม่ชอบวิธีนี้สักเท่าไหร่ ลองนึกภาพการลากสายจากเราเตอร์ที่อยู่ชั้น 2 ไปยังคอมพิวเตอร์ที่อยู่ชั้น 4 ถ้าไม่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มสร้างอาคาร ก็ต้องเดินสายภายนอกที่อาจจะทำให้ทัศนียภาพลดความสวยงามได้
ดังนั้นหลายคนจึงเลือกทางเลือกอื่นแทน ด้วยการนำอุปกรณ์เสริมมาติดตั้ง ที่ได้รับความนิยมก็จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ Powerline Adapter, Mesh Wi-fi และ Wi-Fi Extender ในบทความนี้ก็จะมาแนะนำว่าทั้งสามเทคโนโลยีนี้ มีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร แล้วควรเลือกใช้แบบไหนดี
Powerline Adapter เป็นอุปกรณ์เครือข่ายที่ทำให้ระบบสายไฟภายในบ้านของคุณทำหน้าที่เสมือนว่ามันเป็นสาย LAN ได้ แน่นอนว่าระบบสายไฟนั้นถูกวางกระจายไว้ตามตำแหน่งต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องเดินสาย LAN ใหม่
หลักการทำงานของ Powerline Adapter แบบเบื้องต้นก็เรียบง่าย คุณแค่เอาสาย LAN จากเราเตอร์ของคุณเสียบเข้ากับตัว Powerline Adapter ที่เสียบเจ้ากับปลั๊กไฟภายในบ้าน เท่านี้อินเทอร์เน็ตก็จะถูกกระจายไปตามสายไฟแล้ว อยากใช้งานอินเทอร์เน็ตที่จุดไหน คุณก็เอา Powerline Adapter เสียบเข้ากับปลั๊ก แล้วเอาสาย LAN ต่อเข้ากับตัว Powerline Adapter เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทันที
ภาพจาก : https://thecomputergeeks.org/best-powerline-adapter/
ในการทำงานมันจึงต้องมี Powerline Adapter อย่างน้อย 2 ตัว (ปกติเขาก็ขายเป็นคู่อยู่แล้วล่ะ) โดยตัวแรกจะเชื่อมต่อกับเราเตอร์ ส่วนตัว Powerline Adapter ที่เหลือก็เสียบเข้ากับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ Powerline Adapter บางรุ่นจะสามารถทำตัวเป็น Hotspot ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ออกมาได้ด้วย ทำให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เลย โดยที่ไม่ต้องเสียบสาย LAN
Mesh Wi-Fi เป็นระบบ Wi-Fi ภายในบ้านที่จำเป็นต้องใช้ "เราเตอร์ Mesh" ในการทำงานด้วย ในแง่ของคุณสมบัติการทำงานพื้นฐานแล้ว เราเตอร์ Mesh กับเราเตอร์ปกติจะมีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างกัน มันทำหน้าที่ควบคุมบริหารการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างผู้ใช้งานกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการจัดการด้านเครือข่าย และมี Network Protocol ที่จำเป็นต่อการทำงานอยู่ในตัว
อย่างไรก็ตาม "เราเตอร์ Mesh" ถูกสร้างขึ้นมาให้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับ "เราเตอร์ Mesh" ตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในตำแหน่งไกลออกไปได้ โดยจะมี "เราเตอร์ Mesh" ที่ทำหน้าที่เป็นตัวหลักที่เชื่อมต่อกับสายอินเทอร์เน็ต และมี "เราเตอร์ Mesh" ตัวรอง ที่นิยมเรียกกันว่า "Nodes" หรือ "Satellites" กระจายออกไปยังตำแหน่งต่าง ๆ
ภาพจาก : https://www.lifehacker.com.au/2016/12/what-is-mesh-networking-and-will-it-solve-my-wi-fi-problems/
ข้อได้เปรียบ Mesh Wi-Fi คือ คุณสามารถขยายขอบเขตของเครือข่ายได้กว้างมาก จุดไหนไม่ถึงก็แค่หาซื้อ "Nodes" มาวางเพิ่ม สิ่งสำคัญที่ทำให้มันแตกต่างจาก Wi-Fi Extender คือ เราเตอร์ Mesh ทุกตัวในระบบที่เป็น Nodes จะทำหน้าที่เหมือนเราเตอร์ตัวหลักทุกประการ ชื่อเครือข่าย SSID ของ Wi-Fi จะเป็นชื่อเดียวกันหมดทุกตัว ไม่จำเป็นต้องตั้งชื่อแยกย่อยออกมา ซึ่งเป็นปัญหาน่าปวดหัวของ Wi-Fi Extender คุณสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ไปยัง Nodes ตัวไหนก็ได้ หรือแม้แต่ต่อสาย LAN เข้ากับ Nodes ที่ต้องการ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ถ้าพูดถึงตัวเลือกที่คนมักจะนึกเวลาต้องการแก้ปัญหาสัญญาณ Wi-Fi อ่อน หรือสัญญาณ Wi-Fi อ่อน เดินทางไม่ถึงจุดที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต Wi-Fi Extender (หรือ Signal Booster, Wireless Repeater) น่าจะเป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง
