ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

8 สิ่งบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์

8 สิ่งบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/stress-concept-illustration_8252024.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 18,205
เขียนโดย :
0 8+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

8 พฤติกรรมบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์

งานด้านเทคโนโลยียังคงเป็นเทรนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โปรแกรมเมอร์เลยเป็นตำแหน่งงานที่มีความต้องการในตลาดสูงมาก เนื่องจากแรงงานในตำแหน่งนี้ ยังมีความขาดแคลน เรียกได้ว่าปัจจุบันนี้โปรแกรมเมอร์เก่ง ๆ จะถูกจองตัวเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ที่ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป รายได้ของโปรแกรมเมอร์ก็จัดว่าดี ทำให้เด็กหลายคน ตั้งเป้าที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์กันเยอะแยะ

บทความเกี่ยวกับ programmer อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าโปรแกรมเมอร์นั้นไม่ใช่อาชีพที่เหมาะกับทุกคน มีหลายคนที่พอได้ทำจริง ๆ แล้วถึงเพิ่งรู้สึกตัวว่า มันไม่ใช่งานที่สวยงามดั่งฝนที่เคยวาดไว้

หากคุณไม่มั่นใจว่าตัวคุณอยากเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ หรือเปล่า ลองมาอ่านลักษณะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับการเป็นโปรแกรมเมอร์กัน เผื่อจะเข้าใจหัวใจตัวเองมากขึ้น ว่าคุณอยากเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ หรือเปล่า ?

เนื้อหาภายในบทความ

1. คุณเป็นคนที่ขาดความคิดสร้างสรรค์ (Lack of creativity)

แม้การเขียนโปรแกรมจะมีพื้นฐานบนหลักตรรกะ แต่การสร้างโปรแกรมก็มองเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อยู่เหมือนกัน เพราะการเริ่มต้นสร้างโปรแกรมใหม่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเริ่มต้นวาดรูปบนฝืนผ้าใบที่ว่างเปล่า ที่มีภาษาเป็นพู่กัน, มี Frameworks เป็นถาดสี และมี Libraries เป็นสีต่าง ๆ คุณต้องจินตนาการว่าโปรแกรมที่คุณต้องการสร้างจะหน้าตาเป็นอย่างไร และใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีถ่ายทอดมันออกมาให้เกิดขึ้นจริง

การเขียนโค้ดโปรแกรมที่ดี มันมีได้หลายหนทาง เหมือนกับการสร้างบ้าน ก็มีวิธีสร้างได้หลายรูปแบบ แต่วิธีไหนดีที่สุด มันก็ขึ้นอยู่กับโปรแกรมแต่ละตัว ซึ่งโปรแกรมเมอร์ที่ดีควรจะลองทำหลากหลายวิธี เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด ไม่ยึดติดกับวิธีการวิธีการหนึ่งเพียงวิธีเดียว

หากคุณไม่ใช่คนที่ขี้สงสัย แล้วแสวงหาคำตอบ มันจะทำให้คุณมองภาพรวมได้แคบลง ซึ่งนำไปสู่ทางตันในการจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ หากถึงจุดนั้น การเขียนโปรแกรมจะกลายเป็นงานธรรมดาที่ทำให้คุณไม่ตื่นเต้นกับมันอีกต่อไป จงอย่าลืมความรู้สึกตื่นเต้นที่คุณเริ่มเขียนโปรแกรมที่คิดให้สำเร็จได้เป็นครั้งแรก

8 สิ่งบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/flat-creativity-concept-illustration_14620625.htm

2. เป็นคนที่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ (A person who gives up easily)

คำกล่าวที่ว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จ คือผู้ที่มีแรงผลักดันตัวเอง เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานโปรแกรมเมอร์

โปรแกรมเมอร์ที่ดีจะสามารถกระตุ้นตัวเองได้อยู่เสมอ การเขียนโปรแกรมมีกำแพงปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่มากมาย หลายคนแก้บั๊กจนท้อ หรือประสบปัญหาในการเขียนให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ซึ่งคุณจะต้องหาทางแก้ปัญหานั้นให้ได้ด้วยตนเอง บ่อยครั้งที่ปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้คุณรู้สึกท้อแท้เบื่องาน 

แต่นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องยอมรับ และกล้าเผชิญกลับมัน บ่อยครั้งที่ปัญหาเก่า ซึ่งได้รับการแก้ไข้ไปแล้ว จะกลายเป็นสาเหตุของปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากคุณไม่พยายามแก้ไขปัญหาเก่าให้ได้ด้วยตัวคุณเอง คุณก็จะไม่มีความเข้าใจในการแก้ไขใหม่ที่เกิดขึ้น ดังนั้นโปรแกรมเมอร์ที่ดีควรจะเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้ออะไรง่าย ๆ และพร้อมรับมือกับปัญหาใหม่อยู่เสมอ

3. ไม่ถนัดการแก้ปัญหาตรรกะ (Not good at solving logical problems)

มีเรื่องที่คนส่วนมากมักเข้าใจผิด คิดว่าคุณจำเป็นต้องเก่งคณิตศาสตร์จึงจะสามารถเขียนโปรแกรมได้ มันก็จริงที่การเขียนฟังก์ชันของโปรแกรมหลายอย่างจำเป็นต้องใช้หลักคณิตศาสตร์ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการใช้หลักตรรกะ และการคิดแบบอัลกอริทึม

คุณเป็นคนที่หลงใหลการแก้ไขปริศนาพัซเซิล อยากรู้ และสงสัยว่าการทำงานในโลกดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างไร ? แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนแบบที่ว่ามา คุณน่าจะหงุดหงิดกับการเขียนโปรแกรมอย่างแน่นอน

ความสุขที่ได้จากการเขียนโปรแกรม คือการที่คุณสามารถเอาชนะโจทย์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เขียนโปรแกรมได้ ยิ่งโจทย์ยากเท่าไหร่ โปรแกรมเมอร์ก็จะยิ่งรู้สึกฟินมากเท่านั้น แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนที่อิ่มเอมกับสิ่งเหล่านี้ โจทย์ตรรกะเหล่านี้จะเป็นปัญหาน่าปวดหัวของคุณแทน

8 สิ่งบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-photo/think-outside-box-quotes-business-concept_1147904.htm

4. เกลียดการค้นคว้า (Hate research)

ไม่ว่าคุณจะชำนาญการเขียนโค้ดมากเท่าไหร่ก็ตาม การเขียนโปรแกรมก็มีดินแดนใหม่ ๆ ที่รอให้คุณก้าวเข้าไปเผชิญอยู่เสมอ บางครั้งที่คุณกำลังเขียน Web app แล้วพบว่าไม่สามารถเชื่อมต่อให้ Framework ต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ติดขัด บางทีคุณต้องทำงานที่ต้องใช้ Python หลังจากที่ใช้เวลามากว่า 10 ปี จนเป็นเทพ Java

ภาษาคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาตลอดเวลา มีเครื่องมือใหม่ ๆ ถูกสร้างขึ้นมาแทบทุกวัน แน่นอนว่าการมีพื้นฐานมาก่อน ทำให้คุณเข้าใจภาษาใหม่ เรียนรู้เพื่อใช้งานมันได้โดยใช้เวลาน้อยกว่าคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มันก็ต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้อยู่ดี ซึ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่คุณอาจไม่เคยมาก่อน แต่ต้องไปค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารบนอินเทอร์เน็ต หรือตามเว็บบอร์ดของนักพัฒนา

การจะตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน เพื่อนำมาปรับใช้กับงาน คุณต้องหมั่นเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เป็นประจำ หากคุณไม่ใช่คนที่รักการอ่าน การค้นคว้า คุณก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพโปรแกรมเมอร์

8 สิ่งบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/students-learning-foreign-language-with-vocabulary_11235885.htm

5. คุณต้องการทำงานในเวลาธรรมดา
(Want to work only during normal hours)

สายงานโปรแกรมเมอร์ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง บางงานคุณต้องไปทำงานนอกสถานที่, ทำงานในออฟฟิศ, ให้ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่เป็นฟรีแลนซ์รับทำงานเป็นชิ้น ๆ 

แต่ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะพบว่าโปรแกรมเมอร์เป็นอาชีพหนึ่งที่มักจะต้องมีเหตุให้ทำงานโต้รุ่งอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้เวลาปิดโครงการ หรือระบบอาจจะมีปัญหาตอนตีสอง โปรแกรมเมอร์ก็ต้องพร้อมที่จะสแตนด์บายเพื่อแก้ไขในยามฉุกเฉินเสมอ ในการจะทำให้งานเสร็จทันเส้นตายที่กำหนดไว้ นักพัฒนาส่วนใหญ่จำเป็นต้องเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อปั่นงานโต้รุ่ง

สำหรับผู้ที่ต้องการชีวิตแบบ Work-Life Balance อาชีพโปรแกรมเมอร์อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกในฝันของคุณเท่าไหร่นัก

6. หวังว่ากับเงินเดือนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
(Hope the salary will grow rapidly)

อาชีพโปรแกรมเมอร์มีเงินเดือนค่าตอบแทนที่ดี หากลองค้นหาตามเว็บประกาศหางาน จะพบว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์จะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงกว่าสายอาชีพส่วนใหญ่

แต่ในการเติบโตของสายอาชีพนี้มีความท้าทาย สูงมาก คุณจำเป็นต้องลงทุนด้านความรู้ให้ตัวเองตลอดเวลา เพราะประสบการณ์อย่างเดียวยากที่จะดันตำแหน่งงานของคุณให้สูงขึ้นได้

หากต้องการร่ำรวยในฐานะของโปรแกรมเมอร์ มันก็เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่หนทางที่ง่าย และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับคนที่ต้องการรายได้ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สายอาชีพนี้จัดว่ายากพอสมควร

7. ไม่สนุกกับการเรียนรู้ตลอดเวลา (Don't enjoy learning all the time)

การเขียนโปรแกรมเป็นทักษะเฉพาะตัวที่ต้องผ่านการเรียนรู้ ผ่านการฝึกทำมาก่อน ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ก็มีการอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา นักพัฒนาเองก็จำเป็นต้องหาความรู้เพื่ออัปเกรดทักษะของตนตลอดเวลา เพื่อให้ตามเทคโนโลยีได้ทัน

แม้ Python และ Java จะครองความเป็นหนึ่งของภาษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาอย่างยาวนาน แต่มันก็มีภาษา และ Framework ใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้อยู่เสมอ วิธีการเดิม ๆ ที่เคยใช้งานได้ในอดีต อาจมีวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพใหม่กว่าให้เลือกใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ที่เป็นโปรแกรมเมอร์ต้องขวนขวายหาความรู้ให้ตัวเอง

หากคุณไม่ใช่คนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หมั่นอัปเกรดทักษะอยู่เป็นประจำ โปรแกรมเมอร์ก็ไม่น่าจะใช่ทางของคุณแล้วล่ะ

8 สิ่งบ่งชี้ ว่าคุณอาจไม่เหมาะกับอาชีพโปรแกรมเมอร์
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/successful-businessman-running-up-career-stairs-rising-arrow-star_12085893.htm

8. ไม่ชอบสื่อสารกับผู้อื่น (Does not like communicating with others)

แม้การค้นคว้า และวิเคราะห์จะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยหลักในการเขียนโปรแกรม แต่การสื่อสาร และเข้าสังคมก็เป็นสิ่งที่โปรแกรมเมอร์ควรมีเช่นกัน เพราะมันจะช่วยให้คุณข้ามฝ่าอุปสรรคที่พบเจอระหว่างการทำงานได้ง่ายขึ้น

แม้แต่โปรแกรมเมอร์มืออาชีพ บางครั้งก็ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่มีประสบการณ์เช่นกัน หรือไม่ก็ต้องผู้ให้คำปรึกษากับเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงการสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำกับลูกค้า

อาจจะมีผู้ที่ชอบเก็บตัว เกลียดการเข้าสังคมเลือกอาชีพโปรแกรมเมอร์เป็นเป้าหมายในชีวิต แต่ผู้ที่ไม่กลัวการเข้าสังคมจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

การเขียนโค้ดไม่เหมาะกับทุกคน (Coding is not suite for everyone)

ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถเรียนรู้วิธีเขียนโค้ดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกสนุกไปกับมันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการทำงาน ยังมีงานอีกมากมายให้เลือกทำ หากพบเจองานที่ใช่ โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในงานนั้นย่อมมีมากกว่า เพราะการทำอะไรที่ตัวเองรัก เราก็จะมีแรงบันดาลใจ และความตั้งใจที่จะทำให้มันออกมาดีกว่างานที่เราไม่ชอบ

หากอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ก็ยังมีงานอีกหลายตำแหน่งที่มีความต้องการในตลาดให้เลือกอีกมากมาย ลองถามหัวใจตัวเองดูให้ดีว่าโปรแกรมเมอร์ คืออาชีพที่คุณต้องการทำจริง ๆ หรือเปล่า ?


ที่มา : www.makeuseof.com

0 8+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น