Wi-Fi Extender เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งง่าย ราคาก็ไม่แพง จัดว่าถูกที่สุด ในบรรดาตัวเลือกที่เรากล่าวมาทั้งหมด ใช้เงินเพียงสี่ห้าร้อยก็สามารถหาซื้ออุปกรณ์ประเภทนี้มาใช้งานได้แล้ว
การทำงานของ Wi-Fi Extender จะใช้วิธีการจับสัญญาณที่มันตรวจพบภายในระยะทำการ จากนั้นก็นำค่าข้อมูลที่ได้มาส่งต่อใหม่อีกครั้งโดยชดเชยความแรงของสัญญาณที่จับได้มาให้แรงขึ้นกว่าเดิม จุดสำคัญของการใช้งาน Wi-Fi Extender คือ ต้องพยายามหาตำแหน่งในการวางอุปกรณ์ให้เหมาะสม โดย Wi-Fi Extender ควรจะอยู่กึ่งกลางระหว่างเราเตอร์หลัก กับอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลือกซื้อ Wi-Fi Extender คือ ควรมองหารุ่นที่รองรับการแพร่กระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ทั้งคลื่น 2.4 GHZ และ 5 GHz หรือหากเป็นไปได้ก็ควรมองรุ่นที่รองรับเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Wi-Fi 6 ด้วย เพื่อการใช้งานในระยะยาว จะได้ไม่ต้องมาอัปเกรดใหม่ภายหลัง
ข้อมูลเพิ่มเติม : Wi-Fi 6 คืออะไร ? และ เทคโนโลยี Wi-Fi 6 กับ Wi-Fi 6E แตกต่างกันอย่างไร ?
การใช้งาน Wi-Fi Extender จะมีความน่ารำคาญอยู่อย่างหนึ่ง คือ แม้จะสามารถตั้ง SSID ชื่อซ้ำกันได้ แต่ในการใช้งานจริงเราควรตั้งชื่อ SSID ให้แตกต่างกัน เพราะอุปกรณ์ของเรามักจะไม่ยอมเปลี่ยนไปจับสัญญาณ Wi-Fi ที่แรงกว่าให้อัตโนมัติ แล้วเราอาจจะไม่รู้ว่ากำลังเชื่อมต่อกับ Hotspot จุดไหนอยู่กันแน่หากว่าชื่อ SSID เหมือนกัน
ภาพจาก : https://7labs.io/tips-tricks/improve-wi-fi-coverage-at-home-or-office.html
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ทั้ง 3 เทคโนโลยีนี้ แม้จะมีจุดประสงค์ในการทำงานที่เหมือนกัน คือ การกระจายอินเทอร์เน็ตไปให้ทั่วทุกพื้นที่ ที่ผู้ใช้ต้องการใช้งาน แต่มันก็มีข้อดี-ข้อเสีย มีความเหมาะสมในเงื่อนไขของแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
ในทางทฤษฎีแล้ว Powerline Adapter ที่ใช้การส่งสัญญาณแบบมีสาย ย่อมมีความเสถียรกว่าแบบไร้สาย และมีค่า Latency ต่ำที่สุดด้วย แต่ทว่าในทางปฏิบัติจริงมันมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อคุณภาพของสัญญาณด้วยเช่นกัน
หากระบบสายไฟภายในอาคารมีคุณภาพสูง วางระบบเอาไว้อย่างดี มีฉนวนกันคลื่นต่าง ๆ มารบกวน ก็มีแนวโน้มที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตจาก Powerline Adapter จะทำความเร็วได้ดี แต่หากระบบสายไฟเก่า หรือวางการเดินสายไม่ดี ก็เป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่คุณคาดหวังจาก Powerline Adapter จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ไม่รู้หรอกว่าระบบสายไฟในบ้านเราใช้งาน Powerline Adapter จนกว่าจะซื้อมาทดสอบใช้งานจริง
นอกจากนี้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน บางชนิดก็ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณผ่านสายไฟฟ้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะพวกอุปกรณ์ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าในการทำงานสูงเป็นพิเศษ
ในส่วนของราคา Powerline Adapter ถือว่ามีราคาที่ไม่แพงมากนัก ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่คู่ละประมาณพันปลาย ๆ เท่านั้น ถือว่าไม่แพงหากเทียบกับระบบ Mesh Wi-fi ที่คุณต้องเปลี่ยนใหม่ทุกอย่าง ทั้งค่าเราเตอร์ และค่า Nodes อีก
ระบบ Mesh Wi-Fi เป็นตัวเลือกที่สามารถเลือกใช้งานได้โดยสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่ที่คุณต้องการให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมมีความกว้างขวาง และคุณไม่อยากเดินสายอะไรให้เกะกะวุ่นวาย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของ Mesh Wi-Fi ก็มีอยู่บ้าง แม้ความเร็วจะของ Mesh Wi-Fi จะเร็วก็จริง แต่ระบบไร้สาย อย่างไรก็หนีเรื่องค่า Latency ที่สูงไม่พ้นอยู่ดี หากคุณต้องการทำงาน, ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป หรือรับชมสตรีมมิ่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากกิจกรรมที่คุณทำต้องพะวงถึงค่า Latency ด้วย อย่างเช่นการเล่นเกมออนไลน์ ตัวเลือกนี้ก็คงไม่เหมาะสมนัก
กล่าวถึงข้อเสียกันไปแล้ว มาพูดถึงข้อดีกันบ้าง ระบบ Mesh Wi-Fi ส่วนใหญ่จะมาคู่กับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เราสามารถควบคุมการทำงาน, ตั้งค่าความปลอดภัย, ตั้งเวลาจำกัดการใช้งาน, การควบคุมโดยผู้ปกครอง (Parental Control) ฯลฯ ให้ใช้งานได้ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความสามารถการควบคุมโดยผู้ปกครอง (Parental Control)
ในส่วนของราคา ก็ต้องบอกว่า ระบบ Mesh Wi-Fi นั้นแม้จะสะดวกสุด แต่ก็แพงสุดด้วยเช่นกัน ยี่ห้อดี ๆ ราคาเราเตอร์รวม Nodes ด้วย มีหลายพันไปจนถึงหลักหมื่นเลยล่ะ
Wi-Fi Extender เป็นตัวเลือกที่มีราคาถูกที่สุดในบรรดา 3 เทคโนโลยีที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ การติดตั้งก็ง่ายไม่ต่างจากการใช้ Powerline Adapter สักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม Wi-Fi Extender มีข้อควรตระหนักที่ต้องระวังก่อนเลือกเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้งานนะ นั่นก็คือขนาดของแบนด์วิธ (Bandwidth) เนื่องจาก Wi-Fi Extender เป็นการรับสัญญาณจากจุดเดียว มากระจายต่อเพื่อขยายระยะโดยตรง ไม่เหมือนกับ Mesh Wi-fi ที่แต่ละ Nodes จะมีระบบจัดการแบนด์วิธของตนเอง ดังนั้นหากมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายชนิดพร้อมกันจะส่งผลต่อประสบการณ์ในการใช้งานเป็นอย่างมาก
จากที่กล่าวมา Wi-Fi Extender จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ ที่มีจำนวนผู้ใช้ไม่มาก เช่น คุณแค่ต้องการเล่นอินเทอร์เน็ตจากอีกห้องหนึ่ง แต่สัญญาณ Wi-Fi ที่มาถึงมันอ่อน จนส่งผลกระทบต่อความเร็ว กรณีแค่นี้ คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนกับ Mesh Wi-Fi ใช้แค่ Wi-Fi Extender ก็พอ
ประเด็นของการใช้เทคโนโลยีที่เรากล่าวในบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็น Powerline Adapter กับ Mesh Wi-fi หรือ Wi-Fi Extender ล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การขยายขอบเขตสัญญาณอินเทอร์เน็ตออกไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่คุณต้องการใช้งาน
ในแง่ของระยะการกระจายสัญญาณแล้ว เรามองว่า Powerline Adapter และ Mesh Wi-Fi ทำได้สูสีกัน เพราะทุกห้องก็น่าจะมีระบบไฟฟ้า มีปลั๊กอยู่แล้ว ซึ่ง Powerline Adapter ก็จะมีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่เป็นระบบสาย (แต่ก็ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ได้นะ) ทำให้มีค่าปิง (Ping) ที่ดีที่สุด และค่าลาเทนซี่ (Latency) ที่น้อยที่สุด (ถ้าระบบไฟฟ้าในบ้านคุณมีคุณภาพที่ดี) เมื่อเทียบกับตัวเลือกที่เหลือ แถมยังมีค่าใช้จ่ายในการทำระบบที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับ Mesh Wi-Fi
ข้อมูลเพิ่มเติม : ค่า Ping หรือ Latency คืออะไร ?
ส่วน Wi-Fi Extender มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ การที่มันรับสัญญาณได้ดี ต้องคำนึงถึงเรื่องอุปสรรค สิ่งกีดขวางที่ส่งผลต่อคุณภาพสัญญาณด้วย ถ้ามีผนังกั้น ห้องมีการหักมุม Wi-Fi Extender อาจจะไม่สามารถรับ แล้วส่งต่อไปยังพื้นที่เป้าหมายได้ดีอย่างที่เราคาดไว้ ดังนั้น เราคิดว่า Wi-Fi Extender เหมาะกับการใช้งานเฉพาะทางพอสมควร
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |